xs
xsm
sm
md
lg

งานสัมมนา “สำนักพิมพ์และร้านหนังสืออิสระไต้หวัน” กระแสดี สานต่อความสำเร็จหนังผีไต้หวันสุดฮิตเรื่อง “มนตรา” จัดงานแลกเปลี่ยนหนังสือไต้หวัน-ไทย หัวข้อนิทานพื้นบ้านและเรื่องผี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



งานสัมมนา “สำนักพิมพ์และร้านหนังสืออิสระไต้หวัน” (Taiwan Book Publishing and Independent Bookstore Symposium 2022) จัดขึ้นที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 โดย ฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย สานต่อความสำเร็จต่อเนื่องจากงานสัมมนา “โครงการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานแปลของไต้หวัน” ที่จัดขึ้นในปีที่แล้วซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากสำนักพิมพ์ไทยเป็นอย่างดี โดยงานในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) มาเป็นผู้ร่วมจัดงานแล้ว ภายในงานยังมีทั้งตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) รวมถึงสำนักพิมพ์และร้านหนังสืออิสระของไทยกว่า 50 รายที่สนใจเรียนรู้วิธีการส่งเสริมวงการหนังสือในไต้หวันเข้าร่วมงาน ทำให้บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก


งานสัมมนาในปีนี้มาในธีม “นิทานพื้นบ้านและเรื่องผีไต้หวัน” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์สยองขวัญไต้หวันเรื่อง “มนตรา” (Incantation) หนึ่งในภาพยนตร์ที่ฉายใน Netflix ที่มีคนดูมากที่สุดในประเทศไทย โดยผู้จัดงานได้เชิญสถาบันสร้างสรรค์คอนเทนต์ไต้หวัน (Taiwan Creative Content Agency : TCCA) มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนะนำหนังสือไต้หวันหมวดหมู่นี้ อาทิ The Apocalypse Of Darkness Warfare (冥戰錄), Shou Niang (守娘) เป็นต้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันร้านหนังสืออิสระในประเทศไทยเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ งานสัมมนาในครั้งนี้จึงได้เชิญสมาคมร้านหนังสืออิสระแห่งไต้หวัน (Taiwan Association for Independent Bookshop Culture : TAIBC) มาร่วมแบ่งปันแนวทางการดำเนินธุรกิจร้านหนังสืออิสระในไต้หวันอีกด้วย

น่าน หงษ์วิวัฒน์ เลขาธิการ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันประสบความสำเร็จอย่างมากในการแบ่งปันความสำเร็จเรื่องวัฒนธรรมการอ่านและสื่อสิ่งพิมพ์ของไต้หวันแก่ประเทศไทย มีสำนักพิมพ์ไทยจำนวนมากที่สนใจในแผนการส่งเสริมการตีพิมพ์หนังสือไต้หวันในต่างประเทศ งานสัมมนานี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสำนักพิมพ์ไทยที่จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการเลือกและการแปลหนังสือจากไต้หวัน”

โจแอนน์ เถียน
ผู้อำนวยการฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “งามสัมมนานี้ ไม่เพียงช่วยส่งเสริมหนังสือไต้หวันในต่างประเทศ แต่ยังช่วยให้ชาวไทยได้เข้าถึงผลงานอันยอดเยี่ยมของไต้หวันมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไต้หวันและไทย”


งานสัมมนา ฯ ช่วงเช้า วิทยากรจากสถาบันสร้างสรรค์คอนเทนต์ไต้หวันได้เข้าร่วมผ่านทางออนไลน์ ได้แก่ ฟรานซิส จวง ผู้จัดการฝ่ายความร่วมมือและการพัฒนาธุรกิจ บรรยายเรื่อง BOOKS FROM TAIWAN อีฉิง หลี่ ผู้จัดการโครงการ บรรยายเรื่อง Taiwan Comic City และ คราทริน่า หลิว ผู้อำนวยการกองลิขสิทธิ์ BOOKS FROM TAIWAN มาแนะนำหนังสือจากไต้หวัน โดยผู้เข้าร่วมงานต่างให้ความสนใจพร้อมเปิดเว็บไซต์ตามที่วิทยากรแนะนำระหว่างการบรรยาย นอกจากนี้ ภายในงานยังได้เชิญตัวแทนจากสำนักพิมพ์ piccolo ในเครืออมรินทร์ และสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก มาแนะนำแนวทางการแปลหนังสือจากไต้หวัน ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกหนังสือไปจนถึงการขอลิขสิทธิ์


งานสัมมนา ฯ ช่วงบ่าย หลงฮ่าว เฉิน ประธานผู้ก่อตั้งสมาคมร้านหนังสืออิสระแห่งไต้หวัน (TAIBC) เยี่ยนซี ซา ประธานคณะกรรมการ และ เอ็ดเวิร์ด ซู คณะกรรมการ จากสหกรณ์หนังสือที่เป็นมิตร (Friendly Book Supplies Co-operative Limited Council) ได้มาร่วมบรรยายแนวทางพัฒนาร้านหนังสืออิสระในไต้หวัน รูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจของร้านหนังสืออิสระ และผลลัพธ์จากการสนับสนุนการพัฒนาร้านหนังสืออิสระของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน อันเป็นข้อมูลและแนวทางให้กับร้านหนังสืออิสระและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทย โดยได้มีการพูดถึงนโยบายการจัดการต่าง ๆ และรูปแบบความร่วมมือของร้านหนังสืออิสระในไต้หวัน อีกทั้ง ยังมีช่วงถามตอบกับวิทยากรไต้หวันซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการในแวดวงหนังสือของไทยได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น


นอกจากการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันและไทยผ่านงานสัมมนาแล้ว ภายในงานยังได้จัดนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์ของไต้หวัน จัดแสดงหนังสือรางวัล Golden Tripod Awards และหนังสือจากโครงการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานแปลของไต้หวัน ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมและได้สัมผัสเนื้อหาอันหลากหลายของหนังสือไต้หวัน ทั้งนี้ หลังงานสัมมนาจบลง จะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดในงานสัมมนา ฯ เรียบเรียงเป็น e-book ภาษาไทย ให้สมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และเหล่าสำนักพิมพ์ไทยได้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการตีพิมพ์หนังสือและการอ่านต่อไปในอนาคต รวมถึงเผยแพร่วัฒนธรรมไต้หวันให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น