ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร ยืนยันมติถอดถอนพ้นนายกสภา มทร.พระนคร ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ฯ เพราะยังไม่ได้พิสูจน์ว่าตนมีพฤติกรรมเสื่อมเสีย และเป็นการลงมติหลังปิดประชุม เผยได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพร้อมตั้งกรรมการสอบวินัยอธิการบดีแล้ว เชื่อปมขัดแย้งเพราะตนเข้าไปตรวจสอบการทุจริตภายในมหาวิทยาลัย
จากกระแสข่าวความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร โดยสภามหาวิทยาลัยได้ลงมติให้ ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร พ้นจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 65 และเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ศ.ดร.สุรพงษ์ถูกขัดขวางไม่ให้เข้าไปยังห้องทำงานบริเวณชั้น 2 (ตึกเหลือง) มทร.พระนคร (เทเวศน์) นั้น ศ.ดร.สุรพงษ์เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตามที่มติประชุมกรรมการสภา มทร.พระนคร ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 65 มีมติถอดถอนตนออกจากตำแหน่งนายกสภาฯ นั้น ตนได้มอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องผู้บริหาร มทร.พระนคร กับพวกรวม 4 คน ต่อศาลปกครองกลางแล้ว กรณีการประชุมสภา มทร.พระนคร วันที่ 20 เม.ย. 2565 ที่ลงมติถอดถอนตนนั้นเป็นการประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประชุมดังกล่าวเป็นการเรียกประชุมหลังจากที่ตนปิดประชุมไปแล้ว จึงถือว่ามติถอดถอนตนเป็นโมฆะหรือไม่
ศ.ดร.สุรพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การถอดถอนนายกสภามหาวิทยาลัย มาตรา 16 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ระบุไว้ว่า นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา 15 (3) (4) และ (5) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หรืออาจได้รับเลือกใหม่อีกได้ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา 15 (3) (4) และ (5) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ขาดคุณสมบัติของการเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยในประเภทนั้น (4) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (5) สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ (6) เป็นบุคคลล้มละลาย (7) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
การพ้นจากตำแหน่งตาม (5) ต้องมีคะแนนเสียงลงมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่าที่มีอยู่ ซึ่งกรณีถอดถอนตนมีการดำเนินการตามมาตรา 16 วรรคสอง (5) ใช้คะแนนเสียงสองในสาม แต่กลับยังไม่ได้มีการพิสูจน์เลยว่าตนมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถหรือไม่ และทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ก็มีหนังสือสอบถามมาด้วยเช่นกันว่าการถอดถอนตนได้มีการพิสูจน์แล้วหรือไม่ว่ามีพฤติกรรมเสื่อมเสีย บกพร่องต่อหน้าที่
ศ.ดร.สุรพงษ์เปิดเผยอีกว่า ได้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัย ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี มทร.พระนคร ลงวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ตามข้อเสนอของกรรมการสอบข้อเท็จจริง ลงวันที่ 28 เม.ย. 2565 กรณีการประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ซึ่งมีการประชุมลับหลังภายหลังที่นายกสภามหาวิทยาลัยได้กล่าวปิดประชุมแล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 คณะกรรมการสอบสวนวินัยได้รายงานผลการสอบสวนวินัย ระบุว่า จากพยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางสอบสวน พิจารณาแล้วเห็นว่าอธิการบดี มทร.พระนคร ไม่ได้ดำรงตนอยู่ในกรอบบัญญัติของกฎหมายและข้อบังคับที่กำหนด มีพฤติกรรมลุแก่อำนาจ กระทำการโดยไม่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และยังก้าวล่วงอำนาจของผู้บังคับบัญชา ขาดไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ทำให้เกิดความระส่ำระสายภายในองค์กร พฤติการณ์แห่งการกระทำของอธิการบดี มทร.พระนคร แสดงถึงวุฒิภาวะอันไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ว่าด้วยการบริหารส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2564 ข้อ 58 สมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามข้อ 67 แห่งข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งตนได้ส่งผลการสอบวินัยดังกล่าวไปให้ อว.แล้ว
ศ.ดร.สุรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า การลงมติถอดถอนตนออกจากนายกสภามหาวิทยาลัย เชื่อว่าเป็นเพราะตนเข้าไปตรวจสอบเรื่องการก่อสร้างตึกของ มทร.พระนคร แถวพระราม 7 ว่ามีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่ และได้ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว
“การมีมติถอดถอนผมออกจากนายกสภามหาวิทยาลัยไม่มีความเป็นธรรม นอกจากผมไปฟ้องที่ศาลปกครองแล้ว ผมยังได้ไปยื่นฟ้องหมิ่นประมาทอธิการบดี มทร.พระนคร ต่อศาลอาญา เพราะมีการพูดจากล่าวหาผมไว้หลายเรื่อง และยังได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบด้วย” ศ.ดร.สุรพงษ์กล่าว
ศ.ดร.สุรพงษ์เปิดเผยอีกว่า หลังจากมีมติให้ตนพ้นจากตำแหน่งนายกสภา มทร.พระนคร เมื่อ 20 เมษายน 2565 แล้ว อธิการบดี มทร.พระนครได้สั่งปิดห้องที่ทำการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย และมีการนำคอมพิวเตอร์ออกไป รวมทั้งสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ภายในสภามหาวิทยาลัยฯ ไปประจำที่อื่น ทั้งนี้ ปมความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากความไม่พอใจตนที่เปิดเผยการทุจริตภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งภายในห้องทำงานของนายกสภามหาวิทยาลัยฯ มีเอกสารเกี่ยวกับการทุจริตและการสอบสวนผู้บริหาร มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ย้ายออก และยึดเทปการประชุมสภาที่เป็นหลักฐานสำคัญของการประชุมออกไป โดยมีข้อมูลที่สำคัญ เช่น การก่อสร้างอาคารริมน้ำ 9 ชั้นเมื่อปี 54 มูลค่า 180 ล้านบาท การเรียกรับเงินค่าลงทะเบียนจากนักศึกษาเข้าบัญชีตนเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ ดร.สุรพงษ์เข้าดำรงตำแหน่งนายกสภา มทร.พระนคร ช่วงปี 61-62 และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยเมื่อปี 64 ที่ผ่านมา