xs
xsm
sm
md
lg

ชมงานพุทธศิลป์-พุทธพาณิชย์ : สำรวจความคิด ‘สุรศักดิ์ พุ่มพวง’ ช่างเขียนจิตรกรรมและงานศิลป์หลากแขนง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘สุรศักดิ์ พุ่มพวง’ ช่างเขียนงานศิลป์และผู้ก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO
“สำหรับผม ผมรับงานค่อนข้างที่จะหลากหลาย เป็นทั้งพุทธศิลป์และพุทธพาณิชย์ด้วย ดังนั้น เอกลักษณ์ก็น่าจะเป็นเรื่องกระบวนการการทำงานสมัยใหม่ ที่ไปช่วย Support ในวิธีการแบบโบราณ…”

แม้จะออกตัวว่าเป็นเพียงสตูดิโอขนาดเล็ก ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก แต่ผลงานจิตรกรรม งานปิดทอง ออกแบบตกแต่งโบสถ์ ให้กับแต่ละวัดที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้คนในชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแต่ละภาค ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็สะท้อนได้อย่างดีว่า ‘สุรศักดิ์ พุ่มพวง’ ชายหนุ่มผู้ก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO มีผลงานเป็นที่ยอมรับในสายตาของเจ้าอาวาสวัดแต่ละแห่งที่ยินดีให้ช่างศิลป์ผู้นี้สร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ขึ้นในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยกระบวนการทำงานที่ละเอียดลออซึ่งถ่ายทอดผ่านผลงานที่ปรากฏแก่สายตา





‘สุรศักดิ์ พุ่มพวง’ ช่างเขียนงานศิลป์และผู้ก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO
ไม่ว่างานจิตรกรรมฝาผนัง งานตกแต่งออกแบบส่วนอื่นๆ ของโบสถ์ และใช่เพียงเท่านั้น งานศิลป์อื่นๆ ไม่ว่างาน Painting งานปิดทอง งานเขียนในรูปแบบต่างๆ ของเขาก็เป็นที่ยอมรับจากลูกค้าหลายสถานที่ อาทิ คาเฟ่ ห้องอาหาร หรือโรงแรมต่างๆ ที่ประทับใจในงานของชายคนนี้

‘วัดโพนค่าย’ จ.เลย ซึ่งสุรศักดิ์ได้มีโอกาสช่วยอาจารย์ที่เคารพ ทำวิจัยและมีส่วนช่วยเขียนภาพจิตรกรรมให้วัดดังกล่าว ต่อเนื่องด้วยการรับงานเขียนจิตรกรรมและออกแบบตกแต่งให้โบสถ์ในวัดอื่นๆ อีก คือ ‘วัดเกาะแก้ว’ จ.สมุทรปราการ ‘วัดอัมพวัน’ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ‘วัดพระธาตุปุกกู่ข้าว’ อ. เวียงแหง จ. เชียงใหม่ ยืนยันได้ว่าผลงานของสุรศักดิ์ย่อมน่าสนใจไม่น้อย

รวมทั้งงานออกแบบลายเส้นให้ช่างปั้นประติมากรรมหินอ่อน MRT สถานีวัดพระราม 9 ซึ่งเขาได้ทำงานร่วมกับ 'อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร' ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม แบบประเพณี โดยเขาทำหน้าที่เขียนแบบ ออกแบบลวดลายเพื่อให้อาจารย์วนิดาพิจารณาเรื่องแบบและโครงสร้าง ทั้งช่วยดูภาพรวมก่อนที่ภาพร่างลายเส้นชิ้นนี้จะถูกนำไปส่งต่อให้กับช่างปั้นประติมากรรมหินอ่อน เพื่อตกแต่ง MRT สถานีวัดพระราม 9


ทั้งหลายทั้งปวงคือตัวอย่างเนื้องานที่น่าสนใจของช่างเขียนและออกแบบตกแต่งรายนี้
ที่ความรักความหลงใหลต่อศิลปะนับแต่เยาว์วัย นำพาเขาให้เดินทางเข้าสู่สถาบันซึ่งบ่มเพาะทักษะและองค์ความรู้ในศิลปะทุกแขนง ผ่านและพบประสบการณ์ในการทำงานที่เปิดโอกาสให้ทักษะของเขาได้พัฒนาและแสวงหาเทคนิคใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งการศึกษาเรียนรู้งานของช่างเขียนบรมครูในอดีต

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘สุรศักดิ์ พุ่มพวง’ ช่างเขียนงานศิลป์และผู้ก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO ถึงหลักคิดและการทำงาน รวมทั้งแรงดลใจนับแต่แรกรักศิลปะ ผ่านถ้อยความนับจากนี้


หลงรักศิลปะนับแต่เยาว์วัย

เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยคำถามว่าจบการศึกษาด้านศิลปะจากที่ใด

สุรศักดิ์ ตอบว่าเขาจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ภาควิชาวิจิตรศิลป์ และในระดับ ปวช. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) เขาเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ทั้งบอกเล่าถึงความเป็นมา แรงบันดาลใจ ความหลงใหลที่มีต่อศิลปะ กระทั่งสามารถเลี้ยงชีพด้วยความสามารถทางศิลปะที่มี ว่าต้องย้อนกลับไปนับแต่วัยเด็ก ซึ่งชื่นชอบทุกสิ่งที่เกี่ยวกับงานศิลปะนับแต่จำความได้ ไม่ว่างานประดิษฐ์หรืองานวาด หากเทียบกับคนอื่นในรุ่นเดียวกัน เขาจึงอาจถูกมองว่ามีฝีมือทางศิลปะแตกต่างจากคนอื่น แต่กระนั้น เขาก็ไม่ได้ทอดทิ้งงานวิชาการ มุ่งมั่นตั้งใจเรียน ระดับผลการเรียนจึงนับว่าได้คะแนนดี

“เพียงแต่ผมรู้สึกว่า เมื่อได้ทำงานศิลปะ จะ Relax กว่าครับ
กระทั่งถึงวัยเรียนมัธยมต้น ในเรื่องของการเรียน เราก็ยังเรียนในรูปแบบของวิชาการอยู่ แต่เมื่อเรียนไปแล้ว เรารู้สึกว่าไม่ Relax มากพอ เราก็หาช่องทาง ไปอยู่อาคารเรียนศิลปะ ในช่วงมัธยมต้นนะครับ ผมก็จะพยายามไปอยู่ห้องศิลปะ ก็พบว่าเมื่อเราได้ทำงานวาดรูป ได้ทำงานศิลปะ เรา Relax มากกว่างานวิชาการ แล้วก็เริ่มรู้จักวิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง( *หมายเหตุ : วิทยาลัยช่างศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) เป็นสถาบันที่ผมไปเรียนต่อในระดับ ปวช. ครับ เป็นที่ที่เราอยากเรียน

"เมื่อมีช่องทางนี้แล้วผมก็ปรึกษาคุณครูศิลปะ ปรึกษาครูแนะแนว ท่านก็แนะนำเราเรื่องการเรียน ในที่สุด ก็ทำให้เราได้ไปอยู่ในพื้นที่ของการเรียนศิลปะที่แบบเต็มตัว เรียกได้ว่าวิทยาลัยช่างศิลป เป็นสถาบันที่สอนศิลปะในทุกแขนงเลยครับ สอนทุกสิ่งที่ล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นศิลปะทั้งสิ้น

"ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานศิลปะไทย หรือแม้กระทั่งเซรามิก ทุกอย่างทุกแขนงเลยครับที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ สำหรับผมวิทยาลัยช่างศิลปเป็นสถานที่บ่มเพาะสายงานทางด้านนี้ออกมา” สุรศักดิ์ระบุ





‘สุรศักดิ์ พุ่มพวง’ ช่างเขียนงานศิลป์และผู้ก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO
บ่มเพาะความชำนาญในงานศิลป์

สุรศักดิ์ กล่าวว่า “เมื่อเราเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาระดับ ปวช. แล้ว เมื่อเรียนไปสักพักเราก็รู้ว่าเราถนัดงานประเภทไหน เมื่อเราเข้าไปเรียน เราก็เริ่มรู้ว่าเราชอบแบบไหนมากกว่ากัน ไม่ว่าการเพนท์ ( Painting) การปั้น งานไทยแบบต่างๆ และอีกหลายๆ อย่าง ที่ผมได้นำทักษะต่างๆ มาพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อเราจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เราก็ต่อยอดจากสิ่งที่เราเรียนมาจากการเรียนระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยช่างศิลปนี่เองครับ เราได้นำไปใช้ต่อยอด ซึ่งในระดับมหาวิทยาลัย ผมก็เลือกเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภาควิชาวิจิตรศิลป์ ก็คือ เป็นภาควิชาที่ว่าด้วยเรื่องทัศนศิลป์เลยครับ เป็นการเรียน Art โดยตรงเลย ตรงกับที่เราตั้งใจเข้าไปเพื่อที่จะไปเรียน Artโดยตรง ก็จะมีทั้งการเรียนจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ เป็นต้น ครับ ในยุคที่ผมเรียนนั้น ผมเลือกเรียนเอกจิตรกรรมครับ"

"เมื่อพูดถึง ‘จิตรกรรม’ คนอาจนึกว่าเป็น Painting ใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้ว จิตรกรรม ประติมากรรม ค่อนข้างจะกว้างพอสมควรครับ คือเราแสดงออกในรูปแบบอื่นได้ เช่น อาจเป็นงาน Installation หรืองาน Video Art แต่อยู่ในกระบวนการวิธีคิดแบบจิตรกรรม โดยมีเรื่องของการใช้สีและน้ำหนักเข้ามาประกอบครับ ซึ่งผมก็เลือกเรียนไปในทางจิตรกรรมครับ” สุรศักดิ์บอกเล่าอย่างเห็นภาพความเป็นมา นับแต่วัยเด็กกระทั่งก้าวเข้าไปยังสถานศึกษา สถาบันอันบ่มเพาะความรู้ความสามารถทางศิลปะอย่างเข้มข้น

สุรศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ระยะเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยหรือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ได้เปิดโลกกว้างทางศิลปะของเขาให้กว้างมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าศิลปะแตกแขนงออกไปได้หลายอย่าง รวมทั้งได้ความรู้ วิธีคิดและกระบวนการในการทำงานศิลปะที่มีความหลากหลาย จึงกล่าวได้ว่าสั่งสมบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านศิลปะมาตลอดระยะเวลาที่ได้เล่าเรียน

กระทั่งเมื่อเรียนจบ ในช่วงแรกๆ ที่เรียนจบ สุรศักดิ์กล่าวว่าเขารู้สึกอยากพัก เพื่อให้เวลากับตัวเอง แต่ก็ยังคงทำงานในลักษณะ Freelance ให้กับที่ต่างๆ อาทิ ช่วยงานที่บริษัท Art Work แห่งหนึ่ง หรือช่วยเพื่อนเขียนรูป เขาทำงานในลักษณะ Freelance อยู่ประมาณ 2 ปี เพื่อหาประสบการณ์

ผลงานที่ช่วยอาจารย์เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ ‘วัดโพนค่าย’ จ.เลย



ผลงานที่ช่วยอาจารย์เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ ‘วัดโพนค่าย’ จ.เลย


กำเนิด BAAN BANG ART STUDIO

2 ปี แห่งชีวิต Freelance ผันผ่าน จากนั้น สุรศักดิ์จึงก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO ขึ้นที่บ้านเกิด ณ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

“เมื่อก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO ก็เป็นจังหวะที่ได้งานเขียนโบสถ์มาครับ
งานนี้ สืบเนื่องมาจากมีอาจารย์ที่ปรึกษาของผมที่ลาดกระบัง ( *หมายเหตุ : สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ) ท่านก็ทำงานวิจัยที่ จังหวัดเลยพอดีครับ โดยงานวิจัยที่ทำก็คืองานวิจัยที่เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนัง ผมจึงได้มีโอกาสขึ้นไปช่วยท่านหลังจากที่เรียนจบ ก็ไปช่วยทำจิตรกรรมฝาผนังนี้ด้วย งานนี้เป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านครับ ในกระบวนการสร้างสรรค์งาน จุดประสงค์หลักของจิตรกรรมฝาผนังนี้ก็คือชาวบ้านต้องเข้ามามามีส่วนร่วมด้วยครับ งานนี้ก็เป็นโปรเจ็กต์ที่ผมได้ช่วยอาจารย์ครับ"

"ชื่อวัดคือ ‘วัดโพนค่าย’ เป็นงานเขียนใหม่เลยครับ ก่อนที่จะเริ่มลงมือเขียน ก็จะมีการพูดคุยกันทั้งอาจารย์ที่เป็นนักวิจัย ผม และเพื่อนผมอีกสองคนที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ปรึกษากับทางวัด โดยอาจารย์จะนำรูปแบบของจิตรกรรมฝาผนัง นำเรื่องราวมาปรึกษา ว่าเราจะเขียนแบบไหน รูปแบบไหน มานำเสนอให้ทางวัดในท้องที่กับผู้นำในท้องถิ่นช่วยกันดูว่าทิศทางของจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ จะออกมาในทิศทางไหน โดยมีทั้งชาวบ้าน เจ้าอาวาสวัด มีอาจารย์ ร่วมปรึกษาหารือกัน” สุรศักดิ์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

เรื่องราวที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังในครั้งนั้น เกี่ยวกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ประสูตร ตรัสรู้ ปรินิพพาน เป็น Pattern หลัก

งานชิ้นนี้ อยู่ในหมวดของประเภทงานวิจัยทางงานศิลปะ โดยมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นสื่อกลางในการที่ทำให้ชุมชนและตัวศิลปินมีมิติสัมพันธ์กัน คำว่ามิติสัมพันธ์กันในที่นี้หมายถึง ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องมานั่งเขียนรูปกับทีมงาน แต่เพียงแค่เขามาช่วยสร้างนั่งร้าน หรือ เข้ามาช่วยเหลือในกระบวนการก่อนที่จะขึ้นไปวาด ในช่วงเวลาของการทำงาน เหล่านี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในส่วนของโครงการแล้ว เพราะสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชน

หลังจากที่จบโปรเจ็กต์ดังกล่าว เมื่อสุรศักดิ์ก่อตั้งสตูดิโอเป็นของตนเอง จึงมีงานเข้ามาต่อเนื่อง อาทิ ได้งานจากวัดใกล้ๆ บ้าน คือวัดเกาะแก้ว
( *หมายเหตุ วัดเกาะแก้วมีที่ตั้งอยู่ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ )


ผลงานเขียนจิตรกรรมฝาผนังและออกแบบตกแต่ง วัดเกาะแก้ว จ.สมุทรปราการ ร่วมด้วยทีมงาน















ผลงานเขียนจิตรกรรมฝาผนังและออกแบบตกแต่ง วัดเกาะแก้ว จ.สมุทรปราการ ร่วมด้วยทีมงาน
‘จิตรกรรมฝาผนัง’ อีกหลักไมล์สำคัญของวิชาชีพ

สุรศักดิ์ กล่าวว่า “บ้านเกิดผมอยู่ จ.ฉะเชิงเทรา แต่ไม่ไกลจากวัดครับ อยู่ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัด ไม่ไกลกัน เจ้าอาวาสวัดท่านก็เห็นว่าเรามีผลงานทางด้านนี้ เขียนจิตรกรรมฝาผนังได้ เมื่อมีโครงการทำจิตรกรรมฝาผนังในวัดเกาะแก้ว ผมจึงได้รับโอกาสให้มาทำงานนี้ครับ” สุรศักดิ์บอกเล่าถึงห้วงเวลาที่เริ่มก่อตั้งสตูดิโอของตนเอง และได้รับงานจิตรกรรมฝาผนังรวมทั้งออกแบบตกแต่งโบสถ์ของวัดใกล้บ้าน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่เขาเองเคยได้มีโอกาสช่วยอาจารย์ทำวิจัย เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังมาก่อนหน้านี้ จึงทำให้มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับจากทางวัด

และด้วยเหตุนั้น งานจิตรกรรมฝาผนังและออกแบบตกแต่งโบสถ์ ให้กับวัดหลายแห่ง จึงเป็นงานที่มีเข้ามายัง BAAN BANG ART STUDIO อย่างต่อเนื่อง ดังที่สุรศักดิ์กล่าวว่า

“งานจิตรกรรมฝาผนังยังมีเข้ามาเรื่อยๆ ครับ อย่างเช่นงานที่ผมรับทำให้วัดเกาะแก้ว จ.สมุทรปราการ ก็รับทำทั้งหมด ทั้งงานเพดาน งานตกแต่งปิดทอง งานเขียน คือครบจบเลยครับ ที่วัดเกาะแก้ว จิตรกรรมฝาผนังที่วัด เป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบร่วมสมัยครับ และเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ครับ
โดยรูปแบบจิตรกรรมที่ผมใช้ศึกษาคือ รูปแบบเป็นของ ‘วังหน้า’ ใช้ภาพจิตรกรรมที่นี่เป็นต้นแบบ
( *หมายเหตุ :พระราชวังบวรสถานมงคล เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘วังหน้า’ ) โดยเรานำมาประยุกต์ เขียนขึ้นมาใหม่ โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ครับ นำมาเขียนใหม่"

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณก็ย่อมต้องศึกษาเรื่องราวของพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ใช่หรือไม่

สุรศักดิ์ตอบว่า “ใช่ครับ เพราะว่าอดีตพระพุทธเจ้า แต่ละท่านก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป สถานที่ตรัสรู้ก็จะแตกต่างกัน ชนิดของต้นไม้ที่ท่านประทับเมื่อครั้งตรัสรู้ก็แตกต่างกันไปครับ

ถามว่าเหตุใด จึงใช้ภาพจิตรกรรมของวังหน้าเป็นต้นแบบ
สุรศักดิ์กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปถึงจุดแรกเริ่ม คือท่านทางเจ้าอาวาสวัดมีความคิดเห็นว่าจิตรกรรมฝาผนังแบบใหม่ แต่ละแห่งอาจคล้ายๆ กันตรงที่เขียนภาพเป็นช่องใหญ่ๆ หรือจิตรกรรมอีกหลายแห่งก็อาจเขียนเป็นชาดก เขียนเป็นตอนแต่ละตอน

“ท่านเจ้าอาวาสก็ลองรีเสิร์ชข้อมูล ท่านก็เห็นจิตรกรรมฝาผนังแบบเขียนต่อเนื่อง เช่นวัดในเมือง โดยเฉพาะภาพเขียนจิตรกรรมช่วงต้นรัตนโกสินทร์ก็จะเขียนค่อนข้างละเอียดยิบ มีภาพต่อเนื่อง ท่านก็อยากได้แบบนี้ครับ ผมก็เลยลองช่วยท่านรีเสิร์ช ว่ามีวัดไหนที่เป็นแบบนี้ ก็พบภาพจิตรกรรมของของ ‘วังหน้า’ หรือพระราชวังบวรสถานมงคล พบว่าน่าสนใจ ผมจึงนำมาเป็นต้นแบบครับ”
สุรศักดิ์ระบุ

ถามว่า เช่นนั้นแล้ว ทุกวันนี้ มีวัดที่ขอให้คุณช่วยเขียนจิตรกรรมและออกแบบให้ คุณย่อมต้องศึกษาพุทธประวัติและชาดกอย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่

สุรศักดิ์ตอบว่า “ใช่ครับ เพราะว่า ผมก็ต้องบอกก่อนเลยว่า ผมเองเรียน วิจิตรศิลป์ลาดกระบังมา (*หมายเหตุ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภาควิชาวิจิตรศิลป์ )
ในรูปแบบของการเรียนมันค่อนข้างร่วมสมัย ไม่ได้ไทยแบบไทยประเพณี นอกจากนั้น ผมได้ Pattern ได้กระบวนการ ได้ฝึกฝีมือด้วย เราต้องเรียนหมด ทั้งงานลายรดน้ำ จิตรกรรมไทย เราได้พื้นฐานตรงนี้มา เราก็เอามาปรับใช้ครับ แล้วก็ต้องศึกษา อ่านหนังสือจิตรกรรมวัดเก่าๆ คอยดูและศึกษาเรื่อยๆ ครับ” สุรศักดิ์ระบุ

ผลงานเขียนและออกแบบจิตรกรรมฝาผนัง วัดอัมพวัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมด้วยทีมงาน

















ผลงานเขียนและออกแบบจิตรกรรมฝาผนัง วัดอัมพวัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมด้วยทีมงาน







ผลงานเขียนและออกแบบจิตรกรรมฝาผนัง วัดพระธาตุปุกกู่ข้าว อ. เวียงแหง จ. เชียงใหม่ ร่วมด้วยทีมงาน



ผลงานเขียนและออกแบบจิตรกรรมฝาผนัง วัดพระธาตุปุกกู่ข้าว อ. เวียงแหง จ. เชียงใหม่ ร่วมด้วยทีมงาน
เหนือจรดใต้ ขยายขอบเขตการรับงานตกแต่ง-จิตรกรรมฝาผนังวัด

ถามว่า นอกจากวัดแล้ว BAAN BANG ART STUDIO รับงานแบบไหน อีกบ้าง ลูกค้าส่วนใหญ่คือกลุ่มไหน
ผู้ก่อตั้งและเจ้าของสตูดิโอแห่งนี้ตอบว่า “แรกๆ เป็นงานจากวัดเป็นหลักเลยครับ นอกจากวัดที่เล่าไปแล้ว ก็มีงานของวัดที่เกาะพะงันอีกแห่งหนึ่งด้วยครับ คือ วัดอัมพวัน ( *หมายเหตุ : วัดอัมพวัน ตั้งอยู่ใน ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ) แล้วก็มีวัดที่เชียงใหม่ คือวัดพระธาตุปุกกู่ข้าว อ. เวียงแหง จ. เชียงใหม่ครับ วัดนี้ขึ้นไปทางเชียงดาวนี้ มีเขตติดต่อกับ อ.ปาย และพม่าครับ” สุรศักดิ์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมถึงงานจิตรกรรมที่วัดอัมพวัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี และวัดพระธาตุปุกกู่ข้าว อ. เวียงแหง จ. เชียงใหม่ว่า
เป็นลักษณะจิตรกรรมไทยร่วมสมัย แต่ก็ยังคงเป็นพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าอยู่ เพียงแต่รูปแบบอาจจะปรับให้ร่วมสมัย

“รูปแบบของงานจิตรกรรมร่วมสมัยนั้น แม้เราจะมี Pattern ที่เราอยากเขียน อยากมีลายเซ็นของเรา แต่ในการทำงานก็ต้องขึ้นอยู่กับทางวัดอีกส่วนหนึ่ง ว่าทางวัดอยากได้แบบไหนเพิ่มเติม เราก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของวัดครับ ก่อนที่เราจะเริ่มงาน เราก็จะเตรียมแบบ เตรียม Pattern ซึ่งเราก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการเตรียมแบบ เตรียมโครงสร้าง ว่าตรงนี้จะใช้ลายแบบไหน เล่าเรื่องแบบไหนแล้วก็นำไปเสนอกับทางวัดเพื่อดูภาพรวมกันก่อนจะลงมือจริง ก็ใช้เวลาพอสมควรครับ

ดังนั้น ในการทำงานให้วัดแต่ละวัด จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน วัดหนึ่งถ้าหากโปรเจ็กต์ใหญ่ ก็ใช้เวลามากกว่า 2 ปีขึ้นไปครับ แม้ผมจะมีน้องๆ มีทีมงานมาช่วย มาหมุนเวียน แต่งานเหล่านี้ก็เป็นงานที่ละเอียดและต้องใช้เวลาครับ และงานแบบนี้ เด็กสมัยใหม่อาจจะไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ครับ เพราะบางครั้งก็ต้องกินนอนอยู่ที่วัดเลยครับ” สุรศักดิ์ระบุ






ตกแต่งด้วยงานศิลป์หลากหลาย ปิดทองงามอร่ามใจ

ถามว่า ตั้งแต่ก่อตั้งสตูดิโอมา มีงานไหนที่คุณประทับใจเป็นพิเศษหรือไม่
สุรศักดิ์ตอบว่า “หากเป็นความประทับใจในภาพรวมและผลงานที่แสดงออกมาเต็มที่จริงๆ ก็คือผลงานที่วัดเกาะแก้วครับ เพราะว่าเราทุ่มเททั้งงานเพนท์ ปิดทอง งานสกรีนทุกอย่างเลยครับ เหมือนโบสถ์นี้เป็นเหมือนครูของเรา เป็นโบสถ์หลังใหญ่หลังแรกที่ทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการทำงานทั้งหมด บางครั้ง เราได้ฟังจากครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่เคยรับงานมา แต่การฟังก็ไม่เหมือนกับการที่เราได้ทำเองครับ เมื่อลงมือทำเอง เราก็ได้พบกับปัญหาต่างๆ เป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการทั้งหมด

"ทีมงานของผม ผมจะหามาเรื่อยๆ มี 7 คนขึ้นไป ช่วยกันคัดลอกลาย ขึ้นรูป อย่างน้องบางคนเขามีฝีมือการเขียน Realistic เขียนต้นไม้ดี ผมก็จะให้เขารับผิดชอบเขียนต้นไม้ไปเลย ใครลง Pattern ลงสีได้ ก็จะให้เขาลงสีพื้นไปเลย ก็จะแยกตำแหน่งงานชัดเจน

"ช่วงแรกๆ งานที่ผมรับจึงเป็นงานของวัดครับ ยอมรับว่าสะดุดนิดหนึ่งช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤติโควิด-19 เพราะงานของแต่ละวัดนั้น วัดก็มีงบประมาณมาจากการบริจาคของญาติโยม จากงานประจำปีหรืองานบุญต่างๆ ก็ชะงัก ดังนั้น งานวัดหลายๆ แห่งจึงขอพักงานไปก่อน ทำให้สะดุดอยู่ช่วงหนึ่ง ผมจึงคิดว่า ไหนๆ เราก็มีความรู้ทางด้านศิลปะอยู่แล้ว เราก็ลองเปิดรับงานในประเภทอื่นดูบ้าง เช่น งานเพนท์ ตกแต่งโรงแรม ตกแต่งร้านอาหาร เราก็เปิดรับงานลูกค้าเหล่านี้ไปด้วย” สุรศักดิ์ระบุ และยอมรับว่าแม้ช่วงวิกฤติโควิด-19 อาจกระทบต่องานจิตรกรรมฝาผนังบ้าง แต่ขณะเดียวกัน งานในรูปแบบอื่นๆ ก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ งานศิลป์ในรูปแบบต่างๆ จึงยังมีมาเรื่อยๆ แม้อาจไม่ได้หวือหวาหรือเยอะมาก แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากงานที่คุ้นเคย หนึ่งในงานเหล่านั้น ที่นับได้ว่าน่าสนใจคือ งานปิดทอง ที่สวยงามสะดุดตา

สุรศักดิ์กล่าวว่า แม้เดิมทีงานปิดทอง อาจใช้การลงรักปิดทอง แต่ปัจจุบันนี้ ยางรัก เป็นสิ่งที่หาได้ยากแล้ว
“จริงๆ แล้ว งานลงรัก ผมไม่ได้ใช้ยางรักแล้วนะครับ เพราะวัสดุรุ่นใหม่ๆ สามารถหาได้ง่ายกว่า ก็จะใช้น้ำยาเฟล็กซ์ ( FLEX ) แทน เพราะยางรักค่อนข้างที่จะหายากและราคาสูง และสำหรับคนที่แพ้ยางรักก็จะผื่นขึ้น อันตราย เราจึงปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุสมัยใหม่แทน อย่างพวกน้ำยาเฟล็กซ์ที่หาซื้อได้ง่ายกว่า แต่ด้วยรูปแบบลักษณะของงาน คนก็จะมองว่าเหมือนงานลงรักปิดทอง แต่ถ้าเรียกให้ถูกก็เป็นงานปิดทองครับ” สุรศักดิ์ระบุ

ถามว่างานปิดทองของคุณโดดเด่นอย่างไร

สุรศักดิ์ตอบว่า “จริงๆ แล้ว งานปิดทองของผมก็เริ่มต้นจากงานที่ทำให้วัดครับ จากงานเพดานวัด ศาลาวัด ส่วนใหญ่จะใช้งานตกแต่งแบบปิดทองเกือบทั้งหมดเลยครับ ซึ่งความโดดเด่นของงานปิดทองก็คือจะมีความวาวมากว่าการใช้สีทองทั่วไป วาวมากขนาดที่ว่าเรามองจากไกลๆ เมื่อกระทบแสงบนเพดาน ก็ค่อนข้างจะมี effect กับแสงไฟ แล้วทำปฏิกริยาให้เกิดกับตัวสีที่ใช้ ซึ่งหากเป็นสมัยนี้ ช่างบางรายจะไม่ใช้ทองกันแล้ว เพราะราคาทองสูง แม้จะเป็นทองเคก็ราคาสูง ซึ่งทองที่ผมใช้มีทั้งทองคำเปลวแท้ 100% และทองวิทยาศาสตร์ครับ หลักๆ ก็มีสองประเภทนี้ ซึ่งงานปิดทองที่ผมทำมากที่สุดก็คือทำให้วัดครับ นอกจากวัดที่กล่าวมา ก็มีการทำลายทองให้วัดที่ จ.นครปฐมอีกแห่งครับ”
สุรศักดิ์ระบุ และกล่าวถึงงานปิดทองและงานตกแต่งต่างๆ นอกเหนือไปจากรับงานออกแบบให้วัด ว่างานที่ใช้บริการสตูดิโอของเขามีหลากหลาย

ไม่ว่า งานปิดทองสำหรับตกแต่งบ้าน โรงแรม ห้องอาหาร ร้านอาหาร และคาเฟ่ทั่วไป รวมถึงงานตกแต่งอื่นๆ เช่นกัน เนื่องด้วยเมื่อเพื่อนที่เคยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ด้วยกันและทำงานในบริษัทออกแบบ เห็นว่าสุรศักดิ์ทำงาน Painting ได้ เขาก็จะมอบหมายงานมาให้ สตูดิโอของสุรศักดิ์จึงรับงานหลากหลายรูปแบบ มิใช่เพียงงานจิตรกรรม งานปิดทองหรืองานไทยๆ แต่ยังรวมถึงงานร่วมสมัยด้วย

งานออกแบบประติมากรรมหินอ่อนที่ MRT สถานีวัดพระราม 9 โดยทำงานร่วมกับศิลปินแห่งชาติ คืออาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ที่คอยให้คำปรึกษาและพิจารณาแบบที่ร่างขึ้น



















งานออกแบบประติมากรรมหินอ่อนที่ MRT สถานีวัดพระราม 9 โดยทำงานร่วมกับศิลปินแห่งชาติ คืออาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ที่คอยให้คำปรึกษาและพิจารณาแบบที่ร่างขึ้น
อีกความภูมิใจ งานออกแบบที่ MRT วัดพระราม 9

อดถามไม่ได้ว่าสุรศักดิ์ มีผลงานออกแบบใดอีกบ้างที่ประทับใจเป็นพิเศษ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น
ผู้ก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO กล่าวว่า งานนั้นคืองานออกแบบที่ MRT ( รถไฟฟ้ามหานคร : Metropolitan Rapid Transit : MRT) สถานีวัดพระราม 9

“เป็นงานที่ผมได้มีโอกาสร่วมในฐานะนักออกแบบครับ เป็นงานออกแบบ MRT ที่สถานีวัดพระราม 9 ครับ ทำงานร่วมกับศิลปินแห่งชาติ คืออาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ครับ ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม แบบประเพณี ( *หมายเหตุ : อดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม แบบประเพณี) โดยตัวผมทำหน้าที่เขียนแบบให้ ผมอยู่ในฐานะผู้ออกแบบลวดลายครับ
ผมได้ร่วมออกแบบ จากนั้นก็ให้ท่านอาจารย์วนิดาพิจารณาแบบครับ เรียกว่าผมอยู่ทีมเดียวกับอาจารย์วนิดา โดยท่านจะช่วยเรื่องแบบโครงสร้าง เช่น ตรงนี้ อาจจะแขนเล็กไป และช่วยดูภาพรวมก่อนที่ภาพร่างลายเส้นชิ้นนี้จะถูกนำไปส่งต่อให้กับช่างปั้น ซึ่งตัวงานชิ้นนี้จะเป็นประติมากรรมหินอ่อน เพื่อตกแต่ง MRT สถานีวัดพระราม 9 ครับ"

"จุดนี้ก็จะเป็นเหมือน Landmark ประจำสถานีเลยครับ” สุรศักดิ์ระบุ และให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า

โปรเจ็กต์งานนี้ จบด้วยงานปั้น งานประติมากรรมหินอ่อน โดยการออกแบบของสุรศักดิ์เป็นขั้นตอนของการเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 เรื่องราวพื้นที่บึงพระราม 9 และเรื่องราวพระมหาชนก โดยมีอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ พิจารณางานออกแบบครั้งนี้





‘สุรศักดิ์ พุ่มพวง’ ช่างเขียนงานศิลป์และผู้ก่อตั้ง BAAN BANG ART STUDIO
ก่อนบทสนทนาจบลง ถามว่าอะไรคือเอกลักษณ์ในงานของคุณ

คำตอบของสุรศักดิ์คือ “ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการทำงานมากกว่า ถ้าบอกว่าเป็นลายเซ็น เหมือนศิลปินที่สร้างพุทธศิลป์เพื่อวัด หรือวัดนั้นมีงานพุทธศิลป์เป็นลายเซ็นของเขา ก็ค่อนข้างชัดเจนในแง่ปัจเจกบุคคล 
แต่สำหรับผม ผมรับงานค่อนข้างที่จะหลากหลาย เป็นทั้งพุทธศิลป์และพุทธพาณิชย์ด้วย ดังนั้น เอกลักษณ์ก็น่าจะเป็นเรื่องกระบวนการการทำงานสมัยใหม่ ที่ไปช่วย Support ในวิธีการแบบโบราณ อาจยกตัวอย่างไปถึงงานที่เป็นงานลงรักปิดทอง อย่างที่ผมกล่าวไว้ ถ้าเป็นสมัยก่อนเขาอาจจะใช้ยางรักจริงๆ แต่สำหรับผม ผมจะมองว่าเราใช้กาวแทนดีไหม กาวจากญี่ปุ่น หรือสีน้ำยาเฟล็กซ์ ( FLEX ) เป็นตัวปิดแทนยางรักไหม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของกระบวนการครับ ที่ทำให้ผลงานเสร็จสมบูรณ์ได้เร็วขึ้น”

เป็นคำตอบทิ้งท้ายของช่างเขียนจิตรกรรมและเจ้าของสตูดิโอรับออกแบบตกแต่งด้วยศิลปะหลากแขนงผู้นี้

…………..
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : สุรศักดิ์ พุ่มพวง