“พระบรมรูปทรงม้า” เป็นอนุสาวรีย์บุคคลแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นขณะที่บุคคลผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่ เดิมเชื่อกันว่าเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในวันที่ ๑๑-๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ที่ทรงครองราชย์ยาวนานกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ผ่านมา คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงครองราชย์ยาวนาน ๔๐ ปี แต่มีเอกสารที่เป็นลายพระราชหัตถเลขาถึงพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๕๐ มีความตอนหนึ่งว่า
“...เงินที่ข้าราชการเรี่ยรายในการทำบุญแซยิดอายุครบ ๕๐ อันมีเหลืออยู่นั้น ก่อสร้างเป็นซุ้มประตูที่ต้นถนนเบญจมาศ อันต่อกับถนนดวงตะวันและถนนราชดำเนินนอก เพื่อเป็นซุ้มประตูสำหรับวังสวนดุสิต...มาภายหลังพระยาสุริยาคิดเห็นว่าน่าจะหล่อพระบรมรูปทรงม้าตั้งบนหลังซุ้มนั้น...”
“พระยาสุริยา” ผู้เป็นต้นความคิดที่ถวายความเห็นว่าน่าจะสร้างพระบรมรูปทรงม้า และพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นชอบด้วย ก็คือ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยจะใช้เงินที่มีผู้บริจาคเมื่อครั้งพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษครบ ๕๐ พรรษาในปี พ.ศ.๒๔๔๖ มาเป็นค่าก่อสร้าง
เมื่อพระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ในปี ๒๔๕๐ จึงเสด็จไปเป็นแบบให้ช่างปั้นและหาโรงหล่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงทูลขอพระบรมราชานุญาตเปิดการเรี่ยไรประชาชนทุกหมู่เหล่าสมทบทุนในการก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี มีเงินบริจาคสูงถึง ๑ ล้าน ๒ แสนบาท ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลในยุคนั้น และสูงกว่างบประมาณค่าก่อสร้างถึง ๓ เท่า เงินที่เหลือนี้จึงเป็นที่มาของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในรายงานพิเศษของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเรื่อง “พระยาสุริยานุวัตร รัฐบุรุษ ๕ แผ่นดิน นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย” กล่าวว่า พระยาสุริยานุวัตร เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) สมุหกลาโหมฝ่ายเหนือ เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาหนังสือไทยที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้เป็นลุง ในปี ๒๔๑๔ เมื่ออายุ ๙ ขวบจึงไปศึกษาต่อที่ปีนังและกัลกัตตาอยู่ ๕ ปี จึงกลับมารับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษ มีผลงานที่น่ายกย่องไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด ทั้งการเป็นอัครราชทูต เสนาบดี องคมนตรี และรัฐมนตรี จึงมีผลงานมากมาย อาทิ
แต่งตำราการทูตภาษาไทยเล่มแรกระหว่างรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษในปี ๒๔๓๐
เสนอแนวคิดให้ตั้งธนาคารชาติ ออกทุนให้ชาวนากู้โดยเก็บดอกเบี้ยแต่พอควร ดังปรากฏในจดหมายที่กราบทูลกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๔๕
มีบทบาทในการเจรจาทำอนุสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ ได้สำเร็จ โดยให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรี
เมื่อกลับประเทศไทยเมื่อปี ๒๔๔๘ หลังจากผ่านตำแหน่งผู้ช่วยราชทูตประจำอังกฤษ อุปทูตประจำเยอรมัน และอัครราชทูตประจำฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซียแล้ว ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทำหน้าที่กำกับดูแลการพัฒนาประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการโยธา การรถไฟ และการไปรษณีย์โทรเลข รวมทั้งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมในงานสร้างพระบรมรูปทรงม้า
ในปี ๒๔๔๙ ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งไม่เคยมีสามัญชนคนใดเคยได้รับพระมหากรุณาเช่นนี้มาก่อน และได้พัฒนาระบบเงินตราเปลี่ยนจาก “ระบบมาตราเงิน” เป็น “ระบบมาตราทองคำ” และคิดทำสตางค์ขึ้นใช้แทนอัฐ
จากการปฏิบัติราชการด้วยความเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต และสร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับประเทศชาติมาโดยตลอด ในปี ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินให้ปลูกสร้างบ้าน และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชทานทรัพย์ปลูกบ้าน ออกแบบก่อสร้างโดย นายมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งก็คือ “บ้านสุริยานุวัตร” ที่ทำการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ “พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ” ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทาน “หีบทอง” แก่พระยาสุริยานุวัตร โดยมีพระราชหัตถเลขาความตอนหนึ่งว่า
“เจ้าได้แสดงให้เห็นเป็นที่มั่นใจว่า เจ้าเป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากคนหนึ่ง ซึ่งได้ความร้อนใจมาด้วยกันนานแล้ว”
ต่อมาในปี ๒๔๕๐ ท่านได้กราบถวายบังคมลาพักราชการ เนื่องจากในการปฏิรูปจัดเก็บภาษีอากร โดยโอนกิจการฝิ่นมาเป็นของรัฐบาล ทำให้เจ้าภาษีนายอากรเกิดความไม่พอใจ ท่านจึงหันมาใช้เวลาเขียนหนังสือตำราเศรษฐศาสตร์ขึ้น ๓ เล่ม ในชื่อ “ทรัพย์ศาสตร์” ซึ่งนับเป็นมรดกล้ำค่า ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย และมีความคิดก้าวหน้าจนแทบไม่มีใครในยุคนั้นตามทัน
เมื่อมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี ๒๔๕๔ จึงได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจนทางราชการขอร้องไม่ให้พิมพ์เผยแพร่ อีก ๒๐ กว่าปีต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ได้นำมาพิมพ์ใหม่ แม้แนวคิดในหนังสือทรัพย์ศาสตร์นี้จะมีมานานแล้วก็ยังถูกนำมาปฏิบัติ อย่างเช่น โครงการธนาคารชาติ การสงเคราะห์คนยากจนยกระดับความเป็นอยู่ การกระจายการผลิตทางการเกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับการทำมาหากินของราษฎร และการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาในระดับประถม โดยรัฐให้การสนับสนุน เป็นต้น จนเป็นหนังสือ ๑ ใน ๑๐๐ เล่ม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย แนะนำว่าคนไทยควรอ่าน
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระยาสุริยานุวัตรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี และหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาสุริยานุวัตรก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และทำหน้าที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาล จนเสียชีวิตในปี ๒๔๗๙ ขณะยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี รวมอายุ ๗๔ ปี
นี่ก็เป็นผลงานของข้าราชการผู้หนึ่งซึ่งเป็นต้นความคิดถวายความเห็นในการสร้างพระบรมรูปทรงม้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินทรงทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เองในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี ๒๔๑๑ หลังจากวันเปิดพระบรมรูปทรงม้าครบรอบ ๑ ปี จึงมีงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ เนื่องในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ และมีความคิดว่าจะให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ประจำปีไปทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปิยมหาราช แต่ในปีต่อมาคือ พ.ศ.๒๔๕๓
พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ เช่นเดิม แต่ในปีต่อมาจึงเปลี่ยนให้เป็นวันที่ ๒๓ ตุลาคมสืบมาจนถึงวันนี้