รายการวิทยุสไมล์เรดิโอ (Smile Radio) คลื่นวิทยุยอดฮิตในยุค 90 เปิดตัวอย่างเป็นทางการวันนี้ (17 พ.ย.) หลังหายไปจากหน้าปัดนานถึง 27 ปี ดีเจรุ่นบุกเบิกมาเกือบครบ เสริมด้วยดีเจใหม่ ออกอากาศทั้งออนแอร์และออนไลน์ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
วันนี้ (17 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า รายการวิทยุสไมล์เรดิโอ (Smile Radio) เตรียมที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเย็นวันนี้ ที่ร้านอาหาร WH cafe อาร์ซีเอ ย่านพระราม 9 กรุงเทพฯ ภายใต้สโลแกน "เชื่อมต่อทุกรอยยิ้ม" โดยภายในงานจะมีการเปิดตัวดีเจที่กลับมาจัดรายการอีกครั้ง พร้อมกับแขกรับเชิญเจ้าของเพลงยอดนิยมตลอดกาล อัญชลี จงคดีกิจ, ชรัส เฟื่องอารมย์, กบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี และการเปิดตัวเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน รวมทั้งรายการวิทยุในระบบ “เมตาเวิร์ส” ครั้งเเรกในประเทศไทย โดยถ่ายทอดสดพร้อมกันทางเอฟเอ็ม 98.0 เมกะเฮิรตซ์ เว็บไซต์ www.smileradio.live และแอปพลิเคชัน
สำหรับสไมล์เรดิโอ เอฟเอ็ม 98.0 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการกลับมาผลิตรายการวิทยุอีกครั้งหลังห่างหายจากหน้าปัดวิทยุไปนานถึง 27 ปี นำโดย ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร ร่วมกับ นายวินิจ เลิศรัตนชัย, นางหัทยา วงษ์กระจ่าง (เปิ้ล), น.ส.สาลินี ปันยารชุน (เอื้อง), นายนิมิตร ลักษมีพงศ์ (บ๊อบบี้) และ น.ส.อลิศรา ศิริชุมแสง (ป๋อม) เสริมด้วยดีเจใหม่อย่าง นายวิโรจน์ ควันธรรม (หมึก), น.ส.รวิวรรณ จินดา (อุ้ย) และนายณพล พรมสุวรรณ (ต๊อป) เริ่มทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปในอดีต รายการวิทยุสไมล์เรดิโอก่อตั้งเมื่อปี 2531 ผลิตโดย บริษัท มีเดีย พลัส จำกัด ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เอฟเอ็ม 88.0 เมกะเฮิรตซ์ นำโดย พ.ต.อ.อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ, นางวนิดา วรรณศิริกุล และ ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร ใช้สโลแกน "คลื่นสุดท้ายทางซ้ายสุด" หมายความว่า เวลาหมุนหน้าปัดวิทยุให้หมุนเข็มหน้าปัดไปทางซ้ายมือจนสุดหน้าปัด เปิดเพลงไทยสากล และเพลงสากลหลากหลายสไตล์ ทั้งที่กำลังได้รับความนิยม และเพลงหาฟังยาก
เสน่ห์ของสไมล์เรดิโอ คือการพูดทับในตอนต้นเพลงและตบท้ายเพลง และเป็นคลื่นวิทยุที่ "ไม่รับคิวเพลงจากใคร" เปิดเพลงได้อย่างอิสระ โดยไม่ยึดติดกับสังกัดค่ายเพลงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในยุคนั้นค่ายเพลงแต่ละค่ายต่างเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นวิทยุ เปิดเพลงเฉพาะของค่ายตัวเองเป็นหลัก แต่เปิดเพลงของค่ายคู่แข่งนานๆ ครั้งถ้าไม่ดังจริง และมีผู้ฟังทางบ้านโทร.ไปขอเพลงแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ถือเป็นการพลิกวงการวิทยุของไทย และได้รับความนิยมจากผู้ฟังในยุค 90 เลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ สไมล์เรดิโอได้สร้างสีสันให้กับวงการเพลงมากมาย เช่น เป็นโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ การจัดออนกราวนด์อีเวนต์ การก่อตั้งคอนเสิร์ตฮอลล์ M88 Live House ที่ย่านรามคำแหง การผลิตรายการดนตรีทางโทรทัศน์ Smile TV ที่พัฒนาเป็นช่อง Channel [V] Thailand แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 สไมล์ เรดิโอ แพ้ประมูลคลี่นวิทยุ และดีเจชื่อดังบางคนลาออกไป ต้องย้ายไปออกอากาศทางสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และได้ขยายออกเป็น 5 คลื่น ส่งสัญญาณด้วยระบบดิจิทัลผ่านดาวเทียมไปทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น แต่ต้องปิดตัวลงในปี 2538
ผ่านไป 27 ปี สไมล์เรดิโอกลับมาผลิตรายการอีกครั้ง นำโดย นางหัทยา วงษ์กระจ่าง, น.ส.สาลินี ปันยารชุน และ ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร โดยได้รับความเห็นชอบจาก นายอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ทายาทของ พ.ต.อ.อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ มีการคุยกับดีเจรุ่นก่อตั้ง กระทั่งกลับมาออกอากาศทางสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เอฟเอ็ม 98.00 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีบริษัท ซิมเปิ้ล พี จำกัด เป็นผู้ผลิตรายการ เจาะกลุ่มผู้ฟังเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ Gen X, Gen Y เป็นหลัก พร้อมเปิดช่องทางรับฟังทางเว็บไซต์ www.smileradio.live และแอปพลิเคชัน
สำหรับผังการจัดรายการวิทยุ เบื้องต้นมีดังนี้
วันจันทร์-วันศุกร์
06.00-10.00 น. ดีเจเปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง
10.00-13.00 น. ดีเจป๊อป นฤพนธ์ ไชยเพิ่ม
13.00-17.00 น. ดีเจซอลลี่ สาลินี ปันยารชุน (เอื้อง)
17.00-20.00 น. ดีเจต๊อป ณพล พรมสุวรรณ
20.00-24.00 น. ดีเจโด๋ว มรกต โกมลบุตร
วันเสาร์-อาทิตย์
09.00-13.00 น. ดีเจอุ้ย รวิวรรณ จินดา
13.00-16.00 น. (วันเสาร์) ดีเจโรจน์ วิโรจน์ ควันธรรม (หมึก)
13.00-16.00 น. (วันอาทิตย์) ดีเจป๋อม อลิศรา ศิริชุมแสง
16.00-19.00 น. ดีเจบ๊อบบี้ นิมิตร ลักษมีพงศ์
19.00-22.00 น. (วันเสาร์) ดีเจป๊อป นฤพนธ์ ไชยเพิ่ม
22.00-24.00 น. (วันเสาร์) ดีเจรุจ ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร
22.00-24.00 น. (วันอาทิตย์) ดีเจวินิจ เลิศรัตนชัย
อนึ่ง สถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เอฟเอ็ม 98.00 เมกะเฮิรตซ์ กองทัพบกได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง บริการสาธารณะประเภทที่ 2 จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2565 ถึง 3 เม.ย. 2570