ตลอด 2 ทศวรรษที่ TRAViZGO iNNOTECH ได้พานักท่องเที่ยวไทยหลายล้านคนติดปีกออกเดินทางไปทั่วโลก ภายใต้การกุมบังเหียนของกัปตันใหญ่อย่าง ‘ณัฐเศรษฐ วงศ์วัฒนากานต์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ‘บริษัท ทราวิซโก อินโนเทค จำกัด’ ผู้ที่ใช้ความชอบของตัวเองทำให้ ‘โลกทั้งใบอยู่ใกล้แค่เอื้อมสำหรับทุกคน’
จากความชอบด้านเทคโนโลยีและเครื่องบิน
สู่การก้าวลงสนาม ‘เทคสตาร์ทอัพ สายเที่ยว’
“เราเริ่มกันแบบสตาร์ทอัพ มีแค่ผมและคุณธนวัฒน์ โฆสิตวิวัฒน์ (Co-Founder) กับทีมงานอีกแค่ 2-3 คน เราต้องทำเองเกือบทุกอย่าง คุยกับลูกค้า คู่ค้า ต่อคอมพ์ เซ็ตโมเด็ม ทำเว็บไซต์ ออกแบบ Artwork แม้แต่การเปิดปิดทำความสะอาดออฟฟิศ เราก็ต้องทำเอง ทำงานกัน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน”
ณัฐเศรษฐ เริ่มเล่าย้อนไปถึงก้าวแรกที่เขาพา TRAViZGO iNNOTECH เข้าสู่สนามธุรกิจการท่องเที่ยวในปี 2544 และขับเคลื่อนจนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นตัวหลักในสนามในวันนี้
“มันมีสิ่งกระตุ้น 2 อย่าง หนึ่ง คือ เราอยากทำธุรกิจบนพื้นฐานของสิ่งที่เราชอบ โดยเราชอบเรื่องไอที ชอบเครื่องบิน และชอบท่องเที่ยวมาตั้งแต่เด็ก สอง คือ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ท่องเที่ยวไทยบูมต่อเนื่องมาจาก Amazing Thailand มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยมากกว่าเพื่อนบ้าน เราก็เห็นว่าตลาดนี้มีอนาคตที่น่าสนใจ”
“เราสตาร์ทธุรกิจด้วยเงินทุนที่ไม่มาก เราเพิ่งเริ่มลงเมล็ดพันธ์ ก็อยากทำอะไรที่ไม่เสี่ยงมาก แล้วการท่องเที่ยวมันเป็นภาคบริการ ไม่ต้องเสี่ยงกับเรื่องสต็อกสินค้า ก็ตัดสินใจลงสนามตลาดท่องเที่ยวตั้งแต่ตอนนั้นเลย”
ด้วยความชอบไอทีและมีพื้นฐานการออกแบบโปรแกรม ทำให้ ณัฐเศรษฐ ริเริ่ม ‘ดอมคอม’ ด้านท่องเที่ยวมาตั้งแต่หลัง Y2K ใหม่ๆ จนตอนนี้ได้ทรานส์ฟอร์มเป็นแพลตฟอร์ม TRAViZGO ที่มียอดดาวน์โหลดเกือบล้านภายในเวลาแค่ปีเดียว ซึ่งน้อยคนจะรู้ว่านี่เป็น ‘ฝีมือการพัฒนาของคนไทย’
“มีความท้าทายหลายอย่าง คือ เรายังใหม่ในตลาด มีคนไม่มาก มีทุนไม่เยอะ เราเลยมองว่าเอาเรื่องไอทีที่เราถนัดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำเว็บไซต์หน้าบ้านและทำระบบงานหลังบ้านควบคู่กันไป นับๆ มาก็ 20 ปีแล้ว เรียกว่าเราเป็น ‘เทคสตาร์ทอัพ’ ยุคเริ่มต้น ตั้งแต่คนไทยยังไม่คุ้นชินกับคำว่าสตาร์ทอัพเลย”
“เราเข้าใจและทำการตลาดบนอินเทอร์เน็ตแบบที่สมัยนี้เรียก SEO กับ SEM ตั้งแต่ยุคที่ Google แจ้งเกิดในไทย ในตลาดมีเราอยู่คนเดียวมาหลายปีมาก แทบจะไม่มีคู่แข่ง แบบว่า ‘ถ้าถูกที่ถูกเวลา มันก็คือใช่’”
ตั้งแต่ตอนนั้น ณัฐเศรษฐ ในฐานะ CEO มือใหม่ ก็คาดหวังไปไกลแล้วว่า เขาจะสามารถนำ TRAViZGO iNNOTECH เติบโตจนกลายเป็นผู้เล่นหลัก และเติบโตให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกใช้งานเพื่อเดินทางมาเที่ยวไทย ให้สมกับการที่ประเทศไทยเป็น ‘Dream Destination’ หรือ ‘ปลายทางในฝัน’ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ความรู้ทางธุรกิจเป็นศูนย์ ก็ต้อง ‘เรียนเพื่อที่จะรู้’
หลายคนอาจมองว่า การจะทำธุรกิจสักอย่างแค่มีเงินทุนสักก้อนก็คงเพียงพอแล้ว แต่สำหรับ ณัฐเศรษฐ กลับมองว่า มีแค่เงินทุนไม่พอ ต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะทำด้วย และนี่คือ ‘ก้าวที่ศูนย์’ ของเขา
“เราเริ่มจากศูนย์ นอกจากจะใหม่ในตลาดท่องเที่ยวแล้ว เราเองก็ไม่ได้เรียน Business School มา ทั้งชีวิตเรียนวิทยาศาสตร์มาตลอด ไม่รู้บัญชี ไม่รู้ Business ไม่รู้ How To เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก แต่เมื่อตัดสินใจจะเริ่มแล้ว ก็ต้องทำไป ระหว่างทำก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ต้องหาคนมาเป็นที่ปรึกษา ต้องคุย ต้องถามตลอด”
‘ไม่รู้ ก็ต้องหาวิธีเรียนเพื่อที่จะรู้’ ที่ ณัฐเศรษฐ ได้แชร์ให้ฟัง คือ การที่มีโอกาสเป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารของสายการบินแห่งหนึ่ง เขามองว่าได้เป็นตัวแทนทั้งทีต้องรู้ให้จริง เขาจึงศึกษาระบบการทำงานตลอด Supply Chain ของธุรกิจสายการบิน จนเห็นโอกาสหลายอย่างมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจจนถึงทุกวันนี้
“ทุกเรื่องมันไม่ได้ Ready to Use ไม่มีอะไรที่สำเร็จรูป ไม่มีของพร้อมใช้ แต่ละเรื่อง แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ทุกเรื่องที่ทำ เราต้องเข้าใจ ต้องคิด ต้องทำ ต้องปรับให้มันซัพพอร์ตกับธุรกิจของเราที่สุด”
‘The BEST’ แนวคิดแห่งความสำเร็จ ของอาณาจักร 2,000 ล้าน
TRAViZGO iNNOTECH เริ่มต้นจากห้องแถวเล็กๆ 1 คูหา ใกล้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญฯ (ABAC) หัวหมาก ขยายตัวจนมีฐานลูกค้ามากกว่า 15 ล้านราย มีรายรับทะลุ 2,000 ล้านบาท ซึ่งระหว่างทางคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จก็คือวิสัยทัศน์และการบริหารงานของ ณัฐเศรษฐ ในฐานะผู้นำ ผู้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพาธุรกิจเติบโตก้าวหน้ามาได้อย่างมั่นคง
‘The BEST’ คือ ‘สูตรลับแห่งความสำเร็จ’ ที่ทำให้ ณัฐเศรษฐ ใช้ จนสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ TRAViZGO iNNOTECH ให้แตกต่างจากคนอื่น ดีขึ้น เร็วขึ้น และคุ้มค่ามากขึ้น
‘Better ทำให้ดีขึ้น’ “จะทำอะไรเราต้อง ‘รู้จริง’ ในสิ่งที่ทำ ถ้าไม่รู้ต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาจนรู้จริง เราต้องรู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ต้องรู้กลยุทธ์และสิ่งที่คู่แข่งนำเสนอ แล้วมาวิเคราะห์เพื่อหาช่องว่างที่เราจะสามารถเติมเต็ม จุดสำคัญ คือ ต้องไม่ยึดติด เราพยายามสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่งและยืดหยุ่น ทั้งองค์ความรู้ของคนและโครงสร้างระบบ เพื่อให้เราสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และสามารถ ‘ทำได้ดีขึ้น (Better) กว่าของเดิมที่มี’ ทั้งของคู่แข่ง และที่สำคัญ ‘เราต้องแข่งกับตัวเอง’ ด้วย”
‘(User) Experience คำนึงถึงประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้งาน’ เราพัฒนาภายใต้แนวคิด ‘User Centric (ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง)’ ไม่ใช่แค่ ‘Customer Centric (ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง)’ เราโฟกัสที่ตัว ‘ผู้ใช้งานทุกคน’ ที่มีส่วนร่วมกับ ‘บริการ’ นั้น ๆ ทั้งลูกค้า คู่ค้า และคนทำงานหลังบ้านเรา เราคำนึงถึงทั้งหมด ถ้าออกแบบให้ลูกค้าสะดวก แต่คนทำงานยุ่งยาก ก็ไม่มีทางจะส่งมอบการบริการที่ดีได้”
‘Smart ทำงานอย่างสมาร์ท’ “เรามองว่าดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ Smart และทรงพลังในการเพิ่มศักยภาพเรา แต่ต้องเลือกใช้ให้ดี ให้เหมาะสมกับแต่ละเรื่อง”
“นอกจากนี้ เรายังออกแบบระบบที่โปร่งใสและให้ข้อมูลสารสนเทศที่ครบถ้วน ถูกต้อง แม่นยำ ทันเวลา (Data Driven Strategy) ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำให้เราตัดสินใจได้ Smart และล้ำหน้าไปหนึ่งก้าวเสมอ”
‘Trust สร้างความเชื่อมั่นด้วยความจริงใจ’ “ความเชื่อมั่นที่มี ก็เกิดจากความจริงใจและความรับผิดชอบที่เรายึดถือมาตลอด เราจะมาถึงทุกวันนี้ไม่ได้เลย ถ้าปราศจากความ Trust จากทุกคน ในช่วงโควิดนี้ เราก็บาดเจ็บอย่างหนัก มีบาดแผลเต็มตัว แต่เราก็ดูแลทุก ๆ บาดแผล เรารับผิดชอบ”
เพราะโควิด-19 ‘ไม่พักก็ต้องพัก’
เมื่อพูดถึงวิกฤตโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวเรียกได้ว่า เจ็บจริงและเจ็บหนักอย่างถ้วนหน้า นักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาที่เคยบินลัดฟ้าสู่เมืองไทยสูงถึงเกือบ 40 ล้านคนต่อปีหายไปทันตาเห็น และคนไทยเองก็ไม่มีโอกาสบินออกไปเที่ยวประเทศไหนเลย
“ผมพูดกับน้องในทีมเสมอว่า เราอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวที่จะตายยากมาก ๆ ธุรกิจเราจะหยุดก็ต่อเมื่อทุกสายการบินต้องบินไม่ได้ โรงแรมต้องปิดทั่วโลก ซึ่งก็พอเป็นไปได้ แต่จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ๆ หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลยในช่วงชีวิตเรา ถือเป็นครั้งแรกที่เห็นทั่วโลกปิด”
“เราไม่ได้ชะล่าใจนะ เราเตรียมเงินทุนสำรองไว้ระดับหนึ่ง แต่มันก็ไม่พอ เอาไม่อยู่จริง ๆ ปกติเราต้องสำรองจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อน ทีนี้พอเดินทางไม่ได้ ลูกค้าก็ขอเงินคืน แต่คู่ค้าก็ไม่มีเงินคืนเรา เพราะทุกคนก็ปิดเหมือนกันหมด ทุกคนมองภาพตรงกันว่าเดี๋ยวธุรกิจมันก็น่าจะกลับมาเหมือนทุกครั้ง แค่รอเวลา ไม่น่าจะนาน เราก็รอ แต่ในที่สุดปากกาเซียนก็หักหมด สุดท้ายคือมันไปต่อไม่ได้แล้ว ยิ่งช่วงเดือนที่ 6-7-8 มันไม่ได้แล้วจริง ๆ”
“เราสู้นะ ประหยัด รัดเข็มขัด ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทุกอย่าง เรางัดกลยุทธ์จากทุกตำราออกมาใช้หมด เรามีรถลีมูซีนไว้บริการเป็นร้อยคันนะ แล้วตอนนั้นมันต้องจอดเฉย ๆ ก็ต้องขายทุกคัน ทรัพย์สินส่วนตัวต่าง ๆ สร้อย แหวน นาฬิกา เพชร ทอง บ้าน ทยอยจำนำ ทยอยขาย เอามาประคองทุกอย่าง ผลกระทบมันใหญ่จริง ๆ”
‘หยุดพัก’ ไม่ได้หมายความว่า ‘หยุดนิ่ง’
ในช่วงวิกฤตโควิดนั้น ยังโชคดีที่ TRAViZGO iNNOTECH ภายใต้การกุมบังเหียนบริหารงานโดย ณัฐเศรษฐ ยังได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนอย่างเต็มที่ จนทำให้การเจรจาลงทุนที่คุยกันไว้ตั้งแต่ก่อนโควิด ประสบความสำเร็จ ได้รับเงินลงทุนก้อนใหม่เข้ามาช่วยต่อลมหายใจได้ ท่ามกลางสถานการณ์ท่องเที่ยวที่เลวร้าย
“ด้วยความจริงใจในการดำเนินธุรกิจที่เรายึดถือมาตลอด ภายใต้ประสบการณ์มืออาชีพอันยาวนานของเรา ผนวกกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับแผนธุรกิจที่มีความชัดเจน ทำให้เราได้รับการอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่มเติมอีกถึง 470 ล้านบาท ถือเป็นเงินลงทุนสูงสุดที่เราเคยได้รับมา”
นั่นหมายความว่า ตอนนี้ TRAViZGO iNNOTECH ได้เปลี่ยนจากการเป็น TRAVEL TECH STARTUP ระดับ PONY ที่มีทุนจดทะเบียน 330 ล้านบาท กลายเป็น TRAVEL TECH STARTUP ระดับ CENTAUR อย่างเต็มตัว ที่มีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท และมีมูลค่ากิจการเกือบ 6 พันล้านบาท (170 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งถูกประเมินโดยบริษัทผู้ประเมินมูลค่ากิจการอิสระ (คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 THB ต่อ 1 USD)
หลังจากที่ได้สร้างความเชื่อมั่นจนได้รับเงินทุนเพิ่มเติม เขาได้ใช้โอกาสนี้ทำการปรับปรุงระบบและกระบวนการทำงานทั้งหมดแบบ ‘ยกเครื่อง’ (Digital Transformation)
“เรามีช่องว่างที่ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม พอเรามีเงินทุนเพิ่มเติม อาศัยช่วงที่งานขายเกือบจะเป็นศูนย์ เราเลยยกเครื่องทั้งระบบ เพื่อให้พร้อมที่สุดที่จะรองรับการท่องเที่ยวที่จะพลิกฟื้นกลับมาหลังโควิด”
‘เตรียม Take Off อีกครั้ง’
ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
แม้ว่าชื่อของแพลตฟอร์ม ‘TRAViZGO’ อาจจะยังไม่คุ้นหูมากนัก และหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นของต่างชาติ แต่ถ้าบอกว่า ‘TRAViZGO’ ถูกสร้างโดยทีม ‘บริษัท ทีทีซี โกลบอล (TTC GLOBAL) จำกัด’ และ ‘บริษัท ไทยทราเวล เซ็นเตอร์ จำกัด (thaitravelcenter.com)’ น่าจะเป็น 2 ชื่อที่หลายๆ คนคุ้นเคยและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ด้วยคุณภาพของงานบริการที่สะสมมานานหลายสิบปี ในวงการท่องเที่ยวไทย
“ตอนนี้ ‘บริษัท ทีทีซี โกลบอล จำกัด (TTC GLOBAL LTD.)’ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท ทราวิซโก อินโนเทค จำกัด (TRAViZGO iNNOTECH LTD.)’ เพื่อให้สะท้อนภาพขององค์กรที่มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ และดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้งานได้อย่างลงตัว และสอดรับกับทิศทางธุรกิจที่จะขยายออกไปยังตลาดโลก”
ทั้งนี้ ณัฐเศรษฐ รู้ดีว่า การแข่งขันต่อจากนี้ไป คือ จะอยู่บนสมรภูมิการแข่งขันที่ไม่ธรรมดา เพราะ OTAs (Online Travel Agencies) ต่างชาติเจ้าใหญ่ๆ ได้ยกขบวนเข้ามาและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย แต่เขามั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันได้
“เราไม่นิยามตัวเราเองเหมือน OTAs รายอื่น ๆ ที่อาจจะพัฒนาแบบ One to All โดยทำแอปหน้ากากเดียวจากต่างประเทศแล้วมาเปิดให้ประเทศอื่นใช้บริการ แต่ของเราไม่ใช่ จุดแข็งสำคัญของ TRAViZGO คือ การให้บริการแบบ ‘Online to Offline (O2O)’ รองรับตลาด MICE มูลค่าเกือบ 6 แสนล้านบาทต่อปี ที่ไม่มี OTAs รายไหนเล่น เพราะมันมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพในการจัดการกับความรู้สึกและส่งมอบบริการที่คุ้มค่ารวมทั้งประสบการณ์ดี ๆ ให้กับลูกค้า แต่ทั้งหมดนี้ TRAViZGO มีให้ เพราะเราคือมืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เราถนัดและเชี่ยวชาญทางด้านนี้ TRAViZGO เป็น Lifestyle Platform ที่เป็นมากกว่าแค่การ จอง จ่าย จบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ OTAs ต้องมี”
“แพลตฟอร์มเรามีดีหลายด้าน เราพัฒนาบนความเข้าใจ เราพร้อมส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ทุกคน ด้วยประสบการณ์ของเรา (Provide Experience by Experience)”
เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเสมอ ด้วยแผน ‘Un (fixed) planned’
เมื่อถามถึงแผนก้าวต่อไป ในวันที่โลกข้างหน้าอาจจะไม่เป็นใจกับ ‘TRAViZGO iNNOTECHอีกครั้ง ณัฐเศรษฐเอ่ยทิ้งท้ายว่า
“เรากำลังอยู่ในโลกของความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ หรือ VUCA World มันมีอะไรกระทบเยอะแยะไปหมด ทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ เรียกว่า ผีเสื้อบินที่อเมริกา ก็อาจส่งแรงกระเพื่อมผ่านสายลมมาถึงไทย มันเชื่อมกันหมด เราจึงต้องเตรียมปรับตัวตลอดเวลา ‘แผนที่ดีที่สุด คือ จะต้องเป็นแผนที่ไม่ตายตัว’ ต้องยืดหยุ่นและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันที”
“เราต้องตื่นรู้ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา มันมีคำพูดที่บอกว่า ‘คนเก่งชอบเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง แต่คนฉลาดชอบที่จะไปเรียนรู้จากความสำเร็จของคนเก่ง’ เราขอเป็นอย่างหลังนะ เราไม่ต้องเป็นผู้เริ่มต้นคิดเองสร้างเองทั้งหมดก็ได้ แต่ขอเรียนรู้และนำความสำเร็จจากคนเก่งทั่วโลกมาต่อยอดดีกว่า”
ไม่ใช่แค่ ‘Lifestyle Platform’
แต่เป็น ‘Sharing Economy Platform’
ณัฐเศรษฐ มีความตั้งใจให้ ‘TRAViZGO iNNOTECH เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอีกด้วย
“TRAViZGO iNNOTECHไม่ได้จะทำทุกอย่างแค่เพื่อซัพพอร์ตตัวเอง เราตั้งใจจะซัพพอร์ตผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ไม่ได้ถูกDigital Disruption แต่ต้องสามารถดึงเอาประโยชน์จากดิจิทัลมาใช้ให้ได้ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้ว่าวันนี้หลายคนอาจจะไม่พร้อมเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง เช่น ไม่เข้าใจวิธีการพัฒนา ไม่รู้จะเริ่มยังไง เงินทุนไม่พอ บุคคลากรไม่มี แต่เราซึ่งได้เดินหน้าด้านดิจิทัลทราเวลเทคโนโลยีมานานแล้ว การที่เราจะสร้าง ‘Sharing Economy Platform’ มันไม่ใช่เรื่องยากของเรา และนั่นคือเป้าหมายที่เราจะต้องทำ” ณัฐเศรษฐ กล่าวทิ้งท้าย