xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว Google Wallet ในไทย นำร่องบัตรเครดิต ธ.กรุงเทพ-KTC มือถือแตะจ่ายได้ไม่ต้องควักบัตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูเกิลเปิดให้บริการ Google Wallet ในไทย ผู้ถือบัตรเครดิต VISA และ Master Card ธนาคารกรุงเทพ และบัตรเครดิตเคทีซี เพิ่มบัตรใช้งานได้ทันที ผ่านร้านค้าที่มีเครื่อง EDC แบบ Contactless โดยไม่ต้องใช้บัตรจริง ส่วนลูกค้าสตาร์บัคส์ ประเทศไทย สามารถเพิ่มบัตรสตาร์บัคส์การ์ดเพื่อใช้แทนบัตรพลาสติกได้

อ่านประกอบ : รวมทุกข้อมูล หลัง ‘Google Wallet’ เริ่มให้บริการในไทย

วันนี้ (15 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า กูเกิล (Google) เปิดให้บริการ Google Wallet ในประเทศไทย สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่มีฟังก์ชัน NFC ติดอยู่ในตัวเครื่อง โดยเบื้องต้นผู้ถือบัตรเครดิต VISA และ Master Card ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี (KTC) สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Wallet แล้วเพิ่มข้อมูลบัตรเครดิตลงไป เพื่อใช้โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ Wear OS เช่น นาฬิกาสมาร์ทวอตช์ ชำระเงินผ่านเครื่อง EDC ที่ร้านค้าชั้นนำ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น แมคโดนัลด์ กูร์เมต์มาร์เก็ต ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิตตัวจริง รวมทั้งสินค้าและบริการออนไลน์ เช่น ดีแทค หรือ AirBnb ยังรับชำระผ่าน Google Pay โดยใช้บัตรที่ผูกกับ Google Wallet ได้อีกด้วย




วิธีการเพิ่มบัตร ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Wallet ผ่าน Google Play จากนั้นเพิ่มข้อมูลบัตร โดยเข้าไปที่ "+ เพิ่มลงใน Wallet" เลือก "บัตรสำหรับการชำระเงิน" กรอกเลขที่บัตรเครดิต 16 หลัก เดือน/ปีที่หมดอายุ และรหัส CVV/CVC จากนั้นอ่านข้อกำหนดของผู้ออกบัตร กด "ยอมรับและดำเนินการต่อ" จากนั้นรอรับรหัส OTP 6 หลักผ่าน SMS แล้วกรอกลงไป ระบบจะเพิ่มบัตรให้ 

วิธีการใช้งานชำระเงินที่ร้านค้าแทนบัตรเครดิต ให้ปลดล็อกโทรศัพท์มือถือก่อน แล้วนำไปแตะที่เครื่อง EDC ที่รองรับระบบ Contactless ระบบจะขึ้นเครื่องหมายถูก (/) ที่หน้าจอพร้อมมีเสียงแจ้งเตือนออกมา และปรากฏภาพหน้าบัตรเครดิตที่ใช้งานภายในเวลาไม่กี่นาที

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิกสตาร์บัคส์ ประเทศไทย สามารถเพิ่มบัตรสตาร์บัคส์ การ์ด ประเทศไทย ซึ่งเป็นบัตรพลาสติกแข็ง โดยกรอกเลขที่บัตรสตาร์บัคส์ การ์ด 16 หลัก เพื่อใช้บาร์โค้ดแบบ PDF417 ที่แสดงในแอปฯ นำไปสแกนที่ร้านเพื่อชำระเงิน แทนบัตรพลาสติกแข็งได้ 

เร็วๆ นี้สามารถเพิ่มบัตรสมาชิก One Siam ของกลุ่มสยามพิวรรธน์, บัตรเข้าชมการแสดงของไทยทิคเก็ตเมเจอร์ และบัตรโดยสาร หรือบอร์ดดิ้งพาสของสายการบินแอร์เอเชีย ที่เช็กอินผ่านแอปฯ ลงใน Google Wallet ได้อีกด้วย ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับการแจ้งเตือนหากเวลาออกเดินทางและประตูขึ้นเครื่องมีการเปลี่ยนแปลง และสามารถผ่านประตูขึ้นเครื่องที่สนามบินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งยังสามารถแตะจ่ายโดยใช้ Google Wallet ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่ต้องใช้บัตรจริงได้อีก โดยระยะต่อไปจะเปิดให้บริการแก่ผู้ถือบัตรทรูมันนี่ พรีเพด มาสเตอร์การ์ด ได้ในเร็วๆ นี้

สำหรับผู้ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Pay (G Pay) ผ่านไฟล์ APK จากภายนอก ในช่วงที่ Google Wallet ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย ก่อนวันที่ 15 พ.ย. 2565 สามารถลบแอปพลิเคชันเดิม แล้วติดตั้งแอปพลิเคชัน Google Wallet ผ่าน Google Play Store ได้โดยตรง ระบบจะทำการเปลี่ยนไอคอนแอปพลิเคชันเป็น Google Wallet และเปลี่ยนหน้าตาแอปพลิเคชันใหม่เป็นรูปแบบปัจจุบัน


น.ส.แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้นำ Google Wallet มาให้บริการในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันคนไทยหลายล้านคนนิยมชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ผู้ใช้ในไทยสามารถแตะเพื่อจ่ายเงินในร้านค้า หรือเช็กเอาต์ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งเข้าถึงบอร์ดดิ้งพาสสำหรับการเดินทางที่เร่งรีบในช่วงเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปลายปีได้อย่างง่ายดาย เปรียบเสมือนการรวมทุกกระเป๋าไว้ในที่เดียวในการเดินทาง ซึ่งสะดวกและปลอดภัย จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ e-Conomy SEA 2022 พบว่าการชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าการชำระเงินแบบดิจิทัลในประเทศไทยจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (GTV) สูงถึง 1.61 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568

ทั้งนี้ หากบันทึกบัตรเครดิตไว้ในบัญชี Google แล้ว บัตรนั้นจะปรากฏบน Google Wallet โดยอัตโนมัติ จากนั้นเพียงตั้งค่าการชำระเงินแบบไม่ต้องสัมผัสโดยทำตามขั้นตอนบนหน้าจอ โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยของโทรศัพท์แอนดรอยด์ครบทุกฟีเจอร์ รวมถึงการแปลงโทเคนตามมาตรฐานอุตสาหกรรม โดย Google Wallet จะใช้ระบบการทำธุรกรรมที่สมมติหมายเลขบัตรขึ้นมา (โทเคน) ซึ่งเป็นหมายเลขเฉพาะของอุปกรณ์นั้นๆ และเชื่อมโยงกับรหัสความปลอดภัยแบบไดนามิกที่จะไม่ซ้ำกันในแต่ละธุรกรรม โดยผู้ถือบัตรเครดิตหรือบัตรพรีเพดจะต้องได้รับการยืนยันจากธนาคารก่อนว่าเป็นผู้ถือบัตรตัวจริง จึงจะสามารถเพิ่มบัตรลงในโทรศัพท์ได้ และสามารถตั้งค่าการล็อกหน้าจอเพื่อไม่ให้คนแปลกหน้าเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ได้ หากโทรศัพท์สูญหายหรือถูกขโมย สามารถใช้ฟังก์ชัน "หาอุปกรณ์ของฉัน" (Find My Device) เพื่อล็อกอุปกรณ์นั้นโดยทันทีได้จากทุกที่ ตั้งรหัสผ่านใหม่เพื่อความปลอดภัย หรือลบข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดเกี่ยวกับบัตรชำระเงินทั้งหมดที่อยู่ในอุปกรณ์นั้น


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ที่ผ่านมาผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในประเทศไทยส่วนหนึ่งต่างพยายามแสวงหาบัตรจากต่างประเทศเข้ามาใช้งานกับแพลตฟอร์มการชำระเงินบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เช่น Apple Pay หรือ Google Pay แทนบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายทั้งการออกบัตรใหม่ การเติมเงินลงในบัตร และค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่รองรับระบบดังกล่าวกับสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตในประเทศไทย ต้องใช้วิธีเปลี่ยนภูมิภาคในตัวเครื่อง หรือดาวน์โหลดตัว APK มาใช้ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายกับตัวเครื่อง ขณะที่เครื่อง EDC หลายธนาคารรองรับการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) มานานแล้ว

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ซัมซุงเปิดทดลองให้บริการ Samsung Pay กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือซัมซุงในประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 โดยมีผู้ให้บริการบัตรเครดิต 6 รายเข้าร่วม ได้แก่ บัตรกรุงไทย (KTC) บัตรเครดิตกสิกรไทย (KBANK) บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ บัตรเครดิตไทยพาณิชย์ บัตรเครดิตกรุงศรี และบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ รองรับเฉพาะบัตรวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด แต่ได้ยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2564 ปัจจุบันซัมซุงกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันวอลเล็ตของตัวเองที่ชื่อว่า ซัมซุงวอลเล็ต (Samsung Wallet) ปัจจุบันให้บริการ 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เกาหลีใต้ สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช้อปปี้เพย์ (ShopeePay) ของช้อปปี้ เคยเปิดให้บริการ Contactless Payment บนบัตรเสมือน ShopeePay Prepaid Card เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยนำเทคโนโลยี NFC มาใช้ในการชำระเงิน ด้วยการนำโทรศัพท์มือถือแตะที่เครื่อง EDC แต่ได้ปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2565 และจะหยุดให้บริการ ShopeePay Prepaid Card ในวันที่ 23 พ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัว Google Wallet ในประเทศไทย ถือเป็นการเปิดให้บริการแก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ทุกยี่ห้อ ที่รองรับฟังก์ชัน NFC ในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง หรือผู้ให้บริการอี-วอลเล็ตรายใดรายหนึ่ง ปัจจุบันบัตรกรุงไทย (KTC) มีฐานลูกค้าบัตรเครดิตประมาณ 2.5 ล้านใบ และบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ มีฐานลูกค้าประมาณ 2.5 ล้านใบ (ข้อมูล ณ ปี 2563) ซึ่งในอนาคตยังสามารถเชื่อมต่อกับผู้ถือบัตรทรูมันนี่ พรีเพด มาสเตอร์การ์ด หนึ่งในนั้นคือบัตรทรูการ์ด ที่มีการแบ่งลูกค้าออกเป็น 5 ประเภทได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น