xs
xsm
sm
md
lg

เดินทางรอบโลกวันนี้ใช้เวลาเท่าไร! เมื่อปี ๒๔๑๕ ใช้เวลา ๘๐ วัน เดินทางด้วยเท้าใช้เวลา ๖ ปี ๗ เดือน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อปี ค.ศ.๑๘๗๓ หรือ พ.ศ.๒๔๑๖ จูนส์ เวิร์น นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ ผู้ใช้จินตนาการคาดเดาเทคโนโลยีในอนาคตได้อย่างแม่นยำ เช่น เรือดำน้ำ นิวเคลียร์ หรือการไปดวงจันทร์ ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ในสมัยที่โลกยังไม่มีเครื่องบิน จูนส์ เวิร์นได้จินตนาการถึงการเดินทางรอบโลกโดยบุคคลที่ไม่ใช่นักเดินเรือ สร้างเป็นนิยายขึ้นเรื่องหนึ่งในชื่อ “Around the World in 80 Days” หรือ “๘๐ วันรอบโลก”
 
เนื้อเรื่องกล่าวถึง ฟิเลียส ฟอกซ์ ชาวอังกฤษ ได้พนันกับเพื่อนเป็นเงิน ๒,๐๐๐ ปอนด์ว่าเขาสามารถเดินทางรอบโลกได้ภายใน ๘๐ วันโดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะใช้พาหนะชนิดใด และได้เดินทางไปกับคนรับใช้ชาวฝรั่งเศสชื่อ ปาสปาตู ออกจากกรุงลอนดอนในวันที่ ๒ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๗๒ หรือ พ.ศ.๒๔๑๕ ใช้พาหนะทั้งบอลลูน รถไฟ เรือกลไฟ เลื่อน ช้าง ม้า ฯลฯ กลับมาถึงกรุงลอนดอนในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ค.ศ.๑๘๗๒ พร้อมกับ อาอูดา หญิงชาวอินเดียอีกคนหนึ่ง ที่ได้ช่วยให้รอดพ้นจากการถูกเผาทั้งเป็นพร้อมศพสามีที่เสียชีวิต รวมเวลาในการเดินทาง ๘๐ วันกับ ๕ นาที
ฟิเลียส ฟอกซ์เข้าใจว่าเขาแพ้พนันที่มาไม่ทันกำหนด ต้องเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว ต่อมาก็คิดได้ว่า เขาเดินทางไปทางตะวันออก ไปทางดวงอาทิตย์ขึ้นข้ามเส้นแบ่งเวลาสากล จะต้องได้รับการทดเวลา ๑ วัน เขาจึงมาถึงก่อนกำหนดถึง ๒๓ ชั่วโมง ๕๕ นาที

นิยายเรื่องนี้ได้กระตุ้นให้คนเกิดความคิดว่า ในวันที่การคมนาคมของโลกดีขึ้นกว่าในยุคนิยายของจูนส์ เวิร์นจะใช้เวลาเดินทางนานเท่าไร หลายคนก็พยายามสร้างสถิติว่าใช้เวลาน้อยกว่าในนิยาย
 
ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ อลิซาเบธ เจน คอคแครน ผู้ใช้นามปากกาว่า “เนลลี บลาย” นักหนังสือพิมพ์สตรีวัย ๒๕ ปีของหนังสือพิมพ์ “นิวยอร์คเวิลด์” ได้แจ้งแก่บรรณาธิการว่าเธอจะเดินทางรอบโลกทำลายสถิติในนิยาย “๘๐ วันรอบโลก” และออกเดินทางเมื่อ ๙.๔๐ น.ของวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๘๘๙ กลับมาในวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ.๑๘๙๐ เวลา ๑๕.๕๑ น. ใช้เวลาทั้งสิ้น ๗๒ วัน ๖ ชั่วโมง ๑๑ นาที ๑๔ วินาที ในระยะทาง ๒๔,๘๙๙ ไมล์
การเดินทางของเนลลิ บลายขณะนั้นเป็นสถิติโลก แต่อีกไม่กี่เดือนก็ถูกทำลายโดย จอร์จ แฟรนซิส เทรน ผู้เดินทางรอบโลกได้ในเวลา ๖๗ วัน และต่อมาก็มีผู้ทำลายสถิตินี้อีก คือ จอห์น เฮนรี เมียร์ส ชาวอเมริกัน ได้ใช้เวลา ๓๕ วัน ๒๑ ชั่วโมง ๓๕ นาที ซึ่งสถิตินี้ยืนยาวถึง ๑๓ ปี ก็ถูกลบโดยตัวเขาเองที่สร้างสถิติอีกครั้งในเวลา ๒๓ วัน ๑๕ ชั่วโมง ๒๑ นาที
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ นิยายเรื่อง “๘๐ วันรอบโลก” ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ มี เดวิด นิเวน รับบทเป็น ฟิเลียส ฟอกซ์ แคนทินฟลาส ดาวตลกชาวลาตินอเมริกัน เป็น ปาสปาตู และเชอร์รี่ แมคเลน เป็น อาอูดา ได้รับรางวัลออสการ์ ๕ รางวัล รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเพลง “"Around the World” ที่ขับร้องโดย แนท คิง โคล โด่งดังเป็นอมตะ โดยมีบางส่วนถ่ายทำในประเทศไทย และมีฉากกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคด้วย

ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากได้รับความนิยมทั่วโลกทำเงินอย่างมโหฬารแล้ว ยังกระตุ้นให้คนเกิดความคิดถึงการเดินทางรอบโลกขึ้นใหม่ ในวันนี้ที่การคมนาคมของโลกดีขึ้นกว่าในยุคของภาพยนตร์จะใช้เวลาเดินทางนานเท่าไร แต่ก็ไม่น่าตื่นเต้นเหมือน “๘๐ วันรอบโลก” แล้ว” เพราะแค่ซื้อตั๋วเครื่องบินก็ไปกันได้แล้ว และไม่รู้จะเร่งรีบไปทำไม กลับมีคนไม่สนใจเทคโนโลยี ใช้วิธีเดินทางรอบโลกด้วยเท้า เพื่อท่องโลกพบปะผู้คน รู้จักวัฒนธรรมในซีกโลกต่างๆอย่างใกล้ชิด และคนหนึ่งก็เป็นหญิงสาวด้วย

เธอผู้นี้ก็คือ แองเจลา แมกซ์เวลล์ หญิงสาวอเมริกันวัย ๓๐ ต้นๆ เธอไม่ใช่คนผิดหวังหรือล้มเหลวกับชีวิต มีความสำเร็จทางธุรกิจและมีคนรัก แต่ได้ฟังว่ามีผู้ชายคนหนึ่งเดินเท้ารอบโลก จึงเกิดความสนใจและหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องประเภทนี้มาอ่าน เกิดประทับใจกับเรื่องที่มีคนขี่อูฐข้ามทวีปออสเตรเลีย ขี่ม้าข้ามประเทศชิลี คนโบกรถจากยุโรปไปเนปาล จึงอยากจะเผชิญกับความท้าทายเช่นนั้นบ้าง
เมื่อแองเจล่าตัดสินใจออกเดินทาง เธอขายทรัพย์สินทุกอย่าง และจัดหาอุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต้องใช้ เช่นเต้นท์ที่พักแรม ที่กรองน้ำดื่มแบบที่ทหารใช้ อาหารแห้ง และเสื้อผ้าสำหรับใส่ครบ ๔ ฤดูเพื่อเตรียมรับสภาพอากาศที่ต่างกัน น้ำหนักรวม ๕๐ กิโลกรัม ใส่ในรถเข็น และออกเดินทางจากบ้านเกิดที่เมืองเบนด์ รัฐโอเรกอง ในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗
 
กิจวัตรประจำวันของเธอคือ ตื่นนอนตอนพระอาทิตย์ขึ้น ดื่มกาแฟ ๒ ถ้วย กินข้าวโอ๊ต ๑ ชาม จากนั้นก็เก็บข้าวของออกเดิน ค่ำลงก็กางเต็นท์นอน กินบะหมี่สำเร็จรูป แล้วก็เข้านอนในถุง แต่เหตุการณ์ที่ต้องเผชิญในแต่ละวันก็ไม่ซ้ำกันเลย เกิดแผลพุพองจากถูกแดดเผาและเป็นลมแดดในทะเลทรายของออสเตรเลีย เป็นไข้เลือดออกในเวียดนาม ถูกทำร้ายและข่มขืนจากคนเร่ร่อนที่บุกเข้ามาในเต็นท์ที่มองโกเลีย ได้ยินเสียงปืนตอนกางเต็นท์นอนในตุรกี จนต้องนอนระวังตัวและรู้ถึงอันตรายจากการหลับลึก แต่แองเจล่าก็ตัดสินใจที่จะเดินต่อไปโดยไม่ละทิ้งความฝัน แม้ยังคงมีความหวาดกลัว

วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ การเดินทางของแองเจลา แมกซ์เวลล์ก็สิ้นสุด เมื่อเธอกลับมาถึงจุดเริ่มต้นที่บ้านของเธอในเมืองเบนด์ เป็นเวลา ๖ ปี ๗ เดือนกับ ๑๔ วัน
 
หลายคนคงจะมีคำถามว่า ที่เธอสละความสุขไปทุกข์ทรมานและผจญภัยถึง ๖ ปีกว่าครั้งนี้ได้อะไรขึ้นมาบ้าง ก็นี่แหละคือมนุษย์ ต้องการที่จะทำความฝันของตัวให้เป็นความจริง เพียงสักครั้งก็เป็นความสุขความประทับใจในชีวิต และนำประสบการณ์ที่ได้รับมาให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป สำหรับแองเจลา แมกซ์เวลล์ เธอนำประสบการณเหล่านั้นมาเขียนหนังสือ และวางแผนในการเดินทางครั้งใหม่ด้วยวิธีการที่จะให้ผู้หญิงผู้ต้องการเดินทางแบบนี้ได้รับความปลอดภัยมากกว่าเธอ

การเดินทางรอบโลกของเธอจึงตรงข้ามกับ ฟิเลียส ฟอกซ์ ใน “๘๐ วันรอบโลก” หรือ จอห์น เฮนรี เมียร์ส ที่สร้างสถิติไว้ ๒๓ วัน ๑๕ ชั่วโมง ๒๑ นาที แข่งกันในด้านการใช้เวลาเดินทางให้น้อยที่สุด แต่แองเจลา แมกซ์เวลล์เดินไปอย่างช้าๆ ใส่ใจต่อโลกที่พบเห็นอย่างใกล้ชิด ได้สัมผัสชีวิตของผู้คนและวัฒนธรรมที่ต่างๆกัน ได้พบเพื่อนที่มีความประทับใจต่อกัน อย่างหญิงสูงชราผู้หนึ่งที่เวียดนาม เข้ามาทักทายตอนเธอหมดแรงและชวนไปพักที่เพิงไม้เล็กๆที่ยอดเขาในคืนนั้น

แองเจลา แมกซ์เวลล์ได้พบว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปรอบโลกหรือแค่เดินออกไปที่ถนนใกล้ๆบ้าน ถ้าเราเปิดใจกว้างด้วยความอยากรู้อยากเห็น ใส่ใจต่อสิ่งรอบข้างมากขึ้น ก็จะเห็นคุณค่าของการไปอย่างช้าๆ ได้สัมผัสโลกและผู้คนที่อาศัยอยู่บนโลกนี้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ที่สำคัญต้องรู้จักการให้มากกว่าการรับตลอดการเดินทาง




กำลังโหลดความคิดเห็น