xs
xsm
sm
md
lg

ช้างเผือกมีแต่ในไทย ที่พม่า เขมร ลาวไม่เคยมี! อินเดียพบช้างเผือก อเมริกาขอซื้อไปกลายเป็นช้างโรคผิวหนัง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



คนไทยถือกันว่า ช้างเผือกเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง เกิดขึ้นในรัชกาลใดก็ถือว่ามีบุญญาธิการ บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข ลักษณะของช้างเผือกที่ต้องตามตำรับโบราณกำหนดไว้ว่า จะต้องมีคชลักษณ์เกินกว่าครึ่งของ ๗ ประการ คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาวหรือสีหม้อใหม่ ขนหางขาว อัณฑโกศขาวหรือคล้ายสีหม้อใหม่ อีกทั้ง “หูหางสรรพ” คือหูไม่แหว่งฉีก หางต้องมีขน ถ้าหางไม่มีขนถือว่าเป็นช้างไม่ดี

แต่เป็นเรื่องแปลกก็คือ ช้างเผือกพบในป่าเมืองไทยเท่านั้น ไม่เคยปรากฏในป่าของประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นพม่า เขมร ลาว หรืออินเดีย ที่มีสภาพภูมิประเทศไม่แตกต่างกันมากนัก คนไทยแต่โบราณกาลมาจึงถือว่าช้างเผือกเป็นคู่บุญของแผ่นดิน และเป็นสัญลักษณ์ไทย ถึงขั้นเอาช้างเผือกขึ้นอยู่ในธงชาติมาแล้ว

มีตำนานในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกล่าวไว้ว่า ในปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๘๑๕ หรือ พ.ศ.๑๙๙๖ ทรงได้ช้างเผือกเชือกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯให้ขึ้นระวางพระราชทานนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร

ต่อมาในจุลศักราช ๘๙๖ แผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงได้ช้างเผือก ๒ เชือก ไม่ได้กล่าวว่ามีชื่ออะไร แต่มีจดหมายเหตุบันทึกว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาสวรรคตแล้ว สมเด็จพระยอดฟ้า ราชโอรสได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ มีการบำรุงดูแลพระยาช้างเผือกทั้ง ๒ เชือกนั้น ซึ่งมีชื่อว่า พระยาฉัททันต์ และพระยาไฟ

เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ในปีจุลศักราช ๙๑๐ เป็นต้นมา ทรงได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีมากเป็นประวัติการ เชือกแรกพระราชทานนามว่า พระคเชนทโรดม อีก ๑๐ ปีต่อมาทรงได้ช้างเผือกเชือกที่ ๒ พระราชทานนามว่า พระรัตนาบาศ ต่อมาอีกปีก็ได้เชือกที่ ๓ พระราชทานนามว่า พระแก้วทรงยศ และในปีเดียวกันนั้นก็ได้ช้างพังเผือกทั้งแม่และลูกมาอีก แต่ไม่ได้พระราชทานนามให้ปรากฏ ครั้นต่อมาอีกปีหนึ่งทรงได้ช้างเผือกมาอีก ๒ เชือก พระราชทานนามว่า พระสุริยะกุญชร และ บรมไกรสร รวมทั้งสิ้นถึง ๗ ช้าง บรรดาอาณาประชาราษฎร์จึงถวายพระนามว่า “พระเจ้าช้างเผือก” แต่ก็เพราะมีช้างเผือกมากนี่เอง จึงเป็นสาเหตุที่ทั้งพระเจ้าตะเบงชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง อ้างเพื่อจะทำศึกสงครามจนเสียกรุง

จากตำนานที่กล่าวถึงช้างเผือกและช้างสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมา มีช้างที่สมบูรณ์ด้วยคชลักษณ์มาสู่พระบารมีถึง ๗ รัชกาล รวมจำนวน ๒๑ เชือก

ในสมัยกรุงธนบุรีก็มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง ในตระกูลที่มีชื่อว่า ช้างสมพงศ์ถนิม มีดวงตา เล็บ ขน หาง และกายสีขาว มีกระลายทั่วตัว คล้องได้ในปี ๒๓๑๐ แต่ไม่ปรากฏว่าพระราชทานนามไว้

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงได้ช้างเผือกช้างแรกในปี ๒๓๒๗ เป็นช้างสีประหลาด พระยานครราชสีมานำมาถวาย ในเวลาใกล้ๆกันนั้น พระยาราชบุรีก็นำมาถวายอีกเชือกหนึ่ง โปรดให้มีการสมโภชพร้อมกัน พระราชทานชื่อช้างจากนครราชสีมาว่า พระบรมไกรสรบวรสุประดิษฐ์ อัฐทิศพงศ์มงคลดิเรก เอกมหันต์อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า และจากราชบุรีเป็น พระบรมไกรสร บวรบุษปทันต์ สุวรรณลักขณามหากุศล วิมลเลิศฟ้า

ต่อมาในปี ๒๓๓๗ พระยานครราชสีมาแจ้งข่าวมายังเมืองหลวงว่า มีคนทางภูเขียวคล้องได้ช้างพังมาเชือกหนึ่ง มีสีประหลาด เมื่ออาบน้ำตัวแห้งแล้วสีผิวจะนวลเหมือนสีใบตองแห้ง ขนตัวขนหางยาว ทั้งจักษุและเล็บก็แตกต่างจากช้างอื่น เจ้าของฝึกให้ทำงานจนเชื่องรู้ภาษาที่เจ้าของสั่ง มีผู้พบเห็นก็ท้วงขึ้นว่าช้างนี้เป็นช้างเผือก เป็นช้างสำคัญของบ้านเมือง ทำให้เจ้าของเกิดความกลัวว่าจะถูกนำไปเป็นช้างหลวง จึงตัดหางช้างตัวนั้นเสีย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีตราขึ้นไปนำช้างมาให้ทอดพระเนตร มีพระราชดำรัสว่า เป็นช้างเผือกตรี เสียดายแต่หางด้วน ทรงพิโรธที่เจ้าของทำกับช้างสำคัญ จึงไม่พระราชทานสิ่งใดตอบแทน ส่วนหางที่ด้วนก็ให้เอาหางโคผูกต่อ เป็นช้างโคบุตร นำเข้าพิธีสมโภช ขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า พระอินทรไอยราคชาชาติฉัททันต์ ผิวพรรณเผือกตรี สียอดตองตากแห้ง วิษณุแกล้งรังรักษ์ มงคลรักษ์เลิศฟ้า

ต่อมาในปี ๒๓๔๔ พระยานครราชสีมามีหนังสือมากราบทูลอีกว่า มีผู้คล้องช้างพังได้อีกช้างหนึ่งที่ป่าภูเขียว หูและหางงาม จักษุขาวดังผลลำไย ขนขาว สีตัวเหมือนสีหม้อใหม่ นำมาไว้ที่เมืองนครราชสีมาแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้กรมช้างนำช่างปั้นและช่างเขียนขึ้นไป แล้วจำลองรูปมาให้ทอดพระเนตร

ต่อมาพระยานครราชสีมาได้นำช้างเดินทางมาถึงเมืองสระบุรี แล้วล่องแพลงมาถึงท่าช้างกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไปรับนางพญาช้างถึงในแพด้วยพระองค์เอง จัดขบวนแห่มายังโรงสมโภช มีมหรสพฉลอง ๔ วันสี่คืน พระราชทานอ้อยให้นางช้างด้วยพระหัตถ์ ที่อ้อยมีจารึกชื่อว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมเรศวรนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิลัยลักษณ์เลิศฟ้า

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้นำรูปช้างเผือกประดิษฐ์รวมกับรูปกงจักรบนธงชาติ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เอารูปกงจักรอันเป็นเครื่องหมายของพระเจ้าแผ่นดินออกจากธงชาติ เหลือแต่เพียงช้างเผือกอยู่บนธงพื้นแดง แสดงให้เห็นว่า ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย อาณาจักรแห่งช้างเผือก
สมัยรัชกาลที่ ๗ ใน พ.ศ.๒๔๖๙ ขณะครองราชย์ได้ปีเศษ มีข่าวมาจากเมืองเชียงใหม่ว่า พบช้างสีประหลาดช้างหนึ่ง มีลักษณะเป็นช้างเผือก แต่ต่างจากช้างเผือกทั้งหลาย คือไม่ได้เกิดจากช้างป่า มีแม่ชื่อพังล่า เป็นช้างของบริษัทบอร์เนียวที่ทำสัมปทานป่าไม้อยู่ในภาคเหนือ ขณะนั้นช้างมีอายุเพียง ๔ เดือน เจ้ากรมช้างต้นตรวจลักษณะแล้วรายงานว่า เป็นช้างพลายสูง ๔๒ นิ้ว หนังและขนตามตัว ศีรษะ และขนหาง เป็นสีบัวโรย คือสีแดงปลายขาว ดวงตาสีฟ้าอ่อนๆ เพดานดาว ขนที่หูขาว เล็บขาว อัณฑโกษขาว มีมงคลลักษณ์ต้องตามตำรับว่าเป็น ปทุมหัตถี จัดว่าเป็นช้างเผือกที่งดงามมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตร บริษัทบอร์เนียวจึงน้อมเกล้าฯถวายให้เป็นช้างคู่พระบารมี นำลงมาทำพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า พระเศวตคชเดชดิลกฯ

ในรัชกาลที่ ๙ มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง ๙ ช้าง ช้างแรกเกิดในป่าจังหวัดกระบี่ ชาวบ้านคล้องได้ที่ตำบลดินอุดม อำเภอลำหับ เมื่อปี ๒๔๙๙ พร้อมกับช้างป่าอีก ๕ เชือก เมื่อพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ) ตรวจสอบช้างที่ชื่อพลายแก้วนี้ พบว่าเป็นช้างสำคัญ เป็นช้างพลายรูปงาม อายุ ๓ ปี สูง ๑๕๔ ซม. งาขวาซ้ายงามเรียวยาว ๒๙.๕ ซม. หู หาง งามสรรพ อัณฑโกศขาวเจือชมพู สีกายดังดอกโกมุท คือบัวแดง เสียงเป็นสรรพแห่งแตรงอน มีลักษณะสมบูรณ์ตามคชลักษณ์ อยู่ในตระกูลพรหมพงศ์ จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต ต่อมาพลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยได้นำพลายแก้วขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาล พระราชทานนามว่า “พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวมนาถบารมีฯ”

หลังจากนั้นยังมีช้างเผือกมาสู่พระบารมีอีก ๘ ช้าง ประกอบด้วย พระเศวตวรรัตนกรีฯ พระเศวตสุรคชาธารฯ พระศรีเศวตศุภลักษณ์ฯ พระเศวตศุทธวิลาศฯ พระวิมลรัตนกิริณีฯ พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ พระเทพวัชรกิริณีฯ

ครั้งหนึ่งมีข่าวแพร่สะพัดว่า พบช้างเผือกในอินเดีย คณะละครสัตว์ในอเมริกาซึ่งเคยนำช้างไทยไปทาสีออกแสดงแล้วบอกว่าเป็นช้างเผือก จึงรีบบินมาทันทีและขอซื้อไปในราคาสูง แต่ไม่มีใครมีความรู้เรื่องช้างเผือก เมื่อไปถึงอเมริกาจึงพบว่าช้างนั้นไม่ใช่ช้างเผือก แต่สีผิวเกิดจากเป็นโรคผิวหนัง และต่อมาไม่นานก็ล้มตาย

จนบัดนี้ยังยืนยันได้ว่า ช้างเผือกมีอยู่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น