xs
xsm
sm
md
lg

สนทนาประสาสิทธิ์ กับ ‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR
200 กว่าคดี ใน 2 ขวบปีแห่งทศวรรษ คือหนึ่งในประจักษ์พยานสำคัญที่ยืนยันว่า องค์กรแห่งนี้รับผิดชอบและทวงถามความยุติธรรมให้ผู้คนมากี่ช้านาน กี่มากน้อย
ในพื้นที่ภาคเหนือที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้
นามของ ‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
หรือ CPCR ( The Center for Protection and Revival of Local Community Rights ) คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งในฐานะนักกฎหมายผู้มากด้วยองค์ความรู้ด้านป่าไม้ที่ดินและสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาสั่งสมประสบการณ์มายาวนานพอที่จะมองเห็นข้อพิพาทต่างๆ ได้อย่างแหลมคมและเปี่ยมวิสัยทัศน์


‘ถ้าเราเป็นนักกฏหมาย เราจะเป็นนักกฎหมายแบบไหน’
คือคำถามที่ผุดขึ้นในใจนับแต่เมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ นับแต่นั้น เขาแสวงหาคำตอบและค้นพบด้วยตนเองว่านักกฎหมายแบบไหน ที่เขาอยากจะเป็น และ ‘เป็น’ เช่นนั้นเสมอมาตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปีแห่งวิชาชีพ และตลอดห้วงเวลา 2 ทศวรรษ แห่งการก่อตั้ง ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR ( The Center for Protection and Revival of Local Community Rights) องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชาวบ้าน เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์หรือพี่น้องชนเผ่า
ผู้ยากไร้ รวมทั้งผู้ที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบของสังคม ในประเด็นข้อพิพาทด้านป่าไม้ที่ดิน

รวมทั้งลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิชุมชน Community Rights 
หลายต่อหลายครั้ง ที่เขาและทีมงานลงพื้นที่ รณรงค์ให้คนในชุมชน ลุกขึ้นมากำหนดข้อบัญญัติตำบลและจัดทำข้อมูลของชุมชน ด้วยการทำงานร่วมกันของคนในชุมชนนั้นๆ อย่างแท้จริง

‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR
นอกจากให้ความช่วยเหลือทางคดีความแล้ว ยุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ชาวบ้าน เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ ได้มีความรู้ในสิทธิชุมชน ไม่เพียงเท่านั้น ในบางกรณี ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR ยังทำงานผสานความร่วมมือ ขับเคลื่อนประเด็นร่วมกันกับองค์กรภาคีทั้งในไทยและต่างประเทศ ร่วมผลักดันเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นที่ตั้ง

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในวาระที่องค์กรทางกฎหมายแห่งนี้ เดินทางมายาวนานถึง 2 ทศวรรษ

‘องค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมและผลักดันให้หลักการสิทธิมนุษยชนที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความเท่าเทียม’ คือบทบัญญัติสำคัญขององค์กรแห่งนี้

และนับจากนี้ คือถ้อยความที่ ‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR ( The Center for Protection and Revival of Local Community Rights ) บอกเล่าไว้อย่างน่าสนใจ


แรกเริ่มก่อตั้ง ‘ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น’


เมื่อขอให้เล่าถึงความเป็นมาของการก่อตั้ง ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR ( The Center for Protection and Revival of Local Community Rights) ว่ามีแรงบันดาลใจจากอะไร รวมถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งและก่อตั้งมากี่ปีแล้ว

สุมิตรชัยตอบว่า ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้กับพี่น้องกลุ่มเกษตรกรรายย่อย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาเรื่องที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547
ซึ่งต่อเนื่องมานับแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยในครานั้น สุมิตรชัยได้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน เกษตรกรซึ่งถูกดำเนินคดี ที่ จ.ลำพูน
( หมายเหตุ : กรณีพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน ที่ อ.บ้านโฮ่ง-อ.ป่าซาง จ.ลำพูน )
รวมถึงให้การช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกดำเนินคดีที่ดินป่าไม้หลายพื้นที่ของภาคเหนือ ณ ช่วงเวลานั้น

“ครั้งนั้น ผมยังเป็นทนายความในบริษัทเอกชนอยู่ เพียงแต่ว่าผมเข้ามาช่วยเป็นงานอาสา มาช่วยเหลือภายใต้คณะทำงานของสภาทนายความในตอนนั้น ซึ่งสภาทนายความในสมัยนั้น เขามีกลไกสำคัญอย่างหนึ่ง คือมีกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ ผมจึงถูกนิยามว่าเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผมก็ไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆนิยามให้เรา หรือเรานิยามตัวเอง”
สุมิตรชัยหัวเราะอย่างถ่อมตัว ก่อนจะกล่าวอย่างหนักแน่นว่า ในครั้งนั้น ได้ระลึกอยู่ในใจเสมอว่าเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน


“เมื่อเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในช่วงนั้น ก็มีคดีเยอะครับ โดยเฉพาะเรื่องข้อพิพาทที่ดิน ระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐกับชาวบ้าน และเอกชนกับชาวบ้านมีเยอะมาก ในช่วงเวลานั้น โดยพื้นที่ที่มีข้อพิพาทมากก็คือพื้นที่ภาคเหนือ ทั้ง 7-8 จังหวัด
เราก็คิดว่าควรจะมีกลไกอะไรสักอย่างที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำงานระยะยาวด้วย รวมถึงปัญหาของพี่น้องเกษตรกร พี่น้องชาติพันธุ์ ลำพังแค่การไปช่วยเหลือคดีในชั้นศาลนั้นยังไม่เพียงพอ ก็มีการพูดคุยกัน กับพี่ๆ NGO ( Non–Governmental Organization : องค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ ไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณประโยชน์ )ในภาคเหนือหลายๆ คน ว่าควรจะตั้งศูนย์การทำงานขึ้นมาให้มีลักษณะเป็นกลไก หรือเป็นองค์กรที่ทำงานระยะยาวได้ จึงเป็นที่มาของการตั้งเป็นศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ( CPCR : The Center for Protection and Revival of Local Community Rights) ในปี พ.ศ.2547
สุมิตรชัยกล่าวว่า เมื่อครั้งแรกเริ่ม เพียงตั้งใจให้เป็นสำนักงานเล็กๆ ที่คอยช่วยเหลือปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรเรื่องคดีความเป็นหลัก จึงตั้งชื่อว่า ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น โดยได้งบประมาณช่วยเหลือจากทาง กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ) ที่ซัพพอร์ตงบประมาณมาช่วยเหลือในการทำงานด้านกฎหมาย รวมทั้งในการทำงานเพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายกับประชาชน

ถามว่า เมื่อแรกก่อตั้งศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น มีคณะทำงานกี่คน
สุมิตรชัยตอบว่า เมื่อแรกเริ่ม เป็นเพียงศูนย์เล็กๆ ไม่ได้คิดว่าจะต้องใหญ่โตอะไร ครั้งนั้นคิดเพียงว่าต้องการให้มีกลไกการประสานงาน เพื่อทำงานกับทนายความที่มาจากสภาทนายความในส่วนกลางหรือจากกรุงเทพฯ ที่ขึ้นมาทำงานภาคเหนือ
ด้วยเหตุนั้น ในช่วงแรกเริ่มก่อตั้ง จึงเป็นเน้นที่การทำงานในส่วนของกลไกประสานงานเป็นหลัก ในสำนักงานจึงมีเพียงสุมิตรชัย มีน้องอีกคน และอาสาสมัครอีกคน รวมทั้งสิ้น 3 คน

“เมื่อตั้งสำนักงานขึ้นมา ก็ไม่รู้หรอกครับว่าใครตำแหน่งอะไร แต่เมื่อเราต้องไปยื่นของบประมาณโครงการ ก็ต้องมีตำแหน่งขึ้นมา ผมจึงได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ส่วนที่ปรึกษา ก็มีพวกพี่ๆ NGO ที่ทำงานภาคเหนือ หลายๆ คน เข้ามาเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งทนายสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลไกของสภาทนายความ อย่างพี่ สมชาย หอมละออ (หมายเหตุ : สมชาย หอมละออ เป็นอดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ และอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ) ก็มาเป็นที่ปรึกษาให้ มีปัญหาอะไร ก็หารือกันในคณะทำงาน” สุมิตรชัยระบุ

‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR
ประสบการณ์ในการทำคดีข้อพิพาทด้านสิทธิป่าไม้ที่ดิน

ถามว่า ในช่วงรอยต่อปี พ.ศ.2545-พ.ศ.2547 ทึ่คุณเป็นทนายอาสาช่วยคดีชาวบ้านที่ จ.ลำพูน กระทั่งถึงการก่อตั้งสำนักงานศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในห้วงเวลานั้น ประเด็นข้อพิพาทเรื่องป่าไม้ที่ดินในพื้นที่ภาคเหนือ 7-8 จังหวัด มีข้อพิพาทใดเยอะที่สุด

สุมิตรชัยตอบว่า หากเป็นในกรณีของเกษตรกรรายย่อย คือปัญหาพิพาท ระหว่างเอกชนกับชาวบ้านที่มีที่ดินทับซ้อนกัน และมีปัญหาเรื่องคดีความ โดยเฉพาะที่ อ.บ้านโฮ่ง-อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เนื่องจากชาวบ้านมองว่าที่ดินในหมู่บ้านของเขา
ชุมชนของเขา ถูกทิ้งร้าง ไม่มีการทำประโยชน์ ถูกทิ้งร้างมาเนิ่นนาน ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ สภาพก็เป็นที่ดินที่มีลักษณะเป็นป่า อีกทั้งช่วงเวลานั้น เป็นช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งไม่นานนัก พี่น้องเกษตรกรในเมืองก็ตกงาน กลับมาอยู่บ้าน เขาจึงคิดว่าที่ดินเหล่านี้ เคยเป็นของบรรพบุรุษ เป็นของพ่อแม่เขาเคยทำกินมาก่อน

“ด้วยเหตุนั้นชาวบ้านเขาจึงรวมตัวกันเข้าไปเพื่อที่จะไปปฏิรูปที่ดิน คือเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ ให้มันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเมื่อเกิดการปฏิรูปพื้นที่ต่างๆ นั่นคือชาวบ้านเข้าไปเป็นพันๆ คนนะครับ ในสมัยนั้น แล้วก็ปรากฏว่า เมื่อเข้าไปปุ๊บ! ทั้งที่บ้านโฮ่ง และที่ป่าซาง ก็เกิดข้อพิพาทขึ้นมาว่า นายทุนโผล่มาบอกว่าเขาเป็นเจ้าของ เขามาจากกรุงเทพบ้าง มาจากที่นู่น ที่นี่ ที่นั่น มาจากเชียงใหม่บ้าง คือ มาอ้างตนเป็นเจ้าของ โดยมาจากหลายๆ ที่

"เขาอ้างตนเป็นเจ้าของ มีเอกสารสิทธิ์ ก็เกิดเป็นข้อพิพาทใหญ่ เขาก็ไปแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านในสมัยนั้น
มีชาวบ้านถูกดำเนินคดี 200 กว่าคน เป็นจำนวนรวม 100 กว่าคดี ในช่วงเวลานั้น ก็มีการระดมทนายความมาช่วยกันเยอะมากครับ พยายามหาทนายในท้องถิ่นด้วย แต่ปรากฏว่าข้อพิพาทใหญ่ และกลุ่มทุนค่อนข้างมีอิทธิพลพอสมควร ทนายในพื้นที่จึงไม่กล้าลงมาทำคดีนี้ หรือมาช่วยเหลือคดีโดยตรง เขาจึงขอความช่วยเหลือไปที่สภาทนายความ ซึ่งตอนนั้น สภาทนายความมีกลไกสิทธิมนุษยชนแล้ว โดยมีพี่สมชาย หอมละออ เป็นประธาน จึงหาทนายที่เป็นทนายสิทธิมนุษยชนเข้ามาช่วย ก็ได้ทนายจากส่วนกลางมาช่วย 7-8 คน ร่วมกับผมซึ่งเป็นทนายท้องถิ่น คือเป็นทนายที่เชียงใหม่ ก็เข้าไปร่วมกับทีมทนายจากกรุงเทพฯ ที่เข้ามาช่วยคดีนี้ ก็เข้ามาช่วยกันทั้งหมด ในการทำคดีให้กับชาวบ้านที่ จ.ลำพูน ช่วยกันทำคดีอยู่นานเป็นปีกว่าจะหมด”
สุมิตรชัยระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกรณีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้าน กับนายทุนที่ จ.ลำพูนแล้ว ยังมีเหตุพิพาทเรื่องป่าไม้ที่ดินเกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายแห่ง

โดยเฉพาะเหตุที่ชาวดาราอั้ง บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.ชาวบ้าน ถูกจับ 40 ราย
“ช่วงนั้น ก็มีพี่น้องชาวดาราอั้งถูกดำเนินคดีในเขตป่าเยอะมาก ผมก็เข้ามารับผิดชอบคดี เป็นคดีที่ อ.ปางแดง จ.เชียงใหม่ เป็นคดีใหญ่เลย ชาวบ้านถูกสนธิกำลังเข้าไปตรวจค้น ในช่วงนั้นก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่พอสมควร ทาง NGO ที่ทำงานในพื้นที่ เขาก็ขอความช่วยเหลือไปที่สภาทนายความ พี่สมชาย หอมละออ ก็ตั้งคณะทำงานเข้ามาช่วย โดยมีผมและทนายท่านอื่นๆ หลายคนเข้ามาช่วย เหล่านี้ ก็คือตัวอย่าง สองคดีใหญ่ๆ ที่เป็นที่รับรู้ของสื่อมวลชนครับ ส่วนคดีอื่นๆ ก็เป็นคดีตามชุมชนต่างๆ แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว”
สุมิตรชัยระบุ และบอกเล่าเพิ่มเติมว่า ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือ ประสานทนาย ประสานคนในพื้นที่ ประสานงานกับ NGO ในพื้นที่ว่าจะหาทางในการแก้ปัญหาอย่างไร และจะยกระดับของพี่น้องดาราอั้ง ไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายอย่างไร 

"ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น จึงทำหน้าที่ทั้งการประสานงาน ทำงานร่วมกับองค์กรภาคเอกชนหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในสมัยนั้น, แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, สมัชชาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เป็นต้น เราก็ถูกเชิญให้เข้าไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับเครือข่ายเหล่านี้ ในการผลักดันการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย” สุมิตรชัยระบุ

ถามว่า ในกรณี สองคดีพิพาทใหญ่ที่หยิบยกมา มีบทสรุปของคดีเป็นอย่างไร ชาวบ้านชนะคดีหรือไม่
สุมิตรชัยตอบว่า “ก็มีทั้งสองอย่างครับ ชาวบ้านติดคุกก็มี บางคดีก็สามารถช่วยได้ คือศาลยกฟ้องก็มี แล้วก็มีการเจรจากับนายทุน มีการยกระดับไปสู่การตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ในระดับนโยบายก็มี กล่าวคือมีกระบวนการขับเคลื่อนเกิดขึ้นในหลายมิติ ในส่วนของพี่น้องดาราอั้งที่บ้านปางแดง ก็ถูกนำเสนอผ่านองค์กรระหว่างประเทศ ผ่าน UN (องค์การสหประชาชาติ : United Nations ) ผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกา เกิดการเจรจากันในระดับหนึ่ง

"ในเวลาต่อมาก็มีการนำคดีเข้าสู่ศาล ศาลก็เรียกทุกฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ยกัน
สุดท้าย นำไปสู่การหาที่ดินใหม่ให้กับพี่น้องดาราอั้งที่บ้านปางแดง กระทั่งนำไปสู่การตั้งหมู่บ้านใหม่
ในส่วนคดี ศาลได้ลงโทษในสถานเบา คือรอลงอาญา กรณีนี้จึงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย คือมีการตั้งหมู่บ้านให้ชาวบ้านใหม่ หาที่ให้ใหม่ ทางออกในทางคดีก็ไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก แต่ว่าในแง่ของการแก้ไขปัญหาก็คือ การที่ชาวบ้านได้รับการตั้งหมู่บ้านใหม่นั้น ใช้เวลานานหลายปีเหมือนกันครับ” สุมิตรชัยบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพขององคาพยพแห่งภาคีเครือข่ายในหลายระดับที่ร่วมกันขับเคลื่อนในกรณีศึกษาที่กล่าวมา


‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR

‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR
200 กว่าคดี ใน 2 ขวบปีแห่งทศวรรษ

ถามว่า นับแต่ ก่อตั้งศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในปี 2547 กระทั่ง ปัจจุบัน รับผิดชอบมาแล้วกี่คดี

สุมิตรชัยตอบว่า "ถ้าดูจากตัวเลขที่ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นสรุปกันไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ มา มีประมาณ 200 กว่าคดีครับ มีชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีประมาณ 500 คน คือหากนับเป็นคนจะมีจำนวนมากกว่าจำนวนคดี เพราะบางคดี ก็มี 7 คนบ้าง มี 5 คนบ้าง ที่เป็นคดี เฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 20-30 คดีต่อปีครับ ที่เราทำคดีมา แต่ในช่วงหลังๆ ก็อาจทำคดีน้อยลงมาบ้าง เพราะเราเน้นไปที่การขับเคลื่อนนโยบายเป็นหลักครับ”

สุมิตรชัยระบุและกล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดบางส่วนรวมทั้งการสรุปบทเรียนที่น่าสนใจว่า ในจำนวน 200 กว่าคดี มีคดีที่ จ.ลำพูน นับว่ามีเยอะ คือมี 100 กว่าคดี และประมาณ 60-70% ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นช่วยให้ชาวบ้านชนะคดี ส่วนอีก 20-30% ก็มีส่วนที่แพ้คดี แต่ก็ไม่ถูกจองจำ เพราะศาลรอลงอาญา ดังนั้น มีชาวบ้านติดคุกจริงๆ ประมาณ 20 กว่าคน นับเป็น 5 คดี โดยติดคุก 1-2 ปี

“ในส่วนคดีของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เราทำ ก็มีทั้งที่ชาวบ้านติดคุกและไม่ติดคุก ปะปนกัน รวมแล้ว มี 60% ที่เราแพ้ในคดีป่าไม้ที่ดิน เพราะยากกว่าคดีที่สู้กับเอกชนเยอะเลย เนื่องจากเราสู้กับรัฐ สู้กับกฎหมายป่าไม้
สิ่งสูงสุดที่เราทำได้ คือช่วยชาวบ้านไม่ให้ติดคุก คือให้ศาลรอลงอาญา เสียค่าปรับครับ แต่ว่า สุดท้ายชาวบ้านก็ถูกสั่งให้ออกจากที่ดินอยู่ดี เราก็ยังสรุปบทเรียนกันว่า ‘ในคดีป่าไม้ที่ดิน ต่อให้เราชนะ ก็ยังแพ้อยู่’ ความหมายคือแพ้ในมิติที่ว่าชาวบ้านถูกศาลสั่งให้ออกจากพื้นที่"

"เพราะฉะนั้น เราก็มีข้อสรุปกันว่า ถ้าเป็นประเด็นปัญหาป่าไม้ที่ดินในเขตป่า การทำคดีในศาลไม่ใช่ทางออก สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายเป็นหลัก นี่เป็นข้อสรุปในการทำงานของเรา แต่ในทางกฎหมายเราก็ยังช่วยเหลือชาวบ้านอยู่ เพราะปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่ บางครั้ง นโยบายยังเดินทางไปไม่ถึง แต่เกิดข้อพิพาทขึ้นแล้ว ชาวบ้านถูกจับไปแล้ว เราก็ต้องไปช่วยกัน” สุมิตรชัยระบุ

ถามว่า ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นมียุทธศาสตร์และมีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายอย่างไรบ้าง
สุมิตรชัยตอบว่า “ Keyword สำคัญก็คือชื่อศูนย์ที่มีคำว่า ‘สิทธิชุมชน’ เปรียบเสมือนฐานสิทธิสำคัญที่มีการรับรองไว้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 รวมทั้ง รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังคิดว่ามันเป็นฐานสิทธิอันสำคัญของเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งชุมชนอยู่บนที่ดินของรัฐ หรือเอกชนก็ดี 

"เรามองว่าการจัดการที่ดินในรูปแบบของ Community Rights หรือ สิทธิชุมชนนั้น มันนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน คือ สามารถทำให้ที่ดินยังอยู่ในมือของเกษตรกรได้ ชุมชนสามารถที่จะจัดการพื้นที่ได้ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก นี่เป็นวิสัยทัศน์ของกระบวนการเคลื่อนไหว ดังนั้นการผลักดันในเชิงนโยบายต่างๆ จะใช้ฐานของสิทธิมนุษยชนเป็นฐานต่างๆ ในการขับเคลื่อน เช่น การผลักดันเรื่องโฉนดชุมชนในปี พ.ศ.2553
การผลักดันเรื่องนี้ก็เนื่องมาจากการทำงานร่วมกันของพี่น้องภาคประชาสังคมและประชาชนที่ผลักดันสิทธิในที่ดินร่วมกัน
ทั้งนอกป่าและในป่า ว่าจะทำอย่างไร ที่ดินจึงจะไม่หลุดจากมือของเกษตรกร
ซึ่งในกรณีปัจเจก อาจมีการขาย จำนำ จำนอง เป็นหนี้สินกระทั่งที่ดินหลุดมือไป จึงเป็นบทเรียนของพี่น้องที่เคลื่อนไหวร่วมกันและสรุปบทเรียนร่วมกันในว่า ถ้าอย่างนั้น หากเราจะผลักดันให้รัฐรับรองสิทธิ์ให้กับที่ดิน ให้กับชุมชน ให้กับชาวบ้าน ให้กับประชาชน ควรเป็นรูปแบบของสิทธิชุมชน

"โดยใช้รัฐธรรมนูญมาเป็นตัวฐานในการรองรับสิทธิ์นี้ เนื่องจากมีการรับรองสิทธิ์มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว
เพราะฉะนั้น มิติของการขับเคลื่อน ล่าสุด จึงเป็นการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ อย่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ก็เน้นฐานสิทธิชุมชน Community Rights คือไม่ให้สิทธิ์ในเชิงปัจเจกหรือรายบุคคล แต่ให้ฐานในการคุ้มครองสิทธิ์ของชุมชนเป็นหลัก” สุมิตรชัยระบุและกล่าวว่า
เพราะฉะนั้น ตัว Community Rights จึงเป็นฐานของอุดมการณ์ด้วย เป็นอุดมคติ เป็นเนื้อหาในมิติของสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องการรวมตัวกันบนวิถีวัฒนธรรม จารีต ประเพณี วิถีชีวิต หรือภูมิปัญญาต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในหลายมิติ เป็น Soft Power ของขวนการเคลื่อนไหว เมื่ออธิบายในสังคมก็ถูกเข้าใจในมิติซึ่งมีมุมมองที่ดี เนื่องจากสิทธิชุมชน เน้นไปที่การดูแลรักษา เป็นแนวทางที่ยั่งยืน



สร้างองค์ความรู้แห่ง Community Rights

สุมิตรชัยกล่าวว่า ในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ ย่อมต้องมีการลงพื้นที่ไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล หรือเกษตรกรรายย่อยนั้น มิติของการดำรงชีวิตของเขา อยู่บนพื้นฐานของการต้องเอาตัวรอด ต้องดำรงชีพ ต้องทำมาหากิน การที่เขาจะรู้เรื่องสิทธิ์ จึงมีน้อย การที่หน่วยงานรัฐจะเข้าไปให้ความรู้แก่เขาก็น้อย

“เพราะฉะนั้น ทั้งองค์กรของเรา เครือข่ายที่ทำงานกับเรา ฐานสำคัญของการทำงานกับพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มชาติพันธุ์คือ การให้ความรู้ ให้เขารู้เรื่องสิทธิ์ของเขา ว่าเขามีสิทธิ์อะไรบ้าง มีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเขา ฐานความรู้นั้นจะเป็นฐานสำคัญที่ทำให้เขาตระหนักและลุกขึ้นมา เพื่อจะทวงสิทธิ์ที่เขาควรจะได้รับ สิทธิ์ที่เขาควรจะมี ในการที่จะให้รัฐหันมาให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต หรือสิทธิในการดำรงชีวิตในมิติต่างๆ ของเขา โดยเฉพาะฐานทรัพยากรที่เขาจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพประจำวัน เป็นต้น เหล่านี้ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องลงไปในพื้นที่ ลงไปคุย ลงไปสร้างผู้นำ เยาวชนคนรุ่นใหม่ๆ ในพื้นที่
เพื่อทำให้เสียงของเขานั้นดังขึ้น เขาต้องเป็นคนส่งเสียงเอง
การให้ความรู้กับชาวบ้าน จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่ง แล้วเป็นสิ่งที่ CPCR ทำแนวทางนี้มาตลอด โดยเฉพาะในช่วงสองปีที่ผ่านมา” สุมิตรชัยระบุและอธิบายเพิ่มเติมว่า

มิติทางยุทธศาสตร์ของศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR ( The Center for Protection and Revival of Local Community Rights) จะเน้นที่มิติของการให้ความรู้ทางกฎหมาย ให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องกลไกของรัฐต่างๆ เป็น Nature ของศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ที่ให้ความรู้ในเรื่องนี้ เพราะเป็นองค์กรทางกฎหมาย มีทนายความ
มีนักกฎหมาย และสามารถที่จะผสานกับนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ให้มาช่วยกันในการให้ความรู้เหล่านี้ได้ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งขึ้น

“ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นจึงยังคงทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปมา จึงมีผลต่อความไม่นิ่ง ไม่ต่อเนื่องของนโยบายที่สลับไป สลับมา จากเดิมที่เคยดีขึ้น รัฐเข้าใจมากขึ้น มีกฎหมาย
มีมติครม. มีนโยบายมารองรับเพื่อแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น แต่วันดีคืนดี เกิดรัฐประหาร ทุกอย่าง Drop หมด
กลับมาเริ่มต้นที่ 0 และนับ 1 ใหม่อีก ในการที่จะทำงานต่อเนื่องกับรัฐบาล เพื่อจะเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ หรือรัฐบาลที่มาจากเผด็จการเข้าใจปัญหานี้มากขึ้น จึงทำให้ทุกอย่าง แทนที่จะก้าวไปข้างหน้า ก็เหมือนถอยหลังมาสองก้าว เราจึงยังต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งให้การเมืองนิ่งพอที่จะทำให้เกิดการต่อเนื่องของนโยบาย” สุมิตรชัยสะท้อนภาพได้อย่างน่าสนใจ และกล่าวเพิ่มเติมว่า สุดท้ายแล้ว ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มชาติพันธุ์ที่สู้กันมาตลอดสองทศวรรษ ย่อมเกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับกฎหมาย

“คือมันไม่ใช่แค่เรื่องวัฒนธรรม แต่มันมีความขัดแย้งในมิติของรัฐในการจัดการทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงหนีไม่พ้น ที่เราต้องผลักดันนโยบายในทางการเมืองด้วย เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ผ่านระบบราชการ แต่ต้องไปผ่านนักการเมือง ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ออกเป็นนโยบาย เป็นกฎหมายออกมาแก้ไขปัญหา เราจึงต้องร่วมกันขับเคลื่อนทางการเมืองด้วย เป็นเหมือน Flightบังคับ ไม่งั้นปัญหาไม่ได้รับแก้ไขแน่ครับ”
สุมิตรชัยระบุ

‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR






ยุติเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย 

ประเด็นสำคัญที่ติดตามต่อเนื่องนอกจากยุทธศาสตร์การทำงานที่มุ่งเน้นให้ความรู้ด้านกฎหมายนอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือทางคดีแล้ว สุมิตรชัย และศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ยังให้ความสำคัญกับการติดตามประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหิน ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ด้วย


สุมิตรชัยสะท้อนภาพ ความเป็นมาว่า กรณีการคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหิน ที่ อ.อมก๋อย สืบเนื่องจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นได้รับการติดต่อจากแกนนำชาวบ้านคนหนึ่งที่ อ.อมก๋อยเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา คือประมาณปี พ.ศ.2563 ว่าจะมีการทำเหมืองแร่ถ่านหินที่ อ.อมก๋อย

“เราก็ตกใจมากว่า ‘เฮ้ย! อมก๋อยจะมีเหมืองแร่ถ่านหินได้ยังไง มันจะมาโผล่ที่นี่ได้ไง’ ในเมื่ออมก๋อยถูก Present ว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของประเทศไทย เพราะอากาศดี มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แล้วจะมีเหมืองแร่ถ่านหินที่นั่นได้ยังไง เราก็ตกใจกันหมด ภาคประชาสังคมหรือใครๆ ก็ตกใจ แล้วเมื่อเรื่องถูกเผยแพร่ขึ้นสู่พื้นที่สาธารณะในโลกโซเชียล คนก็ตกใจกันว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’


"แกนนำในพื้นที่จึงติดต่อ CPCR ว่าอยากให้ลงไปในพื้นที่ ไปให้ความรู้ทางกฎหมายกับชาวบ้าน เกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่ถ่านหิน เพราะเขาไม่รู้เลยว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับเหมืองแร่ หรือเหมืองแร่ถ่านหินนั้นเป็นยังไง กฎหมายแร่เป็นยังไง เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน เขาไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดกับเขา เขาก็รู้มาจากข้อมูลข่าวสารในสื่อ
ว่าเหมืองแร่ถ่านหินที่แม่เมาะ ( หมายเหตุ : เหมืองถ่านหินลิกไนต์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ) มีผลกระทบจากเหมืองแร่ถ่านหินอย่างไรบ้าง คือเด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ที่อมก๋อยเขาเริ่มมีฐานความรู้เรื่องนี้จากโซเชียลต่างๆ เขาเปิดดูได้ เขาจึงตกใจว่าหากเกิดเหมือนแร่ถ่านหินที่อมก๋อยจะเป็นอย่างไร


"ผมก็เข้าไปในพื้นที่ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ก็เข้าไปคุยกับชาวบ้านก่อน เข้าไปในพื้นที่ แล้วจัดประชุมกับชาวบ้านที่โบสถ์แห่งหนึ่ง ก็มีชาวบ้านมาร่วมประชุม ประมาณ 20 กว่าคน เป็นผู้หญิงหมดเลยครับ ทั้งแม่บ้าน เยาวชน ก็มาคุยกัน แล้วก็ต้องทำกันเงียบๆ ด้วยนะครับ มีคนคอยเฝ้าที่หน้าประตูด้วย เพราะกลัวว่าหน่วยงาน หรือคนของบริษัทเอกชนจะเข้ามาเจอ
เราก็เริ่มทำความเข้าใจกันว่าที่มาที่ไปเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้นที่นี่ ชาวบ้านก็เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้เราฟัง ว่าเรื่องเกิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 แล้ว ราวๆ 20 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นนั้นตายไปหมดแล้ว คือคนรุ่นพ่อแม่ เหลือแต่คนรุ่นลูก เขาก็เล่าจากความทรงจำว่า มีบริษัทแห่งหนึ่ง มีความพยายามจะเข้ามาทำเหมืองที่นั่น ซึ่งเขาไม่รู้ว่ามันคือเหมืองอะไร บริษัทพยายามจะซื้อใจชาวบ้าน ด้วยการให้ทำโครงการต่างๆ ในอดีต แต่ว่าคนรุ่นใหม่ เขาไม่รู้สึกอินอย่างคนรุ่นก่อนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท เขาก็เลยคิดว่า มันไม่ควรจะมีเหมืองที่นี่ เพราะสภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ป่าที่นี่ที่เคยเสื่อมโทรมในอดีต แต่ปัจจุบันนี้ มันกลับมาสมบูรณ์แล้ว เพราะชาวบ้านดูแลป่าให้ดีขึ้น สภาพแวดล้อมดีขึ้น แหล่งน้ำสะอาด คือป่ากลับมาสมบูรณ์ขึ้น เป็นพื้นที่แหล่งอาหารที่สำคัญของอมก๋อย เป็นพื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่สำคัญของภาคเหนือ
เขาก็รู้สึกว่า มันไม่ควรจะมีเหมืองที่จะทำลายสิ่งเหล่านี้ที่ชาวบ้านข่วยกันสร้างขึ้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา”
สุมิตรชัยระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า

เมื่อได้เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในสิ่งที่ชาวบ้านบอกเล่าแล้ว ตัวเขาได้ให้ความรู้ว่า ถ้าจะมีเหมืองเกิดขึ้น กระบวนการในการขอประทานบัตรนั้นเป็นอย่างไร วิธีการเป็นอย่างไร ขั้นตอนทางกฎหมาย เป็นอย่างไร เรามีสิทธิ์อะไรบ้าง สิทธิของชาวบ้านเป็นอย่างไร

สุมิตรชัยได้อธิบาย ให้ข้อมูล และส่งทีมลงไปทำงานกับน้องๆ เยาวชนในพื้นที่อมก๋อย ในการเก็บข้อมูล โดยรวมเยาวชนในหมู่บ้านมาได้ประมาณ 20 คน แล้วจึงสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ว่าสิ่งที่เราจะใช้สู้มีอะไรบ้าง
อาทิ ข้อมูลต่างๆ ในชุมชน ก็มีความสำคัญ จึงเกิดกระบวนการในการจัดทำข้อมูลขึ้นมา อีกทั้งสุมิตรชัยและภาคีเครือข่ายก็ได้เชิญนักวิชาการในองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาช่วยกันในการลงพื้นที่ศึกษาประเด็นดังกล่าว

"ดึงกลไกลขององค์กรพัฒนาเอกชนหลายๆ องค์กรที่มีประการณ์ในการทำเรื่องเหล่านี้มาช่วยกัน มีทั้งที่มาจากส่วนกลาง ไม่ว่า มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) หรือ Greenpeace เข้ามาช่วยกัน รวมทั้งองค์กรในระดับ International ก็มาช่วย กลายเป็นองค์กรภาคีในการทำงาน ส่วนผมเองนั้น จะเป็นการทำงานด้านกฎหมายเป็นหลัก ในเรื่องของการสื่อสาร เช่น ทีมสื่อของชนเผ่า ก็เข้ามาร่วมกันออกแบบกับพี่น้องที่อมก๋อย จึงเป็นมิติของการทำงานที่น่าสนใจ เพราะมีเรื่องของการ connect กันหลายกลุ่ม ที่มาช่วยกันทำงาน

"นอกจากที่กล่าวมา ก็มีภาคประชาสังคมที่อมก๋อย มีคนชั้นกลางหรือคนมีฐานะเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการมีเหมืองแร่ เขาก็สร้างเครือข่าย ‘ยุติเหมืองแร่อมก๋อย’ ขึ้นมา เป็นคนชั้นกลางในอมก๋อย เขาก็ขับเคลื่อนรณรงค์เช่นเดียวกัน เพราะเขาไม่ต้องการให้มีเหมืองแร่ที่นั่น รวมทั้งตัวชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ดังนั้น จึงเป็นการรวมตัวกันเป็น Network เป็นเครือข่ายหลวมๆ ที่ใหญ่พอสมควร มีหลากหลายองค์กร จึงเป็นมิติของการขับเคลื่อนที่น่าสนใจ มีทั้งคนรุ่นใหม่ เยาวชน ใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ร่วมกันรณรงค์ คือทำหลายมิติมาก และสุดท้ายคือการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีนี้จึงนับเป็นการทำงานที่ใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ ในหลากหลายมิติมาทำงานร่วมกัน” สุมิตรชัยระบุ และบอกเล่าถึงการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ว่าเป็นการทำงานร่วมกันของ CPCR และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ซึ่ง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มีความชำนาญในเรื่องของคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และมาช่วยกันเป็นคณะทำงานทางคดี


“ผมกับน้องอีกคน ที่ EnLAW เป็นผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้าน เป็นตัวแทนของชาวบ้านทั้งหมด 50 คน บวกกับผู้สนับสนุนการฟ้องอีก 610 คน เหตุที่มีผู้สนับสนุนการฟ้องจำนวนมาก เนื่องจากตอนแรก เราคุยกันว่า การจะเอาชาวบ้าน 600 กว่าคนมาฟ้อง คงยุ่งยากมากๆ แน่ๆ ในเรื่องของกระบวนการศาล เราจึงใช้วิธีขอเป็นตัวแทน 50 คน แต่ว่าในขั้นตอนของการลงชื่อ
เราก็ให้ชาวบ้าน 600 กว่าคนทำเป็นเอกสารแนบท้าย เป็นผู้สนับสนุนการฟ้อง เพื่อให้ศาลเห็นว่า ไม่ได้มีเพียงแค่ชาวบ้าน 50 คนเป็นผู้ฟ้องเท่านั้น แต่ว่าชาวบ้านที่ร่วมขับเคลื่อนในเรื่องนี้ยังมีอีกมาก มีทั้งคนในพื้นที่ คนในอมก๋อย มีเครือข่ายยุติเหมืองฯ ที่เป็นชนชั้นกลางก็ร่วมด้วยในการฟ้อง
รวมทั้งมีแคมเปญรณรงค์ผ่านพื้นที่ ต่างๆ ทำหลายๆ อย่างเพื่อให้เห็นว่า ชาวบ้านมีความชอบธรรมมากแค่ไหน ในการที่จะฟ้องคดีต่อศาล" สุมิตรชัยระบุ

ถามว่า ประเด็นในการต่อสู้ที่ยื่นฟ้องศาลปกครองคืออะไร และคดีอยู่ขั้นไหนแล้ว
สุมิตรชัยตอบว่า “คือพูดง่ายๆ ว่า เหมืองแร่อมก๋อย เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ที่เขาจะได้ประทานบัตร เพราะ EIA ผ่านแล้ว กรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้ว เหลืออย่างเดียวคือเขาต้องจัดเวทีรับฟังความเห็น ตามที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ ซึ่งเขายังจัดเวทีไม่ได้ เพราะเมื่อพี่น้องที่อมก๋อยรู้ตัว ก็เกิดการคัดค้าน ทำให้เขายังจัดเวทีไม่ได้ เพราะมีการคัดค้านมาโดยตลอด และเราได้เรียกร้องให้มีการทบทวน EIA ใหม่ เพราะเมื่อเราเข้าไปดู EIA โดยละเอียดแล้ว เราพบว่า EIA ฉบับนี้มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ ข้อมูลหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ตรง พี่น้องที่อมก๋อยรู้สึกว่าสิ่งที่ระบุใน EIA ไม่ตรง เขาก็แย้งในหลายประเด็น

"เมื่อเกิดการโต้แย้งข้อมูลใน EIA เราจึงเห็นว่าศาลปกครองควรมีคำสั่งให้ ทบทวน หรือกระทั่งมีคำสั่งให้ทำ EIA ใหม่ ซึ่งการทำ EIA ใหม่ มันก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้การออกประทานบัตรครั้งนี้ ถูกทบทวนใหม่ทั้งหมด
ซึ่ง EIA ฉบับนี้มันผ่านมานานสิบปีแล้ว อนุมัติเมื่อปี พ.ศ.2554 ผ่านมาสิบปีแล้ว เรามองว่าเก่าแล้ว ข้อมูลต่างๆ หลายอย่างไม่ตรง เช่นการพิจารณาเรื่องแหล่งน้ำ ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่ใน EIA เขาบอกว่าเป็นน้ำที่ไม่ไหลตลอดปี เป็นน้ำสายเล็ก
แต่จริงๆ แล้ว คือแม่น้ำสายหลัก และไหลลงไปสู่แม่น้ำข้างล่าง ซึ่งเป็นสายเลือดใหญ่ และมีหมู่บ้านต่างๆ ทึ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่นี่เป็นระยะทางที่ยาวมาก ซึ่งไม่ตรงกับที่ EIA เขียนไว้ว่าไม่สำคัญ

"อีกทั้ง ยังมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ ที่เรามองว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศของพื้นที่อย่างมาก เราจึงคิดว่า ข้อมูลใน EIA เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ในการสื่อสารด้วย เราจึงทำข้อมูลในทางวิชาการ โดยเชิญนักวิชาการหลายคนมาช่วยกันทำ
การประเมินผลกระทบสุขภาพในระดับชุมชน (Community Health Impact. Assessment: CHIA) ขึ้นมา
ภายใต้กฎหมาย พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เราก็ทำงานรายงานชิ้นนี้ โดยใช้เวลาเกือบ 2 ปี และเป็นหลักฐานสำคัญ ในการที่จะอ้างอิงกับการร้องให้มีการเพิกถอน EIA ฉบับนี้ด้วย


"นี่คือสิ่งที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการต่อสู้ในครั้งนี้ ซึ่งเรามองว่า สิ่งนี้ได้สร้างการเรียนรู้ให้กับชาวบ้าน ให้กับสังคม สร้างการเรียนรู้ให้กับคนในเมือง ผ่านตัว การประเมินผลกระทบสุขภาพในระดับชุมชน (Community Health Impact. Assessment: CHIA) ฉบับนี้ ที่ได้ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ ควรเก็บรักษาเอาไว้อย่างไร
รวมทั้งยังมีการขับเคลื่อนในมิติระดับสากล เนื่องจากในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีทิศทางชัดเจนว่า ในระดับโลกนั้น ต้องการลดการใช้ถ่านหิน เพราะถ่านหิน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะมันส่งคาร์บอนไปในบรรยากาศ เกือบ 40% ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา มันจึงเป็นอีก Agenda ที่รัฐบาลไทยไม่ควรจะเร่งรีบ ในการที่จะให้มีการขุดเหมือนแร่ถ่านหินที่นี่ แต่ควรมีการทบทวน และหากไม่จำเป็น ก็ไม่ควรขุดมันขึ้นมา นั่นคือสิ่งที่เรารณรงค์ทั้งในสากลและในสาธารณะด้วยว่า ไม่มีความจำเป็นเลย ประเทศไทยมีพลังงานเหลือเฟือ เรามีพลังงานสำรองเหลือมากพอที่จะใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องไปขุดเอาถ่านหินขึ้นมา
ทำไมต้องรีบขุดขึ้นมา และเป้าหมายของการขุดครั้งนี้ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เอาไปขายให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เขาเขียนไว้ชัดเจนใน EIA” สุมิตรชัยระบุ และกล่าวว่า ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เมื่อ 4 เมษายน 2565 และศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว ทั้งมีคำสั่งให้ส่งให้ผู้ถูกฟ้องแล้ว
โดยมีทั้งหน่วยงานรัฐที่อนุมัติ EIA และศาลยังมีคำสั่งให้เรียกบริษัทเอกชน เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องที่สาม
“เราจะยื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว คือขอให้งดการนำ EIA ฉบับนี้ไปขอประทานบัตร จนกว่าจะมีการทบทวน”
สุมิตรชัยเน้นย้ำอย่างหนักแน่น








‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR  กับภาพรวมบรรยากาศการทำงานกับทีมงานและภาคีเครือข่าย

‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR  กับภาพรวมบรรยากาศการทำงานกับทีมงานและภาคีเครือข่าย








‘อุดมการณ์ จิตวิญญาณ’ ที่บ่มเพาะ

คำถามสำคัญปิดท้ายที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ คือ
อะไร ทำให้คุณมุ่งมั่นทำงานเพื่อสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนถึงเพียงนี้


สุมิตรชัยตอบว่า “ผมเรียนจบนิติศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2530 จบมา 30 กว่าปีแล้ว เป็นทนายความมาจนถึงปัจจุบัน หากถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานนี้ ในเชิงอุดมการณ์ผมตอบยาก แต่ในแง่อุดมคติ ผมได้มาจากธรรมศาสตร์ ผมเข้าไปเรียนปี 2526 รุ่นพี่ๆ เขาออกจากป่ามาแล้ว หลังจาก นโยบาย 66/23 ( หมายเหตุ : คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 และลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ) เป็นนโยบายเปิดให้นักศึกษา คือรุ่นพี่เราออกจากป่ามามอบตัว เราก็ได้อุดมการณ์ความคิดมาจากรุ่นพี่อยู่พอสมควร มีโอกาสได้คุยกับพี่ๆ ที่ออกมาจากป่า มานั่งคุยให้เราฟังว่าอุดมการณ์การต่อสู้สมัยนั้นเป็นอย่างไร คือในยุคที่เราเข้าไป ธรรมศาสตร์โดนควบคุมโดยรัฐอยู่พอสมควร เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ แต่เราสนใจประวัติศาสตร์ 14 ต.ค.2516 และ 6 ต.ค. 2519 ตอนที่เราเดินเข้ามาที่ธรรมศาสตร์ครั้งแรก เราเห็นป้ายใหญ่มากติดอยู่ด้านหน้า เขียนว่า ‘ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน’ 

"เราก็รู้สึกว่าคำนี้มันโดนใจ ‘แต่มันคืออะไร การรักประชาชนต้องทำยังไงวะ’ (หัวเราะ) เมื่อเราเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย เราก็ได้ร่วมทำกิจกรรมกับพี่ๆ ฟังพี่ๆ เล่าประวัติศาสตร์การเป็นธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ซึมซับในตัวเราพอสมควร พี่ๆ ที่เป็นนักกฎหมาย ก็บอกว่า ‘เฮ้ย! นักกฎหมายนี่แหละ ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ คุณสามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการช่วยสังคมและสร้างความยุติธรรมได้’ เราก็รู้สึกว่า เป็นอุดมคติที่น่าสนใจ

"ทำให้เราตั้งคำถามว่า ‘ถ้าเราไปเป็นนักกฏหมาย เราจะเป็นนักกฎหมายแบบไหน’
กลายเป็นคำถามในใจเราเหมือนกันว่า ถ้าเราเป็นนักกฎหมาย ทนายความ เราจะใช้วิชาชีพทนายความทำอะไร
ใช้สร้างความร่ำรวยให้ตัวเอง หรือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน มันก็เป็นทางเลือกที่เราต้องเลือกว่าเราอยากเป็นแบบไหน สิ่งนั้นก็อยู่ในเนื้อในตัวเราเสมอมา” สุมิตรชัยกล่าวทิ้งท้าย


ถ้อยความทั้งหมดทั้งปวงนี้ แม้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ไม่อาจเทียบได้กับหลายทศวรรษแห่งการทำงาน แต่ก็สะท้อนอย่างเด่นชัดถึงจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ ที่เลือกแล้วว่าจะยืนหยัดอยู่เคียงข้างความยุติธรรมและความชอบธรรมแด่ผู้คนอีกมากมายที่ยังไร้สิทธิ์ไร้เสียงในสังคม รวมทั้งการติดอาวุธทางกฎหมายผ่านการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้คนในชุมชนที่ห่างไกล...แต่ไม่ยากเกินกว่าที่ชายผู้นี้และทีมงานนักกฎหมายของเขา จะเดินทางเข้าไปถึง

…….
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : สุมิตรชัย หัตถสาร