พระราชาคณะองค์นี้ก็คือ พระเทพโมฬี (ผึ้ง) วัดราชบูรณะ ซึ่งบวชมาตั้งแต่เป็นเณร มีพรสวรรค์ในด้านการเทศน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นิมนต์ไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ และยังได้ชื่อว่าเป็นกวีชั้นสูง แต่งหนังสือสำหรับเริ่มเรียนไว้เล่มหนึ่ง ในชื่อ “ประถมมาลา” เป็นบทกลอนที่สละสลวย ถือเป็นแบบเรียนสำคัญเล่มหนึ่ง คู่กับ “ประถมกกาหัดอ่าน” และ “จินดามณี” ที่ถือว่าเป็นแบบเรียนอมตะทั้ง ๓ เล่ม และยังเป็นผู้ร่วมแต่งบทประพันธ์เพื่อจารึกที่วัดพระเชตุพนฯด้วย ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นพระราชาคณะที่พระเทพโมฬีในรัชกาลที่ ๓
แต่แล้วชีวิตอันรุ่งโรจน์ของพระเทพโมฬี (ผึ้ง) ก็พลิกผันไปอย่างไม่คาดคิด เมื่อใกล้จะมีงานฉลองวัดโพธิ์ที่มีการบูรณะครั้งใหญ่มานานถึง ๑๖ ปี ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเตรียมเครื่องไทยทานที่จะถวายติดกัณฑ์เทศน์ไว้ถึง ๑๐ ชั่ง แต่พระเทพโมฬีเตรียมจะลาสิขาบทอยู่แล้ว พอรู้ข่าวก็ไม่สบายใจ คิดว่าถ้ารับนิมนต์ไปเทศน์ หลังจากนั้นไปขอถวายพระพรลาสึก ก็จะถูกมองว่าเอาเงินไทยทานก้อนใหญ่มโหฬารนี้ออกไปตั้งตัว จึงเตรียมที่จะเข้าไปขอลาสึกก่อน แต่ก็ไม่ทันการเมื่อฎีกาของกรมสังฆการีมาวางอยู่ตรงหน้าก่อน มีความว่า
“ขออาราธนาเจ้าคุณเทพย์โมฬี เข้าไปถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์พิเศษในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย มไหยสุริยพิมาน ท้องพระโรงในพระราชวังหลวง เมื่อเวลายามหนึ่ง”
พระเทพโมฬีจึงตัดสินใจรีบไปเข้าเฝ้าก่อนทันที
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงแปลกพระทัยที่เจ้าคุณมาขอเข้าเฝ้าอย่างรีบร้อน จึงตรัสถามว่า
“ชีต้นผึ้ง เข้ามาหาโยมทำไม หรือหลงวันเทศน์ วันนี้ยังไม่ทันถึงกำหนดวันที่จะเทศน์”
พระเทพโมฬีจึงถวายพระพรว่า
“ขอถวายพระพรเจริญแด่มหาบพิตรราชสมภารเจ้า อาตมาภาพขอถวายพระพรลาสึก ควรไม่ควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด”
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชดำรัสว่า
“โยมชอบฟังชีต้นผึ้งเทศน์ เมื่อชีต้นจะสึก ไม่ยอมเทศน์ให้โยมฟังก็ตามใจเถิด”
จากนั้นก็มีพระบรมราชโองการให้สังฆการีถอนฎีกา ไปนิมนต์ชีต้นสาที่วัดบวรนิเวศน์มาเทศน์แทน
เมื่อลาสึกแล้ว พระเทพโมฬีได้เข้าถวายตัวเป็นข้าในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ แต่ไม่นานก็มีโจทย์ยื่นฟ้องว่า เมื่อครั้งยังผนวชอยู่ในเพศบรรพชิตนั้น เจ้าคุณพระเทพโมฬีได้ทำปาราชิกกับเจ้าจอมมารดาม่วงแจ้ พระสนมเอกในกรมพระราชวังบวร จึงโปรดเกล้าฯให้พระพิเรนทรเทพ (กระต่าย) เป็นตุลาการชำระความ
นายผึ้งรับสารภาพตามข้อกล่าวหา จึงโปรดฯให้เจ้าพนักงานนำตัวนายผึ้งไปสักหน้าผาก แล้วส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างตามโทษานุโทษ
เมื่อถึงวันฉลองวัดโพธิ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้ช่างวาดรูปนายผึ้งขนาดเท่าตัวจริงบนกระดาษแผ่นใหญ่ เป็นรูปนายผึ้งนุ่งผ้าเขียวยืนหาบหญ้า หน้าผากมีรอยสัก มือถือเคียว มีอักษรบรรยายภาพไว้ว่า
“นายผึ้ง เทพย์โมฬีหาบหญ้า”
แต่เมื่อปี ๒๕๖๓ มานี่เอง สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ได้พิจารณาเชิดชูเกียรติคุณปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อหนังสือแบบเรียไทย เนื่องในวันภาษาไทย ๒๙ กรกฎาคม ในชื่อ “ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทย” แบ่งเป็น ๕ ด้าน
ด้านที่ ๑ ปฐมาจารย์ด้านประดิษฐ์อักษรไทย ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหง
ส่วนด้านที่ ๓ ปฐมาจารย์แบบเรียนภาษาไทยเบื้องต้นก่อนระบบการศึกษาในโรงเรียน ได้แก่ พระเทพโมฬี (ผึ้ง)