xs
xsm
sm
md
lg

ดำน้ำตัดสินคดี.. ๒ ขุนนางเชียงใหม่ขัดแย้งด้วยเรื่องที่ไม่มีหลักฐาน! ต้องให้แม่ปิงพิพากษา!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ดำน้ำ หรือ ลุยเพลิง ในสมัยก่อนไม่ใช่การแข่งขันหรือการแสดงเหมือนในสมัยนี้ แต่เป็นวิธีตัดสินคดีรูปแบบหนึ่งตามความเชื่อในสมัยโบราณ สำหรับใช้ในคดีที่โจทย์และจำเลยต่างหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ จึงให้ใช้วิธีดำน้ำหรือลุยเพลิงพิสูจน์คำพูด โดยเชื่อว่าใครพูดจริงก็จะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งในกฎหมายตราสามดวงก็บัญญัติให้พิสูจน์คดีด้วยวิธีนี้ไว้บทหนึ่งในชื่อ “พระไอยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง”

ในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งเป็นบทเสภาที่ขับร้องกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าเมื่อพระไวยกับขุนช้างมีคดีความกัน พระพันวษาดำรัสสั่งให้ดำน้ำพิสูจน์ ดังความว่า

“ครานั้นพระองค์ผู้ทรงชัย
วินิจฉัยในสำนวนถ้วนถี่
อ้ายขุนช้างเอามุสามาพาที
ในคดีพิรุธทุกประการ
แต่พยานร่วมกันยังติดใจ
ผิดวิสัยความหลวงกระทรวงศาล...
จริงเท็จทั้งนั้นใครจะรู้
จำจะต้องพิสูจน์ตามกระบวน
ให้มันสิ้นสำนวนที่ต่อสู้
เท็จจริงข้างใครให้คนดู
ตัวกูจึงจะพ้นคนนินทา...
ปรึกษาเสร็จตรัสสั่งสี่พระครู
ไปดูให้โจทก์จำเลยมันจัดหา
เครื่องสำหรับดำน้ำให้ทำมา
ไปปักหลักลงที่หน้าตำหนักแพ
เข้ามณฑลกันวันพรุ่งนี้
จนถึงที่วันดำน้ำเจ็ดค่ำแน่
ให้กำกับกันอยู่คอยดูแล
ให้พร้อมแต่เวลาบ่ายโมงปลาย
พนักงานกรมไหนให้ไปดู
พระครูจัดแจงแต่งบัตรหมาย
คุมตัวไว้ในวังทั้งสองนาย
พระสั่งเสร็จผันผายเข้าข้างในฯ”
ผลของการพิสูจน์คดีนี้ปรากฎว่า
“ด้วยขุนช้างนั้นพิรุธทุจริต
พอดำมิดไม่ถึงสักกึ่งกลั้น
บันดาลเห็นเป็นงูเข้ารัดพัน
ตัวสั่นกลัวสุดผุดลนลาน”

ที่นครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระราชบิดาของพระราชชายาดารารัศมีมีบันทึกถึงการตัดสินคดีแบบดำน้ำไว้คดีหนึ่งว่า เกิดความขัดแย้งกันของขุนนางชั้นพระยาของเจ้าผู้ครองนคร ๒ คน ด้วยเรื่องที่ต่างอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของทาสจำนวนหนึ่ง ฝ่ายโจทย์ยื่นฟ้องต่อศาลว่าฝ่ายจำเลยช่วงชิงเอาทาสของตนไป ฝ่ายจำเลยก็อ้างว่าทาสทั้งหมดเป็นของตน แต่ไม่มีเอกสารของการได้มายืนยัน เพราะถูกเผาไปเมื่อครั้งที่โจรเงี้ยวเข้าปล้นบ้าน

เมื่อต่างฝ่ายต่างก็อ้างโดยไม่มีหลักฐาน ศาลจึงหาทางออกให้ทั้งสองฝ่ายดำน้ำพิสูจน์กัน โดยให้แม่ปิงเป็นผู้พิพากษา และเนื่องจากคู่ความต่างก็มีฐานะใหญ่โตด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงให้นำเงินมาวางเป็นเดิมพันฝ่ายละ ๒,๐๐๐ รูปี โดยมีเงื่อนไขว่า เงินจำนวนนี้จะตกเป็นของผู้ชนะคดีทันทีพร้อมข้าทาสที่เป็นต้นเหตุ อีกทั้งยังให้ฝ่ายแพ้ทั้งครอบครัวตกเป็นทาสของผู้ชนะด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับกติกา
ในวันที่กำหนดพิสูจน์คดี จึงมีผู้คนแห่กันไปที่ริมแม่ปิงสถานที่จัดดำน้ำแน่นขนัด ชาวต่างประเทศในเชียงใหม่ก็ยกขบวนมาดูด้วย ส่วนเจ้านายฝ่ายเหนือปักกลดใหญ่สูงถึง ๖-๗ ฟุต เป็นแพรสีสดใสแพรวพราว มีข้าทาสบริวารถือหีบหมากเงินทอง กาน้ำ คนโท กระโถน ยังกับมาดูมหรสพ

แต่เมื่อถึงเวลา พระยาทั้ง ๒ กลับไม่แสดงเอง ต่างจ้างนักดำน้ำมาเป็นตัวแทนทั้ง ๒ ฝ่าย ทำให้งานกร่อยลงไปมาก เมื่อจะเริ่มการพิสูจน์ นักดำน้ำทั้ง ๒ คนต่างถือพานดอกไม้ไปถวายให้เจ้าหน้าที่ตุลาการและสาบานตน ทั้ง ๒ คนประดับดอกไม้ไว้ที่ศีรษะ แล้วร้อยพวงใบไม้ไว้รอบคอเป็นเครื่องสังเวยแม่ปิง ที่เอวมีเชือกผูกไว้เป็นสายยาว สำหรับให้ฝ่ายที่อยู่บนบกดึงไว้กันถูกสายน้ำพัดพาไป

พอได้สัญญาณ นักดำน้ำทั้ง ๒ ก็กระโดดลงแม่น้ำ แล้วเงียบหายไปพักใหญ่ ประชาชนคนดูทุกฝ่ายต่างจับจ้องไปที่จุดนั้นด้วยความตื่นเต้นแทบจะไม่หายใจไปด้วย ผ่านไป ๒ นาที ๑๕ วินาที นักดำน้ำคนแรกก็โผล่ขึ้นมาท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของคนดู อีกครู่หนึ่งอีกคนจึงโผล่ตาม

การตัดสินครั้งนี้ คณะลูกขุนไม่ยอมรับกับการจ้างคนอื่นมาดำแทนตั้งแต่แรกแล้ว ครั้นจะระงับก็จะทำให้คนดูผิดหวัง อีกทั้งยังเห็นว่านักดำน้ำทั้ง ๒ ฝ่ายดำน้ำลงไปไม่พร้อมกัน เลยไม่มีคำพิพากษา คืนคดีไปให้เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ชี้ขาด

ไม่มีบันทึกหน้าต่อมาว่าผลของคดีนี้ใครเป็นผู้ชนะ


กำลังโหลดความคิดเห็น