นับเป็นข่าวใหญ่ของโลกเมื่อไม่กี่วันมานี้ ขณะที่การเมืองของอังกฤษกำลังเผชิญกับความปั่นป่วนอย่างหนักนายกรัฐมนตรีหญิงที่ได้รับเลือกเข้ามาได้แค่ ๔๔ วันถูกบีบจนต้องลาออก สร้างประวัติศาสตร์ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุสั้นที่สุดของอังกฤษ และเมื่อมีการคัดเลือกกันใหม่ก็สร้างประวัติศาสตร์อีกเหมือนกัน นายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือก เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมี คือวัยแค่ ๔๒ ปี อีกทั้งยังเป็นคนเชื้อสายอินเดียที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ครอบครัวของเขาเพิ่งอพยพเข้าไปอยู่อังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มานี่เอง
วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นรัฐบุรุษของอังกฤษ ซึ่งนำประเทศชนะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ประณามคนอินเดียไว้อย่างสาดเสียเทเสียเมื่ออินเดียได้รับเอกราช แต่พอครบ ๗๕ ปีพอดี ลูกหลานของชาวอินเดียที่ถูกรัฐบุรุษอังกฤษดูถูกไว้ ก็ถูกพรรคการเมืองที่เชอร์ชิลสังกัด เลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าแก้ปัญหาที่ประเทศอังกฤษกำลังเผชิญวิกฤติ
ในปี ๒๔๙๐ ที่อินเดียได้รับเอกราช เชอร์ชิลล์ผู้เชื่อว่าคนผิวขาวคือ “เชื้อชาติที่แข็งแกร่งกว่า และเหนือชั้นกว่า” เป็นฝ่ายค้านที่จะให้เอกราชแก่อินเดีย ได้กล่าวต่อรัฐสภาว่า
“ถ้าให้เอกราชแก่อินเดีย อำนาจจะตกอยู่ในมือคนชั่ว อันธพาล โจร ผู้นำอินเดียจะมีความสามารถต่ำและเป็นพวกไร้ค่า พวกเขาปากหวานใจคด จะต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเอง แล้วอินเดียจะพ่ายแพ้ในการทะเลาะวิวาทกันทางการเมือง วันหนึ่งจะมาถึงที่แม้อากาศและน้ำจะถูกเก็บภาษีในอินเดีย”
เขาประกาศตรงๆว่า “ผมเกลียดชาวอินเดีย...พวกเขาเป็นพวกป่าเถื่อนที่นับถือศาสนาป่าเถื่อน”
และกล่าวโทษชาวอินเดียว่าเป็นต้นเหตุของทุพภิกขภัย โดยอ้างว่า “พวกเขาออกลูกออกหลานเหมือนกระต่าย”
แต่วันนี้ ริชี ซูแน็ก ลูกหลานคนอินเดียและนับถือศาสนาฮินดู กำลังเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเช่นเดียวกับเชอร์ชิลล์ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีรองประธานาธิบดี กมลา เทวี แฮร์ริส เป็นคนเชื้อสายอินเดียเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียต่างชื่นชมในการรับตำแหน่งของซูแน็ก นายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดิ แห่งอินเดีย ได้แสดงความยินดีไปถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษว่า
“ขอส่งคำอำนวยพรในเทศกาลดิวาลีไปยังสะพานที่มีชีวิตของชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ในขณะที่เรากำลังเปลี่ยนจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ สู่ความเป็นหุ้นส่วนในยุคสมัยใหม่”
เรื่องราวที่เหลือเชื่อแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ในปี ๒๕๐๔ นายโรเบิร์ท เอฟ. เคนเนดี้ รมต.กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และเป็นน้องชายของประธานาธิบดีเคนเนดี้ เคยพูดทางวิทยุกระจายเสียง หลังจากมีการรุมทำร้ายชาวผิวดำ ว่าการถือผิวในอเมริกากำลังแตกสลายแล้ว และภายในเวลา ๓๐ หรือ ๔๐ ปีข้างหน้า
ประธานาธิบดีสหรัฐอาจเป็นคนนิโกรก็ได้ แม้แต่ปู่ของเขาซึ่งก็เป็นปู่ของประธานาธิบดีเคนเนดี ก็เป็นชาวไอริชอพยพมาอยู่เมืองบอสตันเมื่อ ๕๐ ปีก่อน
แต่นายโรเบิร์ททำนายคลาดเคลื่อนไปราว ๘ ปี ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒ สหรัฐก็ได้ประธานาธิบดีผิวสีคนแรก ชื่อ บารัก โอบามา ซึ่งในสมัยยังมีทาส คงไม่มีใครคาดคิดว่าเชื้อสายทาสพวกนั้นจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ที่เปรูในอเมริกาใต้ ก็เคยมีเรื่องเหลือเชื่อแบบนี้เช่นกัน เมื่อนายอัลเบร์โต ฟูจิโมริ เชื้อสายญี่ปุ่น พ่อแม่อพยพจากเมืองคูมาโมโตะไปอยู่เปรูในปี ๒๔๗๗ ในปี ๒๕๓๓ ลูกชายที่เกิดในเปรูในปี ๒๔๘๑ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเปรู ซึ่งเป็นคนเชื้อสาวเอเชียคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีในทวีปอเมริกาใต้
เรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้เรื่องเชื้อชาติไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว และอีกไม่นานก็จะหาเชื้อชาติบริสุทธิ์ได้ยาก ความสำคัญจะอยู่ที่ว่า เกิดที่ไหนก็เป็นคนของประเทศนั้น ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมผลประโยชน์กับคนในประเทศเดียวกัน