xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดลเผยวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์การชุมนุมของฝูงชน หลังเกิดโศกนาฏกรรม “อิแทวอน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์การชุมนุมของฝูงชนจำนวนมาก หลังเกิดโศกนาฏกรรมฮัลโลวีนใน “อิแทวอน” เกาหลีใต้

จากกรณีที่ “อิแทวอน” (Itaewon) ย่านชอปปิ้งชื่อดังของเกาหลีใต้ กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมจากปริมาณผู้คนที่ไปเที่ยวงานฮัลโลวีนเบียดกันแน่น ล้ม และเหยียบกัน รวมทั้งขาดอากาศหายใจ จนเป็นเหตุวุ่นวายทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยล่าสุดพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 151 ราย ในเหตุฝูงชนจำนวนมากที่กำลังเฉลิมฉลองเทศกาลวันฮัลโลวีนในคืนวันที่ 29 ต.ค. 65 ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ต.ค. เพจ "Mahidol Channel" ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาโพสต์เผยวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์การชุมนุมของฝูงชนจำนวนมาก จากผศ.พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยระบุว่า "จากโศกนาฏกรรม “อิแทวอน” ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหายจำนวนมาก การเสียชีวิตจากสถานการณ์ที่มีการชุมนุมของฝูงชนจำนวนมาก (Mass gathering) หรือรวมไปถึงกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมกลุ่มกันของฝูงชน เช่น งานเฉลิมฉลองในวันสำคัญ, งานชุมนุมทางการเมืองหรือศาสนา, งานแข่งขันกีฬา รวมถึงงานคอนเสิร์ต การรวมตัวกันของฝูงชนจำนวนมากทำให้การควบคุมสถานการณ์เป็นไปได้ยากหากไม่มีการวางแผนการจัดการ (Medical action plan) และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ฝูงชนเกิดอาการตกใจ มักจะเกิดการวิ่ง เดินเบียดเสียดกัน เหยียบกันจนขาดอากาศหายใจ จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ยิ่งทำให้ควบคุมสถานการณ์เป็นไปได้ยากถ้าไม่มีระบบการจัดการที่ดี และถ้าหากเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้เราจะมีเอามีวิธีการเอาตัวรอดได้อย่างไร เราลองมาศึกษาและเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์การชุมนุมของฝูงชนจำนวนมากที่จะเกิดขึ้น

การลดความเสี่ยงจากสถานการณ์การชุมนุมของฝูงชนจำนวนมาก (reduce risk) สำหรับประชาชน
1. ตั้งสติ และพยายามทรงตัวไม่ให้ตัวเองล้ม ซึ่งอาจจะได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถูกเหยียบ

2. ยกมือทั้ง 2 ข้าง ตั้งเป็นการ์ดป้องกันบริเวณทรวงอก และพยายามหายใจ

3. ห้ามเดิน วิ่ง ยืน หรือทำตัวเองสวนกระแสของฝูงชน ให้เดินไหลตามกระแสการเดินของฝูงชน

4. พยายามอย่าให้ตัวเองอยู่ติดกำแพงผนัง เสา เพราะอาจจะทำให้ถูกดันติดอาคาร
หรือเกิดการบาดเจ็บและหายใจไม่ออก

5. ลดความเสี่ยงให้ตนเองและคนใกล้ชิด ด้วยการพยายามไม่อยู่ในในสถานที่คับแคบและมีฝูงชนเป็นจำนวนมาก และ พยายามหาสัญลักษณ์ ป้ายทางออกฉุกเฉิน “EXIT” ทุกครั้งเสมอ

6. ปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ กรณีพบผู้ประสบเหตุหมดสติ หรือหยุดหายใจ ปฏิบัติ 5 ขั้นตอน CPR ดังนี้
- สังเกตความปลอดภัยของผู้ประสบเหตุและตนเอง
- ปลุกเรียก / ตบไหล่เพื่อดูอาการตอบสนอง
- ฟังเสียงหายใจ ดูจังหวะการหายใจที่หน้าอก
- ขอความช่วยเหลือผู้อื่น หรือแจ้งเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)
- เริ่มทำ CPR

หลักการวางแผนการจัดการในเหตุการณ์ที่มีฝูงชนจำนวนมาก (สำหรับผู้จัดงาน)
1. การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) คือ การวางแผนและประเมินเหตุการณ์เพื่อการเตรียมการรับมือได้อย่างเหมาะสม

2. การติดตามและเฝ้าระวัง (Surveillance) คือ การดูแล ขั้นตอน ตรวจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าได้เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่

3. การตอบสนองเมื่อเกิดเหตุ (Response) คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร

การวางแผนการจัดการ (Medical action plan)
การวางแผนในการจัดการกับฝูงชนจำนวนมากเพื่อเป้าหมายในการป้องกันมีความสำคัญมากที่สุด และทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายและทางสุขภาพให้น้อยที่สุด ไม่เพียงแต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น ยังหมายรวมถึงผู้ควบคุมดูแล ผู้สังเกตการณ์ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นการดูแลในแต่ละขั้นตอนให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ก็เป็นส่วนสำคัญมาก จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลากหลายหน่วยงาน ดังนั้นการสื่อสารระหว่างหน่วยงานย่อมมีความสำคัญ เพื่อให้ทุกคนหรือทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เข้าใจหน้าที่บทบาทของตนและปฏิบัติได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากนั้นหลังเหตุการณ์การชุมนุมของฝูงชนจำนวนมาก อีกขั้นตอนที่มีความสำคัญคือการนำปัญหามาวิเคราะห์ ทบทวน และหาหนทางแก้ไขจะสามารถนำเราไปสู่การวางแผนที่ดีในการจัดการในครั้งถัดไปได้

โดยสรุป การลดความสูญเสียจากเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมจำนวนมาก (Mass gathering) ผู้จัดงานต้องจัดเตรียมและวางแผนเรื่องการจัดระบบบริการการแพทย์ให้ดีมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางแผน การจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยการประเมินความเสี่ยงตามความรุนแรงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุม จะทำให้การจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"



กำลังโหลดความคิดเห็น