การรถไฟแห่งประเทศไทยสำรวจความคิดเห็นชาวลพบุรี ประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการเดินรถไฟในอนาคต หลังโครงการรถไฟทางคู่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ แล้วเสร็จ ถึง 15 พ.ย.นี้ ถาม ถ้ายกเลิกสถานีเดิมจะใช้บริการสถานีใหม่หรือไม่ ควรมีขนส่งสาธารณะใดอำนวยความสะดวก และควรพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีอย่างไร
วันนี้ (29 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นต่อความต้องการในการใช้บริการสถานีรถไฟลพบุรี และสถานีรถไฟลพบุรี 2 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการเดินรถไฟในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการต่อไป โดยได้เปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่าน Google Forms ผ่าน QR Code ในเพจ "โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ" หรือ https://forms.gle/gZ9ZTAaZ5TEaiNEs7 ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 15 พ.ย. 2565
สำหรับสถานีรถไฟลพบุรี 2 ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 366 หรือถนนเลี่ยงเมืองลพบุรี บริเวณก่อนถึงแยกสนามไชย ตำบลโพลาดแก้ว อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี โดยมีระยะทางห่างจากสถานีรถไฟลพบุรี (เดิม) ประมาณ 9 กิโลเมตร โดยแบบสำรวจจะสอบถามความถี่ในการเดินทาง วัตถุประสงค์ การใช้ยานพาหนะมาใช้บริการที่สถานี
ส่วนคำถามสำคัญ คือ กรณีที่การรถไฟฯ ยกเลิกการให้บริการที่สถานีรถไฟลพบุรี (เดิม) จะเลือกไปใช้บริการสถานีรถไฟลพบุรี 2 หรือไม่ และคิดว่าควรมีบริการขนส่งสาธารณะประเภทใด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังสถานีรถไฟลพบุรี 2 โดยมีตัวเลือกได้แก่ รถสองแถวประจำทาง รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้สาธารณะ รถมินิบัส หรือ Shuttle Bus ฯลฯ
คำถามต่อมา คือ ควรมีบริการประเภทใดบริเวณสถานีรถไฟลพบุรี 2 เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ เช่น บริการลานจอดรถยนต์ บริการลานจอดรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน บริการเช่าจักรยาน สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า บริการรับฝากกระเป๋า ฯลฯ
และคำถามสุดท้าย ควรมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟลพบุรี 2 เพิ่มเติมอย่างไร นอกเหนือจากการบริการขนส่งสาธารณะ เช่น พื้นที่ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ พื้นที่สีเขียว/สวนสาธารณะ โรงแรม/โฮสเทล ตลาดนัด/ร้านค้า (Retail) ฯลฯ โดยผู้ทำแบบสำรวจ สามารถกรอกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้อีกด้วย
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีบ้านกลับ ตำบลบ้านกลับ อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี สิ้นสุดที่สถานีปากน้ำโพ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ก่อสร้างขนานไปกับทางรถไฟเดิม โดยก่อสร้างทางรถไฟจำนวน 2 ทาง ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ (ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม) เป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทาง 19 กิโลเมตร และเลี่ยงเมือง ระยะทางรวม 29 กิโลเมตร และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ (ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ) ระยะทาง 116 กิโลเมตร คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2566
โดยความก้าวหน้าโครงการ ณ เดือนกันยายน 2565 สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกะเทียม (ทางรถไฟยกระดับ) คืบหน้า 78.95% สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ คืบหน้า 74.32% และสัญญาที่ 3 งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม (ST8) คืบหน้า 25.88%