ประวัติศาสตร์ไทยในยุครัตนโกสินทร์ ถ้าไม่ปรากฏชื่อ “หมอบรัดเลย์” หรือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน คงจะเป็นไปไม่ได้ เขาเข้ามาเมืองไทยเพื่อเผยแพร่ศาสนาในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่งานในหน้าที่นี้ไม่ปรากฏชัดนัก กลับถูกจารึกชื่อไว้ในฐานะเป็นผู้นำวิทยาการแผนใหม่มาเผยแพร่ในไทย เป็นคนแรกที่ทำผ่าตัด ปลูกฝี และฉีดวัคซีน เป็นผู้นำแท่นพิมพ์เครื่องแรกเข้ามาใช้ในไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงว่าจ้างให้เขาพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการฉบับแรกที่ใช้วิธีพิมพ์ และเมื่อศึกษาภาษาไทยพออ่านออกเขียนได้ เขาก็ออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกในชื่อ “บางกอกรีคอเดอร์” หรือ “จดหมายเหตุรายวัน”
แม้เมื่อแรกออกในสมัยรัชกาลที่ ๓ บางกอกรีคอเดอร์จะขายไม่ดี ขาดทั้งคนร่วมงานและคนอ่าน ทำให้ขาดทุน และภรรยายังเสียชีวิตอย่างกะทันหัน หมอบรัดเลย์จึงหยุดออก และพาลูกกลับไปอเมริกาใน พ.ศ.๒๓๙๐ ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๙๔ ปีแรกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ หมอบรัดเลย์ก็กลับมาเมืองไทย และออกบางกอกรีคอเดอร์อีกครั้ง ครั้งนี้ทำเอาสังคมไทยสั่นสะเทือน เพราะหมอบรัดเลย์กล้าวิพากษ์วิจารณ์ข้าราชการ ขุนนาง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประพฤตินอกลู่นอกทาง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้คนอ่านที่เดือดเนื้อร้อนใจจากการถูกข่มเหงรังแกร้องทุกข์เข้ามาได้ และหมอบรัดเลย์ก็เอาเรื่องร้องทุกข์นั้นตีแผ่ออกในหน้าหนังสือพิมพ์โดยไม่กลัวข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้ได้รับความสนใจจากคนอ่านเป็นจำนวนมาก และคนที่ทำความชั่วต่างหวาดผวาไปตามกัน
เรื่องดังเรื่องหนึ่งที่มีผู้พบเห็นและเกิดความสะเทือนใจต่อผู้ได้รับเคราะห์กรรม จึงทำหนังสือร้องเรียนมาถึง บางกอกรีคอเดอร์ ซึ่งหมอบรัดเลย์นำมาตีพิมพ์ มีความว่า
“ข้าพเจ้าได้ความว่า...จีนนิ่มที่เป็นน้องเขยหลวงภาษีวิเศศ ซึ่งหลวงภาษีวิเศศให้ออกไปเป็นนายอากรเตาสุราที่เมืองสมุทรสาคร เป็นที่ขุนอินทร์อากรนั้น ได้คุมสมัคพรรคพวกในโรงเล่าประมาณ ๓๐ คนไปจับน้ำกระแช่ที่ตำบลบ้านแขวง เมืองสมุทรสงคราม...เอาคนเหล่านั้นมาจำตรวนใส่โซ่ลั่นกุญแจไว้ แต่คนที่จับมานั้นมีลูกสาวติดมาคนหนึ่ง อายุประมาณ ๑๓ ปี ๑๔ ปี พวกโรงเล่าบังอาจทำการทำการข่มเหงข่มขืน ผลัดเปลี่ยนกันมากคน หญิงนั้นร้องให้คนช่วย จีนนิ่มเป็นที่ขุนอินทร์อากร กับจีนเงียบเป็นน้องหลวงภาษีวิเศศ ที่เป็นหลงจุ๊กับคนในโรง พากันหัวเราะเยาะเย้ยเสีย...
เป็นการแสดงให้เห็นถึงความบัดสีชั่วร้าย ที่กระทำต่อผู้ที่อ่อนแอและไม่มีทางสู้อย่างป่าเถื่อนยิ่งกว่าเดรัจฉานเสียอีก ต่อหน้าต่อตาผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งแทนที่จะห้ามปราม แต่กลับหัวเราะชอบใจเห็นเป็นเรื่องสนุกสนานไป
ทั้งยังมีพ่อค้าจีนถูกพวกด่านบางไซรรีดไถ เขียนเรื่องร้องทุกข์มายังบางกอกรีคอรเดอร์ว่า
“...ข้าพเจ้าบรรทุกเข้าเปลือกล่องเรือใหญ่มาขายยังกรุงเทพ...น้ำเชี่ยวเรือหนักจอดไม่ทัน...พวกชาวด่านว่า มึงหนีด่าน กูจะเอาเงินมึง ข้าพเจ้าจีนสี จีนพา ถามว่าจะเอาเท่าไร มึงมีอยู่เท่าใดก็เอามาให้กูเถิด ข้าพเจ้าว่าไม่มี เขาก็ด่าว่าเป็นคำหยาบต่างๆไม่ควรเอามาพิมพ์...แล้วเขาเตะถีบเอาข้าพเจ้า...ข้าพเจ้ากลัวต้องจ่ายเงินสี่บาทให้เขา พวกด่านทำทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ความเดือดร้อนยากแค้นนัก...
...จีนจุ่น จีนมิง จีนหยง...(ฯลฯ) แต่พวกจีน ๑๑ ลำเหล่านี้ ผู้รักษาด่านก็ได้ทำข่มเหงชกต่อย เตะถีบทุกลำไป และผู้รักษาด่านก็บังคับให้ถ่ายแจวแลหางเสือ ที่ยื้อแย่งเอามานั้น...จีนจุนเสียค่าถ่ายเงินตำลึงสองบาท...รวมเปน ๑๒ คน ๑๒ ลำ เสียค่าไถ่เป็นเงินสิบสองตำลึง บาทสลึง และพวกรักษาด่านกระทำข่มเหงเรือจรเช่นนี้ ข้าพเจ้าเหนว่าราษฎรจะได้รับความเดือดร้อนยิ่งนัก...”
ใช่แต่เรื่องรีดไถ การฟ้องต่อสาธารณชนถึงความไม่ชอบธรรมที่ได้รับจากผู้มีอำนาจก็มี บางเรื่องก็ทำให้ระคายเคืองถึงเบื้องพระยุคลบาท เช่นกรณีของหม่อมเจ้าประเสริฏศักดิ คดโกงทรัพย์สินพ่อค้า ซึ่งคำฟ้องมีว่า
“ข้าพเจ้ามีความทุกข์ร้อนมาออกหนังสือพิมพ์เรื่องหนึ่ง ข้าพเจ้าไปค้าขาย ณ เมืองสมุทรสงคราม ข้าพเจ้าเอาม้าเขียวม้าหนึ่งไปฝากหม่อมเจ้าประเสริฏศักดิไว้...หม่อมเจ้าประเสริฏศักดิพูดบิดพริ้วไป หาคืนให้ข้าพเจ้าไม่ ข้าพเจ้าไปภบม้าของข้าพเจ้าเข้า จึงเอามาม้าของข้าพเจ้าไปขายให้กับหมื่นชำนานอยู่ในพระอินทราบดีศรีหราชรองเมือง หม่อมเจ้าประเสริฏศักดิกลับไปอายัดกับพระอินทราบดีศรีหราชรองเมือง ว่าม้าตัวนี้ของหม่อมเจ้าประเสริฏศักดิ มีผู้ร้ายลักมา พระอินทราบดีศรีหราชรองเมืองก็เอาตัวข้าพเจ้าจำตรวนขังตารางไว้ ให้ข้าพเจ้าได้รับความทุกข์ยากอยู่ถึง ๕๑ วัน พระอินทราบดีศรีหราชรองเมืองเหนว่าหม่อมเจ้าประเสรฏศักดิไม่มาสู้ความกับข้าพเจ้า จึงปล่อยตัวข้าพเจ้ามา ครั้นจะทูลเกล้าฯถวายฎีกา ก็เหนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ควรจะให้ขัดเคืองใต้ฝ่าละอองพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้ามีความคับแค้นอยู่ในใจ จึงได้มาออกหนังสือพิมพ์ ภอให้ท่านทั้งปวงทราบว่า หม่อมเจ้าประเสริฏศักดิอยู่ในราชษกุล ไม่ควรมาคดโกงให้ข้าพเจ้าสัตว์ผู้ยากได้ความเดือดร้อน ท่านทั้งหลายทราบเรื่องความนี้แล้ว ขอท่านทั้งปวงจงได้จำใส่ใจไว้ อย่าได้คบหาหม่อมเจ้าประเสริฏศักดิต่อไปอีกเลย”
อย่าว่าแต่ระดับหม่อมเจ้าเลย ขนาดพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นถาวรยศ หมอบรัดเลย์ก็ไม่เว้น บางกอกรีคอร์เดอร์ประจานความประพฤติที่มิชอบไว้ว่า
“เราผู้เป็นเจ้าของจดหมายเหตุ มีความเศร้าหมองใจ เพราะมีข่าวลือว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นถาวรบศไปเที่ยวเสวยสุรามาแทบทุกวัน...ไปเที่ยวตามโรงกุงสีโปแลโรงสุรา ขอสุราเสวยบ้าง ขอสิ่งของเล็กน้อยบ้าง คนทั้งปวงก็ไม่อาจขัดขืนได้...”
เป็นการประจานพฤติกรรมของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่ไม่เคยมีใครบังอาจกล้ากระทำ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงไม่เห็นด้วยในวิธีการร้องเรียนแบบนี้ มีพระราชดำริว่า
“...จะเชื่อฟังเอาเป็นจริงไม่ได้ ถ้าจริงแล้ว ทางที่จะว่านั้นมีอยู่คือที่โรงศาล แลร้องถวายฎีกาเปิดเผยอยู่ไม่ห้าม ทางมีอย่างนี้ไม่เดินตามทาง กลับไปลงหนังสือพิมพ์...”
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมแบบไทยๆ แต่ก่อนเป็นแค่เรื่องซุบซิบนินทา ถูกบางกอกรีคอรเดอร์ หรือ จดหมายเหตุรายวันนำมาเผยแพร่ กระจายไปทั่วเมืองในวันเดียว ทำให้คนไทยสมัยนั้นเริ่มตื่นจากความคิดเก่าๆ เข้ากับยุคเปิดประเทศรับอารยธรรมตะวันตก ถือได้ว่า หมอบรัดเลย์มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วย