"เกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์" นักการเงินการคลัง อดีตบอร์ดสภาการศึกษาฯ ตอกย้ำจุดยืนสนับสนุนการควบรวมทรู-ดีแทค มั่นใจเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศชาติ โดยเฉพาะด้านการศึกษาไทย เทคโนโลยีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ชี้เงื่อนไขเป็นความท้าทาย และเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ นักการเงินการคลัง อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง และอดีตบอร์ดสภาการศึกษาฯ แสดงความเห็นต่อการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไข ว่า ถือเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และได้พิจารณาข้อกังวลและเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจำนวน 5 ข้อนั้น เป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทรูและดีแทคในอนาคต เชื่อมั่นการควบรวมเกิดประโยชน์ต่อประเทศ เดินหน้าสนับสนุนเต็มที่
นายเกียรติชัยกล่าวว่า ในฐานะสมาชิกบอร์ดสภาการศึกษากว่า 5 ปี ตนได้ประจักษ์ถึงบทบาทอันสำคัญของเทคโนโลยีที่จะมาช่วยพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา จึงเชื่อมั่นว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทคจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และยังคงยืนยันสนับสนุนการควบรวมครั้งนี้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าการลงมติของ กสทช.ที่รับทราบและออกเงื่อนไขนั้น ถือว่าเงื่อนไขดังกล่าวได้สร้างความท้าทายให้แก่โอเปอเรเตอร์เครือข่ายโมบายล์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 และ 3 ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้
โดยเฉพาะเงื่อนไขที่กำหนดให้ทรูและดีแทคจะต้องแยกแบรนด์เป็นเวลา 3 ปีนั้น แม้จะเป็นการสกัดกั้นการสร้างแบรนด์ใหม่ ซึ่งจะทำให้ทรูและดีแทคยังไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้นำตลาดหลังการควบรวมในทันที และนอกจากนี้ยังมีข้อห้ามของ กสทช.ที่ไม่ให้บริษัทควบรวมปฏิเสธการจัดให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขทั้งหมดถือเป็นความท้าทายแก่ทรูและดีแทค เพราะวัตถุประสงค์หลักของการควบรวมคือการขับเคลื่อนให้เกิดการขยายขนาดธุรกิจ ซึ่งที่สุดแล้วผู้บริโภคควรจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ทรูและดีแทคในอนาคต ทั้ง 2 องค์กรจำเป็นต้องปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมถึงแผนการตลาดในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของ กสทช.
"หากพิจารณาอย่างรอบด้าน การควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการขยายขนาดธุรกิจ เพราะเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการโทรคมนาคมขนาดเล็กที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายการลงทุนที่สูง โดยปราศจากผลตอบแทนในการลงทุนที่ได้คืนกลับมาในทันที ซึ่งคล้ายกับแผนการควบรวมของบริษัท Celcom Axiata และ Digi ในมาเลเซีย โดยจากข้อมูลของบริษัท GSMA Intelligent พบว่าฐานลูกค้าของดีแทคมีจำนวนลดลงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จาก 28.4 ล้าน เหลือเพียง 19.3 ล้านคนในปลายเดือนกันยายน และส่วนแบ่งทางการตลาดก็ลดลงเช่นเดียวกันจาก 34 เปอร์เซ็นต์ มาเป็นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกันกับกำไรที่ลดลงต่อเนื่องถึง 5 ไตรมาส ขณะที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าการควบรวมในประเทศไทยจะส่งผลให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX ) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) รวมถึงเสถียรภาพทางการเงินและกำไรในระยะยาว ส่งผลให้บริษัทใหม่ สามารถแข่งขันกับเอไอเอสซึ่งมีการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อลงทุน 5G"
ทั้งนี้ ในรายงานผลวิจัยระดับโลก HSBC คาดการณ์ว่าการผนึกกำลังครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX ) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ได้ 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดจนเพิ่มรายได้ ในมุมของกฎระเบียบ สถาบันการเงินเชื่อว่าการควบรวมครั้งนี้จะเกิดสิ่งดีๆ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทไม่มีใครสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างเพียงพอเพื่อลงทุนด้านเครือข่าย
นอกจากนี้ นายเกียรติชัย ในฐานะที่เป็นนักการศึกษายังเห็นว่า การควบรวมบริษัทโทรคมนาคมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการศึกษา ได้แก่ (1) หนังสือดิจิทัลและแท็บเล็ต (2) การพิมพ์ 3 มิติ (3) เทคโนโลยีโลกเสมือน (4) เกมมิฟิเคชัน (Gamification) (5) เทคโนโลยีคลาวด์ (5) ปัญญาประดิษฐ์ และ (6) เทคโนโลยีโมบายล์ ซึ่งสินค้าและบริการที่หลากหลายมากกว่าเดิมของทั้ง 2 บริษัทเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำเสนอโซลูชันที่รวดเร็วกว่าในราคาที่ย่อมเยากว่าให้แก่ภาคการศึกษาไทย ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างระหว่างกลุ่มคนในสังคมในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการศึกษา เช่น ครูที่มีประสบการณ์และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม หนังสือเรียน เทคโนโลยี ตลอดจนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แก่โรงเรียน