xs
xsm
sm
md
lg

สร้างถนนในสมัย ร. ๕ ไม่ได้ห่วงแค่เรื่องรถ! ถนนไหนแคบก็ต้องขยายให้ช้างเดินสวนกันได้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



การสร้างถนนในเมืองไทยได้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อเปิดประเทศทำสัญญาการค้ากับประเทศตะวันตก จึงมีชาวยุโรปเข้ามาค้าขายในเมืองไทยมากขึ้น และถนนสายแรกก็มาจากการเรียกร้องของชาวตะวันตกนั่นเอง

ในปี ๒๔๐๐ กงสุลอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และนายห้างต่างประเทศได้ร้องว่า เรือสินค้าที่ต้องขึ้นมาถึงกรุงเทพฯนั้นเสียเวลามาก เพราะแม่น้ำคดเคี้ยวและน้ำยังไหลเชี่ยวในฤดูน้ำหลาก หากลงไปตั้งห้างแถวปากคลองพระโขนง แล้วขุดคลองลัดมาเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมจะสะดวกขึ้นมาก จึงโปรดเกล้าฯให้ ขุดคลองแยกจากจากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่าทุ่งหัวลำโพงเป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองพระโขนงที่ใกล้ปากคลอง แล้วนำดินขึ้นมาถมด้านเหนือเพียงด้านเดียว พูนดินเป็นถนนคู่ขนานกันไป เรียกกันว่า “คลองตรง” และ “ถนนตรง” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คลองหัวลำโพง” และ “ถนนหัวลำโพง” ซึ่งนับเป็นถนนสายแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานนามใหม่ให้ว่า “ถนนพระรามที่ ๔”

ส่วนถนนสายที่ ๒ ก็มาจากการเรียกร้องของชาวตะวันตกอีกเหมือนกัน ทั้งนี้เมื่อขุดคลองถนนตรงให้ตามคำขอแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีบริษัทห้างร้านของชาวตะวันตกย้ายไปอยู่ที่ปากคลองพระโขนงตามที่อ้างเลย พอมาในปี ๒๔๐๔ ก็เข้าชื่อกันร้องอีกว่า

“ชาวยุโรปเคยขี่รถ ขี่ม้า เที่ยวตากอากาศได้ตามสบาย ไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้า พากันเจ็บไข้เนืองๆ...”

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างถนนสายใหม่อีกตามคำขอ เริ่มจากคลองรอบกรุงตรงวังเจ้าเขมร หรือจากสะพานดำรงสถิตที่สามยอดในปัจจุบัน ไปเชื่อมกับถนนตรงที่คลองผดุงกรุงเกษมตรงหัวลำโพง สายหนึ่ง แล้วตัดแยกจากถนนใหม่นี้ที่เหนือวัดสามจีน (วัดไตรมิตร) ตรงไปจนตกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางคอแหลมอีกสายหนึ่ง มีความกว้าง ๕ วา หรือ ๑๐ เมตรจุดที่แยกออกเป็น ๒ สายนี้จึงเรียกกันว่า “สามแยก”

การสร้างถนนสายนี้นับเป็นถนนสายแรกที่ใช้วิทยาการตะวันตก โดยมีนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ ต้นสกุล “เศวตศิลา” ซึ่งตอนนั้นเป็นรองกงสุลอังกฤษและร่ำเรียนมาทางวิศวกรรมโยธา มาช่วยสำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังให้

เมื่อสร้างถนนสายนี้เสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้พระราชทานชื่อ จึงเรียกกันทั่วไปว่า “ถนนใหม่” ชาวตะวันตกเรียกกันว่า “นิวโรด” ต่อมาจึงพระราชทานนามว่า “ถนนเจริญกรุง”
นอกจากตัดถนนเจริญกรุงแยกเป็น ๒ สายแล้ว ยังโปรดให้ขุดคลองขวางจากบางรัก ย่านที่มีสถานทูตและชาวต่างประเทศอยู่มาก มาบรรจบกับคลองหัวลำโพงที่ศาลาแดง ทิ้งดินทางฝั่งใต้ฝั่งเดียวทำเป็นถนน เรียกกันว่า “ถนนขวาง” และ “คลองขวาง” ปัจจุบันก็คือ “ถนนสีลม” แต่คลองถูกถมเพื่อขยายถนนในปี ๒๕๐๐

ต่อจากถนนสีลมนี้แล้ว ในปี ๒๔๐๖ โปรดเกล้าฯให้ขยายถนนเดิมจากถนนสนามไชย ผ่านเสาชิงช้า ประตูผี วัดสระเกศออกไป ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อให้ช้างหลวงออกไปหากินในป่านอกเมือง พระราชทานนามใหม่ว่า “ถนนบำรุงเมือง”

ต่อมาต้นรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ.๒๔๑๓ มีพระราชดำริว่า ถนนบำรุงเมืองที่มีคนจีนและฝรั่งเข้ามาตั้งร้านค้าขายกันมาก เดิมกว้างเพียง ๖ ศอก หรือ ๓ เมตร แม้รถจะไปมาสะดวกแต่ช้างก็ต้องใช้ถนนสายนี้เดินทางเหมือนกัน จึงโปรดเกล้าฯขยายให้กว้างขึ้นเป็น ๘ ศอก เพื่อให้ช้างเดินสวนทางกันได้สะดวก

การขยายถนนบำรุงเมืองนี้นอกจากจะมีห้างร้านถูกรื้อแล้ว ที่สำคัญยังมีศาลเจ้าพ่อเสือที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ มีคนจีนนับถือกันมาก จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาโชฎึกเศรษฐี (เถียน) จัดการย้ายไปสร้างที่ใหม่ใกล้วัดมหรรณพาราม
 
พระราชทานที่ใหม่ให้ ๒ ไร่เศษและพระราชทานสร้างศาลใหม่ให้ด้วย

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ใน “ความทรงจำ” ว่า

“...พวกจีนไม่พอใจจะให้ย้าย คิดอุบายให้เจ้าเข้าคนทรงพูดจาพยากรณ์ว่า จะเกิดภัยอันตายต่างๆ จนเกิดหวาดหวั่นกันในหมู่พวกจีนในสำเพ็ง ขอแห่เจ้าเอาใจมิให้คิดร้าย ก็พระราชทานให้แห่ตามประสงค์ และเสด็จออกทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ฉันได้ตามเสด็จไปดูแห่ยังจำได้

กระบวนที่แห่นั้นเป็นแห่อย่างเจ๊ก มีธงทิวและล่อโก๊เป็นต้น แปลกแต่มีคนทรงเจ้าแต่งตัวใส่เสื้อกั๊กนุ่งกางเกงและโพกหัวสีแดง นั่งบนเก้าอี้หามมาในกระบวนสักสองสามคน บางคนเอาเข็มเหล็กแทงแก้มทะลุเข็มคาหน้ามาให้คนเห็น บางคนบันดาลให้คนหามเก้าอี้เดินโซเซไม่ตรงถนนได้ เมื่อมาถึงพระที่นั่งตรัสสั่งให้ตำรวจเข้าหามเจ้าโซเซ หามไปได้ตรงๆ คนดูก็สิ้นเลื่อมใส

เมื่อเสร็จการแห่แล้ว โปรดฯให้กรมเมืองประกาศว่า ถ้าเจ้ายังขืนพยากรณ์เหตุร้าย จะเอาผิดกับคนทรง ในไม่ช้าเจ้าเสือเข้าคนทรงอีก แต่คราวนี้ประกาศว่า ที่จะโปรดฯให้ย้ายศาลไปสร้างใหม่นั้นเป็นการดีนัก เจ้าพอใจมาก...”

การขยายถนนบำรุงเมืองครั้งนี้ จึงเป็นที่พอใจของทั้งช้างและเจ้า




กำลังโหลดความคิดเห็น