“สังคมผู้สูงอายุ” หรือ Ageing society ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นด้านสังคมที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญและให้ความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยก็กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เช่นกัน โดยพบว่าประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 นั้นมีมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด เมื่อประเทศเต็มไปด้วยประชากรผู้สูงอายุ ก็จะทำให้โครงสร้างการขับเคลื่อนประเทศมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการ และมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ เพราะหลายครั้งความสำเร็จในอนาคต มักมีจุดเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจหรือพลังสร้างสรรค์อันเล็ก ๆ ของคนบางกลุ่ม
เช่นเดียวกับ “Young Happy” หรือ “ยังแฮปปี้” ก็เป็นหนึ่งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มุ่งสร้างสังคมของผู้สูงอายุในไทยและทั่วโลก เพื่อเปลี่ยนแปลงมุมมองของสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุ จากจุดเริ่มต้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นถึงปัญหาของผู้สูงอายุจากคนในครอบครัวก่อน จนนำไปสู่การก่อตั้งธุรกิจปี 2560 และเดินหน้าต่อยอดธุรกิจเพื่อสังคม ด้วยความตั้งใจว่าสิ่งที่ทำจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างยั่งยืน โดย “ยังแฮปปี้” เป็นหนึ่งในไอเดียธุรกิจเพื่อสังคม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการเข้าร่วมโครงการ ยูธ โคแล็บ 2017 (Youth Co:Lab 2017) จากความร่วมมือของมูลนิธิซิตี้ (Citi Foundation) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียธุรกิจ และนวัตกรรมเพื่อสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยมุ่งเน้นพัฒนาให้ความรู้ ความเข้าใจ และให้คำปรึกษาแก่เยาวชนในด้านต่าง ๆ สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในสังคมโลก รวมถึงยังได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปนำเสนอธุรกิจเพื่อสังคมบนเวทีสนทนาระดับเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ยูธ โคแล็บ ซัมมิท 2019 ประเทศเวียดนาม และล่าสุด ยูธ โคแล็บ ซัมมิท 2022 ที่ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย
นายธนากร พรหมยศ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง “ยังแฮปปี้” (YoungHappy) เปิดเผยว่า สำหรับความหมายของชื่อ “YoungHappy” คือต้องการสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย โดยเรียกแบบทับศัพท์ว่า “ยังแฮปปี้” หมายถึง ยังมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นวัยอะไรก็ตามทุกคนล้วนต้องการความสุขในชีวิต โดยเฉพาผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันจากข้อมูลพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุในไทยมีจำนวนกว่า 14 ล้านคน โดยจำนวน 80% ยังเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างปกติ แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนเมือง เช่น กรุงเทพฯ กว่า 60% ประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิตใจ เช่น ความเหงา ความรู้สึกไร้ค่าไม่มีตัวตน เนื่องด้วยสภาวะแวดล้อมของครอบครัวและปัจจัยทางสังคมเมืองที่มีความแตกต่างกับสังคมต่างจังหวัด จนทำให้อาการเจ็บป่วยทางจิตใจเหล่านี้เป็นหนึ่งในต้นเหตุที่นำไปสู่อาการป่วยทางกายต่อมาของผู้สูงอายุ นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและภาระในการดูแลที่เพิ่มขึ้นต่อครอบครัว และสังคม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมผู้ก่อตั้ง มองหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสนุกสนานมีความสุขให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ดังนั้น “ยังแฮปปี้” จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ทางสังคม (Community) และเป็นชุมชนสำหรับผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิด "สนุก มีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้" ที่พร้อมเปิดกว้างต้อนรับผู้สูงวัยเข้ามายังแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ โดยมีทั้งกิจกรรมที่เป็นมิตรให้ผู้สูงวัยได้เข้าร่วม มีหลักสูตรเรียนรู้ และบทความสาระที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต มีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับผู้สูงวัย รวมถึงบริการต่าง ๆ สำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะบนช่องทางหลัก คือ แอปพลิเคชัน ยังแฮปปี้ (YoungHappy Application) รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แบ่งปันความรู้ ความสามารถทักษะ และประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมจิตอาสาและโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด "เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง" ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจมากกว่า 5 ปี ปัจจุบันชุมชน”ยังแฮปปี้” มีสมาชิกผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไปจำนวนกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งมาจาก 74 จังหวัดทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมหลากหลายรูปแบบร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนชั้นนำมากมายอย่างต่อเนื่องมากกว่า 800 กิจกรรม และในอนาคตก้าวต่อไปของ “ยังแฮปปี้” ก็ยังคงเดินหน้าเติบโตไปพร้อมกับทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ (The UN Decade of Healthy Ageing ) ปี 2564 – 2573 ผ่านการสร้างความร่วมมือ การขยายคอมมูนิตี้ การผสานความคิดระหว่างช่วงวัยที่แตกต่างกัน การพัฒนาบริการต่าง ๆ และโมเดลธุรกิจ เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืนต่อไป นายธนากร กล่าวสรุป
ด้าน วันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย และตัวแทนมูลนิธิซิตี้ ประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมูลนิธิซิตี้ ภายใต้ธนาคารซิตี้แบงก์ ที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ ยูธ โคแล็บ ตั้งแต่ปีแรก เนื่องจากเล็งเห็นถึงพลังสร้างสรรค์ ศักยภาพ และความสามารถของเยาวชนกลุ่มคนรุ่นใหม่ของไทย และเพื่อผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เส้นทางสู่ความก้าวหน้า หรือ Pathways to Progress ของมูลนิธิซิตี้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนให้มีศักยภาพเติบโตตามสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างเท่าทัน ซึ่งการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมถือเป็นอีกหนทางสำหรับคนรุ่นใหม่ในการสร้างงานให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่ชุมชนของพวกเขาต้องเผชิญ และยังสามารถขับเคลื่อนการเติบโตอย่างครอบคลุมทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่ www.citifoundation.com รวมถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการยูธ โคแล็บ (Youth Co: Lab) ผ่านเว็บไซต์ https://www.youthcolab.org/
เกี่ยวกับยูธ โคแล็บ (Youth Co: Lab)
เปิดตัวในปี พ. ศ. 2560 และเป็นโครงการที่ประกอบด้วยการเสวนาระดับประเทศ (National Dialogues) และการแข่งขันประกวดนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation Challenges) เพื่อส่งเสริมความเป็นผู้นำของเยาวชนโดยการปลูกฝังการประกอบธุรกิจของเยาวชนและนวัตกรรมทางสังคม โดยการอภิปรายระดับประเทศเป็นการเชิญผู้แทนจากภาคเอกชนและภาครัฐมาพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขที่สามารถพัฒนาการส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการเยาวชนในภูมิภาค การประกวดนวัตกรรมทางสังคมซึ่งจัดขึ้นในลักษณะเดียวกับ start-up hackathons จะช่วยให้เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการได้แสดงความสามารถด้านธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งหวังช่วยแก้ไขปัญหาสังคมหลักๆ ในโลก ในปีแรกของการร่วมมือระหว่าง มูลนิธิซิตี้และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เปิดตัวโครงการยูธ โคแล็บ (Youth Co:Lab) ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และจีน และในปัจจุบัน มีการก่อตั้งหรือพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนกว่า 72 ธุรกิจในประเทศดังกล่าว นอกจากนี้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ยังริเริ่มโครงการดังกล่าวในอีก 8 ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ มัลดีฟส์ เนปาล ศรีลังกา ภูฏาน วานูอาตู หมู่เกาะโซโลมอน ปากีสถาน และเวียดนาม Pathways to Progress เป็นแนวคิดหลักด้านการพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิซิตี้ ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานของเยาวชนทั่วโลก ด้วยความพยายามของมูลนิธิซิตี้และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงการโดยการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครซิตี้ที่อุทิศให้กับโครงการ Pathways to Progress ซึ่งโครงการนี้ได้สนับสนุนเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี เพื่อเสริมสร้างความคิดริเริ่มในการเป็นผู้ประกอบการ และการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการจากการเริ่มต้นทำงานของเยาวชนเหล่านี้
เกี่ยวกับ มูลนิธิซิตี้
มูลนิธิซิตี้ มีบทบาทในการทำงานที่ส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนทั่วโลกให้ดีขึ้น ด้วยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง การสร้างอาชีพสำหรับเยาวชน รวมถึงสร้างสภาพเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีขึ้น นอกจากการให้ความช่วยเหลือแล้ว มูลนิธิซิตี้ ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำ และความพร้อมของพนักงาน ที่สนับสนุนให้พันธกิจของบริษัทประสบความสำเร็จ และขับเคลื่อนแนวคิดความเป็นผู้นำ และนวัตกรรม ดูข้อมูลเพิ่มเติมของมูลนิธิฯ ที่ www.citifoundation.com