xs
xsm
sm
md
lg

โลกร่ำลือ...สิทธิมนุษยชนเกิดในเมืองไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช! ร.๕ ทรงเลิกทาส!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้เช่นเดียวกับหลายประเทศ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคงอยู่ในหัวใจของประชาชนที่สุดก็ว่าได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ไทยมีการปฏิรูปตัวเองมาตลอดด้วยหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เพื่อให้สอดคล้องกับเปลี่ยนแปลงของโลก

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ซึ่งเป็นยุคล่าอาณานิคม ชาติตะวันตกได้ส่งเรือปืนออก “ปล้น” ทรัพยากรของชาติที่ยังด้อยกว่าในด้านอาวุธ โดยอ้างว่าจะเข้ามาช่วยปกครองเพื่อพัฒนาให้เจริญเท่าเทียมกับตน รัชกาลที่ ๔ ทรงเปิดประเทศทำสัญญาการค้ากับนานาประเทศ รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชน เริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้า ยกเลิการลงโทษแบบน่าสยดสยอง เช่น ตอกเล็บ บีบขมับ การเฆี่ยนด้วยหวาย ด้วยหนัง มาเป็นแบบตีตรวน ขังคุก แบบตะวันตก
พระราชกรณียกิจสำคัญยิ่งที่โลกร่ำลือและจดจำ ก็คือการเลิกทาสโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ล้ำหน้าตะวันตกที่อ้างว่าเจริญกว่า แต่ต้องฆ่าฟันกันเพื่อปกป้องผลผลประโยชน์ของตัวเอง อย่างอเมริกาก็ถึงทำสงครามกลางเมืองแบ่งเป็นฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ที่มีผลประโยชน์ในเรื่องทาสต่างกัน แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้วิธีการแบบไทยๆที่ค่อยเป็นค่อยไป อะลุ่มอหล่วย ผ่อนหนักผ่อนเบาให้แก่กัน จนได้รับการถวายพระราชสมัญญา “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งหมายถึง “พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

ในวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ คือในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๗ เสด็จออก “สภารัฐมนตรี” ที่ทรงตั้งขึ้นเพื่อวางรากฐานประชาธิปไตย ทรงปรึกษาที่ประชุมด้วยเรื่อง การลดเกษียณอายุค่าตัวลูกทาส
ทรงมีพระราชดำริว่า

“...ข้าพเจ้ามีความปรารถนาว่า การสิ่งไรที่เป็นความเจริญ มีคุณแก่ราษฎร ควรจะให้เป็นไปทีละเล็กทีละน้อยตามกาลตามเวลา การสิ่งไรที่เป็นธรรมเนียมบ้านเมืองมาแต่โบราณ แต่ไม่สู้ยุติธรรม ก็อยากจะเลิกถอนเสีย แต่จะจู่โจมโหมหักเอาทีเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยตัดรอนไปทีละเล็กละน้อย พอให้เบาบางเข้าทุกที เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้การก็จะคงจะเป็นไปทีละน้อยๆ เรียบร้อยตามเวลาตามกาล บัดนี้ได้คิดเห็นว่า ลูกทาสซึ่งเกิดในเรือนเบี้ยนายเงินนั้น ในพิกัดกฎหมายเดิมต้องเป็นลูกทาส คิดตั้งแต่อายุ ๒๖ ปีถึง ๔๐ ปี เต็มค่า ๔ ตำลึง ถ้าหญิงอายุตั้งแต่ ๒๑ ปีถึง ๓๐ ปี เต็มค่า ๑๒ ตำลึง ถ้าชายอายุเกิน ๔๐ ปี ถ้าหญิงอายุเกิน ๓๐ ปี จึงให้ลดถอยค่าลงทุกปี จนอายุ ๑๐๐ ปี ชายยังมีค่าตัวตำลึงหนึ่ง หญิง ๓ บาท ยังหาขาดค่าตัวไม่ ของเดิมมีอยู่ดังนี้

ข้าพเจ้าเห็นว่า ลูกทาสซึ่งเกิดในเรือนเบี้ย ตั้งแต่ออกจากท้องพอลืมตาก็ต้องนับเป็นทาส มีค่าตัวไปจนถึงอายุ ๑๐๐ หนึ่งก็ยังไม่หมด ดูเป็นการหาความกรุณาแก่ลูกทาสไม่ ด้วยตัวเด็กที่เกิดมาไม่ได้รู้ได้เห็นสิ่งใดเลย บิดามารดาทำชั่วไปขายตัวท่านแล้วยังพาบุตรไปเป็นทาสจนสิ้นชีวิตอีกเล่า เพราะรับโทษทุกข์ของบิดามารดาเท่านั้นเอง หาควรที่จะเอาเป็นทาสตลอดชีวิตไม่ แต่ครั้งนี้จะเลิกถอนหลุดค่าตัวเสียทีเดียว ถ้านายเงินไม่มีเมตตากรุณาแก่เด็ก ก็จะไม่เอาเป็นธุระให้มารดาเลี้ยงรักษา เพราะบุตรเกิดมาไม่มีประโยชน์แก่ตน ก็จะเอามารดาไปใช้การงานของตนมิให้เลี้ยงเด็ก เด็กนั้นก็จะเป็นอันตรายตายไป เพราะนายเงินไม่มีเมตตากรุณา จึงคิดเห็นว่าถ้าไม่มีประโยชน์แก่นายเงินบ้าง นายเงินก็จะไม่มีเมตตากรุณาต่อเด็ก ถ้าจะตัดลงให้พอมีเวลาหลุดเป็นไทได้บ้าง เห็นว่าจะเป็นการดี บางทีก็จะรอดจากทาสไปได้ เด็กลูกทาสตั้งแต่ ๘ ปีไป นายได้อาศัยขอน้ำขอไฟ ควรคิดเอาอายุ ๘ ปีเป็นเต็มค่า ตั้งแต่พ้น ๘ ปีไปให้นายมีความกรุณาลดเกษียณอายุให้ลูกทาสจนถึง ๒๑ ปีเป็นสิ้นเกษียณอายุ พอจะได้ไปทันอุปสมบทและคิดทำมาหากินต่อไป ถ้าเป็นผู้หญิงจะได้มีผัวไปตามการ...”

ต่อมาในวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๗ จึงทรงประกาศ “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย” ให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุ ๒๐ ปี เมื่ออายุ ๒๑ ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ ให้มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๑ ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อบุคคลที่มีอายุมากกว่า ๒๐ ปีเป็นทาสอีก

ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๘ อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ในสมัยนั้น ก็ทรงออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.๑๒๔” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท ส่วนทาสที่ไม่ใช่ทาสในเรือนเบี้ย คือทาสที่ไม่ได้เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ก็ให้ลดค่าตัวลงเดือนละ ๔ บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๔๘ นั้น ทั้งยังมีพระราชบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับมาขายตัวเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนนายเงินใหม่ ก็ห้ามมิให้เพิ่มค่าตัวขึ้น

ในที่สุดทาสก็หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นมีคนเป็นทาสถึงราว ๑ ใน ๓ ของพลเมือง เพราะพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ต้องเป็นทาสไปด้วยตลอดชีวิต เหมือนวัวควายในคอก

วิธีการเลิกทาสแบบไทยๆ จึงทำให้โลกร่ำลือและจดจำ เพราะเป็นไปด้วยความราบรื่นและเรียบร้อย ไม่เกิดความขัดแย้งในสังคม ทั้งนี้ก็เพราะผู้นำประเทศมีความใส่ใจศึกษาปัญหา และพิจารณาอย่างรอบคอบที่จะแก้ปัญหานั้นด้วยสติปัญญา โดยมุ่งมั่นเพื่อความสุขของประชาชนและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ

ด้วยเหตุนี้สถาบันกษัตริย์ของไทยจึงยั่งยืนอย่างมั่นคงตลอดมา อยู่ในหัวใจประชาชนที่สำนึกในความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์




กำลังโหลดความคิดเห็น