แต่ไหนแต่ไรมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเมืองไทยขึ้นชื่อในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ใครอยากจะนับถือศาสนาใดก็ได้ตามใจชอบ ในสังคมก็มีคนต่างศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คบหาเป็นเพื่อนสนิทกันก็ได้แม้จะต่างศาสนากัน ถึงขั้นนอนมุ้งเดียวกันก็มาก แต่หลายประเทศแม้ถือศาสนาเดียวกันเพียงแต่ต่างนิกายก็ยังฆ่าฟันกัน ฉะนั้นเมื่อบาทหลวงของคริสต์ศาสนายกขบวนเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในตะวันออกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงรู้สึกแปลกใจมากที่ได้รับการต้อนรับจากคนไทยด้วยดี ผิดกับหลายประเทศในย่านนี้ที่แสดงอาการเป็นปฏิปักษ์ บ้างก็ถึงขับไล่ จึงเขียนรายงานไปถึงสำนักวาติกันมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าเชื่อว่าในโลกนี้ จะหาเมืองไหนที่จะมีศาสนามากอย่าง และอนุญาตให้ปฏิบัติตามศาสนานั้นๆได้ เท่ากับเมืองไทยเห็นจะหาไม่ได้แล้ว...”
เหตุนี้จึงทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงคิดว่าสมเด็จพระนารายณ์คงจะชื่นชอบศาสนาคริสต์ จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะเปลี่ยนศาสนาของพระเจ้ากรุงสยามให้ได้ เพื่อเป็นการกระเดื่องเกียรติของพระองค์ จึงทรงส่ง เชอร์วาเรีย เดอ โชมองต์ เป็นราชทูตเข้ามา โดยมีภารกิจประการเดียวคือเปลี่ยนศาสนาของสมเด็จพระนารายณ์ให้ได้ ฉะนั้นเมื่อราชทูตเข้าเฝ้าก็ปฏิบัติภารกิจนี้ทันที แต่เจ้าพระยาวิชเยนทร์แม้จะถือคริสต์แต่รู้เรื่องเมืองไทยดี ก็รู้ว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ และจะเป็นการบังอาจที่จะกราบบังคมทูลให้องค์พระมหากษัตริย์เปลี่ยนศาสนา ฉะนั้นในการเป็นล่ามจึงเบี่ยงเบนคำกราบบังคมทูลของเชอร์วาเรีย ซึ่งราชทูตฝรั่งเศสก็พอรู้ว่าวิชเยนทร์ไม่ได้แปลตามคำกราบบังคมทูลของตน จึงเปลี่ยนวิธีการใหม่ เขียนเป็นบันทึกให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงตอบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยย้ำว่า การที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แต่งตั้งให้เขาเป็นราชทูตมาในครั้งนี้ ก็ด้วยเรื่องศาสนาเท่านั้น เพื่อจะให้ทั้งสองแผ่นดินสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะไม่มีวันที่จะขาดสัมพันธไมตรีจนกว่าโลกจะดับสูญ และวิธีเดียวที่จะทำได้ก็คือ ให้พระเจ้ากรุงสยามถือศาสนาร่วมกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีบันทึกตอบราชทูตฝรั่งเศสว่า พระองค์มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทรงทราบจากจดหมายบันทึกของราชทูตและจากทางอื่นว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมีความรักใคร่พระองค์มากถึงเพียงนี้ ซึ่งเป็นการกระทำให้ชนชาวตะวันออกทั่วไปแลเห็นในพระทัยกว้างขวางของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ และทรงยินดียิ่งนักจนจะหาถ้อยคำที่จะแสดงความยินดีนั้นไม่ได้แล้ว แต่ทรงเสียพระทัยว่า การที่จะเป็นพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระองค์จะต้องเข้ารีตถือศาสนาคริสเตียนนั้น เป็นการยากนักหนา เพราะการที่จะเปลี่ยนศาสนาอันได้นับถือและเชื่อถือกันมาถึง ๒๒๒๙ ปีมาแล้วนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง จึงขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงวินิจฉัยดูว่า การที่จะเปลี่ยนศาสนาเช่นนี้เป็นการง่ายหรืออย่างไร และขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงดำริด้วยว่า ถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างดินและสร้างสิงสาราสัตว์อันมีรูปพรรณสัณฐานและนิสัยต่างๆกัน จะประสงค์ให้มนุษย์ทั้งหลายได้นับถือศาสนาอย่างเดียวกันทุกคน และให้มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในกฎหมายอันเดียวกันหมดแล้ว พระเจ้าก็คงจะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ง่ายที่สุด แต่สิงสาราสัตว์ ต้นหมากรากไม้และของทั้งปวง พระเจ้าก็ได้สร้างให้มีรูปพรรณและลักษณะต่างกันทั้งสิ้น จึงเป็นพยานให้เห็นได้ว่า การที่เกี่ยวด้วยศาสนานั้นพระเจ้าก็คงต้องการให้ถือต่างกันเหมือนกัน เพราะเหตุฉะนั้น พระองค์จะทรงยอมให้พระเป็นเจ้าได้ตัดสินในเรื่องนี้ กล่าวคือทรงยอมพระองค์และพระราชอาณาจักรให้อยู่ในโอวาทของพระเป็นเจ้า แล้วแต่พระเป็นเจ้าจะเห็นควรอย่างไร
นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาอีก ๒๗๕ ปีในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าโบดวง กษัตริย์เบลเยี่ยม ผู้ทรงเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่เคร่งครัด และเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ได้ทรงชักชวนพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นพระสหายให้เปลี่ยนศาสนาไปตามพระองค์อีก เพื่อมิตรภาพจะได้ไม่พลัดพรากเหินห่างกัน
ในหนังสือ “พระราชอารมณ์ขัน” ของ วิลาศ มณีวัต ได้ถ่ายทอดเรื่องที่ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนาเล่าไว้ว่า
เมื่อปี ๒๕๐๓ เมื่อกษัตริย์โบดวงแห่งเบลเยี่ยมได้เสด็จมาเยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะนั้น ได้ทรงชวนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายครั้งให้เปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสต์อย่างพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามถึงเหตุผลที่ทรงชักชวน พระเจ้าโบดวงก็กราบทูลว่า พระองค์รักใคร่พระเจ้าอยู่หัวมาก ไม่อยากพลัดพรากเหินห่างจากกัน แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือศาสนาคริสต์ด้วยกันเท่านั้น เพราะศาสนาคริสต์สอนว่า เมื่อคริสต์ศาสนิกชนสิ้นชีพแล้ว จะได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าชั่วนิรันดร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ปฏิเสธโดยตรง แต่ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า
“พระพุทธศาสนาก็เชิดชูสัจจะ คือความจริง สอนให้ผู้นับถือเข้าถึงความจริง และสัจจะคือความจริงนั้นย่อมมีสภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ปฏิบัติถูกทางแล้วย่อมจะเข้าถึงได้
ดังนั้น ถ้าคำสอนของศาสนาคริสต์เป็นสัจธรรม และพระผู้เป็นเจ้ามีจริง แม้พระองค์นับถือพระพุทธศาสนาก็คงจะเข้าถึงเป็นแน่ แม้ว่าจะมีผู้อื่นคั่นอยู่ระหว่างพระองค์กับพระผู้เป็นเจ้า ก็คงจะมีคนเดียว คือองค์กษัตริย์ผู้ชักชวนพระองค์เท่านั้น”
พระราชดำรัสนี้นอกจากจะแสดงถึงพระราชปฏิภาณแล้ว ยังทรงเข้าพระราชหฤทัยในศาสนาทั้งสอง และทรงแทรกเชิงพระอารมณ์ขันต่อพระสหายด้วย ทำให้กษัตริย์โบดวงที่มาชวนให้นับถือศาสนาคริสต์ กลับสนพระราชหฤทัยพระพุทธศาสนา พระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดหาหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษส่งไปถวายในโอกาสต่อมา
นี่ก็เป็นเรื่องราวใน ๒ ยุค ๒ สมัย ที่พระมหากษัตริย์ไทยถูกชักชวนให้เปลี่ยนศาสนา ซึ่งคนไทยเรารู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ไม่เพียงแต่มหาราชทั้ง ๒ พระองค์นี้