วันนี้ (17 ต.ค.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 การวางผังนโยบายระดับประเทศ กำหนดการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การประชุมเชิงปฏิบัติการภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบไปด้วย (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม) และการประชุมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ผ่านระบบ Zoom Webinar เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) วิสัยทัศน์และแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ประเทศไทย
กิจกรรมสำคัญภายในงานมีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ "Future Thailand toward 2037 : อนาคตประเทศไทยต้องรู้" เช่น Future of Connectivity, Future of Innovation, Future of Sustainability โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้มีการนำเสนอ "กรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศและภาค" โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าโครงการ พร้อมทั้งเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมในทุกภูมิภาค โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรอิสระ และภาคประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจำนวนประมาณ 900 คน ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการอย่างครอบคลุมในทุกมิติ
นายอนวัชกล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางผังนโยบายระดับประเทศตามพระราชบัญญัติการผังเมือง 2562 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศในด้านการใช้พื้นที่การพัฒนาเมืองและชนบท การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ
"ที่ผ่านมาการวางผังนโยบายระดับประเทศได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับศักยภาพปัญหาโอกาสทิศทางการพัฒนาร่างวิสัยทัศน์และแนวคิดการใช้พื้นที่ของประเทศ ซึ่งทางกรมได้นำข้อคิดเห็นจากที่ประชุมมาปรับปรุงผลการศึกษาเป็นลำดับ ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนการทำร่างกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศ กรอบนโยบายการพัฒนาภาคเพื่อให้ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืน โดยพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ กระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและบริการสังคม ส่งเสริมนวัตกรรมการพัฒนาเมืองและชนบท ดำรงรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน" รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าว
นายอนวัชกล่าวอีกว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ทุกภาคส่วนได้เห็นพ้องร่วมกันในการกำหนดวิสัยทัศน์ของผังนโยบายระดับประเทศ "เชื่อมโยงการพัฒนาทุกมิติสร้างสรรค์นวัตกรรมพร้อมรับการเติบโตอย่างยั่งยืน" ซึ่งกรมได้นำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมทั้ง 6 ภาคมาบูรณาการร่วมกับแผนการพัฒนาประเทศรายสาขาเพื่อจัดทำร่างกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศ และกรอบนโยบายการพัฒนาภาคในขั้นตอนต่อมา โดยถ่ายทอดวิสัยทัศน์เป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาลงสู่พื้นที่ อาทิ ด้านความเชื่อมโยง ได้กำหนดแนวแกนการพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค บูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐาน, ด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงกับเส้นทางการเดินทาง และขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาคและระดับโลก จัดทำระบบเมืองและชุมชนให้สมดุล เชื่อมโยงการพัฒนาเมืองและชนบทอย่างเกื้อกูลกัน, ด้านนวัตกรรม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองในพื้นที่เกษตรกรรมอุตสาหกรรม พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการผลิตและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้านความยั่งยืน กำหนดการใช้พื้นที่ประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับศักยภาพ กำหนดโชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงแหล่งมรดกที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กำหนดพื้นที่ป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศจะนำไปสู่การปฏิบัติ โดยการถ่ายทอดลงสู่การจัดทำแผนผังโครงการพัฒนาพื้นที่ทุกระดับเพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีทิศทางสู่เป้าหมายเดียวกัน
ทั้งนี้ จากการดำเนินการดังกล่าว กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับปรุงเป็นร่างผังนโยบายระดับประเทศในรายสาขาให้มีความครบถ้วน และจะนำมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง พร้อมทั้งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายและจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในปี 2566 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป