xs
xsm
sm
md
lg

นักเรียนอังกฤษคนแรกจบแค่มัธยม ยับยั้งกองเรืออังกฤษยิงถล่มกรุงเทพได้! เป็นเจ้าพระยาด้วยพระโอษฐ์ ร.๕!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ขุนนางท่านนี้ก็คือ เจ้าพระยาภาสกรณ์วงศ์ (พร บุนนาค) บุตรคนเล็กของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะท่านเกิดที่ชุมพรในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะที่บิดายังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ไปสักเลกหรือเกณฑ์ทหารที่นั่น แต่พอโตขึ้นมีคนเรียกสั้นๆว่า “พร” ท่านจึงสมัครใจที่จะมีชื่อสั้นแบบนี้

เมื่ออายุ ๖ ขวบบิดาถึงแก่พิราลัย จึงอยู่ในอุปการะของพี่ชายคนโต คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากพระอาจารย์แก้ว วัดประยุรวงศาวาส พออายุ ๑๕ มีการเปิดประเทศต้อนรับอารยธรรมตะวันตกในรัชกาลที่ ๔ ต้องการคนที่รู้ขนบธรรมเนียมของชาวยุโรปมาก พี่ชายจึงส่งท่านไปเรียนที่อังกฤษแบลคฮีท ใกล้กรุงลอนดอน แต่แค่ ๓ ปีพออ่านออก เขียนได้ พูดคล่องก็ต้องกลับมา เพราะบุตรชายคนโตของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นราชทูตไปทวีปยุโรปและไม่มีล่ามประจำตัว ท่านจึงต้องกลับมารับหน้าที่ล่าม เข้ารับราชการเป็น นายราชาณัตยานุหาร ทำหน้าที่ราชเลขานุการสำหรับเชิญกระแสรับสั่งไปเจรจากับต่างประเทศแทนหม่อมราโชทัย ซึ่งถึงอนิจกรรมในปีนั้น
 
ในขณะรับราชการเป็นนายราชาณัตฯ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยจากตำราของพระยาศรีสุนทรโวหาร(ฟัก สาลักษณ์) และตำราภาษาอังกฤษจากต่างประเทศ เป็นผู้ตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และโรงเรียนภาษาไทยในกรมทหารมหาดเล็ก

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น จมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก และในปี ๒๔๑๖ ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาภาสกรวงศ์ ขณะที่อายุเพียง ๒๒ ปี มียศทางทหารเป็นนายพันโท ราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยเป็นผู้เสนอจัดตั้งกองทหารมหาดเล็กขึ้นเป็นครั้งแรก ตามแบบอย่างกองทหารมหาดเล็กของพระเจ้ากรุงอังกฤษ ทั้งยังรับตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ด้วย ในปี ๒๔๓๕ จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการคนแรก เนื่องจากท่านนอกจากมีความรู้ภาษาอังกฤษอย่างดีแล้ว ยังแตกฉานภาษาไทยด้วย และเมื่อมีการตั้งสภารัฐมนตรีขึ้น ท่านก็เป็นผู้แปลรัฐธรรมนูญของอังกฤษขึ้นถวาย และได้รับหน้าที่เป็นเลขาธิการสภารัฐมนตรี

ในรัชการที่ ๕ นี้ ได้มีการตั้งกระทรวงทบวงกรมขึ้นเป็นครั้งแรก จัดระบบราชการขึ้นใหม่หมด พระยาภาสกรวงศ์ก็มีส่วนอย่างมากในการหาแบบแผนเหล่านี้มาถวาย

ต่อมาในปี ๒๔๓๕ มีพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งต่อมาก็คือรัชกาลที่ ๖ ตามราชประเพณีเมื่อโสกันต์แล้วพระเจ้าลูกยาเธอจะต้องเสด็จขึ้นไปบนเขาไกรลาส ที่พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บ้างบน โดยมีขุนนางระดับเจ้าพระยานำเสด็จ แต่ครั้งนี้ทรงให้พระยาภาสกรแต่งตัวเป็นเทวดาแล้วเป็นผู้นำเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งกับกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรว่า ให้เลื่อนพระยาภาสกรวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเดี๋ยวนี้
แต่หลังจากพิธีไม่นาน ในปี ๒๔๓๕ ก็เกิดกรณี ร.ศ.๑๑๒ ที่ฝรั่งเศสเอาเรือรบบุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่มีการทำพิธีประกาศแต่งตั้งพระยาภากรวงศ์เป็นเจ้าพระยา จนเหตุการณ์บ้านเมืองสงบ จึงมีพระราชโองการแต่งตั้งในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๓๘ หลังจากผ่านการโปรดเกล้าฯด้วยพระโอษฐ์มา ๓ ปีกว่า

ในปี ๒๔๒๒ ขณะที่เป็นพระยาภาสกรวงศ์ ท่านได้รับหน้าที่ทำงานสำคัญของชาติ เมื่อไทยเกิดขัดแย้งกับกงสุลอังกฤษ ความจริงก็เป็นแค่เรื่องครอบครัว เนื่องจากมิสเตอร์น็อกซ์ กงสุลอังกฤษผู้นี้เป็นอดีตครูฝึกทหารของวังหน้า และได้รับพระราชทานเมียไทยจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ลูกสาวของมิสเตอร์น็อกซ์คนหนึ่งได้แต่งงานกับพระปรีชากลการ ผู้สำเร็จวิชาวิศวกรจากสก็อตแลนด์ และได้รับหน้าที่ไปคุมเหมืองทองที่กบินทร์บุรี แต่ส่งเงินเข้าคลังไม่ครบ พระปรีชาฯยังใช้ชีวิตหรูหราในสังคมฝรั่งซึ่งล้วนเป็นนักล่าเมืองขึ้น ทั้งยังตอนแต่งงานถือเป็นลูกเขยกงสุลมหาอำนาจจึงไม่ขออนุญาตตามระเบียบปฏิบัติของราชการที่ว่า พระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางตั้งแต่ระดับคุณพระขึ้นไป จะแต่งงานกับชาวต่างประเทศ จะต้องกราบทูลให้ทรงพระกรุณาเสียก่อน อีกทั้งยังพาเมียลงเรือฮันนีมูลไปลอยลำที่หน้าพระราชวังบางปะอิน ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่โดยไม่ขึ้นไปเฝ้า ขุนนางข้าราชการทั้งหลายต่างมองว่าการกระทำของพระปรีชาฯนี้เป็นการย่ำยีเกียรติยศและของแผ่นดิน

ต่อมาพระปรีชาฯถูกร้องเรียนว่าเกณฑ์ราษฎรดำน้ำลงไปขุดต่อเพื่อสร้างท่าเรือของเหมืองทอง คนไหนดำไม่ทนก็ให้เอาถ่อกดคอไว้ไม่ให้โผล่ จนมีคนตายไปหลายคน และยังทำทารุณกับคนงานที่ทำไม่ถูกใจต่างๆนานา พระเจ้าอยู่หัวจึงให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ที่ประชุมมีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นคดีร้ายแรงจึงเรียกพระปรีชาฯให้เข้ามาแล้วจำตรวนคุมขังไว้ ทำให้มิสเตอร์น็อกซ์โกรธมาก และคิดว่าเรื่องนี้ต้องมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อยู่เบื้องหลัง เพราะขัดแย้งกับมิสเตอร์น็อกซ์มาตลอด แม้ตอนนั้นจะพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปแล้วก็ตาม จึงไปพบสมเด็จเจ้าพระยาที่บ้านและยื่นคำขาดให้ปล่อยลูกเขยของตัวทันที มิฉะนั้นจะเรียกเรือรบให้เข้ามาบอมบ์กรุงเทพฯ แล้วจะจับตัวท่านเป็นประกันจนกว่าจะปล่อยตัวลูกเขย
กงสุลอังกฤษไม่ได้ขู่แต่ปาก แต่ได้เขียนโทรเลขไปถึงกองเรืออังกฤษที่ฮ่องกง โดยฝากเรือเมล์ให้ไปส่งที่สิงคโปร์ เพราะกรุงเทพฯยังไม่มีโทรเลข เลยทำให้ข่าวนี้แพร่ไปทั่ว ก่อความแตกตื่นขึ้นทั่วเมือง มีการอพยพออกนอกเมืองกันโกลาหล คณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้มิสเตอร์น็อกซ์ฝ่ายเดียว ควรจัดคณะทูตไปเจรจากับอังกฤษโดยตรง สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงแต่งตั้งพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูต มีมีจมื่นสราภัยสฤษดิ์ (เจิม แสงชูโต) ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นอุปทูต

เมื่อไปถึงสิงคโปร์ พระยาภาสกรณ์วงศ์ได้โทรเลขไปถึงถึง พระสยามธุรพาหะ (ดี. เค. เมซัน) กงสุลกิตติมศักดิ์สยามประจำกรุงลอนดอน ให้แจ้งเรื่องกับ ลอร์ดซอลส์เบอรี เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ทราบเรื่องว่าคณะราชทูตสยามกำลังเดินทางมาพบ และขอให้ระงับการกระทำของมิสเตอร์น็อกซ์ไว้ ฉะนั้นก่อนที่คณะราชทูตสยามจะออกจากสิงคโปร์ก็ได้รับโทรเลขตอบจากพระสยามธุรพาหะว่า กระทรวงต่างประเทศอังกฤษมีคำสั่งให้เรือรบอังกฤษระงับการเดินทางเข้าน่านน้ำสยามแล้ว แต่เมื่อคณะทูตออกจากสิงคโปร์ เรือรบอังกฤษได้มาถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๓๒๒ และไม่ได้แจ้งให้กรมท่าทราบตามธรรมเนียม แต่ก็ยังไม่กล้าปฏิบัติการใดๆ

เมื่อไปถึงกรุงลอนดอน ได้พบลอร์ดซอลล์เบอรี่และได้เฝ้าควีนวิคตอเรียแต่เรื่องก็ยังเงียบหาย เพราะขณะนั้นอังกฤษกำลังมีปัญหาในอาณานิคมหลายแห่ง พระยาสยามธุรพาหะจึงใช้กำลังภายในพาคณะราชทูตสยามไปพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษที่มีความมักคุ้นกันเป็นการส่วนตัว ส.ส.อังกฤษจึงนำเรื่องนี้ตั้งเป็นกระทู้เข้าสภา ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศเรียกมิสเตอร์น็อกซ์กลับอังกฤษโดยด่วน ไม่ให้ยุ่งกับสยามอีกต่อไป

นี่ก็เป็นผลงานครั้งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของขุนนางผู้จบแค่มัธยมมาจากอังกฤษ




กำลังโหลดความคิดเห็น