xs
xsm
sm
md
lg

CEA ลุย Global OTOP 2565 วาง 15 เครือข่ายต้นแบบเชื่อมเมตาเวิร์ส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดโครงการ CEA Global OTOP 2565 พัฒนา 15 เครือข่ายชุมชนริเริ่มสู่โครงการต้นแบบ เตรียมดัน OTOP ไทยสู่ระบบเมตาเวิร์ส

ดร.โชคอนันต์ บุษราคัมภากร ผู้อำนวยการเชิงกลยุทธ์และสร้างสรรค์ โครงการ CEA Global OTOP สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดโครงการ CEA Global OTOP 2565 มีแนวคิดหลักคือ “Strategic & Creative Renewal” หรือการริเริ่มใหม่เชิงกลยุทธ์และสร้างสรรค์ ด้วยการนำ “สินทรัพย์แห่งพื้นที่-ชุมชน-คน ที่โดดเด่นเฉพาะ” (Genius Loci) มาริเริ่ม แตกหน่อและต่อยอด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดสากล โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพาณิชย์อย่างเป็นระบบ หรือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

โครงการดังกล่าว เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน จนสามารถคัดเลือก 15 กลุ่มธุรกิจจากเครือข่ายชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค เหนือ อีสาน กลางและใต้ ให้เป็น “โครงการริเริ่มต้นแบบ” ของ CEA Global OTOP 2565 ผ่านกระบวนการคัดเลือก อบรม และรับคำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญไปเรียบร้อยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นการรวมพลังของ “คนคิดใหม่” ที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนา “แก่นคุณค่า” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ประจำพื้นที่ของแต่ละชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ให้พร้อมก้าวสู่การแข่งขันของตลาดอนาคต ถือเป็นครั้งแรกที่ผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทยก้าวสู่แพลตฟอร์ม CEA's Global OTOP Metaverse รับ NFT “CEAGlobalOTOP” ไปสะสมฟรี บนแพลตฟอร์ม Opensea พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดการซื้อขายผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบ NFT ในอนาคต ซึ่งจะทำให้สินค้า OTOP ของไทยต่อยอดคุณค่าสู่ระดับสากล (Local-to-Global)

โชคอนันต์ บุษราคัมภากร
15 กลุ่มธุรกิจ ที่เป็นโครงการริเริ่มต้นแบบ ชอง CEA Global OTOP 2565 อาทิ กลุ่มกองคร้าฟต์ กลุ่มก้อนของคนรุ่นใหม่ทำงานคราฟต์ใน จ.ลำปาง รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาเมืองลำปางให้กลายพื้นที่งานคราฟต์ โดยมีการร่วมกันทำกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ ออกแบบตลาดงานคราฟต์ให้ผสานไปกับย่านเมืองเก่ากาดกองต้าใน อ. เมือง ลำปาง กลุ่ม PHRAE Gleaneco NEXT กับการทำ ไทย คราฟท์ โซดา และผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่น ๆ ใน อ.ร้องกวางและใกล้เคียง เพื่อให้แพร่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านเครื่องดื่ม กลุ่มป่าสัก NEXT กลุ่มวิสาหกิจเกษตรธรรมชาติตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน ดูแลโครงการอาหารชุมชน ส่งเสริมให้มีการผลิต แบ่งปัน และบริโภคอาหารปลอดสารเพราะรากฐาน ของตำบลป่าสัก คือ การเกษตร โดยได้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “จับมือ จัดเมือง” นำเสนอเรื่องการทำโคมจากเศษผ้ารีไซเคิลและข้าวแต๋นน้ำลำไยรูปแบบใหม่

กลุ่ม กระบี่โลคอล นำเสนอแนวคิดการท่องเที่ยวชุมชน โดยนำร่องเชื่อมโยง 4 แหล่งท่องเที่ยวชุมชน – ทุ่งหยีเพ็ง (เกาะลันตา) ไหนหนัง นาตีน และแหลมสัก ด้วยการนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน และการเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตไปด้วยกัน Arkrit’s Farm ร่วมกับ กลุ่มรักเกาะยอ สร้างคุณค่าด้วยการแร่แช่แข็ง รมควัน ให้กับปลากะพงเกาะยอ 3 น้ำ ขนาดใหญ่ ที่เลี้ยง 2 ปี ในทะเลสาบสงขลา และการนำส่วนต่าง ๆ ของปลากะพงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิด Zero Waste Model เป็นต้น

“โครงการ CEA Global OTOP ได้กล่าวถึงปรัชญาของโครงการ OTOP ไทยที่มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2544 ว่า มีหลักการคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ท้องถิ่นสามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้กลายเป็นจุดขายเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) การพึ่งพาตัวเองและความคิดสร้างสรรค์ (Self-Reliance-Creativity) และการต่อยอดคุณค่าสู่ระดับสากล (Local-to-Global)


โครงการ CEA Global OTOP ในปีนี้ เน้นเรื่องการสร้างคุณค่า (Value Creation) จากอัจฉริยะภาพของ คน-ชุมชน-พื้นที่ ด้วยแนวคิดการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยเน้นการสร้างต้นแบบเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ มีการทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การวางกลยุทธ์เพื่อการเจริญเติบโตในระยะยาว โครงการริเริ่มต้นแบบ ที่จะช่วยแก้ปัญหาชุมชนในระยะสั้น ให้ชุมชน-คนในพื้นที่สามารถทำงานร่วมกันได้ พึ่งพาตัวเองได้ และอยู่รอดได้เมื่อเจอวิกฤตต่าง ๆ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต มุ่งเน้นนำ เสน่ห์ชุมชน ทั้งวิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ศิลปะ ดนตรี แหล่งท่องเที่ยว ที่สั่งสมมาจากอดีตถึงปัจจุบัน มาใช้ในการ ริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่
ทั้ง 15 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือกในปีนั้น” ดร.โชคอนันต์ กล่าว

ดร.โชคอนันต์ กล่าวเสริมว่า สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องรู้คือ ‘แก่นคุณค่า’ ในชุมชนหรือพื้นที่ของตัวเอง เราจึงจะแนะให้เขาสามารถเชื่อมโยงโครงการริเริ่มของเขาให้ประสบผลสำเร็จได้ในมิติที่ตรงกับความต้องการของแต่ละทีม ใน 3 มิติด้วยกัน คือ แหล่งทุน (Fund) การตลาด (Fair) และการสร้างชื่อเสียง การรับรู้ (Fame) เราอยากทำให้เขาเห็นว่า เขาไม่จำเป็นต้องทำสินค้าเดิมมาเพื่อขายอย่างเดียว แต่เขาสามารถต่อยอดไปได้หลากหลายมิติ อย่างเทรนด์ในตอนนี้คือ Zero Waste การนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ หรือนวัตกรรมอัพไซคลิ่ง (Upcycling) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของห่วงโซ่คุณค่า (Circular Value Chain) เช่น รองเท้าจากเปลือกทุเรียนภูเขาไฟ DURI จาก จ.ศรีสะเกษ สวมสบายภายใต้ความยั่งยืน เป็นต้น”
จากเมื่อปีที่แล้ว โครงการ CEA Global OTOP ได้สร้างเว็บไซต์ ceaglobalotop.com เพื่อแสดงผลงานของ 10 ทีมสุดท้าย มาในปีนี้ CEA Global OTOP 2565 รู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีดิจิทัลคือพลังสำคัญที่จะทำให้ OTOP ไทยขับเคลื่อนสู่ระดับโลกได้ จึงพัฒนาเวอร์ชั่นเป็น CEA’s Global OTOP 2565 Metaverse สำหรับโชว์เคสผลิตภัณฑ์ของ 15 ทีมสุดท้ายจากโครงการริเริ่มต้นแบบ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องเมตาเวิร์ส รวมถึงการซื้อขาย NFT สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคมนี้


“เนื้อหาใน CEA’s Global OTOP 2565 Metaverse จะมีตั้งแต่การแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับ CEA Global OTOP การนำเสนอผลงานของ 10 ทีมในปีที่แล้ว และ 15 ทีมในปีนี้ รวมถึงภาพการดำเนินกิจกรรมในแต่ละภาค โดยจะมีการลิงก์เข้ากับสื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตลอดจนการจัดอีเวนต์เพื่อการพบปะพูดคุยในเมตาเวิร์สได้ด้วย ที่สำคัญ CEA’s Global OTOP 2565 Metaverse จะมีการเชื่อมโยงไปสู่การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในแพลตฟอร์ม OpenSea ซึ่งเบื้องต้นทางโครงการจะมีการแจก NFT ในชื่อ “CEAGlobalOTOP” ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและทำตามเงื่อนไขของโครงการด้วย ซึ่งเป็นสื่อใหม่ที่ทันสมัยและเข้าถึงคนได้ทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการ OTOP ไทย ได้เรียนรู้การสร้างมูลค่าของ OTOP ไทย ผ่านการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลและการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ดร.โชคอนันต์ ระบุ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://web.facebook.com/globalotop และเว็บไซต์ https://ceaglobalotop.com




กำลังโหลดความคิดเห็น