xs
xsm
sm
md
lg

อ่านวิสัยทัศน์ ‘ศ.ดร.อมร พิมานมาศ’ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและผู้ก่อตั้ง ‘TBIM’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA)  2 สมัย และผู้บุกเบิก จัดตั้งสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM)
เขามีบทบาทอย่างสำคัญ ในการก่อกำเนิดสองสมาคมหลักที่เปรียบเสมือนมันสมอง ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอย่างรอบด้าน

ก่อตั้งสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA) โดยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องมาเป็นสมัยที่ 2


อีกทั้งเป็นผู้บุกเบิกและจัดตั้งสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM) และดำรงตำแหน่งนายกสมาคม TBIM คนแรก

ในฐานะผู้บุกเบิกและจัดตั้งทั้งสองสมาคมฯ ที่กล่าวมาข้างต้น
การได้มีโอกาสสนทนา กับ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ในประเด็นต่างๆ จึงล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ที่ไม่เพียงสร้างองค์ความรู้และขยายภาคีเครือข่ายด้านวิศวกรรมและศาสตร์แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ 
รวมทั้งผลักดันให้มีการแบ่งปันองค์ความรู้กับสมาคมวิศวกรในนานาประเทศ

หากมุมมองที่มีต่อประเด็นต่างๆ ไม่ว่า การพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งอนาคต หรือโลกแห่ง ‘อารยสถาปัตย์’ (Universal Design หรือการออกแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่างๆ ให้สามารถรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน) ผ่านการทำงานเชื่อมต่อของทั้งสองสมาคมฯ ที่ก่อตั้ง ร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนก็น่าสนใจยิ่ง
รวมทั้งการเฝ้าระวังภัยอันตรายที่เกิดจากการก่อสร้างในโครงการต่างๆ

ความเห็นอันเป็นประโยชน์และให้แง่คิด ต่อกรณีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าการเวนคืนก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นนี้อาจสร้างผลกระทบในพื้นที่ย่านเมืองเก่าของเกาะรัตนโกสินทร์

กระทั่งการชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกรุงเทพฯ ที่เผชิญกับน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหามายาวนาน กระนั้นก็ยังมีหนทางป้องกัน ทั้งยกตัวอย่างว่าในต่างประเทศมีการป้องกันน้ำท่วมด้วยวิธีใด
ขณะเดียวกัน ก็เน้นย้ำในสิ่งที่สมาคมฯ ทั้งสองแห่งยึดถือเสมอมาคือการมีองค์ความรู้ที่รอบด้านและแม่นยำ เพื่อประโยชน์ 
เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA) 2 สมัย และผู้บุกเบิก จัดตั้งสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM)
ในทุกประเด็นที่กล่าวมา


ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA)  2 สมัย และผู้บุกเบิก จัดตั้งสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM)
กำเนิด 'สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA)'

ถามว่า การได้รับเลือกจากสมาชิกฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA) เป็นวาระที่ 2 มีสิ่งใดที่คุณได้วางรากฐานไว้ เมื่อครั้งเป็นนายกสมาคมฯ สมัยแรก และตั้งใจต่อยอด หรือริเริ่มใหม่ในการเป็นนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ในสมัยปัจจุบันบ้าง

ศ.ดร.อมร ตอบว่า “ผมขอย้อนกลับไปในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 1 ก่อนครับ
คือสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ มีจุดกำเนิดมาจากการหารือกัน เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้น ผมทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาวิศวกร กำกับดูแลวิศวกร 170,000 คน

"ในช่วงระยะเวลาที่ผมเป็นเลขาธิการสภาวิศวกรก็มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เช่น อาคารถล่มระหว่างการรื้อถอนหรือระหว่างการใช้งาน แล้วก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่อาจจะมีเครนร่วงหล่นลงมา อะไรทำนองนี้ครับ เราก็เลยมีกลุ่มของวิศวกรกลุ่มหนึ่ง มีความคิดว่า เรายังไม่มีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโครงสร้าง
ซึ่งเราคิดว่างานด้านโครงสร้างมีบทบาทสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน จึงมีความคิดว่าควรจะมีสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยขึ้นมา เป็นครั้งแรกเลยครับ โดยเรารวบรวมวิศวกรโครงสร้างที่มีความสนใจที่จะมาช่วยในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทย มีความปลอดภัยในด้านโครงสร้างเพื่อความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้ง ทำให้ศักยภาพงานของสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยเรานั้นทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพราะแต่ละประเทศ เขาก็มีสมาคมคล้ายๆ กัน เป็นสมาคมวิศวกรโครงสร้างเหมือนกัน แต่ประเทศไทย ยังไม่เคยมี ด้วยเหตุนี้ จึงกลายมาเป็นจุดกำเนิดของสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยในสมัยที่ 1 ครับ” ศ.ดร.อมร ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2562 แต่แน่นอนว่า 2 ปีก่อนหน้านั้น มีการพูดคุยกันแล้วว่าในกระบวนการจดทะเบียนมีรายละเอียดต่างๆ เช่นต้องมีรายชื่อสมาชิก เป็นต้น 

“ในตอนแรกของการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคม จึงจัดตั้งเป็นสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เพราะเขายังไม่ให้ใช้คำว่า ‘แห่งประเทศไทย’ ซึ่งก็เป็นมาตรฐานทั่วๆไป เมื่อก่อตั้ง สมาคมฯ แล้วพวกเราก็ได้มีการทำงาน มีการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ให้วิศวกรโครงสร้าง

“กระทั่งในยุคปัจจุบัน ผมเป็นนายกสมาคมฯ สมัยที่ 2 ก่อนหน้าการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ประมาณ 2-3 เดือน เราได้มีการขยายเครือข่ายค่อนข้างเยอะ มีสมาชิกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยในปัจจุบันราว 1,000 คน
เพราะฉะนั้น สมาชิกของเราจึงมีครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย และในที่สุด เราก็ได้ไปขอจดทะเบียน โดยเปลี่ยนชื่อจาก ‘สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย’ เป็น ‘สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย’


ซึ่งการมีชื่อเป็น ‘สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย’ ก็หมายความว่าเรามีความเป็น National Association 
นั่นหมายความว่า เราเป็นตัวแทนประเทศในเรื่องของงานวิศวกรรมโครงสร้างต่างๆ ถือว่าเป็นความสำเร็จประการที่ 1 ที่สะท้อนได้ว่า เราได้จัดตั้งสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีสมาชิกครอบคลุมทุกภูมิภาคครับ” ศ.ดร.อมร ระบุ

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA)  2 สมัย และผู้บุกเบิก จัดตั้งสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM)
ขยายบทบาทสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ เชื่อมต่อภาคีฯ ในและต่างประเทศ

นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA)
กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่วางเป้าหมายไว้ในการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ในวาระที่ 2 นั้น แน่นอนว่าต้องขยายบทบาทของสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ให้ครอบคลุมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น อาจจัดตั้งสาขาในระดับภูมิภาคของประเทศ


ทั้งนี้ สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า TSEA ย่อมาจาก (Thailand Structural Engineers Association : TSEA) จึงอยากผลักดันให้มีสาขาภูมิภาค อาจเป็น TSEA North, TSEA South เป็นต้น 
นับเป็นบทบาทแรกในสมัยที่ 2 คือการขยายไปสู่จังหวัดต่างๆ คาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นทั้งใน 4 ภูมิภาค คือ สาขาภาคเหนือ สาขาภาคใต้ สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกสาขาอาจเป็นภาคตะวันออกหรือภาคตะวันตก
และแน่นอนว่า ต้องมีการ Connect เข้ากับองค์กรแบบเดียวกันนี้ในต่างประเทศด้วย

“เนื่องจากผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ประเทศญี่ปุ่น มี Connectionกับทาง Professor ที่ญี่ปุ่น เราก็จะไป Connect กับเขา ไป Join หรือไปทำ MOU มีความร่วมมือกันเพื่อที่จะให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ กับสมาคมวิศวกรโครงสร้างในต่างประเทศ
เหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ผมตั้งใจไว้ว่าต้องทำให้สำเร็จในการเป็นนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยใน วาระที่ 2 ให้ได้ ซึ่งแต่ละวาระมี ระยะเวลา 3 ปี ในการดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 เริ่มเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2565 ก็จะไปหมดวาระวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2568 มีเวลาอีกประมาณ 2 ปีครึ่ง ผมคิดว่าเราน่าจะผลักดันเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้มากขึ้นครับ”


เมื่อได้ฟังว่าเรียนจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว จึงอดถามไม่ได้ว่า ศ.ดร.อมร จบการศึกษาคณะหรือสาขาใด จากมหาวิทยาลัยโตเกียว


ได้รับคำตอบว่า “ผมจบสาขาวิศวกรรมโยธา ทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกเลยครับ ส่วนปริญญาตรีจบวิศวกรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วผมได้ทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และปริญญาเอก ได้รับทุน ADB ครับ” ( *หมายเหตุ Asian Development Bank : ทุนการศึกษาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียร่วมกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น )

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA)  2 สมัย และผู้บุกเบิก จัดตั้งสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM)
เสาหลักแห่ง 2 สมาคมฯ พร้อมก้าวสู่ยุคสมัยแห่ง ‘อารยสถาปัตย์’


ถามว่า ในฐานะผู้บุกเบิกและจัดตั้งสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM) อีกทั้งยังดำรงนายกสมาคม TBIM คนแรก และในฐานะนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA) สมัยที่ 2 คุณมีมุมมองต่อ อารยสถาปัตย์ (Universal Design หรือการออกแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่างๆ ให้สามารถรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน) อย่างไรบ้าง

ศ.ดร.อมร กล่าวว่า “ผมต้องเล่าก่อนว่า ทั้งหมดนี้ จุดเริ่มต้นมาจากการที่ผมเป็นเลขาธิการสภาวิศวกร สมัยที่ 6 แล้วมี 2 ปัจจัยที่เป็นหลักคิดของผมคือ เรื่อง safety ความปลอดภัย เราก็ได้ไปจัดตั้งสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ขึ้นมารองรับ 
แต่ก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของการก่อสร้างอาคาร ซึ่งทุกวันนี้ มีเรื่องของ Building Information Modeling ( *หมายเหตุ : BIM หรือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวงการก่อสร้าง ) ขึ้นมา คือในอดีต เวลาเราก่อสร้างอาคารจะต้องมีแบบเป็น 2 มิติ แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงมีลักษณะของการจำลองอาคารโดยใช้ 3 มิติเลย ทำให้เรามองเห็นภาพอาคารตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง เราก็สามารถทดลองนำเฟอร์นิเจอร์เข้าไปตั้งวางได้
ทำให้การก่อสร้างในยุคต่อไปมีความเป็นดิจิตอล มากขึ้น

ผมจึงคิดว่านอกจากเราจะตั้งสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ แล้ว ก็เลยจัดตั้ง สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM) ด้วย จึงเป็นที่มาว่าในยุคนั้น ผมเป็นคนที่ก่อกำเนิดทั้ง TSEA และ TBIM และได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมคนแรกของทั้ง 2 สมาคมด้วยครับ” ศ.ดร.อมร ระบุและกล่าวเพิ่มเติมถึงมุมมองที่มีต่ออารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ว่า

“ อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design หมายถึงการออกแบบที่สนองตอบคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน คือ ลักษณะของการใช้งาน ฟังก์ชั่นต่างๆ ของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภคต่างๆ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องรองรับต่อคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ คนสูงอายุ คนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง หรือคนที่ร่างกายไม่พร้อมครับ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ประการแรก ทำอย่างไรให้คนทุกกลุ่มเกิดความสะดวกสบายในการใช้งาน

ประการที่ 2 ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน เหล่านี้ก็คือความหมายของอารยสถาปัตย์ คือคนทุกกลุ่มต้องสามารถที่จะใช้งานอาคารต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายตามสมควร ซึ่งในประเด็นนี้ คือประเด็นที่เราให้ความสำคัญควบกันเลยทั้งในส่วนของ TSEA (Thailand Structural Engineers Association ) และ TBIM (Thai Building Information Modeling Association)
เพราะว่าในเรื่องของอารยสถาปัตย์ ถ้าเรานำเอาแบบจำลองสารสนเทศอาคาร เข้ามาใช้งานก็หมายความว่าเราสามารถที่จะทดลองดูได้ว่าเมื่อทำแบบจำลองอาคาร 3 มิติขึ้นมาแล้ว ทดลองได้ครับว่าคนที่มีความสูงต่างๆ กัน หรือผู้ที่มีความพิการหรือแม้แต่ผู้ที่มีร่างกายปกติ เวลาเข้าไปใช้งานในอาคารเหล่านั้น จะสะดวกสบายต่อเค้ามั้ย เพราะเอื้อให้เราทำการทดลองในคอมพิวเตอร์ได้อยู่แล้ว ดังนั้น เราจัดตั้ง 2 สมาคมฯ นี้ขึ้นมา ก็เพื่อสิ่งเหล่านี้เลยครับ เพื่อรองรับอนาคตเลยครับ ว่าต้องนำไปสู่ Universal Design”

ถามว่า องค์ความรู้ที่คุณและทั้ง 2 องค์กรมีอยู่ สามารถเชื่อมโยง สนับสนุน ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยตระหนักในความสำคัญของอารยสถาปัตย์อย่างไรบ้าง

ศ.ดร.อมร ตอบว่า อารยสถาปัตย์ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความเชื่อมโยงกันกับทั้งงานทางวิศวกรรม และงานสถาปัตยกรรม และงานที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ทั้งในผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ต่างๆ

“อย่างที่บอกว่า TBIM (Thai Building Information Modeling Association) ที่ผมมีส่วนจัดตั้งนั้น เป็นศูนย์รวมของทุกภาคส่วนนะครับ ประกอบด้วยทั้งวิศวกร สถาปนิก และภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ เข้ามาทำงานร่วมกัน ตอนนี้ก็จะนำไปสู่เรื่องของการสร้างอุปกรณ์และเครื่องใช้ ต่างๆ นานา ที่เหมาะสมกับทุกๆ คนได้ ก็ลองทำกันอยู่ครับ กำลังทำกันอยู่และจะมีภาพออกมาให้ได้เห็นกันเรื่อยๆ ครับ
แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling : BIM) ที่เรานำมาใช้ ก็คือเพื่ออารยสถาปัตย์เลยครับ” ศ.ดร.อมร ระบุ
















‘Think tank’ แห่งองค์ความรู้

ถามว่า คุณและองค์กรหรือสมาคมฯ ทั้ง 2 แห่ง มีบุคลากรที่เปี่ยมด้วยความชำนาญในโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติและบริบทที่เกี่ยวข้อง แล้วมุมมองของคุณในปัจจุบัน มีประเด็นใดที่คุณห่วงใยหรือเฝ้าติดตามเป็นพิเศษ

ศ.ดร.อมร ตอบว่า ณ เวลานี้ ห่วงใยในเรื่องของ Structure เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่ต้องเฝ้าระมัดระวัง ดังที่สังคมมักจะเห็นว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในการก่อสร้าง ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ

“เรื่องนี้คือเรื่องที่เราเป็นห่วง แม้เราจะมีความพยายามที่จะให้ความรู้ หรือติดตามอย่างไร อุบัติเหตุก็ยังเกิดขึ้นได้
ประเด็นที่ 2 คือ การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่จะนำเข้ามา ทำอย่างไรที่เราจะทำให้เข้าไปถึงนักศึกษาและวิศวกรหมู่มากได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่เป็น 2 มิตินั้น ใช้มานานหลายสิบปีแล้ว
คราวนี้ถ้าเราจะหันไปใช้เพื่ออารยสถาปัตย์ ใช้ผ่าน BIM ( *หมายเหตุ : Building Information Modeling หรือ แบบจำลองสารสนเทศอาคาร) หมายความว่าต้องมีการเปลี่ยนวิธีการคิด เปลี่ยนรูปแบบของการทำงาน เหล่านี้เป็นภารกิจสำคัญของทั้ง 2 สมาคมฯ โดยหลักแล้วก็คือเรื่องของการให้ความรู้ หน้าที่หลักของเราคือการให้ความรู้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและให้ความรู้เพื่อที่วิศวกรและนักศึกษา จะได้มีศักยภาพในการทำงานโครงสร้างที่ปลอดภัย นี่คือหน้าที่หลักของเราครับ


"หน้าที่ในส่วนที่ 2 ก็คือการ Connect กับทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน คือ บูรณาการครับ เพราะวิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมอาคาร โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้ มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเยอะ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในวงจรเดียวกัน
มาบูรณาการแล้วก็ทำงานร่วมกัน” ศ.ดร.อมร ระบุและกล่าวเพิ่มเติม พร้อมยกตัวอย่างว่า
เช่น ในงานการก่อสร้าง ย่อมมีทั้งงานวิศวกรรม งานสถาปัตยกรรม ผู้ผลิต ผู้ใช้ ที่เกี่ยวข้อง
จึงเป็นหน้าที่ของทั้งสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA) 

และ สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM) ที่ต้องเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ นี้ เข้าด้วยกัน นับเป็นงานที่ไม่ง่าย และมีความสำคัญอย่างมาก


เป็นภารกิจของทั้ง 2 สมาคมฯ เนื่องด้วยมีกลุ่มคนที่ชำนาญทางด้านนี้ และเป็นมีผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ และสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร จึงมีลักษณะเป็นมันสมอง หรือ Think tank ขับเคลื่อนงานวิชาการและเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ
อีกทั้ง ยังต้องไป Connect กับภาครัฐ เพราะภาครัฐเป็นส่วนที่จะช่วยสนับสนุนในเรื่องของข้อกฎหมายให้เป็นไปได้ รวมถึงเรื่องงบประมาณต่างๆ


สะท้อนความเห็น การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ย่านเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์

ถามว่า กรณีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ซึ่งมีแผนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. มีหลายฝ่ายกังวลว่าการเวนคืนก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นนี้อาจสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในบริเณพื้นที่ย่านเมืองเก่าของเกาะรัตนโกสินทร์
คุณมีมุมมองหรือข้อเสนอแนะอย่างไรในประเด็นนี้


ศ.ดร.อมร กล่าวว่า ประการที่ 1 เนื่องจากว่ารถไฟฟ้าสายนี้ เป็นระยะทางค่อนข้างยาว และผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง จึงอาจมีพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ในเส้นทางที่รถไฟฟ้านี้ผ่าน การก่อสร้างหลักๆ ก็เป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ อาจจะมีผลกระทบได้มาก เพราะฉะนั้น ก่อนที่โครงการนี้จะก่อสร้างได้ ประการแรก ต้องทำการศึกษาให้รัดกุมและรอบคอบในขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่างๆ ไม่ว่า ผลกระทบในเชิงวิศวกรรม ว่าการก่อสร้างดังกล่าวนี้ จะกระทบกับอาคารหรือไม่ ถ้าคุณขุดดิน ถมดิน จะกระทบกับเสาเข็มของอาคารบ้านเรือนต่างๆ ในรอบๆ บริเวณที่มีการก่อสร้างหรือไม่

ประการที่ 2 อาจเกิดผลกระทบในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก หากมีการขุดดิน อาจทำให้น้ำใต้ดินมีการทลายของหน้าดินต่างๆ ถนนบางแห่งอาจจะทรุดตัวก็เป็นได้ อีกทั้งเรื่องของการขนส่งสิ่งก่อสร้างต่างๆ เข้าไปในพื้นที่ก็อาจส่งผลกระทบด้านการจราจร

ประการที่ 3 คือผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนด้วย ว่าการก่อสร้างต่างๆ นี้ ทำให้เกิดมลพิษ มลภาวะมากน้อยเพียงใด

และประการที่ 4 เป็นผลกระทบที่สำคัญมาก คือเรื่องความปลอดภัย ต้องมีมาตรการที่จะรองรับเรื่องความปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยง

“ผมคิดว่าจะต้องมีเอกสารเหล่านี้ออกมาให้ชัดเจน ไม่ว่าผลกระทบด้านวิศวกรรม ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขอนามัย ด้านการจราจร เราก็ต้องประเมินโดยคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ หากผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ จึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าในระหว่างการก่อสร้าง รายงานการศึกษาผลกระทบ ก็จะต้องบอกด้วยว่ามาตรการในการที่จะ Monitoring ด้วย ต้องบอกว่าทำอย่างไร เช่น อาจบอกได้ว่าทำอย่างนี้แล้วปลอดภัย แต่ต้องมีตัวชี้วัดด้วยว่าในระหว่างการก่อสร้าง ทำอย่างไร เช่น มีตัวชี้วัดความเอียงของงานขุดดินและอุโมงค์ หรือการวัดค่าฝุ่น หรือระดับน้ำใต้ดินต่างๆ นานา เพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า ปัจจัยที่เราเป็นห่วงนั้น ได้รับการติดตามหรือว่าได้รับการตรวจในระหว่างการก่อสร้าง ไม่ใช่ทำอะไรโดยที่ไม่รู้เรื่อง ไม่มีหลักการ ไม่มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง


ดังนั้น ผมมองว่าการก่อสร้างอย่างนี้ก็น่าจะทำได้ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลย แต่ว่าต้องทำอย่างมีความรู้ ทำอย่างเข้าใจ และมีการติดตาม มีการวัดผลตลอดเวลาครับ
ถ้าหากพบว่าทำไปแล้วมีผลกระทบอย่างมากในพื้นที่ใด ก็อาจต้องกำหนดเส้นทางใหม่ แทนเส้นทางเดิม”
ศ.ดร.อมร ระบุได้อย่างเห็นภาพ



ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ แก้ปัญหาน้ำท่วม สะท้อนมองกรุงเทพฯ


ถามว่า ปัจจุบัน กรุงเทพฯ เผชิญกับน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ในทัศนะของคุณ ควรมีการแก้ไขปัญหาหรือจัดการอย่างไรบ้าง 
มีวิธีใดบ้างหรือไม่ ที่เป็นการแก้ปัญหาได้อยางยั่งยืน

ศ.ดร.อมร ตอบว่า น้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ เกิดซ้ำซากและเกิดอยู่บ่อยๆ เราต่างรู้กันดีว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และเป็นทางที่น้ำไหลผ่านมา กรุงเทพฯ จึงเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมจากหลายสาเหตุ อาทิ น้ำป่าไหลหลาก น้ำทะเลหนุนขึ้นมา หรือน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่

“โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อเป็นที่ราบลุ่มต่ำ วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็คือ ใช้ระบบที่เรียกว่า ‘ระบบปิดล้อม’ ก็คือ การปิดล้อมพื้นที่ เพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้ามา เช่น เราจะเห็นว่ามีเขื่อนตามแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งใช้วิธีสูบน้ำออก หากมีปริมาณน้ำฝนตกเข้ามาในพื้นที่เยอะ นอกจากนั้น ประสิทธิภาพในการจัดการน้ำท่วมก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น

"ในมุมมองผม ก็มีทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระดับเมือง อาทิ เรื่องของผังเมือง 
หากดูในทางโครงสร้างก็อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเด็น 
ประเด็นแรกก็คือ อาคารที่เราอยู่อาศัย มีหลายแบบ มีทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านจัดสรร

ซึ่งเจ้าของโครงการ เวลาทำโครงการเขาต้องคิดว่าถ้าหากน้ำท่วมเขาจะแก้ปัญหายังไง บางโครงการเขาจะกันพื้นที่ไว้ เป็นพื้นที่บ่อหน่วงน้ำ ( * หมายเหตุ Retention Tank : บ่อสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังพื้นที่ ก่อนที่จะระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ)


"บ่อหน่วงน้ำ เป็นบ่อเก็บน้ำชั่วคราว ถ้าบ่อไม่ได้ใหญ่ วัตถุประสงค์ อาจจะไม่ได้ป้องกันน้ำท่วม แต่ช่วยได้เมื่อภายนอกโครงการ ยังมีน้ำท่วมขังที่ระบายไม่ทัน อย่างน้อยโครงการของเราก็ปล่อยน้ำไว้ในบ่อก่อน แล้วค่อยๆ ปล่อยออกไปเมื่อน้ำนอกโครงการลดระดับลง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรจะต้องคำนึงถึงในอนาคตข้างหน้า เพราะปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย
ต้องยอมรับความจริงว่าอาจมีท่วมบ้าง แต่ก็ต้องทำให้น้ำลดลงเร็วที่สุด ไม่ใช่ท่วมขังไว้นานๆ
เพราะฉะนั้น การที่เรามีบ่อหน่วงน้ำในพื้นที่ที่จัดสรร จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้


"ประเด็นที่ 2 ในอาคารสูง หรือ คอนโดมิเนียม ปัจจัยหลักๆ เลยคือ ทำอย่างไรให้ยังใช้อาคารได้แม้น้ำท่วม ผมดูการแก้ปัญหาของต่างประเทศ เขาก็มีปัญหาน้ำท่วมเยอะ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีการออกกฎหมายออกมา ทำให้อุปกรณ์ที่จะทำให้อาคารต่างๆ ยังใช้งานได้ ระบบเครื่องกล หรือเครื่องไฟฟ้าต่างๆ เขาจะไม่ให้ตั้งอยู่ที่ชั้นใต้ดินเลย ต้องยกขึ้นอยู่ที่สูง
เพื่อให้อาคารเหล่านี้ยัง Operate ได้ แม้จะเกิดน้ำท่วมก็ตามที สิ่งของใดที่จะเสียหายได้ เขาก็ใช้วัสดุที่มีความคงทน เช่นใช้กระเบื้อง แทนที่จะใช้ไม้อะไรที่จะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วม

"ดังนั้น สิ่งที่เจ้าของอาคารควรจะต้องคำนึงถึงก็คือ
1. กลุ่มบ้านจัดสรร ในพื้นที่โครงการควรจัดหาให้มีบ่อหน่วงน้ำ
2. อาคารสูง ควรยกอุปกรณ์ เครื่องจักรกลต่างๆ ในอาคาร ขึ้นไปอยู่ที่สูง
เพื่อที่อาคารจะยังบริหารงานได้ ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
ส่วนเรื่องน้ำท่วมถนนหนทางต่างๆ ผมคิดว่า ก็คงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องต้องดูแล ไม่ใช่เรื่องที่เจ้าของอาคารจะมาป้องกันอะไรได้ เขาก็ทำได้ด้วยการป้องกันในส่วนของเขาเอง
ขณะที่ในต่างประเทศ เขาแก้ปัญหาเหล่านี้ไว้ได้หมด ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ที่เผชิญกับน้ำท่วม แต่ต่างประเทศก็มีน้ำท่วม 
แต่เขาสามารถรับมือได้กับปัญหาเหล่านี้
และเขาผลักดันออกมาเป็นกฎหมายเลยครับ” ศ.ดร.อมร ระบุ




สำคัญที่สุด คือความปลอดภัยของประชาชน

คำถามสุดท้าย จากที่คุณวางเป้าหมาย ผลักดันให้เกิดสมาชิก บุคลากรสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ปัจจุบัน เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลเป็นที่น่าพอใจหรือไม่

ศ.ดร.อมร ตอบว่า “จริงๆ แล้ว เรื่องของจำนวนสมาชิกเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เรื่องของคุณภาพของคนที่เป็นสมาชิกก็สำคัญ ซึ่งสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ที่ผ่านมา เราได้สมาชิก 1,000 คน ผมว่าไม่น้อย 
แต่ประเด็นก็คือ ในปัจจุบัน ระบบ Membership ก็ส่วนหนึ่ง 
แต่เราต้องดูด้วยว่า ปัจจุบัน มีโซเชียลมีเดีย เรื่องของการทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ บางคนเขาไม่ได้เป็นสมาชิก แต่เขามีส่วนร่วมกับเรา
เช่น กิจกรรมต่างๆ การบรรยายที่เราแจ้งผ่าน เฟซบุ๊ค ผ่านไลน์ 
คนที่เห็นข้อมูลแล้วตอบสนองกับเรา เป็นระดับหลักหมื่นคน
ขณะที่สมาชิกเรามี 1,000 คน แต่ Engagement ที่เราได้จากวิศวกร ไม่ต่ำกว่าหมื่นคน หรือมากกว่านั้น

"ในขั้นต่อไป เราอยากให้เขาเข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมฯ ของเรา ภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือในการเป็นนายกสมาคมฯ สมัยที่ 2 ของผม ผมก็อยากได้สมาชิกใหม่อีกสัก 3,000 คน รวมแล้ว ถ้าเรามีสมาชิก 4,000 คน แล้วเพิ่มระดับ Engagement เป็น 20,000 คน นั่นหมายความว่าเรา ‘ต่อ’ วิศวกรโครงสร้างในสังคมไทยได้ ‘ติด’ เรียบร้อย เป็นจิ๊กซอว์แผ่นเดียวกัน

"นั่นก็หมายความว่ากิจกรรม ที่ TSEA ( สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย : Thailand Structural Engineers Association ) จัดขึ้น มีวิศวกรโครงสร้างรับรู้ อีก 20,000 คน ผมว่า จะเกิด Impact มากมายพอสมควร 
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับ เพื่อให้เขาได้รับความรู้ เนื่องจากวิศวกรรม เป็นวิชาชีพ เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ในการทำงาน 
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาได้คือได้รับความรู้ เมื่อได้รับความรู้แล้วเขาก็ไปรับงานที่จะหาเลี้ยงชีพได้ ทำได้อย่างเข้าใจและมีหลักการ
สำคัญที่สุดคือ เมื่อมีความรู้ก็จะเกิดประโยชน์ เกิดความปลอดภัยต่อสาธารณชน นี่คือเป้าหมายสุดท้ายของเราจริงๆ ครับ” ศ.ดร.อมร กล่าวทิ้งท้ายอย่างเชื่อมั่น

นับเป็นวิสัยทัศน์ที่แหลมคมและยาวไกล
โดยมีหัวใจสำคัญคือ ยึดถือความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลักไมล์ในการทำงานอยู่เสมอ
………….
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : ศ.ดร.อมร พิมานมาศ