xs
xsm
sm
md
lg

สื่อไทยติดกับดักเรตติ้ง ค่ายยักษ์แนะสร้างสมดุล คุณภาพกับเม็ดเงินโฆษณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สัมมนาสาธารณะ "คอนเทนต์คุณภาพกับโอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง" ชี้สื่อติดกับดักเรตติ้งเป็นอุปสรรคต่อคอนเทนต์คุณภาพ ผู้บริหารไทยรัฐเผยต้องสร้างสมดุล เลือกช่วงเวลาเหมาะสม ด้านที่ปรึกษา บก.ออนไลน์เดลินิวส์ ยกกรณีหนองบัวลำภู ประชาชนพร้อมช่วยกำกับดูแลตักเตือน ส่วนผู้บริหารช่องวัน 31 ระบุคอนเทนต์แบบครอบครัวไปด้วยกันได้ทั้งทีวีและ OTT

วันนี้ (8 ต.ค.) ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) หรือ ไทยพีบีเอส หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) รุ่นที่ 2 ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ "คอนเทนต์คุณภาพกับโอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง" โดยมี รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ ประธาน บยสส. รุ่นที่ 2 เป็นผู้นำเสนอโครงงาน

รศ.ดร.อรพรรณกล่าวว่า หลักสูตรนี้มีผู้เข้าร่วม 50 คน พัฒนาโครงงาน 8 กลุ่ม ใช้แนวคิดกระบวนการออกแบบ (Design Thinking) โดยสมาชิกแต่ละกลุ่มระดมความคิดเพื่อตีโจทย์ให้แตก ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีประเด็นหลักก็คือ สื่อปัจจุบันอาจจะมีคุณภาพแต่ไม่มากนัก เพราะสื่อคุณภาพไม่มีคนดู ทุกคนแข่งกันด้วยเรตติ้ง สปอนเซอร์มีเฉพาะสื่อที่มีเรตติ้งสูง ไม่มีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ มีแต่เชิงปริมาณคือเรตติ้ง เมื่อระดมความคิด วิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน จึงได้นวัตกรรมออกมา


นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ Pantip.com กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ จ.หนองบัวลำภู เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมสื่อถึงรายงานไม่สร้างสรรค์ เคยคุยกับผู้บริหารสื่อมวลชนรายหนึ่ง กล่าวว่า เคยทำรายการสร้างสรรค์แล้ว แต่ไปไม่รอดเลยเลิกทำ ซึ่งองค์กรสื่อจะรู้กันว่าข่าวที่เรตติ้งดีๆ คือข่าวอาชญากรรม ขณะที่ผู้ซื้อโฆษณามองว่าเรตติ้งคือปัจจัยสำคัญ จึงกลายเป็นกับดักเรตติ้ง แม้จะทำให้สื่ออยู่รอด แต่สังคมได้อะไรจากการที่สื่อทำคอนเทนต์ไม่มีคุณภาพออกมา

เมื่อสัมภาษณ์เชิงลึก เริ่มจากผู้บริโภคสื่อ พบว่าไม่ดูข่าวที่ไม่มีคุณภาพ แต่ดูข่าวเพราะคนเล่าข่าว ถ้าคนเล่าข่าวนำเสนอคอนเทนต์ที่ดี สังคมจะได้รับคอนเทนต์ที่ดี แต่ถ้าคนเล่าข่าวขยี้ดรามา สังคมก็อาจจะได้รับสิ่งที่เป็นดรามาไปด้วย ส่วนกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน พบว่าไม่ติดตามข่าวดรามา แต่สนใจในสิ่งที่เป็นกระแสในกลุ่มของตน เช่น เรื่องคริปโตเคอร์เรนซี แต่กลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าติดตามข่าวดรามาอยู่ ผู้บริโภคสื่อส่วนหนึ่งมองว่าดูข่าวดรามาได้ แต่ช่วยให้ประโยชน์ได้หรือไม่ ขอให้มีสาระ ได้ความรู้

ส่วนผู้ชมละคร ต้องการคอนเทนต์ที่มีคุณภาพระดับสากล เพราะมีต่างประเทศเข้ามา เช่น เกาหลี ซึ่งละครไทยสามารถตีตลาดไปยังต่างประเทศได้ ส่วนผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อคอนเทนต์ถ้าได้รับประโยชน์จากคอนเทนต์ โดยไม่สามารถหาฟรีได้จากที่อื่น และอยากสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ เช่น แฟนคลับ ด้านฝั่งผู้ผลิตข่าว พบว่าหลายองค์กรมองว่าต้องผลิตข่าวที่มีเรตติ้ง และใช้ KPI เป็นตัววัด ถือเป็นปัญหาที่เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งว่าทำไมข่าวหลายๆ ที่ต้องการสร้างเรตติ้ง

ด้านผู้จัดละครมองอีกแบบหนึ่ง คือ เรตติ้งเริ่มไม่มีความหมายในกลุ่มผู้จัดหลายราย เพราะมีช่องทางปล่อยคอนเทนต์ได้หลายทาง และเลือกโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ทำละครซีรีส์วาย ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ คนทำละครในยุคนี้ไม่ได้มองถึงความแมสในประเทศไทย แต่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในหลายประเทศ ส่วนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มีกลุ่มบนโซเชียลฯ ทำรายได้จากการขายคอนเทนต์ที่ไม่ใช่โฆษณา เช่น กลุ่มการลงทุน คริปโตเคอร์เรนซี นิยายออนไลน์ และเกมแคสเตอร์

แต่ผู้ซื้อโฆษณาบางส่วนมองว่าเรตติ้งดีแปลว่าคอนเทนต์มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ บางรายบอกว่าไม่ได้ดูเรตติ้งอย่างเดียว แต่ยังดูชื่อเสียงของสำนักข่าว และภาพลักษณ์ของผู้ประกาศข่าว ซึ่งบางคนไม่ได้แมสแต่มีคนดูเฉพาะ กลายมาเป็น 5 โครงการ เช่น The Premium คนสื่ออยู่ได้ คนดูยอมจ่าย, ข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกของผู้ชมรายการโทรทัศน์ กับแนวคิดการสร้างตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ, ธุรกิจโทรทัศน์กับการอยู่รอดท่ามกลางการเติบโตของ OTT, แอปพลิเคชันคนข่าว และนวัตกรรมข่าวมีสาระ


นายเดียว วรตั้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด หรือช่องวัน 31 กล่าวถึงธุรกิจโทรทัศน์กับการอยู่รอดท่ามกลางการเติบโตของ OTT ว่า ตนเชื่อว่าเราอยู่ในวังวนของเรตติ้ง โดยเฉพาะโทรทัศน์ ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเหลืออยู่ 7 ปี ผ่านมาแล้วครึ่งทาง ในขณะที่ OTT เติบโตแบบก้าวกระโดด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ช่วงเวลาที่เหลือจะอยู่กันยังไง ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินโฆษณา 50% ยังอยู่ที่โทรทัศน์ ส่วน OTT ยังน้อยมาก อยู่ที่ 10% และกำลังจะขึ้นเป็น 20% ระยะเวลาที่รายได้จาก OTT จะข้ามรายได้จากโทรทัศน์นั้นอีกไกล จึงจำเป็นต้องหาทางรอดในขณะที่ OTT กำลังเติบโต

ตอนนี้โทรทัศน์กับ OTT เป็นเรื่องเดียวกัน โทรทัศน์ยังอยู่ เปลี่ยนแค่อุปกรณ์เท่านั้น สตูดิโอเป็นทั้งช่อง แชนเนล และผู้จัด ซึ่งต้องส่งคอนเทนต์ไปทั้งสองช่องทางจึงจะสามารถเดินไปด้วยกันได้ สิ่งที่คำนึงก็คือ ใครที่ดูทีวี และใครที่ดู OTT ซึ่งวิธีการนำเสนอของทีวีในวันนี้ คือการออกจอเดียว แต่ดูพร้อมกันหลายคน คอนเทนต์ที่อยู่ในทีวีจึงมีคุณสมบัติที่ชัดเจน คือสามารถดูในระดับแมส (Mass) ได้ ขณะที่คอนเทนต์ใน OTT ดูจอเดียว ต่างคนต่างดู โดยธรรมชาติจะรู้ว่า คนที่เปิดทีวีเขาเปิดเป็นเพื่อน ไม่เหงา คลายเครียด แต่ขณะที่ OTT เป็นความตั้งใจที่จะดูอะไรจะเข้าไปดูสิ่งนี้ ในเวลาและพื้นที่ที่สะดวก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องรูปแบบการรับชม และรูปแบบการโฆษณาทางธุรกิจอีกด้วย คอนเทนต์ที่เหมาะกับทั้งสองแพลตฟอร์ม คือคอนเทนต์แบบครอบครัวที่จะดูด้วยกัน เรียกว่า Event Television ซึ่งผู้ชมต้องตั้งใจที่จะดูจริงๆ เช่น การแข่งขันวอลเลย์บอล การประกวดนางงาม การเฉลยหน้ากากนักร้อง ตอนจบของละคร ซึ่งต้องสร้างจุดร่วมให้เกิดการดูพร้อมกันทั้งสองแพลตฟอร์ม และเป็นรายได้ใหม่ ส่วนปัญหาที่คนทีวีจะต้องเผชิญ คือ การกำกับดูแล ตอนนี้อยู่ในกติกาที่ล้าสมัย ขณะที่ OTT ไม่มีการควบคุม แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความสมดุล ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเจรจากับผู้ที่กำกับดูแล


น.ส.อรพิน เหตระกูล ที่ปรึกษาบรรณาธิการออนไลน์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยประชาชนกลุ่มตัวอย่างเกือบ 600 คน ที่เป็นผู้รับข่าวสาร ชอบดูข่าวทุกประเภท ที่สนใจมากที่สุด คือข่าวดรามา ซึ่งมีการใส่อารมณ์ ข้อมูลและสิ่งรอบข้างที่เกินจริงมานำเสนอ ซึ่งคนดูเข้าใจว่าข่าวดรามาคืออะไร และชอบดู แต่บางอย่างก็มองว่าเกินไป แต่ก็มีข้อเสนอว่าอยากให้เสนอข่าวกดรามา แต่ผู้ผลิตจะทำอย่างไรที่จะใส่คุณภาพลงไปในข่าวมากขึ้น ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต

พร้อมกันนี้ก็มีข้อเสนอแนะให้มีระบบแจ้งเตือนคุณภาพข่าว เพื่อที่จะได้สติในการชมข่าว ส่วนคนดูข่าวก็เสนอว่าอยากได้ระบบที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลสื่อ จึงมีแนวคิดแอปพลิเคชันคนข่าว รวบรวมผู้สื่อข่าวภายใต้องค์กรวิชาชีพสื่อ ช่วยกันเผยแพร่ เสนอคอนเทนต์ และมีระบบให้ผู้ชมส่งคอมเมนต์ และตักเตือนไปยังสำนักข่าวนั้นๆ และสามารถรับเรื่องราวร้องเรียนของสื่อ ส่งไปยังสำนักข่าว หน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อ และสมาคมวิชาชีพ พร้อมระบบติดตามเรื่องร้องเรียน

จากเหตุการณ์ที่จังหวัดหนองบัวลำภู เราเห็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนออกมาเตือนสื่อ อย่าแชร์ อย่าทำอย่างนี้ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แสดงให้เห็นว่าประชาชนทุกภาคส่วนพร้อมที่จะช่วยเข้ามากำกับดูแล ตักเตือน และออกความเห็น แต่ยังไม่มีแพลตฟอร์มตรงนี้ จึงเสนอแนวคิดดังกล่าว ตนเชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง ถ้าทุกภาคส่วน เช่น สื่อมวลชน สมาคมวิชาชีพ หรือหน่วยงานราชการหันหน้าคุยกัน เปิดใจ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนว่า รู้สึกอย่างไรกับการนำเสนอ มีคอมเมนต์อะไรก็รับฟังไว้แล้วช่วยกัน เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพข่าวให้มีข่าวด้านคุณภาพ สกัดข่าวดรามาและข่าวเกินจริงน้อยลง


นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือไทยรัฐทีวี กล่าวว่า การสร้างสมดุลระหว่างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ กับคอนเทนต์เพื่อหาโฆษณา เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สื่อในบ้านเรากลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาตลอด บางอย่างเป็นเส้นบางๆ ว่าจะข้ามไปทางใด แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยอมรับว่าพวกเรายังติดกับดักเรตติ้ง เพราะฉะนั้นการสร้างสมดุลคือการเลือกคอนเทนต์กับช่วงเวลาที่เหมาะสม ณ เวลานั้น เช่น วันที่มีข่าวทั่วไป อาจมีการเลือกคอนเทนต์ให้ถูกใจฐานผู้ชม แต่บางกรณี มีเหตุที่เราเลือกที่จะยืนหยัดเคียงข้างประชาชน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ หนึ่งในจุดที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ มาจากจุดเริ่มต้นจากการได้มาซึ่งใบอนุญาต ประเทศไทยเริ่มจากการประมูล ไม่เหมือนหลายประเทศในยุโรปที่คัดเลือกแบบ Beauty Contest หรือหลายประเทศมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ชมต้องจ่าย แล้วแบ่งให้สถานีต่างๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะจะกลายเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค เมื่่อเริ่มต้นการประมูลด้วยมูลค่าสูง ทีวีกลายเป็นเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ

ส่วนการวัดคุณภาพ ทางเรายินดีที่จะผลิตหรือนำเสนอเนื้อหาในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ก็เกิดคำถามว่าคนดูต้องการอย่างนี้จริงหรือไม่ เพราะในปัจจุบันไม่ได้แข่งกันเฉพาะทีวี แต่ถูกแย่งเวลาไปออนไลน์ ซึ่งยอดวิว ยอดแชร์ ยอดไลค์ก็คือเรตติ้ง การจะนำส่งคอนเทนต์ขึ้นไปออนไลน์ ถ้าไม่มียอดวิว เม็ดเงินก็ไม่เข้าอยู่ดี ส่วนคำว่าคุณภาพ ต้องดูว่าในมุมมองของใคร ค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะตัว ถ้าคุณภาพในมุมมองนักการตลาด ก็ต้องการความคุ้มค่าที่สุดกับเงินที่จ่ายไป พออยู่ในโลกทุนนิยมก็ค่อนข้างตอบยาก

ขณะที่แนวโน้มการทำ OTT เป็นของตนเอง นายวัชรกล่าวว่า ช่องของตนจะเน้นเป็นข่าว เอาไปต่อยอดได้น้อยเพราะมีอายุสั้น แต่จะใช้ของที่มีอยู่ในมือเป็นเนื้อหาส่งขึ้นไปทางออนไลน์ กำลังคุยว่าจะทำเป็นสารคดีเชิงข่าว ตนคิดว่าการตั้ง OTT เป็นของตัวเองเป็นความท้าทายและเกิดคำถามมากมาย แต่สิ่งที่ทำได้ของผู้ผลิตเนื้อหาของไทย คือ การนำไปอยู่ใน OTT ของต่างชาติ ซึ่งต้องทำตามมาตรฐานของแต่ละแพลตฟอร์มที่วางไว้ ไทยรัฐทีวี 16-18 ชั่วโมงเป็นรายการข่าว จึงต้องนำคอนเทนต์ที่มีอยู่มาผลิตใหม่ และใส่การเล่าเรื่องที่จะหารายได้ทาง OTT ให้มากขึ้น

เมื่อถามว่า อาชีพสื่อสารมวลชนยังมีความต้องการหรือความก้าวหน้าหรือไม่ นายวัชรกล่าวว่า ยังต้องการแน่นอน ทักษะต้องเยอะขึ้น เช่น ตัดต่อวิดีโอได้ แต่อีกอย่างที่ภาคธุรกิจมองหาคุณสมบัตินี้ คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นจุดที่สำคัญมากๆ อย่างอื่นอาจจะเป็นฮาร์ดสกิล แต่ความคิดสร้างสรรค์จะค่อนข้างละเอียด ต้องอยู่กับกระบวนการความคิด เป็นจุดที่สำคัญ ถามว่ายังต้องการบุคลากรไหม ยังต้องการ แม้ว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีหรือ AI แต่เชื่อว่างานข่าวยังไงต้องใช้คน


รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้เรตติ้งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้สมรภูมิทีวี ทั้งรายการบันเทิงและรายการข่าวมีปัญหา เพราะโทรทัศน์ไทยแบ่งเป็นสองขา ทั้งทางทีวีดั้งเดิมและสตรีมมิ่ง หรือ OTT รายได้ส่วนใหญ่มาจากทีวี ส่วน OTT เป็นการผลิตซ้ำ แต่เริ่มเห็นสถิติเม็ดเงินโฆษณาไปยังออนไลน์เรื่อยๆ ขณะที่ทีวีดิจิทัลลดต่ำลงเรื่อยๆ แต่เรตติ้งเป็นตัวบ่งบอกโฆษณา ปัจจุบันมีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มาแรงกลายเป็นยูทูป ติ๊กต็อก เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกทั้งหมด การกำหนดเม็ดเงินโฆษณาก็อยู่บนแพลตฟอร์มระดับโลกด้วย

แต่ในอนาคตจะมีโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งวงการทีวีพยายามหา เช่น สปอนเซอร์ เมมเบอร์ชิป เช่น นิวยอร์กไทมส์ ที่เชิญชวนให้บอกรับสมาชิก (Subscribe) แต่ในเชิงวิชาการ สื่อไม่ได้เป็นสินค้าทั่วไป เป็นสินค้าที่กระทบต่อวิธีคิดของคน จึงเป็นหลักว่าสื่อไม่ได้เป็นตัวสะท้อนสังคม หลายครั้งสื่อต้องเป็นตะเกียงนำแสงทางด้วย ย้อนกลับไปในเหตุการณ์กราดยิง กลายเป็นว่าสังคมเป็นคนนำสื่อด้วยซ้ำไป อีกทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ สื่อเป็น Merit Goods (บริโภคแล้วเกิดประโยชน์) ถ้าคนคิดดี คนมีคุณภาพ เสพสื่อดีๆ ไปเรื่อยๆ จะช่วยยกระดับสังคม จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน และให้ในสิ่งที่ประชาชนอยากรู้

ตัวอย่างกรณีศึกษาข่าวที่มียอดเอนเกจเมนต์มากที่สุด กรณี 13 ชีวิตหมูป่า พบว่าข่าวที่เกี่ยวข้องกับสายมู (ความเชื่อ) เรตติ้งสูงมาก จะสร้างสมดุลระหว่างเรตติ้งกับคุณภาพอย่างไร ถ้าอิงแต่เรตติ้งอย่างเดียว สังคมก็จะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ หรือกรณีลุงพล ถูกสื่อมวลชนทำข่าวแบบ Agenda Setting แล้วทำให้ลุงพลกลายเป็นฮีโร่ ซึ่งสำนักข่าวที่ทำดันมีคนติดตาม หรือเวลาทำข่าวแล้วไปละเมิดพื้นที่ส่วนบุคคล ตอนนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะเกิดกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่การทำข่าวคดีที่เกาะเต่า ทูตอียูต้องมาคุยกับสำนักข่าวในประเทศไทยให้ช่วยระมัดระวังในการนำเสนอข่าว

ส่วนกรณีกราดยิง จะเห็นการทำงานข่าวและเสียงของประชาชนที่พยายามควบคุมต่างๆ เห็นการทำงานที่รวดเร็วขององค์กรที่กำกับดูแล และสำนักข่าวที่ควบคุมตัวเอง และไม่เห็นภาพอะไรที่สะเทือนใจหลุดออกมา กรณีกราดยิงต้องเลือกระหว่างเรตติ้งกับคุณภาพของข่าว เป็นเรื่องของสามัญสำนึก ซึ่งเป็นมาตรฐานจรรยาบรรณทั่วไป ที่ผ่านมามีสำนักข่าวพยายามนำเสนอข่าวให้มือกราดยิงเป็นฮีโร่ ด้วยการหาความชอบธรรมให้แก่ผู้ก่อเหตุว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งผิดหลักการทำข่าว ต้องไม่ให้ผู้ก่อเหตุเป็นฮีโร่ ต้องไม่ให้มีตัวตนในข่าว เพราะมีงานวิจัยว่าสามารถสร้างพฤติกรรมเลียนแบบได้ กลายเป็นว่าเกิดขึ้นเป็นระลอก ทำอย่างไรไม่ให้ผู้ก่อเหตุมีตัวตน ประณามและต้องไม่อธิบายเหตุผลเบื้องหลัง ไม่อย่างนั้นก็จะมีคนอื่นมองเรื่องนี้อย่างไร้เหตุผล

รศ.พิจิตรากล่าวว่า นอกจากคอนเมนต์เรียกเรตติ้งหารายได้จากโฆษณา เราสามารถหาโมเดลธุรกิจได้ อีกทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือเรตติ้งเชิงคุณภาพ สามารถเป็นทางออกได้ อีกทั้งตนเชื่อว่าสายคอนเทนต์ไทยมาถูกทาง เราแกร่งเรื่องคอนเทนต์ เช่น คอนเทนต์ข่าว คอนเทนต์ไลฟ์สด กีฬา สามารถสู้ได้ และต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ ไม่พึ่งโฆษณาอย่างเดียว โดยส่งเสริมให้อยู่รอดได้ระหว่างเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ส่วนระบบเรตติ้งที่ช่องสถานีต้องจ่ายค่าเห็นระบบเรตติ้ง ทั้งที่ให้ข้อมูล กลายเป็นว่าผูกขาดเพียงบริษัทเดียวหรือเปล่า ทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด และหาช่องทางในการโปรโมตให้สามารถอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไปสู่ดิจิทัล โปรโมตไปสู่ต่างประเทศได้

ส่วนความก้าวหน้าของอาชีพสื่อสารมวลชนนั้น มองว่า ตนสอนนิสิตผลิตออกไปเป็นนักข่าว ช่วงที่ทีวีดิจิทัลเกิดแรกๆ เป็นนักข่าวหมด แต่ผ่านมา 5 ปีออกจากวงการหมด แต่ในสายข่าวคนอยากทำก็มีเยอะ คนกระหายข่าว เพราะการเป็นนักข่าวคือฐานันดรหนึ่งที่จะเจอคนสำคัญ ได้รู้ข่าวก่อน เป็นจริตนักข่าวด้วย ถ้ามาแบบนี้ก็มีลู่ทางเป็นของตัวเอง แต่ทักษะที่สำคัญคือการมีมัลติสกิล (Multiskill) เขียนข่าวได้ ตัดต่อวิดีโอได้ ส่วนความต้องการแรงงานนั้นที่ผ่านมามีคนถามว่า ขอเด็กทำงาน ขอเด็กฝึกงาน ทำงานได้ บอกเล่าเรื่องราวได้ ทักษะเยอะขึ้น หรือสร้างแคเรียพาร์ท (Career Path) ของตัวเองโดยการเปิดช่องของตัวเองได้ สกิลนิเทศศาสตร์ยังไงก็ยังอยู่ เพียงแต่ว่าต้องตามกระบวนการดิจิทัลด้วย


นางสาลี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ในมุมมองของผู้บริโภค คอนเทนต์ปัจจุบันยังไม่มีคุณภาพสำหรับผู้บริโภค ทุกวันที่ 15 ของเดือน ข่าวที่มีมากที่สุดคือเรื่องหวย และข่าวที่ทำง่ายที่สุดคืออาชญากรรม ทำข่าวแบบดรามาแต่ไม่มีเนื้อหา เช่น ข่าวเรื่องอุบัติเหตุมีภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ไม่เคยพูดถึงว่าทำไมเกิดอุบัติเหตุ ทำไมต้องลดอุบัติเหตุ และทำไมยังมีตัวเลขอุบัติเหตุ นักข่าวทำตัวเป็นตำรวจ เหมือนทำงานแทนตำรวจ ใครหาคนผิดได้ก่อนจะเจ๋งมาก ซึ่งไม่ใช่ อยากให้หาข้อมูลถึงสาเหตุมากกว่าใครผิดใครถูก

ทั้งนี้ ตนมองว่า เราต้องการคุณภาพข่าว ซึ่งเรตติ้งกับคุณภาพไปด้วยกันได้ และมองว่าเป็นมายาคติของคนทำงาน ที่มองว่าถ้าไม่เอาใจคนดู คนดูก็จะไม่ดู ไม่มีเรตติ้ง ไม่มีเงิน ซึ่งยอมรับว่าเป็นช่องว่างระหว่างความเป็นอิสระของคนทำกับธุรกิจ ที่จะส่งผลต่อคอนเทนต์และเรตติ้ง คิดว่าคนดูต้องการคุณภาพและไปได้มากกว่านั้น แต่เราเหมือนยอมจำนน การข่าวที่ไม่ได้อยู่กับผู้สื่อข่าวด้วย ความเป็นมืออาชีพลดลง ทุกคนมีโอกาสเป็นผู้สื่อสาร สื่อมวลชนต้องทำให้เห็นว่าวิชาชีพของตนแตกต่างจากคนอื่น ต้องมีเป้าหมายเพื่ออะไร ต้องบอกว่าเป็นคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้บริโภคและสังคมให้ได้ และทำให้สนุกด้วยก็ได้

ความมีคุณภาพไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเรตติ้ง คนที่เป็นเจ้าของหรือคนทำต้องมีจุดยืนเรื่องนี้ก่อน แต่คิดว่าคอนเทนต์ที่มีคุณภาพไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขายโฆษณา ธรรมชาติของผู้บริโภคบางทีต้องการเป็นเพื่อน ต้องการทางออก ต้องการข้อมูล อย่าไปมีมายาคติว่าเรามีคุณภาพไม่ได้ แล้วโทษผู้บริโภคว่าไม่มีคุณภาพ ทางออกขณะนี้คนจำนวนหนึ่งหันไปฟังวิทยุ หรือการจ่ายเงินก็เป็นทางหนึ่ง เพื่อช่วยไม่ให้ตกอยู่ในหลุมของเรตติ้ง แม้มนุษย์ชอบของฟรีเป็นปกติ แต่ทำอย่างไรที่จะมีคนจ่ายได้ แต่ต้องทำคอนเทนต์ให้ได้เป็นระยะ คิดว่าเรื่องนี้ถึงเวลาที่จะต้องปฏิบัติการ ไม่ใช่แค่วิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ช่วยกันหาทางออก

ที่ผ่านมาสื่อมีการละเมิดสิทธิเด็กและละเมิดจริยธรรรม องค์กรผู้บริโภคได้รายงานโดยตรงไปถึงสภาฯ แต่ยังไม่ใช่ปรากฏการณ์เหมือนหนองบัวลำภู หรือผู้บริโภคอาจมองในเชิงสิทธิ คิดว่าตัวเลือกของผู้บริโภคมีไม่น้อย เช่น โฆษณาเกินเวลา ช่วงขายของไม่นับเป็นโฆษณา ซึ่งผู้บริโภคไม่มีอะไร ขอให้ตรงไปตรงมา ส่วนความก้าวหน้าของอาชีพสื่อสารมวลชนนั้น เรื่องของผู้บริโภคมีพื้นที่ทำงานเยอะมาก เช่น กฎหมายออกแบบมามีทั้งหมดเป็น 8 ด้าน เรื่องคอนเทนต์ไม่มีวันจบสิ้น ไปได้เรื่อยๆ ส่วนการเป็นผู้สื่อข่าวต้องตอบคำถามตัวเองว่าชอบไหม ใช่ตัวเราไหม ทำแล้วรู้สึกสนุกไหม และในยุคนี้ต้องการนักข่าวที่ตั้งคำถามเรื่องความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น สื่อมวลชนต้องคิดว่าทุกเรี่องลดความเหลื่อมล้ำยังไง


กำลังโหลดความคิดเห็น