xs
xsm
sm
md
lg

ระดมทุกช่องทางเยียวยา “ผู้เสียหาย” จากเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

กรณีอดีตตำรวจ ก่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู จนมีผู้เสียชีวิตถึง 36 ราย ซึ่งเป็นเด็กถึง 24 ราย จนสร้างความโศกเศร้าไปทั่วประเทศ

หลังเกิดเหตุ มีคำถามเกิดขึ้นทันทีว่า ในเหตุสะเทือนขวัญที่ผู้ก่อเหตุตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงไปแล้ว ในขณะที่มีผู้เสียหายมากมาย จะมีช่องทางในการเยียวยาต่อผู้เสียหายอย่างไรได้บ้าง

****


ช่องทางหลัก เยียวยาทางทรัพย์สิน ... กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

กระทรวงยุติธรรม มีท่าทีต่อเหตุการณ์นี้ทันที โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ประสานงานผ่านยุติธรรม จ.หนองบัวลำภู ให้รวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อเร่งดำเนินการให้ได้รับสิทธิในการเยียวยาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เสียหายจำนวนมาก และอาจรวมไปถึงทั้งชุมชน

โดยการเยียวยานี้ เป็นไปตาม “พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559)” ดำเนินการผ่าน “อนุกรรมการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทน” มีรายละเอียดดังนี้


กรณีเสียชีวิต

1. ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย จำนวน 50,000 บาท

2. ค่าจัดการศพ 20,000 บาท

3. ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท

รวมเป็นเงิน 110,000 บาท


กรณีบาดเจ็บ ความผิดต่อร่างกาย

1. ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท

2. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

3. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ไม่สามารถประกอบการงาน ไม่เกิน 1 ปี ( จ.หนองบัวลำภู วันละ 332 บาท)

4. ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น จ่ายเป็นเงินตามที่คณะอนุกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

มีรายงานว่า ในกรณีนี้ กระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้ยุติธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ในฐานะกรมคุมครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลของกลุ่มผู้เสียหายทั้งหมดโดยเร็ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนโดยเร็วเช่นกัน เพื่อให้ผ่านการอนุมัติค่าเสียหายให้เร็วที่สุด

****


ช่องทางช่วยเหลือทางกฎหมาย ... อัยการ

สั่งการให้อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เข้าไปดูแลช่วยเหลือทางกฎหมายต่อประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย

เบื้องต้น ทางอัยการ จะตรวจสอบว่า “ผู้ก่อเหตุ” ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว มีมรดกใดบ้างที่ส่งต่อให้ทายาท หากพบว่ามี ก็จะช่วยเหลือในการดำเนินการฟ้องร้องเอากองมรดกนี้มาให้ผู้เสียหายได้ เนื่องจากผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย

อีกบทบาทหนึ่ง ทางอัยการ จะทำหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำถึงสิทธิของผู้เสียหายที่จะต้องได้รับการเบียวยาจากหน่วยงานรัฐให้ครบถ้วน และจะมีบทบาทช่วยในการติดตามตรวจสอบว่าผู้เสียหายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างครบถ้วนตามสิทธิที่สมควรได้รับหรือไม่

****


ช่องทางเยียวยาทางจิตใจ ... กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีกลไกที่ช่วยให้เงินเยียวยาอยู่ด้วย ผ่าน “การให้เงินสงเคราะห์” ซึ่งจะลงพื้นที่ในวันพรุ่งนี้และดำเนินการทันที โดยทีม พม. จะสอบข้อเท็จจริงญาติผู้เสียหายเบื้องต้น ทำประวัติครอบครัว วางแผนลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ร่วมกับสำนักงานยุติธรรม จ.หนองบัวลำภู ที่จะลงไปจัดทำคำร้องขอของญาติเพื่อรับค่าสินไหมทดแทนผู้เสียหายในคดีอาญาอีกช่องทางหนึ่ง

แต่ที่สำคัญกว่า คือ ในกรณีนี้ เป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ส่งผลรุนแรงต่อสภาพจิตใจของประชาชนในพื้นที่จากการสูญเสีย จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการในการเข้าไปดูแลเป็นพิเศษอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ตั้งแต่เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.หนองบัวลำภู จะประชุมกับทีมแพทย์สุขภาพจิต ณ โรงพยาบาลนากลางเพื่อวางแผนการพื้นที่เยียวยา โดยจะแบ่งสายการลงพื้นที่ทำงานทันทีระหว่างทีมสุขภาพจิต กับ พม.

นอกจากนี้ ทาง พมจ.หนองบัวลำภู ยังจะใช้กลไกที่เรียกว่า ทีม one home (บ้านเดียวกัน) โดยประสานไปยังหน่วยงาน พม.ในจังหวัดใกล้เคียง เพื่อนำกำลังของทีม one home จากจังหวัดอื่นๆมาช่วยลงพื้นที่ดูแลผู้เสียหาย โดยประสานไปยังทีม one home หนองคาย อุดรธานี เลย ขอนแก่น นครพนม พิษณุโลก และบึงกาฬ เพื่อลงพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ พูดคุย ให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งหากพบผู้เสียหายมีอาการเครียด เสียใจ ซึมเศร้าอย่างรุนแรง มีแนวโน้มมีอาการนอนไม่หลับ หรือไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้ จะประสานกรมสุขภาพจิตทันที เพื่อดูแล รักษาอาการในเบื้องต้นและวางกลไกติดตามอาการในระยะยาว

****

ส่วนคำถามที่ว่า ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงเช่นนี้ มีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมไปจากกฎเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่

ช่องทางแรก คณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา อาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมได้

ถ้าผู้เสียหายที่เป็นผู้บาดเจ็บ ไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล หรือมีค่ารักษาพยาบาลเกินกว่าหลักเกณฑ์ มีช่องทางที่ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจสั่งการให้โรงพยาบาลสงเคราะห์ค่ารักษาได้

ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถเรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ในระดับจังหวัด เพื่อหาแนวทางเพิ่มเติมได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น