xs
xsm
sm
md
lg

สื่อดรามาทรานซิสเตอร์ ห่วงความเห็นมาก่อนข้อเท็จจริง ไม่ได้ทำหน้าที่พลังนำสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์มหาวิทยาลัยสวนดุสิตระบุ ปรากฏการณ์สื่อยุคดิจิทัลดรามากรณีนายกฯ แนะใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในพื้นที่ภัยพิบัติ ห่วงความเห็นมาก่อนข้อเท็จจริง ไม่ได้ทำหน้าที่พลังนำสังคมเหมือนในอดีต แนะต่อยอดทำข่าวเชิงสืบสวน หรือมองระยะยาวกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ออกแบบการเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติในอนาคต

วันนี้ (6 ต.ค.) จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มอบนโนบายแก้ปัญหาน้ำท่วม หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารแจ้งข้อมูลในสถานการณ์ภัยพิบัติ อาจต้องไปใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชนอีกทาง ซึ่งเคยใช้กันเมื่อปี 2554 หลังการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนยุคดิจิทัล กลายเป็นดรามาในโซเชียลฯ นั้น

ผศ.ดร.วรัตต์ อินทสระ อาจารย์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงกรณีนี้ว่า หลายปีก่อน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอข่าว จนวิธีการนำเสนอข่าวในยุคนั้นได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างมาก วิธีการดังกล่าวคือ นำเสนอข่าวจากข้อมูลจริงผสานไปกับความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ อย่างกลมกลืนแนบเนียน ภาพและข่าวที่ปรากฏในยุคนั้นจะไม่ละทิ้งกระบวนการบรรณาธิการข่าว ที่ต้องทำอย่างมืออาชีพ การผสานการวิเคราะห์ (Analyze) มิได้หมายถึงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ประกาศข่าว (Opinion) วิธีการนำเสนอในยุคนั้น ทำให้สื่อมวลชนทางโทรทัศน์นำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีมากเกินความจำเป็น จนผู้บริโภคข่าวสารสังเกตได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับวิธีการใหม่ภายในระยะเวลาไม่นาน

"การวิเคราะห์ข่าวค่อยๆ จางลงไป เพราะผู้ประกาศข่าวเริ่มเติม เสริม แต่ง ใส่ความคิดเห็น และอารมณ์ของตัวเองลงไปในข่าวอย่างเต็มที่ การบรรณาธิการข่าวก็หมดไป เพราะการสื่อสารมวลชนในโลกยุคดิจิทัล มุ่งเน้นที่ความรวดเร็วมากกว่าข้อเท็จจริง ผู้ประกาศข่าวไม่ได้มีบทบาทของการเป็นผู้หาข่าวเหมือนในอดีต ที่ต้องทำความเข้าใจข่าว วิเคราะห์ข่าวด้วยตนเองอีกต่อไป แต่ทำหน้าที่เพียงอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ใช้ภาพจากสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติ๊กต็อกจากประชาชนทั่วไป สังคมข่าวในยุคนี้จึงกลายเป็น Virtual reality (ความจริงแฝง) ที่คนอ่านข่าวจะส่งสารสำเร็จรูป ผสมกับมุมมองและความคิดเห็นส่วนตัวของตนเอง อาจจะมีบ้างที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการทำข่าวไว้ ด้วยการเกาะติดกับแหล่งข่าว เช่น นักการเมืองและศูนย์อำนาจ ข่าวจึงอาจจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้หากมีแหล่งข่าวเพียงเท่านี้" ผศ.ดร.วรัตต์กล่าว

ผศ.ดร.วรัตต์กล่าวว่า เมื่อความรวดเร็วของการนำเสนอนำหน้าข้อเท็จจริง ข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Reporting) จึงค่อยๆ หายไป โดยธรรมชาติของ Investigative Reporting ต้องใช้เวลา และใช้ทรัพยากรจำนวนมาก แต่ก็เป็นประโยชน์คุ้มค่าต่อสาธารณะมากเช่นกัน ที่สำคัญคือการทำข่าวเชิงสืบสวน คือลักษณะการทำงานที่จะพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนและส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันเราจึงพบว่าประเด็นข่าวที่พบในแต่ละวัน พวกเรากำลังดูความเป็น แฟนตาซีในห้องข่าว (Fantasy Lab) จากคนอ่านข่าวที่ไม่ได้เป็นแม่แบบให้สังคมเหมือนสื่อสารมวลชนยุคก่อน จริยธรรมสื่อ ที่เป็นหลักการพื้นฐานว่า ข่าวคือข้อเท็จจริง ที่ต้องปราศจากความคิดเห็น ก็ขาดหายตามไป

ผศ.ดร.วรัตต์ อินทสระ
ทั้งนี้ กรณีนายกฯ แนะนำให้ใช้การสื่อสารด้วยวิทยุทรานซิสเตอร์ในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดพื้นที่ภัยพิบัติ ถือเป็นตัวอย่างการทำข่าวหนึ่งเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้เห็นภาพของพลังอำนาจสื่อสารมวลชนในการนำสังคม ทั้งที่ต้องย้ำว่า “ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดพื้นที่ภัยพิบัติ” กรณีนี้ หากเป็นการทำข่าวของสื่อสารมวลชน ในฐานะองค์กรที่จะนำสังคม สิ่งที่จะถูกนำมาหารือบนโต๊ะข่าว คือ 1. หาข้อมูลรูปแบบการใช้งานทรานซิสเตอร์ในภาวะวิกฤต โดยสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ

2. หาข้อมูลการทำงานของระบบทรานซิสเตอร์ สัมภาษณ์นักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ 3. หากระบบการสื่อสารออนไลน์ ไม่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ หรือยาวนาน ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ประเด็นนี้ควรสัมภาษณ์เทคนิคคอลสตาฟของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ รวมข้อมูลทั้ง 3 ประเด็น แล้วทำเป็นสกู๊ปข่าว ขณะที่ภาครัฐยังสามารถทำงานแบบโปรแอ็กทีฟ โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีทรานซิสเตอร์ ทดลองรับข่าวสารจากคลื่นที่ภาครัฐจะทดลองส่งข่าวสารไปให้

"หากมองไปถึงการเตรียมการในระยะยาว สื่อมวลชนอาจจะเป็นองค์กรที่กระตุ้นให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วยนำเสนอแนวทาง หรือออกแบบสื่อการเรียนรู้ เช่น การกำหนดรูปแบบสถานการณ์จริงและบทบาทสมมติ ให้เด็กๆ ในชั้นประถมและมัธยมศึกษา มีวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ความรู้ที่ได้ในห้องเรียนครูผู้สอนสามารถมอบหมายงาน (Assignment) ให้นักเรียนกลับไปมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวได้อีกต่อหนึ่ง" ผศ.ดร.วรัตต์กล่าว

ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมในระยะยาวลักษณะนี้ ต้องใช้องค์ความรู้ของการศึกษาปฐมวัย นิเทศศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บูรณาการศาสตร์ร่วมกัน จนเกิดเป็นสื่อสารเรียนรู้สำหรับเด็กกลุ่มเป้าหมาย นักศึกษาลงพื้นที่เป็นจิตอาสาให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ทำเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ขยายผลการเรียนรู้เรื่องวิธีการเอาตัวรอดในสถานการณ์ภัยพิบัติประเภทต่างๆ แล้วนำบรรจุไว้ในรายวิชาลูกเสือ เนตรนารี

ในตอนท้าย ผศ.ดร.วรัตต์กล่าวว่า สื่อมวลชนในยุคดิจิทัล ที่เน้นแต่ความรวดเร็ว นำเสนอความจริงสำเร็จรูป ผ่านการใส่ความคิดเห็นของผู้อ่านลงไปในข่าว ทำให้สื่อมวลชนถูกมองว่าไม่ได้ทำหน้าที่สื่อที่เคยมีพลังนำสังคมเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่หายไป ลองพิจารณาประโยชน์ของประชาชนที่ควรได้รับจากสื่อสารมวลชนจากกรณีศึกษานี้ พลังของสื่อจะครองอำนาจเป็นองค์กรที่นำสังคมได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น