xs
xsm
sm
md
lg

ลูกเลี้ยง ร.๔ หอบย่ามตามธุดงค์ตั้งแต่ ๑๒ ขวบ ได้เป็นราชทูต! สมัย ร.๕ เป็นแม่ทัพ - หัวหน้าคณะรัฐมนตรี!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค


เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง
ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส ทรงรับอุปการะเด็กชายคนหนึ่งอายุ ๑๒ ขวบไว้ มีชื่อว่า “วันเพ็ญ” เพราะเกิดในวันเพ็ญ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๖๔ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเรียกว่า “พ่อเพ็ง” เลยกลายเป็น “เพ็ง” ไป บิดาคือหลวงจินดาพิจิตร พนักงานรักษาพระคัมภีร์หลวง นำมาถวายตัว แต่ไม่ใช่รับไว้ในฐานะ “เด็กวัด” ทรงอุปการะเลี้ยงดูในฐานะ “บุตรบุญธรรม” เมื่อเสด็จจาริกธุดงค์ไปทั่วประเทศ เพ็งก็สะพายย่ามตามหลังไปด้วย และติดตามจนทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ
 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ ปีก่อนจะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ ตอนนั้นเพ็งก็อายุ๓๐ ปีพอดี ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็น เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ตำแหน่งหัวหน้ามหาดเล็ก
 
ในพ.ศ.๒๔๐๐ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีผู้เป็นนักเรียนภาษาอังกฤษรุ่นแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้ร่วมอยู่ในคณะทูตผู้เปิดประวัติศาสตร์คณะนี้ด้วยในตำแหน่งอุปทูต และเมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าควีนวิกตอเรียเป็นการส่วนพระองค์ พระนางเจ้าวิกตอเรียได้ตรัสถามอุปทูตว่า

“ท่านมิใช่เป็นพระราชวงศ์ เป็นแต่ได้ทรงเลี้ยงมาหรือ”

เจ้าหมื่นสรรเพธฯก็กราบทูลรับว่าทรงเลี้ยงมา
หลังจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นนักการทูตครั้งนั้น เมื่อกลับมาเจ้าหมื่นสรรเพธฯก็ได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็น พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ มีหน้าที่กำกับการกรมมหาดเล็ก ขึ้นกับกระทรวงวัง อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง
พระยาบุรุษรัตนฯเป็นคนตรงและไม่ยอมคนง่ายๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงเกรงว่านิสัยนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ที่บริหารราชการแผ่นดินได้ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาเตือนพระยาบุรุษรัตนฯว่า
“ตัวเจ้ากับข้าก็ใช่เนื้อเชื้อไข แต่ได้เลี้ยงดูมาแต่เล็กรักเหมือนลูก ครั้งนี้เจ้ากับข้าจะแยกกันอยู่แยกกันไป ตัวเจ้าแต่ก่อนรักษาตัวไม่ดี ให้เป็นที่รังเกียจผู้หลักผู้ใหญ่ ต่อไปภายหน้าไม่มีข้าแล้ว แต่ทำอย่างนี้จะรักษาตัวไปไม่ได้ ให้กลับใจรักษาตัวเสียใหม่ จะทำการสิ่งใดให้เอาเสียงผู้ใหญ่เป็นที่ตั้งจึงจะดี เจ้าอย่าถือตัวว่ามั่งมีศรีสุข ข้าจะลำเลิกเจ้าเหมือนกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ลำเลิกข้ากับหาบ่นว่า ลูกเต้าได้ทรัพย์สินเงินทองก็เพราะบิดามารดาไม่ใช่หรือ การต่อไปข้างหน้าไม่มีตัวข้าแล้ว เจ้าอุตส่าห์รักษาตัวให้จงดี”

ทั้งยังทรงรับสั่งให้เจ้าพระยาบุรุษรัตนฯไปฝากเนื้อฝากตัวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พึ่งบารมีต่อไป

หลังจากเปลี่ยนรัชกาล พระยาบุรุษรัตนฯก็หันไปผ่อนคลายด้วยการส่งเสริมการละครขึ้น นำแบบละครยุโรปมาปรับปรุงละครนอกของไทย และเปิดโรงละครเก็บเงินคนดูขึ้นเป็นครั้งแรกของกรุงสยาม ให้ชื่อว่า “ปรินซ์เธียเตอร์” โดยใน ๑ เดือนจะเปิดแสดงเพียงสัปดาห์เดียวในช่วงเดือนหงาย คนไปดูละครตอนนั้นก็พูดกันว่า “ไปวิก” เลยเป็นเหตุให้เรียกโรงละครกันว่า “วิก” ต่อมาเกิดโรงลิเกก็เรียกว่าวิกไปด้วย “วิก” เลยหมายถึงโรงมหรสพไป

ใน พ.ศ.๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้พระยาบุรุษรัตนราชวัลลภเป็น พระยาราชสุภาวดี ตำแหน่งสมุหพระสุรัสวดี มีหน้าที่เป็นสัสดีทหาร คุมบัญชีกำลังพลทั่วประเทศ
 
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีพระราชประสงค์ที่จะวางรากฐานประชาธิปไตย ทรงตั้ง “สภารัฐมนตรี” ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “เคาน์ซิลออฟสเตทส์” มีรัฐมนตรี ๑๒ นาย ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและปรึกษาในราชการแผ่นดินแก่คณะเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดแรกนี้มีชื่อพระยาราชสุภาวดีอยู่ในอันดับ ๑ และได้รับการลงมติจากที่ประชุมให้เป็น “ประธานคณะรัฐมนตรี” ซึ่งก็เท่ากับนายกรัฐมนตรีในสมัยนี้ โดยมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) นักเรียนไทยคนแรกที่ไปเรียนที่อังกฤษ และเป็นผู้แปลเรัฐธรรมนูญและรัฐสภาของอังกฤษถวาย ร.๕ เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ในปลายปี พ.ศ.๒๓๑๗ นั้น พระยาราชสุภาวดีก็ได้รับโปรดเกล้าเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยามหินทรธำรงศักดิ์ ดังมีพระบรมราชโองการประกาศว่า

“...ทรงพระราชดำริว่า พระยาราชสุภาวดีฯ พระสุรัสวดีกลาง ได้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทมาแต่เดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้สอยมาตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ เป็นที่สนิทชิดชอบพระพระราชอัธยาศัยแล้วได้ฉลองพระเดชพระคุณในราชการ เป็นเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี หัวหมื่นมหาดเล็กต้นเชือก พระราชทานเครื่องยศพานทองน้อย คนโททอง กระโถนทอง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกย่องไว้ในราชสาสน์ว่าเป็นพระราชบุตรเลี้ยงของพระองค์ ได้ดำรงยศตำแหน่งอุปทูตจำทูลพระราชสาสน์ คุมเครื่องราชบรรณาการออกไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงสมเด็จพระนางเจ้าควีนวิกตอเรีย ณ กรุงลอนดอน เป็นพระเกียรติยศยิ่งใหญ่...จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนตำแหน่งยศเป็นเจ้าพระยา มีพระนามว่า เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงฯ ดำรงศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ รับตราปฐมจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล พระราชทานแหวนมณฑปเพชร หีบทองลงยาราชาวดี กระบี่ฝักทองคำจำหลัก ซองบุหรี่ทองคำ ได้บังคับบัญชากรมพระราชสุภาวดีตามเดิม และที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน...”

พอได้รับตำแหน่งเจ้าพระยาใหม่ๆนั้นเอง ต้นปี ๒๓๑๘ กองทัพฮ่อจากเมืองเชียงคำก็เคลื่อนจะมาตีเมืองหลวงพระบางซึ่งอยู่ในความปกครองของไทยกับจังหวัดหนองคาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงโปรดให้จัดทัพไปปราบฮ่อโดยด่วน เจ้าพระยามหินทรฯได้รับหน้าที่เป็นแม่ทัพกองทัพที่ ๒ จะต้องไปรับมือฮ่อที่หนองคาย ก่อนที่กองทัพจากกรุงเทพฯจะเคลื่อนไปนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ม้าเร็วถือใบบอกไปยังพระยามหาอำมาตย์ที่ออกไปสักเลขหรือเกณฑ์ทหารอยู่ที่เมืองอุบลพอดี ให้เกณฑ์คนจากโคราช อุดร และร้อยเอ็ดไปด้วย ออกไปตั้งรับที่เมืองหนองคายไว้ก่อน เมื่อกองทัพของพระยามหาอำมาตย์ สมทบด้วยกองทัพโคราช อุดร และร้อยเอ็ด ยกไปถึงเมืองหนองคาย ก็ตีฮ่อแตกพ่ายไปแล้ว
 
แม้จะไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือเป็นแม่ทัพ แต่การที่ทรงเลือกพระยามหินทราศักดิ์ธำรงเป็นแม่ทัพไปในครั้งนั้น ก็แสดงว่าทรงเห็นพระยามหินทร์ฯมีความสามารทางการทหารเช่นเดียวกับการทูตและการเมือง ทั้งพระยามหินทร์ฯยังมีความสามารถในงานประพันธ์ ได้แต่งหนังสือไว้เล่มหนึ่งในชื่อ “ชานพระศรี” ประเภทคติสุภาษิต จากความรู้ได้ยินได้ฟังมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ชื่อหนังสือจึงมีความหมายว่าเป็น “ชานหมาก” ของพระจอมเกล้าฯ

เจ้าพระยามหินทร์ฯได้เขียนไว้ใน “บานแผนก” ของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งก็คือ “คำนำ” มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการที่ได้รับชุบเลี้ยงถึง ๒ รัชกาลมาจนแก่เฒ่า ไว้ว่า

“...ไม่มีสิ่งใดจะสนองพระคุณ จึงคิดได้ว่าครั้งเมื่อได้ทำราชการอยู่ในแผ่นดินโน้น ได้สดับรับโอวาทต่างๆในทางคติโลกคติธรรม อุปมาอุปมัยไว้เป็นอันมากนั้น มาเรียบเรียงขึ้นแล้วแต่งเป็นคำกลอนแลโครงขึ้นกำกับ เพื่อให้ชวนอ่านชวนฟัง ได้เรียบเรียงไว้ ๕ เรื่อง สมมุตินามไว้ว่าหนังสือชานพระศรี เรื่องที่ ๑ สรรเสริญด้วยความสามัคคี เรื่องที่ ๒ ว่าด้วยพงศาวดารฝรั่งเศสที่รู้จักประกอบการสามัคคี เป็นที่อุดหนุนคำสุภาษิตในบทที่ ๑ จะได้เห็นว่าความสามัคคีเป็นของจริงใช้ได้ บทที่ ๓ สำแดงด้วยติณชาติ รุกขชาติ อุปมาอุปมัยให้เห็นโทษอติ ๔ ประการ บทที่ ๕ ว่าด้วยความสัจจริงของคนน้อย ได้ฟังแก่หูรู้ด้วยหน่วยตา ก็กลับสู้คนที่พวกมากลากไปไม่ได้...”

หลานปู่คนหนึ่งของเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง ชื่อมรกต เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ และเป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ซึ่งเป็นผู้แต่งเพลง “ลาวดวงเดือน” และเป็นต้นสกุล “เพ็ญพัฒน์” ส่วนเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง (เพ็ง) เป็นต้นสกุล “เพ็ญกุล”

โรงละครแห่งแรกของกรุงสยาม

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
กำลังโหลดความคิดเห็น