วิเคราะห์ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ยังไม่พ้นวิกฤตจาก “โนรู” เปิดข้อเสนอ “ตัดยอดน้ำป่าสัก” เลี่ยงไปออกอ่าวไทยโดยตรง
รายงานพิเศษ
“มีแนวโน้มที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำเต็มความจุเขื่อนในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ ถ้าเขื่อนป่าสักฯ เต็ม คาดการณ์กันไว้ว่า จะต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที และต้องไปรวมกับน้ำจากคลองชัยนาทป่าสักอีก 200 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นน้ำจะผ่านเขื่อนพระราม 6 ที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา 800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งต้องไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งหากมองไปที่แม่น้ำเจ้าพระยา เราคาดการณ์ว่า ที่สถานี C2 จ.นครสวรรค์ อาจมีน้ำเพิ่มไปถึง 2,900 ลบ.ม./วินาที และจะต้องไปรวมกับแม่น้ำสะแกกรังอีกประมาณ 300 ลบ.ม./วินาที จึงจำเป็นต้องตัดน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ และประตูระบายน้ำบรมธาตุ เพื่อระบายน้ำเข้าทุ่ง ให้เหลือน้ำไหลลงมาผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไปอยู่ในจุดที่ปล่อยน้ำได้มากที่สุด คือ 2,700-2,800 ลบ.ม./วินาที
ดังนั้น เมื่อเจ้าพระยาต้องไหลมารวมกับป่าสัก เราอาจจะพบปัญหาว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะไหลลงมาที่นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร อาจไปอยู่ในระดับที่เกินเกณฑ์ควบคุม”
นี่เป็นการคาดการณ์ หลังผ่านการคำนวนมาเป็นอย่างดีจากนักวิเคราะห์การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งข้อมูลนี้ ทำให้เขาเห็นว่า อาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ “คลองระพีพัฒน์แยกใต้” ช่วยตัดยอดน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ไม่ให้ไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด
ไปดูข้อมูลที่ลงรายละเอียดด้วยกัน
สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2 ตุลาคม 65 ทุกจุด “ระบายน้ำเพิ่มขึ้น”
รายงานชิ้นนี้ ถูกเขียนขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม 2565 ซึ่งสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังอยู่ในขั้นที่ต้อง “ติดตามอย่างใกล้ชิด” หลัง “ระดับน้ำที่ผ่านสถานีบางไทร” สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไปแล้ว ... สถานการณ์ตัวเลขต่างๆในลุ่มแม่นำเจ้าพระยา มีดังนี้
น้ำไหลผ่าน สถานี C2 บริเวณ จ.นครสวรรค์ (เหนือเขื่อนเจ้าพระยา) อยู่ที่ 2,611 ลบ.ม./วินาที - เพิ่มขึ้น (1 ต.ค. 65 – 2,598 ลบ.ม./วินาที)
เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท (เขื่อนทดน้ำ ทำหน้าที่ควบคุมการไหลผ่านของน้ำไปยังที่ลุ่มด้านล่าง) ระบายน้ำผ่านเขื่อน 2,586 ลบ.ม./วินาที - เพิ่มขึ้น (1 ต.ค. 65 – 2,500 ลบ.ม./วินาที) น้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ยังถูกตัดยอดออกไปได้บ้าง โดยส่งเข้าทุ่งฝั่งตะวันออก 48 ลบ.ม./วินาที - ส่งเข้าทุ่งฝั่งตะวันตก 143 ลบ.ม./วินาที
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี และ จ.ลพบุรี มีปริมาตรน้ำเพิ่ม คิดเป็น 81% ของเขื่อน แล้ว เพราะมีน้ำไหลเข้าเขื่อน เพิ่ม 90.46 ล้าน ลบ.ม./วัน จากฝนที่ตกเหนือเขื่อนที่เพชรบูรณ์และลพบุรี รวมทั้งอิทธิพลต่อเนื่องจากพายุโนรู โดยระบายน้ำ ออก 51.9 ล้าน ลบ.ม./วัน
ดังนั้น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปล่อยน้ำออกจากเขื่อน 321 ลบ.ม./วินาที แต่แม่น้ำป่าสักไปผ่านเขื่อนพระราม 6 (อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา) สูงขึ้นเป็น 660 ลบ.ม./วินาที
แม่น้ำป่าสัก ที่ท้ายเขื่อนพระราม 6 อ.ท่าเรือ จึงจะมีระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.20-1.50 เมตร และจะไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ “เกาะเมือง” หรือ ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 25 – 50 เซนติเมตร ...
จากนั้นจะไหลผ่านจุดชี้วัดที่สำคัญ คือ สถานีบางไทร ... ซึ่งเป็นตัววัด “น้ำเจ้าพระยา” ที่จะไหลต่อลงมาผ่าน ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
แต่... เมื่อน้ำมารวมกัน ที่จุดชี้วัดคือ “สถานีบางไทร” หรือ สถานี C29A ในรายงานประจำวันของกรมชลประทาน พบว่า มีน้ำไหลผ่าน 3,017 ลบ.ม./วินาที - เพิ่มขึ้น (1 ต.ค.65 – 2,929 ลบ.ม./วินาที)
“ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ เขาขีดเส้นระดับน้ำที่ท่วมอยู่ทุกปี และในปี 2565 นี้ มีข้อสังเกตตามมาจากชาวบ้านริมน้ำว่า เขื่อนเจ้าพระยา ปล่อยน้ำน้อยกว่าปี 2564 แต่ทำไมระดับน้ำที่เข้าท่วมแถบริมน้ำ กลับมีระดับที่สูงกว่าปี 2564 จึงวิเคราะห์ได้ว่า ระดับน้ำในปีนี้ ยังมี “ตัวเลขแฝง” ที่เราไมเห็นอยู่ในผังการระบายน้ำ เพราะเป็นปีที่มีฝนตกใต้เขื่อนอยู่ในปริมาณมาก ทำให้มีปริมาณน้ำที่อยู่นอกการควบคุม (side flow) หรือที่เรียกว่า “น้ำทุ่ง” รวมอยู่ด้วย ซึ่งมันจะมีผลว่า เราจะต้องบวกตัวเลขเผื่อเข้าไปอีกในระหว่างการคำนวนว่า จะมีน้ำไหลลงมามากขนาดไหน”
“ดังนั้น เราอาจต้องคิดเผื่อด้วยว่า ถ้ามีหนทางที่จะตัดยอดน้ำออกไปได้ ควรทำก่อนที่ตัวเลขบนผัง จะเริ่มเข้าสู่ช่วงวิกฤต เพราะในกรณีที่มีน้ำทุ่งอยู่มาก ปริมาณน้ำที่แท้จริง อาจมีมากกว่าตัวเลขที่เราเห็นในระบบ และอาจส่งผลกระทบกับประชาชนไปก่อนแล้ว” ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งข้อสังเกต
******
วิเคราะห์ทั้งระบบ ตัวเลขน้ำผ่านบางไทร อาจเกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที
เมื่อดูจากตัวเลขอัตราการระบายน้ำทั้งระบบ เราจะเห็นได้ชัดเจนตัวเลขทุกจุด “เพิ่มขึ้น” ตั้งแต่ระดับน้ำเนื่อเขื่อนเจ้าพระยา เหนือเขื่อนป่าสักฯ น้ำที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระราม 6 มาจนถึงจุดชี้วัดสำคัญคือ “สถานีบางไทร”
เป็นที่รู้กันดีว่า “สถานีบางไทร” หรือ “C29A” มีจุดอันตรายที่จะปล่อยให้น้ำไหลผ่านเกินกว่านี้ไม่ได้อย่างเด็ดขาดอยู่ที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที
ดังนั้นอาจมองได้ว่า ตัวเลขในวันที่ 2 ตุลาคม 2565 น้ำไหลผ่านสถานีบางไทร 3,017 ลบ.ม./วินาที ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก แม้ว่าในปี 2565 นี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าขึ้นทั้งที่อีสานและลุ่มเจ้าพระยา พร้อมตั้งเป้าไว้ว่า จะบริหารจัดการน้ำ ให้มีน้ำไหลผ่านที่สถานีบางไทร ไม่เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที ก็ตาม
แต่ยังต้องมองต่อไปด้วยว่า หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลางจะยังคงมีฝนตกเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากร่องมรสุมที่พัดผ่าน ซึ่งอาจทำให้ตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกนับจากนี้ ในขณะที่อาวุธสำคัญที่จะช่วยตัดยอดน้ำอย่างทุ่งรับน้ำ ก็ถูกใช้ไปแล้ว และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็มีพื้นที่เหลือให้รองรับน้ำอีกน้อยมาก หากมีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มอีก ก็จำเป็นต้องเพิ่มอัตราการระบายน้ำให้สูงขึ้นอย่างแน่นอน
“ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ น้ำจะไหลเข้าไปจนเต็มเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2565 และเขื่อนป่าสักฯ ต้องเพิ่มการระบายน้ำอีก เป็น 600 ลบ.ม./วินาทีเป็นอย่างน้อย และยังจะมีน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก มารวมอีกประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที จะทำให้เขื่อนพระราม 6 ต้องปล่อยน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ไปหาแม่น้ำเจ้าพระยา สูงถึง 800 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาในช่วงเวลาเดียวกัน ถูกคาดการณ์ว่าอาจต้องปล่อยน้ำถึง 2,700-2,800 ลบ.ม./วินาที
เราอาจจะเห็นว่า ถ้ารวมตัวเลข 2,700 กับ 800 ลบ.ม./วินาที ก็จะได้ตัวเลข 3,500 ลบ.ม./วินาที ที่สถานีบางไทรจะรับได้พอดี ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
แต่ต้องไม่ลืมว่า เราควรคิดตัวเลขบวก “น้ำทุ่ง” หรือ side flow ที่เรามองไม่เห็นเข้าไปด้วย เพราะเราเห็นเฉพาะตัวเลขเฉพาะน้ำในระบบที่อยู่ในผังเท่านั้น ดังนั้น ก็คาดการณ์ได้เลยว่า ในช่วงเวลานั้น มีโอกาสสูงมากที่จะมีน้ำผ่าน “สถานีบางไทร” (C29A) มากกว่าระดับที่จะรองรับได้ที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที” นักวิเคราะห์ ระบุ
เมื่อมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตเช่นนี้ “คลองระพีพัฒน์แยกใต้” ซึ่งเป็นคลองที่มีเส้นทางตรงในการส่งน้ำลงสู่ทะเล จึงถูกมองว่า น่าจะเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับการตัดยอดน้ำออกจากแม่น้ำป่าสัก เพราะถ้าระบายน้ำไปตามเส้นทางนี้ได้เต็มศักยภาพ จะช่วยตัดน้ำออกไปได้มากกว่า 200 ลบ.ม./วินาที
แต่ในวันที่เขียนรายงานชิ้นนี้ เส้นทางนี้ถูกใช้ระบายน้ำอยู่เพียง 7 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น
********
สำรวจเส้นทาง “คลองระพีพัฒน์แยกใต้” ถึง “อ่าวไทย” ต้องถูกปรับปรุงด่วน เพื่อช่วยตัดยอดน้ำ 200 ลบ.ม./วินาที
จุดที่ 1 สำหรับเส้นทางการระบายน้ำจากคลองระพีพัฒน์แยกใต้ จะเริ่มจากประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค อ.หนองแค จ.สระบุรี ซึ่งถูกปรับปรุงให้ใหญ่โตขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วเพื่อรองรับการระบายน้ำให้ได้มากขึ้น
จุดที่ 2 จากนั้นน้ำจากคลองระพีพัฒน์ จะไหลผ่านไปลงที่ คลอง13 (คลองซอยของคลองรังสิต) ที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งจุดนี้ ยังเป็นจุดที่พบอุปสรรคทำให้ระบายน้ำได้ไม่เต็มที่ เพราะสรวจพบจุดที่ “ถนน” ซึ่งทำอีกหน้าที่หนึ่งเป็นคันกั้นน้ำ “ทรุดตัว” ประมาณ 60-80 เซนติเมตร อยู่ 4 จุด ถ้าปล่อยน้ำลงมาเต็มศักยภาพลำคลอง ก็จะทำให้น้ำข้ามถนนไปท่วมบ้านเรือนประชาชนได้ จึงต้องรีบทำคันดินหรือวางบิ๊กแบ็กเป็นพนังกั้นน้ำก่อน
จุดที่ 3 แอ่งกระทะ บริเวณเขตลาดกระบัง ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งน้ำจากคลองระพีพัฒน์ ไหลลงคลอง 13 จะไหลตรงต่อมาที่คลองลำผักชี และคลองหัวตะเข้ ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนไหวที่ทำให้น้ำเดินทางได้ช้า เพราะเป็นจุดที่น้ำไหลแล้วมาเจอแอ่ง จำเป็นต้อง “สูบน้ำ” หรือ “ผลักดันน้ำ” ข้ามไป และยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานครยังระบายน้ำออกไปได้ไม่หมดจากฝนที่ตกหนักมาก่อนหน้านี้ จึงจำเป็นต้องช่วยกรุงเทพมหานครระบายน้ำออกไปก่อน โดยประสานให้ปลายทางคือ จ.สมุทรปราการ ช่วยผลักดันน้ำที่ปลายทางด้วย
จุดสุดท้าย คือ สถานีสูบน้ำซึ่งอยู่ชายทะเลที่ จ.สมุทรปราการ ทั้งสถานีสุวรรณภูมิ สถานีชลหารพิจิตร สถานีชายทะเล มีศักยภาพในการสูบน้ำรวมกันได้ถึง 500 ลบ.ม./วินาที
ดังนั้น หากมองเส้นทางระบายน้ำเส้นนี้อย่างเป็นระบบ ระดมสรรพกำลังกันเข้ามาช่วยแก้ไขจุดอ่อนไหวต่างๆ อย่างเร่งด่วน ทั้งเสริมคันคลองที่ทรุด 4 จุด เร่งช่วยกรุงเทพมหานครสูบหรือผลักดันน้ำที่ลาดกระบังออกไปส่งยังชายทะเลให้เร็วขึ้น
หากทำได้ ก็จะทำให้ในสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่น่ากังวลว่าน้ำจะผ่านสถานีบางไทรเกินกว่า 3,500 ลบ.ม./วินาทีแน่ๆ เราก็ยังจะมี “คลองระพีพัฒน์แยกใต้” เป็นอีกหนึ่งเส้นทางช่วยบรรเทาสถานการณ์ลงไปได้มาก ด้วยการตัดยอดน้ำออกไปได้มากกว่า 200 ลบ.ม./วินาที จากเดิมซึ่งแทบใช้การไม่ได้ เพราะมีน้ำไหลผ่านเพียง 7 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น