xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางแห่งการเป็น ‘นักวิเคราะห์ภาษากาย’ ของ ‘ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
“…ในศาสตร์ภาษากายเราก็ไม่ใช้การวิเคราะห์ที่ผิวเผิน หรือแค่บางเหตุการณ์เพื่อนำมาตัดสินตัวตนใคร แต่จะใช้การวิเคราะห์ภาษากายเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่ปรากฎตรงหน้าและความรู้สึกในเวลานั้น วินาทีนั้นเท่านั้น
แต่คนภายนอกก็พร้อมจะตัดสินและเหมารวม เพราะธรรมชาติคนเราจะใช้ความรู้สึกเหนือเหตุและผลเสมอ (Danial Kahnman) ภาษากายจึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจและระวังในยุคที่มีการบันทึกภาพทุกเวลาทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนคนธรรมดาแบบเรา นายกรัฐมนตรี หรือ องค์กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร”


เป็นถ้อยความบางช่วงตอนที่ปรากฏในเว็บไซต์ https://www.bodylanguageclassroom.com
ถอดรหัสภาษากาย โดย หมอมด ( ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ ) คุณหมอทันตแพทย์ผู้สนใจในศาสตร์แขนงนี้
ศาสตร์ด้านภาษากาย (Body Language) และการแสดงออกทางใบหน้า (Facial Expression) 

ซึ่งศึกษาและสั่งสมองค์ความรู้ด้านนี้มาไม่น้อยกว่า 20 ปี นับแต่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้จะไม่มีมหาวิทยาลัยใดจัดตั้งคณะภาษากาย แต่เอกสารวิชาการ ตำรา 
วารสารต่างประเทศที่เกี่ยวโยงเรื่องการวิเคราะห์ภาษากาย (Body Language) ก็มีให้อ่านมากมายในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย

กระทั่งเข้าสู่ยุคแห่งโลกไร้พรมแดน การมาถึงของอินเทอร์เน็ต การกำเนิดขึ้นของ google ยิ่งเปิดโลกกว้างให้เขาได้ศึกษาศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ภาษากาย (Body Language) ได้กว้างไกล ลุ่มลึก แหลมคมและแม่นยำยิ่งขึ้น 
กาลเวลาต่อเนื่องมาถึงยุคสมัยแห่งโซเชียลมีเดีย และการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีทางเลือกมากมายให้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ นำพาเขาให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนพ้องนักวิเคราะห์ภาษากายในต่างประเทศ รวมทั้งการเรียนออนไลน์ผ่านคอร์สที่เข้มข้น ยิ่งเพิ่มองค์ความรู้ในศาสตร์แขนงนี้ให้แก่เขาอย่างมาก

จึงไม่เพียง เว็บไซต์ https://www.bodylanguageclassroom.com ถอดรหัสภาษากาย โดย หมอมด
( ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ ) แต่ยังรวมถึง แฟนเพจเฟซบุ๊ค ถอดรหัสภาษากาย - Body Language Analysis โดย หมอมด
และทวิตเตอร์ในชื่อ ถอดรหัสภาษากาย by หมอมด ( @Apichard10 )
ที่ล้วนเป็นช่องทางให้ ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ หรือ หมอมด ได้เผยแพร่องค์ความรู้ผ่านการวิเคราะห์ ‘ภาษากาย’ ของบุคคลสาธารณะมากกว่า 100 กรณีตัวอย่าง ทั้งไทยและชาวต่างชาติ
เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่สื่อมากมายหลายแขนงมักหยิบจับนำไปต่อยอด ขณะที่หมอมดยืนยันหนักแน่นว่าวัตถุประสงค์สำคัญคือการเผยแพร่ความรู้ มิหวังให้เป็นกระแสที่บางครั้งอาจมีการตีความเกินเลยจากที่ตั้งใจ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
การจะวิเคราะห์เช่นนี้ได้ ย่อมมิอาจเกิดขึ้นจากการศึกษาเพียงชั่วข้ามคืน 
แต่ใช้เวลายาวนานในการสั่งสมทักษะความแม่นยำ รวมถึงจรรยาบรรณที่ยึดถือ จึงทำให้การวิเคราะห์ของหมอมดได้รับความสนใจเสมอมา แม้จะก้าวเข้าสู่โลกโซเชียลมีเดียเพียง 2 ปี เท่านั้น แต่ความรู้ที่หมอมดได้วิเคราะห์ผ่านภาษากายของบุคคลสาธารณะในกรณีต่างๆ ล้วนเป็นประโยชน์และชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ผู้คนเห็นทุกวันอาจมองข้าม และไม่รู้ความหมายที่ซ่อนอยู่

‘ผู้จัดการออนไลน์’ จึงสัมภาษณ์พิเศษ ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ นับแต่แรกเริ่มแห่งแรงบันดาลใจ, การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ถอดรหัสภาษากาย, จังหวะก้าวในการสั่งสมองค์ความรู้ในศาสตร์แขนงนี้ และการสร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ด้วยความมุ่งหวังสูงสุดที่ว่า หากมนุษย์เรามีความรู้ด้านภาษากาย ตราบนั้น ย่อมเพิ่มความเข้าใจต่อกัน มองเห็นเจตนา (ทั้งดีและไม่ดี) ที่ซ่อนอยู่ เสริมบุคลิกภาพและความน่าเชื่อถือและสร้าง Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะภาษากายย่อมสื่อให้เห็นว่าคนๆ นั้น เขากำลังรู้สึกอย่างไร หากเขามีจิตใจที่เปราะบาง โดดเดี่ยว ผู้ที่สังเกตเห็น หรือ ‘อ่าน’ ภาษากายได้ ย่อมสามารถเยียวยา ให้กำลังใจ ปลอบโยนเขาได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น การวิเคราะห์ถอดรหัสภาษากาย ยังมีอีกหลายสิ่ง หลายปัจจัยที่ต้องเรียนรู้ และนำมาใช้ประกอบกัน 


ทั้งหลายทั้งปวง ถูกบอกเล่าผ่านถ้อยความนับจากนี้


จุดแรกเริ่มแห่งแรงบันดาลใจ ศึกษาศาสตร์ภาษากาย

ถามว่า อะไรคือแรงบันดาลใจ หรือเหตุผลที่ทำให้คุณหมออภิชาติสนใจศาสตร์ภาษากายและการแสดงออกทางใบหน้าของมนุษย์

ทพ.อภิชาติตอบว่า “แรงบันดาลใจแรกก็คือช่วงเรียนประถมปลาย หรือ มัธยมผมไม่แน่ใจว่าเริ่มตอนไหน ผมสนใจพฤติกรรมมนุษย์ครับ ผมมองว่าพฤติกรรมมนุษย์ไม่ค่อยตรงไปตรงมาเท่าไหร่ อย่างเช่น บางครั้งเราก็มีกลบเกลื่อน เสแสร้ง โกหก เป็นจุดที่สะกิดใจผมว่าทำไมคนเราไม่ตรงไปตรงมา ทำไมในบาง Context เช่น มารยาทสังคม ทำไมเราต้องโกหก มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผม เหมือนเราแสดงละครใส่กันไปมาครับ

"ทำให้ผมรู้สึกแบบว่า ‘เอ๊ะ! ตกลง มารยาทสังคม, กาลเทศะ มันคือการโกหกอย่างหนึ่งใช่ไหม’ ตอนนั้นผมเป็นเด็กขี้สงสัย (หัวเราะ) ผมก็รู้สึกว่าทำไมแต่ละคนดูไม่เป็นตัวของตัวเองเลย เวลาอยู่ในสังคม ดูเหมือนแสดงละคร พยายามเอาใจอีกฝ่ายและเราเห็นว่าภาษากายของเขาเวลาอยู่ในเหตุการณ์แบบนั้นมันดูผิดไปจากปกติที่เขาเป็น ผมจึงรู้สึกว่ามนุษย์ไม่ค่อยตรงไปตรงมา ก็เป็นคำถามในใจผมมานานแล้วว่า ทำไมคนนี้เวลาพูดต้องมีอาการแบบนี้ ทำไมคนนั้น ทำแบบนั้น เป็นคำถามที่เราอยากได้คำตอบครับ” ทพ.อภิชาติระบุและบอกเล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อถึงช่วงที่ต้องเรียนมหาวิทยาลัย ใจจริงอยากเรียนเกี่ยวกับแขนงจิตวิทยาโดยเฉพาะ ด้วยความสนใจว่าคนเราคิดอะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น 
แต่ด้วยความห่วงใยของคุณพ่อที่เกรงว่าลูกชาย คือคุณหมออภิชาติอาจลำบาก หากเรียนจิตวิทยา เนื่องจากในยุคนั้น ผู้ที่เรียนจบด้านจิตวิทยาถูกมองว่าอาจหางานทำได้ยาก

“คุณพ่อผมท่านก็บอกว่าเรียนหมอฟันไปเลยดีกว่ามั้ย ผมก็ตามใจท่าน แล้วผมก็สอบติดหมอฟันที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
คุณหมออภิชาติจึงจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และปริญญาโท สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)

ทพ.อภิชาติเล่าว่า ความเป็นหมอฟันหรือการเรียนทันตแพทยศาสตร์ ทำให้โชคดีที่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ได้อ่านตำราวิชาการทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเยอะมาก

“ความรู้ที่ได้รับจากตำราเหล่านั้น เริ่มทำให้รู้สึกว่าความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาที่เมื่อก่อนเราอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะหนังสือเรื่องจิตวิทยาที่เป็นภาษาไทยในยุคนั้นยังมีน้อย ช่วงนั้น ผมก็เริ่มอ่านหนังสือ อ่านตำราในห้องสมุด แล้วผมก็พบว่ามีการตำราวิจัยเรื่องภาษากายด้วย มีคนทำวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวเลยครับ
ผมจึงมีโอกาสได้รู้จักศาสตร์แขนงนี้ อย่างสมัยนั้น Pioneer ที่ดังๆ ที่เกี่ยวกับภาษากายก็มี David Matsumoto มี Paul Ekman และอีกหลายท่าน


"ผมก็รู้สึกว่า เฮ้ย! มีคนทำถึงขั้นเป็นทำวิจัยเลยนะ คือเมื่อเราพูดถึงภาษากาย
ในสังคมไทย อาจจะนึกไปถึงเรื่องโหงวเฮ้งซะมากกว่า หรือเรื่องเกี่ยวกับลายมืออะไรอย่างนี้ คืออาจจะค่อนไปทางไสยศาสตร์และโหราศาสต์ซะเยอะ แต่ด้วยความที่ผมเรียนหมอฟันมา เราก็อยากได้อะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีการวิจัย มีข้อมูล ซึ่งเมื่อไปอ่านตำราในห้องสมุด เราก็พบว่ามีคนศึกษาเรื่องภาษากายด้วย เช่นเรื่องของการกะพริบตา ท่าทาง สีหน้า
แล้วบวกกับการที่เราเรียนหมอฟัน ก็ทำให้เราได้อ่านเอกสาร หรือ Journal ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ได้
จากที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือ งง ๆ ศัพท์แสงก็ค่อย ๆ เข้าใจมากขึ้น ทำให้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ภาษากายจึงเป็นอีกความรู้หนึ่งที่ผมสนใจคู่ขนานไปกับการเป็นหมอฟัน

"แล้วเมื่อมาถึงยุคหนึ่งก็เริ่มมีการ search google บ้างแล้ว ย้อนไป 20 ปีเลยนะครับ เมื่อ search google ได้มากขึ้น เราก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้แล้ว เพราะมีเว็บไซต์ ebay , Amazon เราก็เข้าถึงหนังสือมากขึ้น กระทั่งเมื่อมาถึงยุคออนไลน์ ก็มีคนมาทำ content สอน ซึ่งฝรั่งชอบศาสตร์ด้านภาษากายมากเลยนะครับ นิยมมากมีถึงขั้นทำเป็นซีรี่ส์เลยครับ (Lie to me ค.ศ. 2009-2011) ดังมากครับ ทำให้เรื่องภาษากายเป็นเรื่องที่สนใจในวงกว้างในอเมริกาไปเลยครับ และคนไทยหลายคนก็เริ่มรู้จักตามมา
เป็นซีรี่ส์วิเคราะห์ภาษากาย ชื่อซีรี่ส์ Lie to Me

เนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักวิจัยคนหนึ่งที่เขาเก่งภาษากาย แล้วเขาสามารถไขคดีต่างๆ โดยใช้หลักของภาษากายในการไขคดี เป็นซีรี่ส์คล้ายๆ นักสืบ แนวสืบสวน อาชญากรรม ซึ่งทำให้ศาสตร์ภาษากายเป็นที่สนใจมากที่สุดช่วงหนึ่ง
ช่วงเริ่มแรกตอนนั้น ผมยังไม่มีความคิดใดๆ ที่จะนำเอาความรู้ด้านนี้มาทำมาหากินนะครับ ผมเพียงมองว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เราชอบ เช่นบางคนอาจจะอ่านนิยาย อ่านประวัติศาสตร์ อ่านประดับความรู้ สำหรับผม สมัยนั้นเราก็อยู่ในฐานะนักเรียนอย่างเดียว” ทพ.อภิชาติระบุ


เปิดโลกกว้างกับนักวิเคราะห์ภาษากายต่างชาติ

กระทั่งมาถึงยุคอินเทอร์เน็ต ที่มีแหล่งความรู้มากขึ้น และมีคอร์สต่างๆ ที่สอนเรื่องศาสตร์ภาษากายและน่าสนใจ
ทพ.อภิชาติก็เข้าไปเรียน

“แล้วเมื่อเราอยู่ในวงการนี้นานขึ้น เราก็เริ่มรู้จักนักวิเคราะห์ภาษากาย
ผมก็มีเพื่อนที่สนิทเป็นนักวิเคราะห์ภาษากายเหมือนกัน อยู่ที่อเมริกา 2-3 คน เราก็จะ e-mail คุยกัน Skype คุยกันเรื่อยๆ
แล้วก็จะมีบางกลุ่มที่เขาจัดเป็นกลุ่ม Private เขาเรียก Mastermind group จะเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องเดียวกัน คบหากันเป็นเพื่อน แล้วก็จะมาสัมมนากันเดือนละครั้ง จัดเวลาให้ตรงกัน หา Topic มาอัพเดท มาคุยกัน
ผมก็จะมีวงสัมมนาประเภทนี้ที่ผมอยู่มาได้สัก 4 ปีแล้ว

ซึ่งทำให้ความรู้ของเราแน่นขึ้น เพราะเราได้คุยเรื่องเคสต่างๆ ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญ แล้วเราก็อยู่ในวงสัมมนานั้นด้วย เขาเองก็อยากรู้ว่าภาษากายฝั่งไทย มีอะไรที่แตกต่างจากฝั่งเขาบ้าง เพราะภาษากายบางอย่างก็เป็นสากล บางอย่างก็มีอิทธิพล และวัฒนธรรมปนมาด้วย”

ทพ.อภิชาติระบุถึงความเป็นมาในการสั่งสมองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ภาษากาย นับแต่ยุคแรกเริ่มของการมีอินเทอร์เน็ต และ Search Engine



ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
เผยแพร่ความรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย

กระทั่ง ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคแห่งโซเชียลมีเดีย ทพ.อภิชาติ จึงได้นำองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ภาษากายมาแชร์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว มีความรู้อะไรเกี่ยวกับภาษากายบ้าง ก็นำมาแชร์ ปรากฏว่ามีเพื่อนๆ ชอบกันมาก


ทำให้ ทพ.อภิชาติตระหนักว่า มีคนสนใจเรื่องการวิเคราะห์ภาษากายมากกว่าที่คิดไว้ จึงริเริ่มทำแฟนเพจเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์เพื่อแชร์องค์ความรู้ในด้านนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ทพ.อภิชาติ ต้องการเขียนบทความที่เผยแพร่ความรู้ จึงทำเป็นเว็บไซต์ด้วย
ชื่อว่า www.bodylanguageclassroom.com และหยิบยกนำเคสที่ปรากฏอยู่ ณ เวลานั้นๆ มาเป็นบทเรียน 

โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการวิเคราะห์ภาษากาย

ถามว่าเริ่มทำแฟนเพจเฟซบุ๊คเมื่อไหร่ ทพ.อภิชาติตอบว่า เริ่มทำในปี ค.ศ. 2020 และเป็นช่วงเดียวกับที่เริ่มเขียนบทความเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.bodylanguageclassroom.com

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ไหนๆ ก็ทำบทวิเคราะห์แล้ว ทำลงเว็บไซต์ด้วยเลยแล้วกัน เพื่อเป็นเหมือน Portfolio ของเราเอง ที่เราได้ทบทวนด้วย เพราะภาษากายคือ ‘ภาพ’ คือ ‘วิดีโอ’ ที่ต้องดูบ่อยๆ
ผมจึงรู้สึกว่า ที่ตรงนี้เหมือนห้องสมุด เหมือนไดอารี่ของผม ที่ใครก็มาเปิดดูได้ ใครอยากดูก็มาดูด้วยกันได้” ทพ.อภิชาติระบุ


บ่มเพาะความรู้ศาสตร์ภาษากายให้ผู้อ่าน

ถามว่า แม้จะเพิ่งผ่านมาเพียง 2 ปีที่เปลี่ยนจากการเรียนอย่างเดียวมาสู่การเพยแพร่ 
แต่ทั้งเว็บไซต์และแฟนเพจเฟซบุ๊คของคุณหมอก็ได้รับความสนใจจากสาธารณะเยอะมาก


ทพ.อภิชาติ ตอบว่า “อาจเป็นเพราะผมเห็นว่าการวิเคราะห์ภาษากาย ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่จริงๆ แล้วก็มีคนไทยที่สนใจเรื่องนี้อยู่ แต่เขาอาจจะไม่ได้เอามาเผยแพร่ในวงกว้าง อาจจะมีผม เป็นคนหลักๆ ที่เผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย”
“ส่วนตัวผมก็รับเกียรติเชิญไปแชร์ความรู้บ้าง ไปสอนตามองค์กรบ้างบางคราว ทุกวันนี้ผมก็เสมือนว่าเป็นทั้งผู้ที่สนใจในศาสตร์นี้และนำมาสอน ควบคู่กับการประกอบอาชีพเป็นทันตะฯ” ทพ.อภิชาติระบุ

ถามว่า ทพ.อภิชาติวิเคราะห์ ภาษากาย (Body Language) และการแสดงออกทางใบหน้า (Facial Expression) ของบุคคลสาธารณะมามากมายมากกว่าร้อยเคส โดยมีบุคคลในหลากหลายแวดวง มีแนวทางใด ในการหยิบยกบุคคลเหล่านั้นมาเป็นกรณีศึกษา

ทพ.อภิชาติตอบว่า “ประการแรกสุดเลยครับ ผมต้องดูว่าบุคคลท่านนั้น เป็นบุคคลสาธารณะหรือไม่ แล้วก็เป็นวิดีโอที่อยู่ในสื่อสังคมอยู่แล้ว เช่น รายการสัมภาษณ์ หรือ ข่าว ไม่ใช่เป็นวิดีโอที่เป็นส่วนตัว เช่นถ้าเขาถ่ายวิดีโอลงเฟซบุ๊คส่วนตัวคงไม่เหมาะใช้เพื่อนำมาศึกษา นี่คือประการที่ 1”


ประการที่ 2 ทพ.อภิชาติกล่าวว่า คือ เนื้อหา หรือสิ่งที่จะนำเอาไปสื่อสาร ต้องน่าสนใจ และมีแง่มุมให้เรียนรู้ มิใช่เพียงแค่เพราะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง กำลังดัง หรือเป็นบุคคลสาธารณะเท่านั้น

ถ้าบุคคล บุคคลที่มีชื่อเสียง ยกตัวอย่างเช่น ‘ณเดชน์ คูกิมิยะ’ และ ‘ญาญ่า อุรัสยา สเปอร์บันด์’ ก็เป็นบุคคลที่สาธารณะสนใจ
“แต่ทั้งคู่ไม่ได้มีคลิปวีดิโอ การสัมภาษณ์ที่น่าสนใจในเชิงของการเรียนภาษากาย ผมก็ไม่หยิบมาพูดถึง ผมก็ต้องดูว่ามีจุด Point ของภาษากายที่น่าสนใจอยู่รึเปล่า

"ตรงนี้เป็น Point หลัก เช่น บางวิดีโอ มีจุดเด่นเรื่องความโกรธ แล้วภาษากาย ของเขาแสดงออกมา เมื่อคนอื่นๆ มาอ่านบทความ เห็นภาพตาม เห็นวิดีโอที่เราแนบลิงค์ไปตาม แล้วเขาเข้าใจ ก็จะเป็นเคสที่นำมาใช้เรียนรู้ ผมมองแบบนั้นมากกว่า
แล้วแต่ละเคสที่ผมเขียน ก็เขียนขึ้นเพื่อวิเคราะห์ภาษากาย เราไม่ได้ไปตัดสินคนๆ นั้นนะครับ ไม่บอกว่าเขาโกหกอยู่ ผมไม่ไปยุ่งกับเรื่องตัวบุคคล หรือตัวตนเขาว่าเป็นยังไงต้องเคารพและให้เกียรติ เราแค่เอาภาษากายที่ปรากฏขึ้นมา มาพูดคุยเพื่อเรียนรู้เฉยๆ โดยวัตถุประสงค์หลักๆ คือเพื่อเผยแพร่ความรู้
หลักคิดผมแค่นั้น เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้เน้นตามกระแสมากนัก เพราะบางทีหากเราใช้วิดีโอที่สดและใหม่เกินไป
คนทั่วไป โดยเฉพาะนักข่าว ก็ชอบเอาไปทำข่าวแล้วเอามาตีกระแส ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ ซึ่งก็จะมีทั้งวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกทะเลไปเลย ซึ่งช่วงหลังนี้ผมก็จะเบรค โดยอันไหนที่มันเป็นข่าวร้อน แม้จะน่าสนใจ ผมก็จะรอให้ข่าวซาไปก่อน แล้วค่อยหยิบมาวิเคราะห์ เพราะบางครั้ง ผมก็รู้สึกว่ามีการนำไปทำคอนเทนต์มากไปหน่อย และอาจกลายเป็นการชี้นำได้ ซึ่งมันไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของผม ที่ต้องการให้ความรู้”

ทพ.อภิชาติระบุ และกล่าวเพิ่มเติม โดยยกตัวอย่าง กรณีการเสียชีวิตของนักแสดงหญิงรายหนึ่ง ที่เป็นข่าวดัง มีนักข่าวติดต่อ ทพ.อภิชาติเยอะมาก โดยขอให้วิเคราะห์ ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกมาสอบปากคำ ว่าพวกเขาโกหกไหม

“ผมก็ตอบไปเลย ว่าผมต้องการวิเคราะห์ภาษากายเพื่อเป็นความรู้ ไม่ใช่เพื่อนำมาใช้ตัดสินเขาว่าเขาโกหก ถ้าคุณอยากทำอย่างนั้น ก็ทำเอง ผมไม่ทำให้ สำหรับผมมันอาจเรียกว่าจรรยาบรรณหรือความเหมาะสมก็ได้ครับ”



‘มอง’ ภาษากายนักการเมือง

ถามว่า หากมองในภาพรวม บุคคลสาธารณะที่ ทพ.อภิชาติวิเคราะห์ หากเป็นแวดวงการเมืองหรือหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเทียบกันระหว่างนักการเมืองไทย กับนักการเมืองหรือผู้นำต่างประเทศ
มีการแสดงออกใดที่สามารถวิเคราะห์ได้หรือไม่ว่า มีความเป็นมืออาชีพแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด


ทพ.อภิชาติตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมว่าก็เหมือนๆ กันครับ ขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นมีนิสัยส่วนตัวยังไง
เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ( Donald Trump อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ) ก็มีหลายอย่างคล้ายๆ กับคุณประยุทธ์ ( พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ) แล้วทั้งคู่ก็จะไม่เหมือนโอบามา ( Barack Obama : บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ )
หากถามในมุมผม ผมว่าไม่เกี่ยวว่าเป็นไทยหรือต่างชาติ ผมมองว่าพื้นฐานเขาเป็นคนยังไง ทัศนคติ ความเชื่อ บุคลิกเขาเป็นยังไงมากกว่า เขาเป็นคนยังไง ภาษากายก็เป็นอย่างนั้น ไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ

"สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแสดงออกในที่ชุมชนด้วยครับ ตรงนี้ถือว่าสำคัญ อย่างบางท่านแสดงออกในที่ชุมชนเก่งนะครับ คือเป็นคนสมาร์ท เป็นคนที่เวลาอยู่ในสังคมแล้วเขาแสดงออกได้ดี
ไม่ว่าภาษากาย ท่าทาง Eye contact การใช้มือ หรือว่าแม้แต่ Speech ที่พูด ก็จะดู Professional
ผมว่าคุณโอบามา กับบิล คลินตัน (Bill Clinton อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) สองคนนี้ เป็นคนที่ภาษากายดี ผมดูแล้วชอบมาก”


ถามว่าเป็นไปได้ไหม ที่ทั้งสองท่านซึ่งทพ.อภิชาติชื่นชม คือ Barack Obama และ Bill Clinton มีนักวิเคราะห์ภาษากายอยู่เคียงข้าง

ทพ.อภิชาติตอบว่า “ผมว่าเขาน่าจะมีที่ปรึกษาด้านบุคลิกภาพอยู่แล้วครับ เพราะว่า คนกลุ่ม High Profile ที่อเมริกา
เช่น พวกนักการเมือง เขาจะมีที่ปรึกษาด้านบุคลิกภาพอยู่แล้ว บางคนมีที่ปรึกษาหลายอย่าง เช่น ที่ปรึกษาเรื่องกฎหมาย
ทรงผม การแต่งตัว เรื่องบุคลิกภาพ เรื่อง Speech เรื่องการรับมือกับโซเชียลมีเดีย เขาจะมีที่ปรึกษาเป็นทีมของเขาเลยครับ รอบตัวเลย แต่ผมไม่รู้ว่าคุณประยุทธ์ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ) กับคุณประวิทย์ (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ) เขามีหรือเปล่า แต่ผู้นำประเทศอื่นเขา Concern เรื่องภาพลักษณ์มาก แต่บ้านเราอาจไม่เหมือนกัน

"ผมเคยได้ฟัง Trainer ภาษากายที่ผมสนิทท่านหนึ่ง ว่า Allan Pease ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ภาษากายชื่อดังของออสเตรเลีย เขาลือกันในวงการว่า Allan Pease เคยเป็นโค้ชสอน ‘ปูติน’ ( วลาดิเมียร์ ปูติน : Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย )
อันนี้เขาลือกันนะครับ ผมไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่ผู้นำเหล่านี้ เขา Concern เรื่องภาพลักษณ์ของเขามาก
ผมมองว่าปูติน ในช่วงยุคหลัง ๆ มีภาษากายที่นิ่ง ขรึม ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ออกมามากนัก ไม่มีสีหน้าหงุดหงิด เดินหนีนักข่าว หรือด่ากลับโดยใช้อารมณ์” ทพ.อภิชาติ บอกเล่าอย่างเห็นภาพ


‘ภาษากาย’ วิเคราะห์ร่วมกับหลายปัจจัย


ถามว่าศาสตร์แขนงนี้ควรนำไปใช้เพื่อช่วยในการสอบสวนผู้กระทำผิดหรือไม่
และเคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาขอให้คุณช่วยหรือไม่

ทพ.อภิชาติตอบว่า “ยังไม่มี แต่ถ้ามีก็สามารถทำได้ในบางส่วนนะครับ เช่นเพื่อ screening ในระดับสืบสวนขั้นต้นนะครับ แต่ในระดับชั้นศาลเขายังไม่ได้ให้น้ำหนักกับภาษากายว่ามีความน่าเชื่อถือที่สูงมากพอ เทียบกับพยานหลักฐาน เช่นพยานวัตถุ หรือพยานบุคคล หรือหลักฐานเอกสาร เหล่านั้นคือสิ่งหลักอยู่แล้ว ที่ใช้ตัดสินความผิดของคนหนึ่งคน แต่เนื่องจากพฤติการณ์ต่างๆ ของภาษากาย มันมีความหมายหลายอย่าง ความหมายมันกว้าง เช่น การที่คนๆ หนึ่งมือสั่น คุณอาจจะสามารถให้คำอธิบายได้ถึง 5-6 อย่างเลยนะครับ
เช่น มือสั่นเพราะกินเหล้าเยอะ เพราะกลัว เพราะเป็นโรคพาร์กินสัน ขาดวิตตามิน หรือเพราะตื่นเต้น เพราะหนาว เป็นไปได้หมด ดังนั้น เพียงแค่มือสั่น ความหมายก็กว้างแล้ว ฉะนั้น นี่คือปัญหาของภาษากาย เช่น มือสั่น เราไม่อาจฟันธงได้ว่าเป็นสิ่งใดอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เพิ่ม ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ การวิเคราะห์จึงยาก ต้องเชื่อมโยงหลายสิ่งประกอบกัน เพื่อให้ความหมายที่กว้างนั้นแคบลง”

ทพ.อภิชาติระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
ในชั้นศาล การวิเคราะห์ภาษากายภาษากายจึงไม่ถูกนำมาใช้ ถ้าถามถึงชั้นสอบสวน ตำรวจส่วนใหญ่ อาจนำมาใช้สกรีน เช่น สมมติว่ าวันนี้ เกิดเหตุไฟไหม้ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วมีผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุอยู่ อาจจะมากถึง 50 คน แล้วจะสกรีน 50 คน ให้แคบลงได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะใช้ทักษะการวิเคราะห์ภาษากายมาช่วยได้ เพื่อสกรีนคน 50 คน ให้เหลือผู้ต้องสงสัยที่น้อยลง ซึ่งฝั่งตะวันตกก็ใช้วิธีนี้ เช่น เมื่อเกิดเหตุฆาตกรรม แล้ว เจ้าหน้าที่จะเอาตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำ โดยเอากล้องมาจับภาพ แล้วดูหลายอย่างพร้อมๆ กัน อาทิ ลักษณะการพูด ภาษากาย รวมถึงการดูกราฟเครื่องจับเท็จ
เพราะฉะนั้น ภาษากาย จึงเป็นข้อมูลชุดหนึ่ง ที่คนๆ หนึ่ง จะแสดงออกมา อยู่ที่ผู้วิเคราะห์ ว่าจะสามารถทำความเข้าใจมันได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ การที่ผู้วิเคราะห์ภาษากายนั้น มีความแม่นยำ ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ‘อ่าน’ ภาษากายมาเยอะไหม มีประสบการณ์เยอะไหม ถ้ามือใหม่ ก็คงอ่านไม่แม่น เพราะมีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าต้องใช้ทั้งประสบการณ์ และความสามารถ

"การวิเคราะห์ภาษากายมันเป็น Skill (ทักษะ) เป็นการวิเคราะห์ เป็นความสามารถ ต้องสั่งสม ต้องดูเคสเยอะๆ
พนักงานสืบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายๆ ท่าน เขาก็ชำนาญในการวิเคราะห์ภาษากาย โดยที่เขาไม่ได้เรียนหลักสูตรการวิเคราะห์ภาษากายมาเลย เพราะเขามีประสบการณ์ รวมทั้งทนาย ผู้พิพากษา แม้แต่ครูอาจารย์ที่เจอลูกศิษย์เยอะๆ คนเหล่านี้ เก่งมากนะครับ อย่างเช่น ผมมีคนรู้จักเป็นตำรวจ เขาอ่านคนเก่งมาก อ่านคนได้ขาด เขาดูออกว่าคนนี้ น่าสงสัย คนนี้บุคลิกแปลกๆ เขาจะไวมากเลยครับ เพราะเขาเจอคนมาเยอะ ทำเคสมาเยอะ การที่ได้เจอเคสเยอะๆ ทำให้เขามีพื้นฐานด้านนี้เองโดยอัตโนมัติ โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย แล้วก็แม่นยำด้วย เรียกว่าเป็นการมีความรู้ด้านภาษากายโดยสั่งสมจากประสบการณ์การทำงาน ทำให้เขามีความรู้ด้านนี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งถ้าได้เรียนเพิ่มอีกหน่อยเชิงทฤษฐีโดยเฉพาะการวิเคราะห์ภาษากายผมคิดว่าจะยิ่งแม่น เป็นเสือติดปีกเลย” ทพ.อภิชาติระบุ









ถามว่าเมื่อได้รับเชิญไปบรรยายให้แก่องค์กรต่างๆ ไม่ทราบว่าเขาสนใจภาษากายในประเด็นใด

ทพ.อภิชาติตอบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เขามีแนวคิดที่อยากให้วิทยากรนอกองค์กร มาให้ความรู้กับพนักงาน ในหัวข้อที่ทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับด้านการเงินเลย แต่เกี่ยวกับชีวิตของพนักงานทั้งออฟฟิศ ทำยังไงให้ชีวิตพวกเขา well-being ดีขึ้น

“สิ่งที่เขาสนใจอยากมี คือการวิเคราะห์ภาษากาย โดยแต่ละคนสนใจในแง่มุมแตกต่างกัน
เช่น บางคนเขาสนใจเรื่องบุคลิกภาพ อยากให้บุคลิกภาพของตัวเองดีขึ้น เขาอยากรู้ว่าภาษากายที่ไม่ดีคืออะไร จะได้ไม่เผลอทำ เป็นต้น

"บ้างก็อยากรู้ว่า คนนี้มีลับลมคมในอะไรหรือเปล่า คนนี้โกหกฉันอยู่หรือเปล่า บางคนก็สนใจแนวนี้ เรียกว่าแนวจับผิด มีหลายกลุ่มในบริษัทที่เน้นเรื่องนี้ เช่น ฝ่าย HR ( Human Resource หรือแผนกทรัพยากรมนุษย์-ฝ่ายบุคคล ) กับฝ่าย Audit
อย่าง HR เวลารับคนเขาก็อยากดูคนให้ลึกขึ้นอีกหน่อย เช่น ตอนสัมภาษณ์ หรือ ประเมินพนักงาน ฝ่าย Audit
เขาต้อง Audit คนในองค์กร ว่ารายงานที่ได้รับมา จริงเท็จแค่ไหน มีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า แล้วก็ยังมีฝั่งเซลล์ เขาชอบมากเลย เพราะเขาอยากอ่านลูกค้าได้มากขึ้น เข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น อยากรู้ว่าลูกค้าคิดอะไรอยู่ รู้สึกยังไง เขาจะสามารถปิดการขายได้เลยไหม เซลล์และนักขายมือทองจะชอบมากครับ เรื่องการวิเคราะห์ภาษากาย

"อาชีพทนายก็ชอบนะครับ ล่าสุด ผมคุยกับทนายท่านหนึ่ง เขาบอกว่า การที่รู้ว่าลูกความตัวเองพูดจริงหรือไม่จริง สำคัญมากสำหรับเขา เพราะบางครั้งลูกความโกหกเขา ไม่ได้พูดความจริงกับเขาเต็มร้อย อย่างคดีอาญาเขาก็อยากให้ลูกความพูดความจริงกับเขา เพราะถ้าพูดไม่ครบ เมื่อขึ้นศาลไปคดีพลิก ก็ทำให้เขาทำคดียาก
เขาก็อยากจะสกรีนลูกความเขาเหมือนกัน เพราะหลายครั้งทนายโดนหลอกก็มี เคสนี้เขาปรึกษาผมเป็นการส่วนตัว เขาก็เล่าให้ฟังว่าเขาถูกลูกความหลอกมา
เขารู้สึกว่าตอนนั้น ถ้าเขามีความรู้ในการวิเคราะห์ภาษากาย เขาอาจไม่โดนหลอก

"ผมบอกเขาว่า ภาษากาย หลอกกันไม่ได้หรอก เมื่อคุณกลัว เมื่อคุณโกรธก็จะปะทุขึ้นมา ภาษากายก็จะปรากฏออกมาตรงนั้น ภาษากายจึงเป็นสิ่งที่ซื่อสัตย์เสมอ ภาษาพูดโกหกได้ แต่ภาษากายไม่เคยโกหก
เมื่อเรานำทั้งภาษาพูด และ ภาษากายมาวิเคราะห์ร่วมกันเราจะตัดสินใจได้ว่าจะให้น้ำหนัก หรือความเชื่อถือกับสิ่งที่ปรากฎมากน้อยเพียงใด" 
ทพ.อภิชาติ บอกเล่าอย่างน่าสนใจ


ถามว่าการศึกษาศาสตร์ด้านภาษากาย (Body Language) และการแสดงออกทางใบหน้า (Facial Expression) จำเป็นต้องศึกษาควบคู่ไปกับความรู้หรือ หลักการอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ มีอะไรบ้างที่ควรใช้พิจารณาประกอบกัน

คุณหมอนักวิเคราะห์ภาษากายตอบว่า “ภาษากายเป็นข้อมูลอย่างหนึ่ง ที่เมื่อวิเคราะห์ประกอบกับหลายๆ อย่าง จะทำให้เราประมวลผลแม่นยำมากขึ้น เช่น หากผมรู้จักบุคลิกภาพพื้นฐานของคนๆ นั้นก็จะช่วยให้เข้าใจบุคคลนั้นมากขึ้น หรือวิดีโอที่ยาว ย่อมมีประโยชน์กว่าวิดีโอที่สั้น เพราะข้อมูลมีมากกว่า
เมื่อเทียบกับวิดีโอ ‘ภาพนิ่ง’ ก็จะบอกได้น้อยที่สุด

"ไม่ใช่แค่นั้น การวิเคราะห์ผ่านวิดีโอก็ขึ้นอยู่กับว่าความละเอียดแค่ไหน มุมกล้องยังไงอีก
ดังนั้น เวลาที่ผมวิเคราะห์ ผมจะนำหลักของบุคลิกภาพพื้นฐานของคน ๆ นั้นมาใช้ด้วย ว่าเขามีบุคลิกภาพยังไง
และหากเรารู้พื้นเพของเขา ก็จะวิเคราะห์ได้แม่นยำขึ้น

สำหรับผมมันไม่ง่าย แล้วก็ไม่ถึงกับยาก ต้องสั่งสมความรู้และการฝึกฝน และภาษากายไม่เหมาะกับการฟันธง อย่างที่ผมบอกว่ามันอ่านได้กว้างมาก ต้องมีอย่างอื่นประกอบกัน เพื่อให้ความหมายนั้นแคบลง” ทพ.อภิชาติระบุ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ และครอบครัว

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ และครอบครัว

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ และครอบครัว
ยกระดับสู่ ‘Empathy’ ความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนมนุษย์

ถามทิ้งท้ายว่า ถ้าหากวันนี้ มนุษย์เรามีความรู้ภาษากาย เราจะมีอะไรที่แตกต่างจากเดิมบ้าง

ทพ.อภิชาติกล่าวว่า “ผมคิดว่า ประการแรก เราจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น
เช่น การแสดงสีหน้า ถ้าเรารู้ภาษากาย เราจะรู้ว่าคนนี้กำลังโกรธอยู่นะ คนนี้เขาไม่พอใจนะ เขาเบื่อนะ เขาเสียใจอยู่นะ เราจะดูได้ลึกขึ้น แม่นขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น 

ไม่ว่าจะเป็นลูก สามี ภรรยา เพื่อนร่วมงาน เราจะเข้าใจคนลึกขึ้น เพราะอารมณ์ย่อมสะท้อนผ่านภาษากาย 
ถ้าเรายึดแต่การพูด เราอาจไม่รู้ว่าเขาอยู่ในอารมณ์ไหน เพราะทุกคนมักจะพูดว่า “สบายดี” แต่ภาษากายสามารถสังเกตได้ทันทีเลย

"หลายครั้ง ถ้าเป็นคำพูด ก็มักจะบ่ายเบี่ยงได้ เนื่องจากมนุษย์เราจะอยู่ในกรอบของสังคมที่ต้องรักษากาลเทศะ ต้องมารยาทดี เพราะฉะนั้น คนเรามักจะโกหกเสมอ ไม่ว่าจะเจตนาดีหรือไม่ หรือด้วยแรงจูงใจใด ๆ เช่น ถ้าคุณถามผมว่า ‘วันนี้เป็นไงบ้าง’ 
ผมบอก ‘ทุกอย่างโอเค’ เพราะผมไม่อยากให้คุณกังวลไปกับผม ผมก็บอกทุกอย่างโอเค ทั้งที่ผมอาจจะมีปัญหามากๆ อยู่ แต่คุณก็อาจเข้าใจว่า เมื่อผมบอกทุกอย่างโอเค งั้นก็จบ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ผมกำลังทุกข์ระทมอยู่นะ 
ถ้าเราสังเกตสิ่งเหล่านี้ได้ สังเกตภาษากายได้ ว่าเขาไม่โอเคนะ เราสามารถช่วยเขาได้ไหม 
เขาต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า
ผมว่าความรู้ด้านภาษากาย ช่วยเรื่อง Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนมนุษย์ได้
ไม่ว่า อาจารย์กับนักเรียน สามีภรรยา เพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุดเลยคือ เราเข้าใจกันมากขึ้น 
แคร์กันมากขึ้นครับ”

เป็นการทิ้งท้ายที่เปี่ยมด้วยความหวัง กำลังใจและพลังแห่งการเยียวยาซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง เหมาะอย่างยิ่งกับทุกสภาพสังคม นับแต่ระดับปัจเจกรวมถึงสังคมโลกในทุกวันนี้

…………………
Text : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo : ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์