อธิบดีกรมการค้าภายใน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2565 โดยตลอดปีการผลิต 65 ได้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต รวม 487,000 ตัน ประกอบด้วย การรับซื้อภายใต้มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ปริมาณ 234,000 ตัน เช่น อมก๋อยโมเดล การกระจายออกนอกแหล่งผลิต (3 บาท/กก.)
ผลักดันการส่งออก รถเร่ผลไม้ จัดพื้นที่ขาย ณ ห้างท้องถิ่น ปั๊มน้ำมัน ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก กิจกรรมพาณิชย์ “Fruit festival 2022” และการรับซื้อภายใต้มาตรการเสริม ปริมาณ 253,000 ตัน เช่น เปิดจุดจำหน่ายผลไม้เพิ่มเติม การส่งเสริมการแปรรูปทุเรียนสดเป็นทุเรียนแช่เยือกแข็งและลำไยแปรรูปส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลจากการดำเนินงานตลอดปี 65 ส่งผลให้ราคาผลไม้ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยเฉพาะสินค้าผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ สับปะรด โดยราคาสับปะรดภูแล ปีนี้อยู่ที่ 4.5 บ./กก. สูงกว่าปีที่แล้วที่ 3.75 บ./กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย 5.70 บ./กก. สูงกว่าปีที่แล้วที่ 5.49 บ./กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 4
ในวันนี้ (1 ตุลาคม 2565) กรมการค้าภายในได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับซื้อผลผลิตสับปะรดจากเกษตรกรเป็นการล่วงหน้า ภายใต้มาตรการ “อมก๋อยโมเดล” โดยผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาคเอกชน 10 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการแปรรูป (บจก.สามร้อยยอด และบจก.นานาฟรุ้ต) ผู้ประกอบการส่งออก (บจก. สตูดิโอ จี บาร์ บจก. มาตา เทรดดิ้ง และ บจก. เอ็มที ฟรุ๊ตแลนด์) ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก (แม็คโคร โลตัส เดอะมอลล์ เซ็นทรัล และบิ๊กซี) ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผลผลิตสับปะรด ภายใต้สัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายใน กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด จังหวัดเชียงราย จำนวน 12 กลุ่ม 4 อำเภอ รับซื้อสับปะรดเชียงราย รวม 12,600 ตัน แบ่งเป็น พันธุ์ภูแล 8,300 ตัน ในราคานำตลาด ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 6 บาท ปัตตาเวีย 4,300 ตันในราคานำตลาด ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 5 บาท เพื่อกระจายผลผลิตออกสู่ช่องทางต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเป็นน้ำสับปะรด โดยความร่วมมือระหว่างอิชิตัน กับปั๊มพีที ภายใต้แบรนด์ หลวงพ่อพบโชค การแปรรูปสับปะรดเป็นผลิตภัณฑ์อบแห้งส่งออกต่างประเทศ และการกระจายผลผลิตในประเทศผ่านห้างค้าส่ง-ค้าปลีก และผู้ประกอบการ ซึ่งการรับซื้อสินค้าสับปะรดเป็นการล่วงหน้านี้จะเป็นหลักประกันใหเกษตรกรได้ว่าจะสามารถขายได้ในราคาที่ทำการซื้อขายอย่างแน่นอน ซึ่งภายใต้กิจกรรม “อมก๋อยโมเดล ช่วยสับปะรด เชียงราย” ในครั้งนี้จะส่งผลให้ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจากการขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกในวันนี้จะส่งผลให้สถานการณ์ผลผลิตและราคาสับปะรดในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีและปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน อีกทั้งพี่น้องเกษตรกรก็จะมีช่องทางในการกระจายผลผลิต และมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย