วัดนี้ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะมีตำนานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี จ.ศ.๒๙๖ หรือ พ.ศ.๑๔๗๗ โดยรัชกาลที่ ๑๐ ของราชวงศ์สิงหลวัติ ผู้สร้างนครโยนกเชียงแสน ซึ่งได้ล่มสลายกลายเป็นบึงไปใน พ.ศ.๑๕๕๘ ครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในภาคเหนือ แต่วัดนี้ไปสร้างอยู่บนดอยริมแม่น้ำแม่สาย ที่เกี่ยวพันกับเรื่อง “แมงป่องยักษ์” ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากเมือง จึงไม่ได้จมอยู่ก้นบึงไปด้วย
กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๐ ของราชวงศ์สิงหลวัติมีพระนามว่า พระเจ้าชาตธิราช แต่เรียกกันว่า “พระองค์เวา” ซึ่งคำว่า เวา เป็นภาษาล้านนา หมายถึง แมงป่องยักษ์หรือแมงป่องช้าง เป็นแมงป่องขนาดใหญ่ ตัวดำ ก้ามใหญ่ ดูน่าเกรงขาม แต่มีพิศน้อยกว่าแมลงป่องธรรมดาเสียอีก มีนิสัยก้าวร้าว จึงนิยมเอามากัดกัน และ “พระองค์เวา” ก็ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ บ้างก็เรียกกันว่า “พระองค์ควักเวา” ควัก หมายถึงขุดจับ
วันหนึ่งขณะที่พระองค์พระชนมายุ ๖๐ พรรษา ได้เสด็จไปตรวจบ้านเมืองถึงริมแม่น้ำสาย ทอดพระเนตรเห็นเนินเขาแห่งหนึ่งใกล้ฝั่งแม่น้ำ จำได้ว่าพระองค์เคยเสด็จมาควักเวา ณ ที่นี้ จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นที่นั้นให้เป็นมิ่งมงคลแก่ราษฎร หลังจากนั้นก็ให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธองค์ไว้ พระราชทานนามว่า “พระธาตุดอยเวา” ซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่ในแผ่นดินล้านนา เป็นรองก็แต่ “พระธาตุดอยตุง” ซึ่งสร้างขึ้นโดย พระเจ้าอชุตราช กษัตริย์รัชกาลที่ ๓ ของราชวงศ์สิงหนวัติเช่นกัน
หลังจากนครเชียงแสนโยนกล่มสลายกลายเป็นบึง พระธาตุดอยเวาก็ถูกทอดทิ้งร้างและหักพังไปตามกาลเวลา บางเวลาก็มีพุทธศาสนิกชนบูรณะขึ้นบ้าง จนถึง พ.ศ.๒๔๙๓ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระธาตุดอยเวาก็เหลือแต่ฐานชั้นล่าง สูงเพียง ๒ เมตร มีพระภิกษุชาวไทยลิ้อองค์หนึ่งเดินทางมาจากเมืองลวง ในเขตสิบสองปันนา ประเทศจีน ได้ร่วมกับ นายบุญยืน ศรีสมุทร คหบดีชาวอำเภอแม่สาย มีดำริจะบูรณะพระธาตุดอยเวาขึ้นใหม่ จึงบอกบุญไปยังพ่อค้าประชาชนในเขตใกล้เคียงร่วมลงเงินกันบูรณะพระเจดีย์ดอยเวา และขออนุญาตไปยังกรมศิลปกร ได้รับการอนุมัติให้สร้างขึ้นตามแบบศิลปะล้านนา
ขณะที่เริ่มการบูรณะขุดแต่งบริเวณรอบๆพระเจดีย์ ได้พบผอบหินดำขนาดเท่าไข่เป็ด ๕ ผอบ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงบรรจุไว้ในพระเจดีย์ตามเดิม
ในขณะที่กำลังบูรณะ สมเด็จพุฒาจารย์ (อาจ ดวงมาลา) วัดมหาธาตุ ขณะเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองมาตรวจเยี่ยม ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า พระธาตุดอยเวาอยู่ในทำเลที่ดีมาก น่าจะย้ายวัดไชยมงคล ซึ่งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ห่างไป ๕๐๐ เมตร มารวมอยู่ด้วย เพื่อให้ส่งเสริมกันยิ่งขึ้น ปัจจุบันวัดไชยมงคลจึงเป็นแค่ธรณีสงฆ์ให้เช่าเท่านั้น
ในปลายปี ๒๔๙๖ กรมการศาสนาได้อนุมัติให้วัดพระธาตุดอยเวาขึ้นทะเบียนเป็นวัดราษฎร์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดพระธาตุดอยเวา” ต่อมาในปี ๒๕๑๘ เมื่อมีการสร้างบันไดนาค ๒๐๗ ขั้นจากลานวัดขึ้นไปถึงองค์พระธาตุ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ให้กรมทางหลวงสร้างถนนคอนกรีตกว้าง ๘ เมตรแยกจากถนนพหลโยธินมาถึงเชิงบันไดนาค ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงราย
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของวัดพระธาตุดอยเวา นอกจากจะเป็นองค์พระธาตุแล้ว ยังมีแมงป่องยักษ์กางก้ามใหญ่ เป็นที่ระลึกถึง “พระองค์เวา” ผู้สร้างพระธาตุนี้ ณ สถานที่พระองค์เคยเสด็จมาควักเวา
วัดพระธาตุดอยเวายังเป็นที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระพี่นางสุพรรณกัลยา มีจุดชมวิวซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอแม่สายและเมืองท่าขี้เหล็กของพม่าได้ชัดเจน โดยมีแม่น้ำแม่สายกั้นเขตแดนของประเทศทั้งสอง
วัดพระธาตุดอยเวายังทันสมัย มี “พิพิธภัณฑ์หมูป่า ๑๓ ชีวิตติดถ้ำหลวง” บันทึกเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความร่วมมือของนานาชาติอันเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก โดยมีภาพข่าวแสดงไว้กว่า ๕,๐๐๐ ภาพ พร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้ในวันติดถ้ำเขาหลวง ซึ่งทีมหมูป่าได้นำมาบริจาคให้วัด และเปิดให้เข้าชมฟรี ทั้งนี้เนื่องมาจากหลังเหตุการณ์ ทีมหมูป่าอะคาเดมีและผู้ฝึกสอน ๑๒ คนได้อุปสมบทที่วัดดอยตุง อีกคนหนึ่งเป็นคริสต์ศาสนิกชนได้แยกไปทำพิธีตามศาสนาของตน เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานความช่วยเหลือทีมหมูป่าขณะติดถ้ำ พร้อมด้วยอุทิศส่วนกุศลให้ “จ่าแซม” นาวาตรีสมาน กุนัน ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่า เมื่ออุปสมบทที่วัดพระธาตุดอยตุงแล้ว ได้มาจำพรรษาที่วัดพระธาตุดอยเวาจนถึงวันลาสิกขา
นี่คือความเป็นมาของวัดหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย และมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๑,๐๐๐ ปี