xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 18-24 ก.ย.2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง "สุเทพ" กับพวก คดีฮั้วประมูลสร้างโรงพัก เจ้าตัวดีใจพ้นเคราะห์ ยันไม่ลงเลือกตั้ง แต่ทำงานให้ ปท.-ปชช.!

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิ.ย.2552-18 เม.ย.2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญา มาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา ได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา

ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในทางไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ค.ร.ม.มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนให้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และวิธีจัดสรรงบประมาณรายปี ส่วนวิธีที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเพียงเหตุผลประกอบ ซึ่ง ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการและจัดสรรงบประมาณให้ ไม่เกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างและวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะไม่ใช่อำนาจของ ครม. ซึ่งเป็นอำนาจของหน่วยงานรัฐ คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การที่จำเลยที่ 1 อนุมัติการจัดจ้างก่อสร้างแบบรายภาค 1-9 ภาค และเปลี่ยนเป็นวิธีอิเล็กทรอนิกส์รวมกันในครั้งเดียว โดยไม่เสนอให้ ครม.อนุมัติ จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานรักษาการ ผบ.ตร.ได้ใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบตามระเบียบ ครม.การจัดทำรูปแบบ แนวทางรวมถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและขออนุมัติจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงาน และได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จำเลยที่ 2 ได้ใช้ดุลพินิจเห็นชอบตามระเบียบสำนักนายกฯ การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 3-4 เป็นประธานและเลขานุการคณะกรรมการประกวดราคาฯ ตามลำดับ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ครม.ในการดูแลให้เกิดความเรียบร้อยในการเสนอราคา แม้ว่าจำเลยที่ 3-4 ไม่ได้เสนอบัญชีปริมาณวัสดุให้ครบถ้วน แต่ราคาทั้งหมดไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในภาพรวม และจำเลยที่ 5 เป็นการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเอง เมื่อพิจารณาเอกสารความเห็น ย่อมไม่เกิดความเสียหาย และไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3-4 แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การกระทำจึงไม่เป็นความผิด

ส่วนจำเลยที่ 5-6 โจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3-4 กระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5-6 กระทำความผิดด้วย มติเสียงข้างมากพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-6

ด้านนายสุเทพ ให้สัมภาษณ์หลังจากศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องว่า ตนต้องตกอยู่ภายใต้กระแสการโจมตีว่าเป็นคนเลว คนทุจริต เกือบ 10 ปี อดทนอดกลั้นและอาศัยความจริงเข้ามาต่อสู้ ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และรู้ว่าเราตั้งใจทำความดีให้กับชาติบ้านเมืองและประชาชน จะได้รับการคุ้มครอง

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย อำนาจตุลาการของศาล ยังเป็นที่พึ่งหลักของบ้านเมืองได้ คนที่ยึดมั่นในหลักการ ยึดมั่นในระบบ ขอให้มีกำลังใจ สำหรับตนทนทุกข์ทรมานใจมานาน ตอนนี้หมดทุกข์ หมดโศก พ้นเคราะห์ จะเดินหน้าทำงานให้กับประเทศชาติและประชาชนตามอุดมการณ์ต่อไป ในชีวิตของตนทุ่มเททำงานให้กับบ้านเมืองและประชาชนด้วยความสุจริต ไม่มีใจที่จะคิดคตทรยศต่อแผ่นดิน ไม่ใช่คนทุจริตคอรัปชั่น ทุกอย่างได้พิสูจน์แล้ว ใครที่เคยกล่าวหาโจมตี ตนขออโหสิให้

เมื่อถามว่า ได้ศักดิ์ศรีกลับคืนมาแล้ว จะฟ้องร้องผู้ทำให้เสียหายหรือไม่ นายสุเทพ เผยว่า ยังไม่ได้คิด หลังจากนี้จะไปไหว้ศาลหลักเมือง ไหว้พระแก้วมรกต เพราะเวลาต่อสู้คดี ตนได้ตั้งสัตย์อธิษฐาน ตนใช้ความจริงในการต่อสู้ ไม่ได้คิดหรือโทษอะไรใครทั้งสิ้น

ส่วนหลังจากนี้จะเดินหน้าทางการเมืองอย่างไรนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ตนต้องการสนับสนุนพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริง ตนได้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลัง ที่มี ส.ส. 5 คน และมีรัฐมนตรี 1 คน เราทำประโยชน์ให้กับประชาชนมามาก ช่วงที่ก่อตั้งพรรค ตนถูกโจมตีจากข้อมูลเท็จ แต่วันนี้ตนพ้นผิดมีกำลังใจในการเดินหน้าทางการเมืองต่อไป ยืนยันไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่จะขอสร้างนักการเมืองที่ดีมาทำงานเพื่อประชาชน

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า “อะไรที่ช่วยได้ก็ช่วย เคยลั่นสัจจะวาจาไว้แล้วตอนเดินขบวนว่า จะไม่กลับไปยุ่งทางการเมือง ส่วนสมาชิกพรรคที่จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ผมก็ไม่ทราบว่าจะรอดหรือไม่ ต้องรอการตัดสินวันที่ 30 ก.ย. ผมไม่มีเพาเวอร์อะไร มีแต่หัวใจ ทุกอย่างที่ทำทำเพื่อหัวใจ หัวใจที่รักชาติ รักแผ่นดิน รักประชาชน ยืนยัน ผมไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปช่วยใครได้”

2.ศบค. มีมติยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมยุบ ศบค. ตั้งแต่ 30 ก.ย.นี้ เหตุยอดผู้ป่วยโควิด-เสียชีวิตลดลงทั้งไทย-ทั่วโลก!


เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 24 มี.ค. 2563 และขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฯ คราวที่ 19 ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 รวมทั้งข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่นายกรัฐมนตรีและ ครม.ใช้อำนาจประกาศฉุกเฉินทั้งหมด มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป ไม่ขยายแล้ว ถือเป็นการสิ้นสุด ศบค.

ส่วนเหตุผลที่ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดดีขึ้นทั่วโลก ทั้งผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง ประชาชนและผู้ประกอบการดำเนินชีวิตตามปกติแล้ว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีการทำกรอบนโยบายรองรับแล้ว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า "ปลัด สธ.รายงานสถานการณ์โควิด การคาดการณ์สถานการณ์ปัจจุบันทั้งผู้ป่วยรายใหม่ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตต่ำกว่าเส้นคาดการณ์สีเขียว โดย สธ.คาดการณ์ว่า หลังจากนี้ผู้ป่วยรายใหม่ปี 65-66 อาจมี Small Wave คลื่นลูกเล็กตามสถานการณ์ เสียชีวิตน่าจะต่ำหลักสิบ จึงขอเน้นย้ำให้เข้มเรื่องของการป้องกันตนเอง"

นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า สอดคล้องกับผู้มาท่องเที่ยวในไทยขึ้นมา 5.2 ล้านกว่าคน จาก 4 แสนกว่าคนในปี 2564 รายได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-21 ก.ย. รวมกว่า 2 แสนกว่าล้านบาท โดยมาเลเซียเข้ามาทางบกมากสุด อินเดียเข้ามาทางอากาศมากที่สุด คนไทยเที่ยวไทยกันเองช่วยได้ถึง 4 แสนกว่าล้านบาท รวมรายได้ 6 แสนกว่าล้านบาทแล้ว ก็จะเพิ่มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

3. ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง "ขุนค้อน-อุดมเดช" สับเปลี่ยนร่าง รธน. แก้ที่มา ส.ว. เชื่อไม่มีเจตนา-คิดว่าทำได้!



เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะจำเลยที่ 1 และนายอุดมเดช รัตนเสถียร จำเลยที่ 2 กรณีสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา

โดยคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 1 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง จำเลยที่ 2 เป็น ส.ส. ใช้อำนาจหน้าที่กระทำการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 สับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เสนอต่อประธานรัฐสภา โดยไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อรับรอง ซึ่งร่างฉบับใหม่ที่นำมาสับเปลี่ยน ได้เพิ่มเนื้อหาแตกต่างจากร่างเดิมในหลักการที่เป็นสาระสำคัญ กล่าวคือ ผู้เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. ซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี

และจำเลยที่ 1 รู้เห็นให้มีการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. โดยไม่ตรวจสอบและสั่งการให้แก้ไขให้ถูกต้อง และจงใจนับกำหนดเวลาแปรญัตติย้อนหลัง ทำให้เหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 291
ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมาตรา 198 ซึ่งทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ ศาลมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น คือ 1. การสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.นั้น ศาลเชื่อว่า จำเลยที่ 2 เพียงต้องการแก้ไขร่างเดิมเพื่อให้มีเนื้อความถูกต้องตรงกับความประสงค์ของสมาชิกรัฐสภาที่ลงชื่อเสนอมาเท่านั้น หาใช่มีเจตนาแก้ไขตามความประสงค์ส่วนตัว อีกทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ใช้อิทธิพลหรืออำนาจครอบงำสั่งการใดๆ บังคับ

รวมทั้งการนำร่างฉบับใหม่มาเปลี่ยนร่างเดิม ซึ่งมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา และจำเลยที่ 1 ได้เรียกผู้อำนวยการสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปสอบถามแล้วยืนยันว่า สามารถทำได้ นับว่ามีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าทำได้ หากจำเลยที่ 1 ไม่เชื่อว่าทำได้ หรือเชื่อว่าทำไม่ได้ จำเลยที่ 1 ก็ให้ฝ่ายจำเลยที่ 2 ไปดำเนินการเสนอร่างเข้ามาใหม่ โดยให้สมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเสนอญัตติเข้ามาใหม่ ก็ทำได้โดยง่าย เพราะจำเลยทั้งสองสังกัดพรรคการเมืองเดียวกัน และผู้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติส่วนใหญ่ก็สังกัดพรรคการเมืองเดียวกันกับจำเลยทั้งสอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนา และเจตนาพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง

2. การที่จำเลยที่ 1 นำร่างฉบับใหม่ที่จำเลยที่ 2 เสนอบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นความผิดหรือไม่ ศาลเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 กระทำเช่นนั้นเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าผู้เสนอญัตติสามารถแก้ไขญัตติได้ หากประธานรัฐสภายังไม่ได้สั่งอนุญาตให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา จึงเป็นการสั่งไปโดยถือว่าได้มีการแก้ไขญัตติเดิมเป็นร่างฉบับใหม่เพียงฉบับเดียวแล้วนั่นเอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาและเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกที่ร่วมพิจารณาญัตติ ฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามคำฟ้อง

3. จำเลยที่ 1 จงใจนับกำหนดเวลาแปรญัตติย้อนหลัง ทำให้เหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการกระทำความผิดอาญาตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้รับหลักการในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อ 96 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมชั้นคณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภาผู้ใดเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้เสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดเวลาแปรญัตติสำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไว้เป็นอย่างอื่น มีผู้เสนอให้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติภายใน 60 วัน แต่เมื่อที่ประชุมรัฐสภายังไม่ได้มีการลงมติ ถือว่ารัฐสภาไม่ได้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น

การที่จำเลยที่ 1 เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.56 และที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้นับแต่วันรับหลักการตามข้อบังคับข้างต้น ศาลเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ตีความโดยจำเลยที่ 1 เชื่อเช่นนั้นจริง

ศาลยังระบุด้วยว่า การจะเป็นความอาญาตามฟ้อง ต้องมีข้อเท็จจริงให้รับฟังด้วยว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ และมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือมิฉะนั้นก็มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาและเจตนาพิเศษดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

4. ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก "นริศร" อดีต ส.ส.เพื่อไทย 16 เดือน ไม่รอลงอาญา ชี้พฤติการณ์ร้ายแรงกรณีเสียบบัตรแทนกัน!



เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กรณีเสียบบัตรแทนกัน ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2556 พิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมวาระสอง

โดยนายนริศร ได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองและสมาชิกคนอื่นไปแสดงตนและลงมติ และวันที่ 11 ก.ย. 2556 ก็ได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนและสมาชิกอีกหลายคนไปแสดงตนและลงมติ พร้อมขอให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม. 8/2565 ทั้งนี้ นายนริศรให้การปฏิเสธ

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการในชั้นของ ป.ป.ช. ไม่ได้เป็นการเร่งรีบรวบรัดที่จะมุ่งเอาผิดนายนริศรตามที่ได้กล่าวอ้าง บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุวันเดือนปีที่เกิดเหตุโดยละเอียดแล้ว จำเลยได้แถลงต่อศาลว่า ไม่เข้าใจคำฟ้อง ซึ่งคำฟ้องของอัยการสูงสุดชอบแล้ว และมีอำนาจฟ้อง

ส่วนคลิปที่จำเลยนำบัตรหลายใบไปเสียบในเครื่องลงคะแนน 3 คลิป ไม่พบร่องรอยการตัดต่อ เป็นคลิปจริง และปรากฏหลักฐานตามคลิป จำเลยใช้บัตรลงคะแนนแทนสมาชิกคนอื่น แม้ต่อมา คสช.ได้มีประกาศให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 แต่ก็หาได้เป็นการลบล้างการกระทำความผิดของจำเลยอันมิชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้น หรือมีผลกลับกลายเป็นการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

ซึ่งการกระทำของนายนริศรเป็นการกระทำต่างวันเวลากัน จึงเป็นความผิด 2 กระทง องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิพากษาให้จำคุกกระทงละ 1 ปี แต่คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษเป็นกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง 16 เดือน

อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยทำความผิดใดๆ มาก่อน ก็ไม่เพียงพอที่จะรอลงอาญา ส่วนคำขอของอัยการสูงสุดที่ขอให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีอาญา อม.8/2565 นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่มีการพิพากษา ส่วนนี้ศาลจึงให้ยก

5. "แม่แตงโม" พอใจได้เงินเยียวยา 9.2 ล้าน ถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมแล้ว ยัน เงินเท่าไหร่ก็ซื้อชีวิตคนไม่ได้!



ความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ อดีตนักแสดงชื่อดัง เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศาลจังหวัดนทบุรีได้นัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 6 คน คือ นายตนุภัทร หรือปอ เลิศทวีวิทย์ นายไพบูลย์ หรือโรเบิร์ต ตรีกาญจนานันท์ นายนิทัศน์ หรือจ๊อบ กีรติสุทธิสาธร น.ส.อิจศรินทร์ หรือกระติก จุฑาสุขสวัสดิ์ นายวิศาพัชร หรือแซน มโนมัยรัตน์ และนายภีม หรือเอ็ม ธรรมธีรศรี ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน ในข้อหาหลักคือ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

ด้านนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน แม่ของแตงโม ซึ่งเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ เผยว่า วันนี้เป็นครั้งแรกของการขึ้นศาล เบื้องต้นยังไม่ได้คุยอะไรกับใครเลย ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดเรื่องจำนวนตัวเลขการเยียวยาหรือยัง นางภนิดากล่าวว่า คิดไว้แล้วแต่ยังตอบไม่ได้ ขอคุยกับทางศาลก่อน ตนยังไม่ได้มีโอกาสคุยกับทั้ง 6 คน แต่ถึงวันนี้ตนไม่โกรธใคร ให้อภัยทุกคนหมดแล้ว ก่อนหน้านี้ตนไม่ได้เจอกระติกเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก หากเจอก็ยังคุยกันได้

ต่อมา นายพรศักดิ์ วิภาสอาภานนท์ ทนายความของแซน วิศาพัชร ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาศาลว่า ศาลจะสอบคำให้การว่าจำเลยรับสารภาพ หรือปฏิเสธข้อกล่าวหา ในส่วนของแซนยังคงยืนยันคำให้การเดิมคือปฏิเสธ และจะรอดูพยานหลักฐานในนัดต่อไป คือนัดตรวจพยานหลักฐานเพื่อเตรียมต่อสู้คดี

นายพรศักดิ์กล่าวต่อว่า แซนได้ยื่นคัดค้านการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของแม่แตงโมที่ได้ยื่นเรื่องไว้ก่อนหน้านี้ สาเหตุที่คัดค้านเนื่องจากมองว่าผู้เสียชีวิตคือแตงโม มีส่วนในการกระทำประมาทด้วยเหมือนกัน โดยยึดตามข้อเท็จจริงที่อัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า ผู้เสียชีวิตประมาทอย่างไร ดังนั้น นางภนิดาที่เป็นบุพการีของผู้เสียชีวิต อาจไม่มีสิทธิ์ในการเป็นโจทก์ร่วมในส่วนของคดีอาญา

ด้านแซน วิศาพัชร และกระติก อิจศรินทร์ ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาถึงศาลว่า ยังยืนยันคำเดิมว่าขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากมองว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด วันนี้จะคุยกับทนายเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายให้แม่ภนิดาด้วย ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอน พวกตนกับแม่แตงโมยังทักทายพูดคุยกันได้ปกติ

นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ทนายความของกระติก กล่าวว่า วันนี้ศาลนัดหมายทั้งสองฝ่ายให้มาตกลงเจรจาเรื่องค่าชดเชยในคดี ลูกความของตนได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หากให้ลูกความของตนยินยอมจ่ายหรือชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งตามที่ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องมา เท่ากับว่าลูกความตนยอมรับผิดตามที่ถูกกล่าวหา ดังนั้น จะไม่เจรจาเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในคดีแพ่ง ส่วนในกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาด้วยกันอาจจะตกลงจ่ายค่าชดเชยให้เป็นบางคน แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด

หลังศาลสอบปากคำและไกล่เกลี่ยระหว่างจำเลยทั้ง 6 คน กับนางภนิดานานกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ด้วยดี โดยจำเลยได้วางเงินต่อศาลจำนวน 2 ล้านบาท เป็นเงินสด 400,000 บาท และแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับ ฉบับละ 800,000 บาท พร้อมทำสัญญาดูแลแม่ เดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี หรือจนกว่าจะเสียชีวิตโดยไม่ตกถึงทายาท (รวมจำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้นางภนิดาประมาณ 9.2 ล้านบาท) เป็นที่พอใจของนางภนิดา จากนั้นนางภนิดาได้ยื่นเรื่องขอถอนจากการเป็นโจทก์ร่วม

เป็นที่น่าสังเกตว่า แซน วิศาพัช และกระติก ได้มอบต่างหูมุกให้นางภนิดาเป็นของขวัญด้วย มูลค่าประมาณ 5 หมื่นบาท

ด้านนายพรศักดิ์ วิภาสอาภานนท์ ทนายความของแซน เผยหลังการไกล่เกลี่ยว่า รายละเอียดการทำสัญญาประนีประนอม ขอให้ถามกับนางภนิดา เพราะตกลงกันไว้ว่าเป็นความลับ ยืนยันว่าเป็นการตกลงกันได้ทั้งคดีแพ่งและอาญา แม่แตงโมให้ความกรุณากับทุกคนบนเรือ พร้อมถอนการเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาด้วย โดยศาลได้นัดอีกครั้งวันที่ 22 ธ.ค.65 เวลา 09.00 น. เพื่อนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยทุกคนต้องแถลงต่อศาลในแนวทางต่อสู้คดี และจำนวนพยานที่จะนำเข้าสืบ ยืนยันว่า วันนี้จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

วันเดียวกัน (21 ก.ย.) เพจ "ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ" หรือทนายตั้ม ได้โพสต์ข้อความว่า "ความยุติธรรมถูกพรากไป เพราะเงิน 9.2 ล้าน คนนอกอย่างพวกเราก็ได้แต่เบ้ปาก"

ทั้งนี้ นางภนิดา ได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาถึงกรณีที่ถอนคำร้องเป็นโจทก์ร่วมทั้งคดีแพ่งและอาญาว่า เพราะถึงเวลาที่เขาจะต้องเยียวยาเราแล้ว คุณแม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินเยียวยา มีแต่คนถามว่าคุณแม่มีตัวเลขในใจไหม ถ้าตัวเลขในใจจริงๆ 30 ล้านบาท ตามที่เคยคำนวณให้สัมภาษณ์ในรายการโหนกระแส แต่มันเป็นไปไม่ได้ แล้วก็ลดลงมาเหลือ 20 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี เพราะปอไม่ได้มีเงินสดก้อนใหญ่ เราเข้าใจเขา เขาทำธุรกิจไม่ได้เป็นเศรษฐี 100 ล้าน ปอกับโรเบิร์ตก็ทำธุรกิจธรรมดา เขาก็ไปวิ่งหาเงินมาให้คุณแม่

เมื่อถามว่า ยอดเงินเยียวยา 9.2 ล้านบาท คุณแม่พอใจหรือไม่ นางภนินา กล่าวว่า ถ้าไม่พอใจก็ไม่จบสิ คุณแม่พอใจในสิ่งที่เขาให้ มันก็เป็นน้ำใจด้วยนะเรื่องนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องหัวใจของคน ทั้งคุณแม่ ปอ โรเบิร์ต เราเป็นแม่ลูกกันมานานแล้ว ทั้งคู่เขาดูแลคุณแม่มาตลอด

นางภนิดา เผยด้วยว่า หลังออกมาจากศาล ได้รีบนำเงินและแคชเชียร์เช็ครวม 2 ล้านบาท ไปฝากธนาคาร เพราะกลัวเงินหาย และว่า จริงๆ แม่ไม่ได้ใช้เงินอะไรมาก ใช้ซื้อยาไปหาหมอภูมิแพ้ แม่ใช้ยาแพงๆ แม่คิดว่าจะเก็บเงินที่ได้ เผื่ออยากจะได้อะไรแพงๆ ซึ่งปอก็บอกว่า คุณแม่อยากได้อะไรเพิ่มให้บอก เดี๋ยวผมจะจัดให้อีก คุณแม่ไม่ต้องกลัวขาดแคลนเงิน แล้วแต่คุณแม่ต้องการเลย จะทำอะไร จะซื้อหรือจะไปที่ไหนให้บอก

นางภนิดา กล่าวอีกว่า คุณแม่ขอบอกประประชาชนทุกคนว่าพอใจในสิ่งที่ได้ คิดว่าน้องโมก็น่าจะพอใจ อย่าไปคิดว่าน้องโมเสียชีวิตไป ค่าตัว 9.2 ล้านบาท ขอให้คิดใหม่ ชีวิตคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซื้อด้วยเงินเท่าไหร่ก็ไม่ได้ อย่าไปคิดว่าต้องได้เท่านั้นเท่านี้ น้องโมเป็นดารามีเงินเยอะมาก เล่นละครติด ๆ กัน ไม่อย่างนั้นซื้อบ้านสองหลัง ซื้อรถราคาแพง ๆ ไม่ได้หรอก


กำลังโหลดความคิดเห็น