นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้เงินบาทไม่ได้อ่อนแต่ดอลลาร์แข็ง ยันเรื่องนี้เป็นปัญหาแต่ไม่ใช่เป็นวิกฤต รอเศรษฐกิจอเมริกาชะลอตัวลงเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเอง แนะสิ่งที่ต้องทำคือช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูง
จากกรณีเช้านี้ (22 ก.ย.) มีรายงานว่าค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ 37.15 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทที่ 37.15-37.40 บาท/ดอลลาร์
ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปภายในสิ้นปีนี้อีก 1.25% ส่งผลให้นักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 20 ปี ใกล้ระดับ 111.5 จุด หลังเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ล่าสุดวันเดียวกันนี้ (22 ก.ย.) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij" โดยได้ระบุข้อความว่า
"เงินบาทอ่อน หรือดอลลาร์แข็ง?!
เมื่อวานนี้อเมริกาเพิ่มดอกเบี้ยอย่างแรงอีก 0.75% ขึ้นไปอยู่ที่ 3.0-3.25% สูงที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008
ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3% โดยที่ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยอเมริกาต้องขึ้นไปอีก 1% เต็มภายในปีนี้
เงินดอลลาร์จึงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน
เรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ไม่ใช่เป็นวิกฤต!
วิกฤตจะเกิดขึ้นได้หากเราประกาศปักหลักสู้กับดอลลาร์ด้วยการกำหนดเป้าอัตราแลกเปลี่ยนที่สวนสภาวะตลาด ไม่ว่าเป้านั้นจะเป็น 35 บาทหรือเท่าไรก็ตาม
ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับอเมริกาจะมีผลต่อเงินบาทแน่นอน จนกว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะชะลอตัวลงจนทำให้เงินเฟ้อของเขาลดลงและดอกเบี้ยเขาปรับลดลงได้ ซึ่งอย่างเร็วคือปีหน้า
และเมื่อเศรษฐกิจของเขาชะลอตัวลง เราจึงจะได้อานิสงส์จากราคานํ้ามันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายที่ควรจะลดลง
หากเป็นเช่นนั้น เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเอง โดยเฉพาะหากดุลบัญชีเดินสะพัดเราดีขึ้น และกลับมาเป็นบวกจากต้นทุนการนำเข้าที่ลดลง และรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
อย่าสร้างความตื่นตระหนกด้วยการคิดว่าเงินบาทต้องเป็นเท่าโน้นเท่านี้ เงินบาทที่ 37 (เช้านี้ 37.2 แล้ว) จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตแบบต้มยำกุ้งในอดีต ทุนสำรองเราสูง หนี้สาธารณะเราเอาอยู่
วันนี้ดอลลาร์แข็ง ไม่ใช่เงินบาทอ่อน สิ่งที่ต้องทำคือช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูง และช่วยป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องติด black list จนหมดโอกาสฟื้นตัวแม้เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น"