โรคพังผืดในปอด จัดเป็นโรคหายากและมีความรุนแรง อัตราการเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แพทย์และผู้ป่วย จำเป็นต้องมีความเข้าใจในการสังเกตสัญญาณโรค เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วถูกต้อง และรักษาที่ทันท่วงทีก่อนโรคลุกลาม
ในเดือนกันยายนของทุกปี ถือเป็นวาระสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพังผืดในปอดให้กับแพทย์และผู้ป่วย รวมถึงภาคประชาชน เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรองโรคนี้ได้อย่างรวดเร็ว และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
สมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงร่วมกับ คณะทำงานโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม (ILD assembly), มูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก และ บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ ประเทศไทย จัดกิจกรรม Pulmonary Fibrosis Awareness Month โดยในงานมีการจัดเสวนาเรื่อง Freshen Up Your Life “สูดลมหายใจให้เต็มปอด เพื่อผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด” ในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 14.00 - 15.30 น. ทาง Live ผ่าน Facebook page: “รู้ไวไอแอลดี”, “สมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย (Thaithoracic)”, “มูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก” หรือ รับชมผ่านทาง Zoom ได้ โดยสแกน QR Code ในรูป หรือ รับชมผ่าน Link https://us06web.zoom.us/webinar/register/WN_bInrOJs_R36PNuBknJNiVA
ภายในงานเสวนามีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง 3 ท่านมาร่วมให้ความรู้และคำตอบ เรื่องโรคพังผืดในปอดแบบเอ็กซ์คลูซีฟเป็นครั้งแรก ประกอบด้วย รศ.นพ.แจ่มศักดิ์ ไชยคุนา นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.นพ.ศุภฤกษ์ ดิษยบุตร ประธานคณะอนุกรรมการโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ศ.พญ.ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล หัวหน้าสาขาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหายาก และรองประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายากประเทศไทย รวมถึงคุณมนฤทัย เด่นดวง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลศิริราช และผู้ป่วยโรคพังผืดในปอดมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์
สำหรับโรคพังผืดในปอด หรือ โรคปอดอินเตอร์สติเชียล (Interstitial Lung Disease) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดการอักเสบตรงเนื้อเยื่อในปอด จึงไปรบกวนการทำงานของระบบทางเดินหายใจ โดยส่งผลให้ถุงลมปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้ากระแสเลือดได้ยากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกหายใจไม่อิ่ม จัดเป็นโรคหายากที่มีความซับซ้อน และยากต่อการวินิจฉัย เนื่องจากอาการคล้ายโรคปอดอื่นๆ ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษา โรคพังผืดในปอดมีความรุนแรงเทียบเท่ากับโรคมะเร็ง ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษา มักเสียชีวิตภายใน 3-4 ปี แต่หากได้รับการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะสามารถชะลอการดำเนินของโรคและมีชีวิตได้นานขึ้น โดยอาการโรคที่บ่งชี้ว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคพังผืดในปอด ได้แก่ มีอาการไอเรื้อรัง หรือ หอบเหนื่อยมานานกว่า 2 เดือน โดยหาสาเหตุอื่นไม่พบ และไม่เคยสูบบุหรี่ สำหรับแพทย์ หากสงสัยควรส่งวินิจฉัยเพิ่มเติม และถ้ามีผลเอกซเรย์ปอดที่ผิดปกติ ฟังเสียงหายใจผิดปกติที่ชายปอดทั้ง 2 ข้าง คล้ายเสียงลอกแถบตีนตุ๊กแก และออกซิเจนปลายนิ้วต่ำเมื่อออกกำลัง อาการดังกล่าวถือว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้
การเสวนาเรื่อง Freshen Up Your Life “สูดลมหายใจให้เต็มปอด เพื่อผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด” ในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565 เวลา 14.00 - 15.30 น. เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้บุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรค และเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ.