xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลและความรู้คือ ‘อำนาจ’ : ถอดความคิด ‘พรพนา ก๊วยเจริญ’ ผอ.Land Watch Thai

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘พรพนา ก๊วยเจริญ’  ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน
“การมีองค์ความรู้ มันคืออำนาจอย่างหนึ่ง อำนาจนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าคุณไม่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ไม่ได้โกหก ข้อมูลที่ทำให้เกิดความชอบธรรมแก่ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ ข้อมูลต้องเป็นข้อเท็จจริง…เวลาทำข้อมูลจะต้องอ้างอิงที่มาเสมอ ไม่เขียนขึ้นลอยๆ เช่นมาจากงานวิจัยชิ้นนี้ วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ หรือมาจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านก็จะระบุให้ชัด ทำให้งานน่าเชื่อถือ มีที่มาที่ไป…”

ไม่น่าแปลกใจ ที่รายงานหรือข้อมูลในประเด็นปัญหาที่ดิน ที่เธอคนนี้จัดทำขึ้น จะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งจากชุมชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อหลายแขนงที่ติดตามปัญหาที่ดินในหลายกรณี ก็ได้นำข้อมูลที่เธอจัดทำไว้ นำไปต่อยอด หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นอันซับซ้อน
ดังในบางพื้นที่ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปี เธอก็ลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้าน คนในชุมชน อ้างอิงงานวิจัย วิทยานิพนธ์ ตรวจสอบข้อมูลจำนวนไม่น้อย เพื่อความชอบธรรมในการทวงคืนสิทธิที่ดิน

แม้แต่นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชายแดน และ EEC ( โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor ) ซึ่งมีประเด็นปัญหาที่ดินในอีกมิติหนึ่ง Land Watch Thai ก็เข้าไปทำงานด้านข้อมูลในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยติดตามปัญหาผลกระทบและจัดทำเป็นข้อมูลงานศึกษา

ภาพจาก‘นาขาวัง : สีผังเมือง และนัยทางนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง’ ซึ่งพรพนาเขียนร่วมกับผู้วิจัยอีก 3 คน
เธอยังจัดทำรายงานเพื่อปกป้องระบบนิเวศ ในส่วนของพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจาก EEC อาทิ ตำบลเขาดิน
อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ปากแม่น้ำบางปะกง เป็นระบบนิเวศแบบ ‘สามน้ำ’ คือ น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด มีวิถีชีวิต วิถีการผลิตที่เป็นแบบเฉพาะที่เรียกว่า ระบบ ‘นาขาวัง’ คือ ทำนา และทำประมง เพาะเลี้ยงได้ในที่ดินผืนเดียวกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ว่าเมื่อน้ำทะเลหนุนมาก็เป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มได้ เมื่อถึงช่วงน้ำจืด มีฝนหลากลงมาก็ทำนา นับเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์

ก่อนเกิดวิกฤติCOVID 19 เธอยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ
Heinrich Böll Stiftung Southeast Asia จากเยอรมัน
จัดทำรายงาน ชื่อ SPECIAL ECONOMIC ZONES AND LAND DISPOSSESSION IN THE MEKONG REGION 

มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นการพรากสิทธิที่ดินจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 ประเทศ ซึ่งได้รับการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มแล้วเรียบร้อย และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยมีบรรณาธิการเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา


รายงานเหล่านี้ทำให้เห็นภาพปัญหาผลกระทบของแต่ละประเทศได้ชัดเจนขึ้น ทั้งในไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


‘พรพนา ก๊วยเจริญ’
กระนั้น ก็เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเสี้ยว เพราะตลอดระยะเวลา 35 ปี ที่เธอก้าวเดินอยู่บนถนนของนักสิทธิที่ดิน ความรู้ที่เธอสั่งสมจากการค้นคว้า และการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นปัญหา จึงทำให้เธอสามารถผลิตรายงานและฐานข้อมูลอันมีคุณค่าขึ้นมาจำนวนมากนับแต่เมื่อครั้งแรกเริ่มทำงานกับมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ หรือ TERRA (Towards Ecological Recovery and Regional Alliance )

กระทั่งเป็นผู้อำนวยการ Land Watch Thai อีกทั้งในบทบาทอื่นๆ ไม่ว่าในฐานะอดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่าไม้ , คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับที่ดิน ในคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในบทบาทใด ล้วนเห็นได้ชัดเจน เช่นที่เธอคนนี้เน้นย้ำเสมอว่า
“การมีข้อมูล การมีองค์ความรู้ คืออำนาจอย่างหนึ่ง”

ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘พรพนา ก๊วยเจริญ’ ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน
ถึงแนวคิด จุดยืน และกระบวนทัศน์ในการทำงาน


ทั้งหลายทั้งปวง คือเรื่องราวแห่งชีวิตและการทำงานอันเป็นที่รัก ซึ่งเธอผู้นี้ได้ทุ่มเทเสมอมา

‘พรพนา ก๊วยเจริญ’  เมื่อครั้งทำงานกับTERRA (Towards Ecological Recovery and Regional Alliance )

‘พรพนา ก๊วยเจริญ’  เมื่อครั้งทำงานกับTERRA (Towards Ecological Recovery and Regional Alliance )
3 ทศวรรษ แห่งการสั่งสม 'องค์ความรู้ด้านสิทธิที่ดิน'

ถามว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านประเด็นปัญหาสิทธิที่ดินมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

พรพนาตอบว่า เธอทำงาน NGO (Non–Governmental Organization) องค์กรพัฒนาเอกชน มาตั้งแต่เรียนจบ 

นับถึงวันนี้ ก็เป็นระยะเวลา 35 ปีแล้ว โดยก่อนที่จะก่อตั้ง Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน 
เธอทำงานแห่งแรกกับองค์กรที่ชื่อว่า ‘มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรมชาติ’ หรือ TERRA
( Towards Ecological Recovery and Regional Alliance ) ยาวนานนับ 20 ปี

ภายใต้ร่มมูลนิธิดังกล่าว มีโครงการที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานทั้งที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรมชาติ ก็เป็นองค์กรที่เน้นการทำงานในประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรป่าไม้

“ตั้งแต่เรียนจบมา พี่ก็ได้เริ่มทำงานในประเด็นปัญหาที่ดินในเขตป่า รวมทั้ง ปัญหาที่ดินในภูมิภาคแม่น้ำโขง ทั้ง ลาว กัมพูชา พม่า เพราะฉะนั้น จึงถือเป็นการสั่งสมประสบการณ์ในเรื่องที่ดิน เมื่อเราทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ก็ได้เห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมากกับประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ไทย แต่ยังรวมถึงประชาชนในภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอย่างกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง
ในตอนนั้น ถ้าย้อนไปถึงแรงบันดาลใจ ถือว่าเริ่มตั้งแต่ตอนที่เป็นนักศึกษาแล้ว

พี่จบปริญญาตรี จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วตอนเรียนก็ได้ไปออกค่ายกับชมรมพัฒนาชนบท จริงๆ แล้วการออกค่ายนั่นแหละ เป็นแรงบันดาลใจให้เรามาเป็นเอ็นจีโอ” พรพนาระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความสนใจงานในแนวทางดังกล่าว เธอจึงสมัครผ่านมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กอปรกับมีรุ่นพี่ที่รู้จักกำลังต้องการรับอาสาสมัคร ทำให้เธอได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรมชาติ’ หรือ TERRA ทำงานในประเด็นเรื่องทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่อง


เมื่อทำงานที่ ‘มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรมชาติ’ มาได้ 20 ปี เธอก็ตัดสินใจ Retire ตัวเอง ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ในช่วงหนึ่ง ทำประเด็น Climate change ในบริบทที่เกี่ยวกับการนำพื้นที่ป่ามาสะสมคาร์บอน หรือแม้แต่ในประเด็นอื่นๆ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทั้งสิ้น

พรพนากล่าวว่า “ในช่วงนั้น เราก็ไม่ได้ทำงานคนเดียว ทำงานกับทั้งองค์กรที่เป็นเอ็นจีโอ รวมทั้งสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินด้วย ซึ่งการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ยุค พ.ศ. 2530 เป็นขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินที่ภาคอิสาน เรื่องปลูกป่าทับที่ดิน เป็นเรื่องการย้ายชุมชน ย้ายกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากป่า ซึ่งมีผลกระทบสูงมาก จึงมีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ ทศวรรษ 2530 และยาวนานกว่า 20 ปีแล้ว มีขบวนการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ซึ่งในเวลาต่อมาก็ใช้ชื่อเป็น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กระทั่งในยุคท้ายๆ ถึงปัจจุบัน ก็คือ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)’ ที่มีบทบาทเคลื่อนไหว ซึ่งในช่วงนั้น เรามีการพูดคุยกันว่ามันควรจะมีองค์กรที่ทำงานในด้านสนับสนุนการเคลื่อนไหวในประเด็นที่ดิน ผลิตงานสื่อ และงานด้านวิชาการ 

จึงเกิดมีการตั้ง Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดินขึ้นในปี พ.ศ.2558 แล้วพี่ก็โฟกัสเรื่องที่ดินในประเทศไทย กล่าวได้ว่าตามประเด็นนี้มาตลอด 20-30 ปี ไม่ย้ายสายงานเลย ( หัวเราะ ) เพราะประเด็นปัญหาที่ดินเป็นเรื่องซับซ้อน และมีข้อมูลอีกเยอะมาก ที่เราต้องติดตาม” พรพนาระบุถึงเส้นทางในวิชาชีพของเธอ นับแต่เริ่มแรกกระทั่งปัจจุบัน




ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องซับซ้อน ‘ไม่จบ’ ง่ายๆ

ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ระบุว่า ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก ไม่จบโดยง่าย มีปัญหาโดยตลอด รวมทั้งเมื่อมีนโยบายใหม่ๆ ออกมา มีกฎหมาย มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ๆ อีกทั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ละรัฐบาล การที่เคยมีข้อตกลง มีมติ ครม. ที่มีการแก้ไขปัญหาก็ถูกล้มไป แล้วมีใหม่อีก ปัญหาจึงไม่จบสิ้น ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าชาวบ้านเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิที่ดินมา 30 ปี ปัญหาเรื่องที่ดินก็ยังคงอยู่

“ อาทิ ที่ดินเฉพาะ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ในเขตป่า ประเด็นเรื่องที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ต้องการองค์ความรู้ทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องในเชิงโครงสร้าง
เพราะฉะนั้น การที่จะสื่อสารเรื่องนี้กับสาธารณะจึงเป็นเรื่องยากมาก และคนในสังคมก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่า ประเด็นปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดิน เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาอย่างไร คนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของเกษตรกรที่มาเรียกร้อง ไม่มีที่ดินทำกิน เป็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เขาอยู่บนดอย อยู่เขตต้นน้ำ แล้วก็ถูกให้ออก

เหล่านี้ ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การสร้างวาทกรรม และทำให้เกิดอคติต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว
ดังนั้น เมื่อแทบทุกครั้งเลยที่ไปคุยกับพี่น้องชนเผ่า เขาก็จะพูดว่า เขาถูก Bully ถูกกดขี่ หรือถูกตราหน้าว่าเขาเป็นชาวเขาที่ตัดไม้ทำลายป่า เพราะเขาอยู่ในเขตป่า
แม้ว่าจะถูกประกาศทับที่ทำกิน แต่เขาก็กลายเป็นผู้บุกรุก เป็นต้น ดังนั้น นอกจากกระทบโดยตรงกับตัวนโยบาย และกฎหมายของรัฐแล้ว ยังมีเรื่องทัศนคติในทางสังคมหรือสาธารณะที่มีต่อชาวบ้านด้วย ซึ่งก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ 
เพราะฉะนั้น Land Watch Thai ของเราจึงคิดว่า เรื่องเหล่านี้ ต้องมีการสื่อสารกับสาธารณะ” พรพนาระบุ




สื่อสารสร้างความเข้าใจ

“แล้วจะทำยังไงให้การสื่อสารที่เป็นเรื่องยากและซับซ้อน เป็นเรื่องที่คนเข้าใจได้”
พรพนาตั้งคำถามกับตัวเอง และตอบว่า “ Land Watch Thai ใช้พื้นที่ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ค Land Watch Thai จับตาปัญหาที่ดิน เพื่อที่จะทำให้เกิดการสื่อสารง่ายๆ สั้นๆ เพื่อสื่อสารออกไปให้สาธารณะเข้าใจ”

พรพนาระบุและกล่าวยกตัวอย่าง เช่น การสื่อสารในประเด็นง่ายๆ อย่างไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นวาทกรรมที่พยายามสู้กันว่า ไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างกะเหรี่ยงนั้น เป็นระบบที่เรียกว่าเป็นเกษตรกรรมยั่งยืนได้ อีกทั้งมีงานวิชาการที่พูดเรื่องระบบนิเวศที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ จึงนำข้อมูลดังกล่าวมาสื่อสาร อีกทั้ง พรพนายังลงพื้นที่ไปทำวิจัยระบบไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงด้วยตนเอง

“ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงแค่องค์กร แต่ตัวบุคคลก็ต้องสั่งสมองค์ความรู้ด้านนี้เยอะมาก เมื่อมีจังหวะของกระแสสังคม เช่น กรณีบางกลอย เราจึงหยิบเอางานวิจัยนี้มาสื่อสารได้ อย่างกรณีที่พบกระดูกบิลลี่ที่แก่งกระจาน ( * หมายเหตุ ปัจจุบันครบรอบ 8 ปี การหายตัวไปของ 'บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ' นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ) เราก็นำเสนอข้อมูลสรุปจากงานวิจัย เช่น ในประเทศไทยมีกะเหรี่ยงอยู่ที่ไหนบ้าง, ไร่หมุนเวียนคืออะไร เป็นต้น เมื่อมีกรณีบิลลี่ งานสื่อสารเหล่านี้ก็จะถูกแชร์เยอะ
กลุ่มที่เป็นกะเหรี่ยงเองเขาก็เล่นโซเชียลกันเยอะแล้วเขาก็เอาไปแชร์ต่อ โดยเฉพาะแผนที่ที่บอกว่ากระเหรี่ยงอยู่ที่ไหน กะเหรี่ยงคือใคร เป็นต้น

เหล่านี้ก็เป็นการสื่อสารสั้นๆ เป็นงานด้านสื่อของ Land Watch Thai” พรพนาระบุ








Speaker ผู้รู้ลึก-ผู้วิจัย ผลิตฐานข้อมูลคุณภาพ

ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีองค์ความรู้แล้ว บทบาทต่อมาคือการเป็น Speaker ที่รายการโทรทัศน์หรือสื่อแขนงต่างๆ มาสัมภาษณ์ความเห็น
เช่นกรณีนักการเมืองหญิงรายหนึ่ง บุกรุกที่ป่า
หรือประเด็นที่ว่าควรจะให้ต่างชาติถือครองที่ดินหรือไม่ ก็จะมีรายการโทรทัศน์นักข่าว รวมทั้งมีสื่อต่างประเทศมาสัมภาษณ์

“เมื่อเกิดประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา สื่อก็จะหาว่าใครคือ Speaker ที่จะพูดเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ยาก เนื้อหาเยอะและซับซ้อน ทั้งยังมีข้อกฎหมายหลายฉบับ นโยบายต่างๆ อีกไม่น้อย ดังนั้น คนทำงานที่ต้องเก็บสั่งสมองค์ความรู้มานาน จึงหาได้น้อยคนที่จะเป็น Speaker เรื่องเหล่านี้
การเป็น Speaker จึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งของ Land Watch Thai ด้วย” พรพนาระบุ และกล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทของเธอในปัจจุบัน ที่นอกเหนือไปจากการเป็นผู้อำนวยการ Land Watch Thai ว่า เธอถูกเสนอชื่อให้เข้าไปอยู่ในอนุกรรมาธิการที่ดิน เพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน ในคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของเธอ
โดยพรพนาได้เข้าไปช่วยในส่วนของการเขียนรายงานศึกษาในประเด็นที่มีการร้องเรียนเข้ามา
ซึ่งขณะนี้ พรพนาอยู่ระหว่างเขียนรายงานสัมปทานสวนปาล์มในพื้นที่ภาคใต้ ในฐานะอนุกรรมาธิการที่ดิน เพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับที่ดินฯ

“เป็นรายงานศึกษา แต่ยังเปิดเผยสู่สาธารณะไม่ได้ ไม่เหมือน EEC เพราะต้องผ่านสภาฯ ก่อน เมื่อสภาฯ มีมติรับรองรายงาน รายงานจึงจะถูก Public ได้
แต่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ระดับไหน เรายังบอกไม่ได้ เพียงแต่ว่าการมีข้อมูล ในความเห็นของพี่นั้น มีประโยชน์แน่นอน ต้องมีจังหวะที่ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้แน่นอน” พรพนาระบุอย่างเชื่อมั่น

จับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ชายแดน และ EEC

ในบทบาทหลักของการเป็นผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน พรพนากล่าวว่า นอกจากประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรหรือกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ยังมีโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งชายแดน และ EEC ( โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor ) ซึ่งมีประเด็นปัญหาที่ดินในอีกมิติหนึ่ง โดยทาง Land Watch Thai ก็เข้าไปทำงานด้านข้อมูลและงานศึกษา ตั้งแต่เขตเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กรณีที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก โดยติดตามปัญหาผลกระทบและจัดทำเป็นข้อมูลงานศึกษา

ดังตัวอย่าง อีกประเด็น คืองานศึกษาด้านผลกระทบจาก EEC กรณีที่ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ( หมายเหตุ : เมื่อราวปี พ.ศ.2561 มีกระแสข่าวว่านายทุนต้องการที่ดินชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุ เป็นชาวนาที่อยู่ในพื้นที่นี้มานับร้อยปี แต่กลับต้องเช่าที่ พรพนาได้ลงพื้นที่เข้าไปศึกษา ทำข้อมูลประวัติศาสตร์ของชาวนาโยธะกา ทำให้ชาวบ้านและองค์กรภาคประชาสังคมรวมทั้งสื่อหลายสำนัก สามารถที่จะใช้ข้อมูลนี้ประกอบการรายงานข่าว ไม่เพียงเท่านั้น พรพนายังมีองค์ความรู้ในประเด็นปัญหาที่โยธะกามานับแต่เมื่อครั้งยังทำงานที่มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรมชาติ หรือ TERRA
( Towards Ecological Recovery and Regional Alliance )

“คือเราไม่รู้ล่วงหน้าหรอกว่ามันจะกลายเป็นกระแสข่าว แต่เมื่อมันเกิดกระแสข่าวขึ้นมา และเรามีข้อมูลที่ทำไว้แล้วล่วงหน้า ข้อมูลนี้จึงถูกใช้ประโยชน์ ตอนนั้นถูกใช้ประโยชน์ในแง่ของการช่วยชาวบ้าน สนับสนุนว่าเพราะเหตุใดเขาจึงควรจะได้รับความเป็นธรรม แม้จะเป็นที่ดินรัฐ ก็ไม่ใช่จะมาขับไล่เขา

ดังนั้น ข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาวนาโยธะกาจึงได้รับการเผยแพร่ และสามารถที่จะใช้ต่อรอง และหยุดยั้งการย้ายเขาออกมาจากที่ดินได้ เป็นการทวงคืนที่ดิน

กรณีที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง ก็เป็นที่ดินที่เกษตรกรเช่าเหมือนกัน แล้วก็ถูกกว้านซื้อไปเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านก็ต้องออกไปจากที่ดิน
เมื่อเราศึกษาและทำรายงานเรื่องผังเมือง เรื่อง EEC เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าประกาศคำสั่ง คสช. ให้มีการทำผังเมืองใหม่ กระทั่งมาถึงกฎหมาย EEC ก็ทำผังเมืองใหม่ เราก็จะตรวจสอบว่ากฎหมายใหม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองอย่างไรบ้าง” พรพนาระบุ

ภาพจากรายงาน ‘นาขาวัง : สีผังเมือง และนัยทางนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง’ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พรพนาเขียนร่วมกับผู้วิจัยอีก 3 คน

ภาพจาก ‘นาขาวัง : สีผังเมือง และนัยทางนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง’ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พรพนาเขียนร่วมกับผู้วิจัยอีก 3 คน
ป้องระบบนิเวศ ‘สามน้ำ’ ‘นาขาวัง’

พรพนากล่าวว่าในส่วนของ EEC อีกพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญ ดังที่กล่าวถึงข้างต้น คือตำบลเขาดิน ซึ่งอยู่ปากแม่น้ำบางปะกง ( ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ) เป็นระบบนิเวศแบบ ‘สามน้ำ’ คือ น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด จึงมีวิถีชีวิต วิถีการผลิตที่เป็นแบบเฉพาะของเขา ที่เรียกว่า ระบบ ‘นาขาวัง’ คือ ทำนา และทำประมง เพาะเลี้ยงได้ในที่ดินผืนเดียวกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ว่าเมื่อน้ำทะเลหนุนมาก็เป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มได้ พอถึงช่วงน้ำจืด มีฝนหลากลงมาเขาก็ทำนา เป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์


พรพนากล่าวว่า ทำงานศึกษาโดยใช้แนวคิดงานบริการจากระบบนิเวศ (Ecosystem Services คือ ประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากการทำหน้าที่ของระบบนิเวศ ) แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือ โดยของบประมาณสนับสนุน จาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่ให้งบประมาณทำการศึกษาระบบนิเวศนาขาวัง

“ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อกลุ่มที่ทำงานเรื่อง EEC ด้วยกันเขาฟ้องศาลปกครองในประเด็นกระบวนการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเพียงพอ ข้อมูลที่พี่ทำเอาไว้ ไม่ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ที่ถูกเปลี่ยนสี เช่น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หรือ ตำบลเขาดิน ก็ถูกเปลี่ยนสีจากที่ดินเกษตรกรรมไปเป็นที่ดินอุตสาหกรรม ตามผังเมือง EEC ข้อมูลที่พี่ได้ทำจากการลงพื้นที่ทั้งหมด ได้ถูกนำไปใช้ในกระบวนการฟ้องศาลปกครอง เป็นต้น” พรพนาระบุถึงประโยชน์ของข้อมูลที่ได้มาจากการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริง




องค์ความรู้เคลื่อนที่


ถามว่าจากที่เล่ามา พรพนาเปรียบเสมือน ‘องค์ความรู้เคลื่อนที่’ ในด้านประเด็นปัญหาที่ดิน
พรพนาหัวเราะอย่างถ่อมตัว ก่อนสะท้อนความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า

ประเด็นปัญหาที่ดิน อาจไม่ใช่ทุกคนที่สนใจหรืออยากทำงานแบบนี้ แต่เธอคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมี Passion ที่จะทำด้วยความรัก ในการที่จะทำงานในเชิงข้อมูลเหล่านี้ด้วย เพราะจะต้องเกาะติดอย่างต่อเนื่อง และค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา เนื่องจากประเด็นปัญหาเหล่านี้ไม่มีวันจบ

“เพราะฉะนั้น ข้อมูลเหล่านี้คือยุทธศาสตร์ที่เราเลือกใช้ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องทำเหมือนกัน เพราะเราก็ต้องมีองค์กรพันธมิตร มีเครือข่าย ลำพัง Land Watch Thai ถ้าเราทำข้อมูล ทำรายงานแล้วไม่ถูกเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
พี่มองว่า งานที่ทำมา งานข้อมูลหรืองานศึกษา มันควรต้องถูกนำไปใช้เพื่อการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบาย นี่คือยุทธศาสตร์ เพียงแต่ผู้ขับเคลื่อน อาจไม่ใช่ Land Watch Thai แต่ก็จะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องที่ดิน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องยาก ดังนั้น จึงต้องการคนที่พิเศษจริงๆ คนรุ่นใหม่ที่จบมาแล้วมาทำงานด้านนี้ โอ้โห! ยากมากสำหรับเขาเลยนะ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเยอะมาก” พรพนาระบุ



พลังแห่ง ‘ข้อมูล’ ‘ข้อเท็จจริง’

เมื่อขอให้เล่าถึงความสำคัญของข้อมูล ว่าสำคัญอย่างไร

ผู้อำนวยการ Land Watch Thai ตอบว่า “คือมันมีที่มานะคะ มันอาจจะเริ่มมีปัญหา หรือเริ่มจะมีนโยบาย อย่างเช่น กรณีบางกลอย เริ่มจากการที่เขากลับไปทำไร่ หลังจากถูกย้ายลงมา 20 กว่าปี เมื่อเขากลับขึ้นไป เราก็รู้เลย ตามประสาคนทำงานมาและมีประสบการณ์ว่า ต้องเป็นเรื่องแน่ เขาต้องโดนแน่ ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร แต่เมื่อเราเคยทำเรื่องไร่หมุนเวียนมา ก็จะมีประเด็นเรื่องนี้ ซึ่งกรณีนี้ก็มีประเด็นเรื่องปู่คออี้
( หมายเหตุ : ‘ปู่คออี้’ คือผู้อาวุโสและผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยในป่าแก่งกระจาน ) ส่วน ‘บิลลี่’ หลานชายของปู่คออี้ หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2557 หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่า ต่อมา DSI พบชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกมนุษย์ที่พิสูจน์แล้วว่า เป็น DNA ของบิลลี่ )

เมื่อตัวเคสมีเรื่องราวแบบนี้ ประกอบกับมีภาคีคนรุ่นใหม่ รวมตัวกัน Saveบางกลอย ก็ทำให้ประเด็นขับเคลื่อนไปได้ เป็นที่สนใจในพื้นที่สาธารณะได้เกินคาด ทั้งนักดนตรีก็มาแต่งเพลง Saveบางกลอย ให้ ศิลปินกราฟฟิตี้ก็มาร่วมสร้างงานศิลปะ Saveบางกลอย พี่ก็ไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว แต่คนเหล่านี้และคนรุ่นใหม่อีกหลายคน ก็ร่วมกัน Saveบางกลอย ซึ่งคนรุ่นใหม่เขาสร้างสรรค์มากในการสื่อสาร พี่สู้เขาไม่ได้หรอก แต่ว่าพี่ก็อาจจะมีองค์ความรู้มากกว่าน้องๆ เขา ก็นำองค์ความรู้ไปสนับสนุนเขา แล้วเขาก็นำเอาไปใช้ไปพูดต่อ
เช่น ‘เฌอเอม’ ( *หมายเหตุ : นางสาวชญาธนุส ศรทัตต์ หรือ ‘เฌอเอม’ อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย- แก่งกระจาน ) เขาก็มาคุยกับพี่ว่าไร่หมุนเวียนคืออะไร ? แล้วเขาก็นำไปใช้ปราศรัยจากความเข้าใจของเขา เป็นต้น

ส่วนกรณีโยธะกา เป็นเรื่องที่พี่ทำไว้ตั้งแต่ตอนที่ทำงานอยู่ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องงานข้อมูลมาก

เพราะฉะนั้น เรารู้เลยว่า การมีข้อมูล การมีองค์ความรู้ มันคืออำนาจอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น อำนาจนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าคุณไม่มีข้อมูล ที่เป็นข้อเท็จจริง
ข้อมูลที่ไม่ได้โกหก ข้อมูลที่ทำให้เกิดความชอบธรรมแก่ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ ข้อมูลต้องเป็นข้อเท็จจริง
ดังนั้น เราต้องหาข้อเท็จจริงมาให้ได้” พรพนาระบุและย้ำชัดถึงจุดยืนในการทำงานและอธิบายว่า 


"กระบวนการจัดทำข้อมูลจะอ้างอิงที่มาเสมอ ไม่เขียนขึ้นลอยๆ ต้องระบุที่มาได้ เช่น มาจากงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ชิ้นใด หรือมาจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน ต้องระบุให้ชัด
ทำให้งานน่าเชื่อถือ มีที่มาที่ไป และถูกนำไปใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์เมื่อมีกระแสเกิดขึ้น”
พรพนาระบุ

จึงไม่แปลก ที่องค์ความรู้ที่พรพนามีอยู่ ทำให้เธอในฐานะผู้อำนวยการ Land Watch Thai
มีโอกาสร่วมทำสารคดีสั้นกับสื่อทางเลือก เป็นสารคดีชุด “คนธรรมดาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” นำเสนอผลกระทบจาก EEC ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ มีทั้งสิ้น 4-5 ตอน

“ เราทำเป็นสื่อสั้นๆ ไม่เกิน 10 นาที และเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ
มีทั้งเรื่องโยธะกา และเรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องอ่างเก็บน้ำ คือ ผู้คนที่แก่งหางแมว
( อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ) ควรจะได้ใช้น้ำด้วย ควรจะได้รับการจัดสรรการใช้น้ำด้วย ไม่ใช่สร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้วส่งท่อตรงมาที่ EEC อย่างเดียว เพราะว่าชาวบ้านเขาขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเยอะ เขาต้องการการจัดสรรน้ำที่เป็นธรรม”

ในประเด็นดังกล่าว พรพนาระบุว่า เธอทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับ EEC Watch ( กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ) ศึกษาข้อมูล ร่วมกับ 'ดร.สมนึก จงมีวศิน' นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากกลุ่ม EEC Watch โดยทำงานใกล้ชิดกันในหลายเรื่องหลายประเด็น

อีกทั้ง พรพนา และดร.สมนึก ยังเคยเป็นคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยกัน

“รายงานที่ทำขึ้นในฐานะคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยกัน จัดทำเสร็จสมบูรณ์และจบไปแล้ว สภาฯ รับรองเรียบร้อยแล้ว และรายงานนี้ถูกนำไปใช้ในการฟ้องศาลปกครองเพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้านด้วย” พรพนาระบุ



ประเด็นที่ดิดตาม เฝ้าระวัง ประเมินผลร่วมกับองค์กรภาคีฯ

ถามว่าปัจจุบัน Land Watch Thai ติดตามประเด็นสิทธิที่ดินที่ไหนเป็นพิเศษ
พรพนาตอบว่า ไม่มีพื้นที่ในเชิงเป้าหมาย แต่จะมีกรณีที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ตำบลโยธะกา ที่เธอยังเฝ้าระวังและติดตามอยู่ แม้ปัจจุบันจะอยู่ในภาวะ ‘สุญญากาศ’ ชาวบ้านยังไม่ถูกไล่ แต่ก็ยังไม่มีการรับประกันใดๆ จากภาครัฐว่าสถานะที่ทำกินของชาวบ้านจะปลอดภัย

นอกจากนั้น พรพนาในฐานะผู้อำนวยการ Land Watch Thai
ระบุเพิ่มเติมว่า ได้ทำการประเมินผลกระทบ EEC มาครบ 5 ปีแล้ว โดยทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย 
คือ EEC Watch และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) 

รวมทั้ง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ช่วยกันวางกรอบของการประเมินผลกระทบ และศึกษาเคสที่ได้รับผลกระทบ
โดยใช้การประเมินผลกระทบของกฎหมาย ที่เรียกว่า Regulatory Impact Assessment หรือ RIA ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ในการตรวจสอบและประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการออกกฎหมาย

รายงาน SPECIAL ECONOMIC ZONES AND LAND DISPOSSESSION IN THE MEKONG REGION



รายงาน SPECIAL ECONOMIC ZONES AND LAND DISPOSSESSION IN THE MEKONG REGION

รายงาน SPECIAL ECONOMIC ZONES AND LAND DISPOSSESSION IN THE MEKONG REGION

รายงาน SPECIAL ECONOMIC ZONES AND LAND DISPOSSESSION IN THE MEKONG REGION
ผลิตรายงานคุณภาพ แสวงหาข้อเท็จจริง-มีแหล่งอ้างอิง

ถามทิ้งท้ายถึงการผลิตรายงานชิ้นล่าสุด ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม

พรพนากล่าวว่า ก่อนเกิดวิกฤติCOVID 19 ก็ได้รับการสนับสนุน จากมูลนิธิ
Heinrich Böll Stiftung Southeast Asia จากเยอรมัน
จัดทำรายงาน ชื่อ SPECIAL ECONOMIC ZONES AND LAND DISPOSSESSION IN THE MEKONG REGION

มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นการพรากสิทธิ์ที่ดินจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และไทย ซึ่งเอกสารได้รับการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มแล้วเรียบร้อย และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยมีบรรณาธิการเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา

นอกจากรายงานดังกล่าวแล้ว ยังมีรายงานอีกฉบับ
คือ ‘นาขาวัง : สีผังเมือง และนัยทางนิเวศปากแม่น้ำบางปะกง’ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พรพนาเขียนร่วมกับผู้วิจัยอีก 3 คน

พรพนากล่าวว่า รายงานเหล่านี้ทำให้เห็นภาพปัญหาผลกระทบของแต่ละประเทศได้ชัดเจนขึ้น ทั้งในไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


พรพนา เมื่อครั้งลงพื้นที่ ทำงานศึกษาผลกระทบจากการสัมปทานที่ดินในลาว

พรพนา เมื่อครั้งลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชุมชนริมแม่น้ำโขง

พรพนา เมื่อครั้งลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชุมชนริมแม่น้ำโขง










ก่อนจบบทสนทนา เมื่อขอให้รำลึกถึงบทบาทครั้งยังเป็นอดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่าไม้ 
ชุดที่มีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2552-2558) เป็นประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า

พรพนากล่าว่า เธอเป็นอนุกรรมการสิทธิฯ ในคณะดังกล่าวในช่วง 2 ปีท้าย 
โดยช่วยเขียนรายงานซึ่งเป็นสิ่งที่เธอถนัดและทำได้ดี
“อยู่ที่ไหนก็ช่วยเขาเขียนรายงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสั่งสมมา ช่วยให้เรามี Skill นี้ติดตัว มี Skill การเขียน จึงสามารถผลิตข้อมูล ผลิตเอกสารออกมาได้ชำนาญ”

คำตอบของผู้อำนวยการ Land Watch Thai สะท้อนภาพได้อย่างชัดเจนว่า ในท่ามกลางข้อมูลข่าวสาร หรือสื่อสมัยใหม่บนโลกออนไลน์ ที่แม้ต้องการความรวดเร็ว ฉับไว แต่ขณะเดียวกัน ฐานข้อมูล หนังสือ 
รายงานวิจัยที่มีคุณภาพ ก็จะยังคงอยู่เหนือกาลเวลา

คนทำงานด้านการศึกษาปัญหาที่ดินอย่างพรพนา และองค์กรต่างๆ ที่ผลิตรายงานตรวจสอบผลกระทบซึ่งมีต่อผู้คนในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นฐานข้อมูล อันเปรียบเสมือน ‘แอ่งกระทะ’ และ ‘กระทะข่าว’
ที่สื่อสารมวลชนหลายแขนง และผู้สนใจในประเด็นเหล่านั้น ได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ

เช่นที่พรพนา ได้สร้างฐานข้อมูลอันมีคุณค่าขึ้นมาจำนวนมาก และเน้นย้ำเสมอว่า
“การมีข้อมูล การมีองค์ความรู้ คืออำนาจอย่างหนึ่ง”


…………..
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : พรพนา ก๊วยเจริญ