xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวพิพิธภัณฑ์กันดีกว่า! พิพิธภัณฑ์วันนี้พาเพลิน ใช้เทคโนโลยีพัฒนาการนำเสนอ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“พิพิธภัณฑ์” ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม หรือความรู้อื่นๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และให้ความเพลิดเพลินแก่ประชาชน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดให้มีพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ที่พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๐๒ รวบรวมสิ่งสะสมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ต่อมาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “ประพาสพิพิธภัณฑ์” เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “มิวเซียม” แต่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม

ในปี ๒๔๑๗ พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ได้เปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชน โดยโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งมิวเซียมหลวงขึ้นที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๙ กันยายน เนื่องในการเฉลิมพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา แต่เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเฉลิมพระชนมพรรษาเท่านั้นในทุกปี
 
จนถึงปี ๒๔๓๐ ได้ย้ายมิวเซียมหลวงจากพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งต่อมาก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร” ในปี ๒๕๓๘ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปี เป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงปลูกฝังให้คนไทยรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ในไทยได้เกิดขึ้นมากมายในหลายรูปแบบ พัฒนาจากที่เคยเป็นแค่สถานที่เก็บของเก่าจากสมัยก่อน มาใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอ ให้ของดึกดำบรรพ์กลับมามีชีวิตชีวาขึ้น ทำให้ผู้ชมได้รับความรู้ความเป็นมาของรากเหง้าด้วยความเพลิดเพลิน พิพิธภัณฑ์จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้รับความนิยมอีกประเภทหนึ่งในปัจจุบัน

ในวันพิพิธภัณฑ์แห่งชาติครั้งนี้ จึงขอเชิญชวนไปตื่นตาตื่นใจกับพิพิธภัณฑ์กัน ความจริงก็มีมากจนจาระไนไม่ไหว พอจะนึกได้ก็เช่น

“พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระนคร” ตั้งอยู่ข้างสนามหลวง นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านศิลปะไทยมากที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นแหล่งรวบรวมประวัติความเป็นมาของชาติไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เข้าสู่ยุครุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย ลพบุรี อยุธยา ธนบุรี จนกระทั่งถึงยุครัตนโกสินทร์ อีกทั้งพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง รวมทั้งยังมีอาคารราชรถที่ใช้ในงานพระราชพิธี อยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์นี้ด้วย

พิพิธภัณฑ์สถารแห่งชาติ พระนคร เปิดให้เข้าชมในวันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัติฤกษ์ (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์) ในเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม คนไทย ๓๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๒๐๐ บาท ยกเว้น เด็ก/นักเรียน/นักศึกษา/ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป/พระสงฆ์ ไม่เสียค่าเข้าชม

“พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” แต่เดิมในโรงพยาบาลศิริราชมีพิพิธภัณฑ์การแพทย์อยู่ถึง ๑๓ แห่ง แยกเป็นแต่ละสาขา อยู่ในความดูแลของคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ต่อมาคณะแพทย์ ศิริราชพยาบาลได้รับมอบพื้นที่บางส่วนของสถานีรถไฟธนบุรี ๓๓ ไร่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้รวบรวมพิพิธภัณฑ์ภาควิชาต่างๆมารวมกันตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ มีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับด้านการแพทย์ของไทย ทั้งการแพทย์โบราณและปัจจุบัน การก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช และโรงเรียนการแพทย์แห่งแรกแล้ว ยังจัดแสดงโบราณคดีพื้นที่วังหลังของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ในรัชกาลที่ ๑ และย่านบางกอกน้อย ซึ่งเป็นโกดังสินค้าและท่าเรือโบราณด้วย

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เปิดทำการวันพุธถึงวันจันทร์ (หยุดวันอังคารและวันนักขัติฤกษ์) ในเวลา ๑๐.๐๐ น.-๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชม เด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ๒๕ บาท ผู้ใหญ่ ๘๐ บาท ต่างชาติ ๒๐๐ บาท

“พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” อยู่ปากคลองบางกอกน้อย ตรงข้ามกับสถานีรถไฟธนบุรี เดิมเป็นอู่เรือพระราชพิธี อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือ เมื่อคราวเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้รับความเสียหาย ในปี ๒๔๙๐ จึงได้มอบให้กรมศิลปากรซ่อมแซมและดูแลรักษา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นับได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิต ไม่ใช่แค่เก็บของเก่า แต่เรือเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้ในงานพระราชพิธีตลอดมา

เรือพระราชพิธีเหล่านี้ก็คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เรือพระที่นั่งอนัตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรืออสูรวายุภักษ์ เรือกระบี่ปราบมาร เรือครุฑเหินเห็จ เรือเอกชัยเหินหาว

เมื่อปี ๒๕๑๗ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่างๆเป็นมรดกของชาติ พร้อมยกฐานะอู่เก็บเรือพระราชพิธีนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

ค่าเข้าชม คนไทย ๒๐ บาท ต่างชาติ ๑๐๐ บาท บัตรรวม ซึ่งหมายถึงบัตรที่สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เรือราชพิธี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป คนไทย ๖๐ บาท ต่างชาติ ๓๕๐ บาท
 
“พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป” หรือ “หอศิลปเจ้าฟ้า” ตั้งอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร เดิมย่านนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นที่ตั้งพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้า ๖ พระองค์ ซึ่งเรียกว่า “วังสะพานเสี้ยว” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้ย้ายโรงกระสาปน์สิทธิการจากในบรมราชวังมาสร้างใหม่ที่นี่ โดยมีนายคาร์โล อัลเลกรี สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบ

ต่อมาในปี ๒๕๑๗ ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีการพิพิธภัณฑ์ไทย กรมธนารักษ์ได้มอบอาคารหลังนี้ให้กรมศิลปากร หลังจากที่โรงกระษาปน์ฯได้ย้ายไปอยู่ที่รังสิตตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ แล้ว เพื่อให้กรมศิลปากรจัดตั้ง “หอศิลปแห่งชาติ” เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานผลงานศิลปกรรมประเภททัศนศิลป์ของศิลปินผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมทั้งแบบประเพณีไทยและร่วมสมัย ต่อมาในปี ๒๕๒๐หอศิลปแห่งชาติได้ปิดปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติโบราณสถานแห่งชาติว่า

 “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป”
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ ในเวลา ๐๖.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเช้าชม คนไทย ๓๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๒๐๐ บาท นักเรียน นักศึกษา ในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร นักบวชในศาสนาต่างๆ และผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ไม่เสียค่าเข้าชม

“นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” ถ้าสนใจความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว อย่าพลาดที่นี่เป็นอันขาด อยู่ภายในอาคารบริเวณถนน
ราชดำเนินกลาง ด้านข้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เป็นนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวยุครัตนโกสินทร์ผ่านสื่อเทคโนโลยีทันสมัยหลายรูปแบบ อาทิ สื่อผสมเสมือนจริง ๔ มิติ สื่อมัลติทัช มัลติมีเดียแอนิเมชั่น เป็นต้น โดยแบ่งนิทรรศการเป็น ๙ ห้อง จัดแสดงการ กำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ พระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หุ่นจำลองพระบรมมหาราชวังที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย ภาพยนตร์แอนิเมชั่นตำนานพระแก้วมรกต มหรสพในมุมมอง ๓๖๐ องศา พระราชกรณียกิจพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี พระราชพิธีสำคัญ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนเกาะรัตนโกสินทร์ ห้องสมุดรวบรวมหนังสือหายาก และสื่อมัลติมีเดียสาระทุกแง่มุม เกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ หรือจะชมของจริงก็มีอยู่รายรอบ สามารถขึ้นชมได้ที่ชั้นบนสุด จะเห็นภูเขาทอง ลานเจษฎาบดินทร์ โลหะปราสาท ป้อมมหากาฬ จากมุมมองที่นักท่องเที่ยวไม่เคยเห็น พร้อมมุมพักผ่อนกับเครื่องดื่ม

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๙.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ ค่าเข้าชม ชาวไทย และชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท เด็ก (สูงไม่เกิน ๑๒๐ เซนติเมตร) นักเรียน/นักศึกษา ภิกษุ สามเณร ผู้พิการ และผู้อายุ ๖๐ ปีขึ้นไปแสดงบัตรไม่เสียค่าเข้าชม

“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” อยู่ที่คลอง ๕ ปทุมธานี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงนิทรรศการทางธรรมชาติวิทยาที่สมบูรณ์แบบที่สุดของไทย พาย้อนกาลเวลาไปสู่อดีตอันไกลโพ้นของดินแดนที่เป็นประเทศไทยในวันนี้ จัดแสดงธรรมชาติและมีสิ่งมีชีวิตที่เคยอยู่มาก่อน ด้วยการจำลองสภาพธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาให้ชม แบ่งเป็นโซน ตั้งแต่การเกิดโลกและกำเนิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เปิดในวันอังคาร-ศุกร์ ในเวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น. เสาร์-อาทิตย์ ในเวลา ๐๙.๓๐-๑๗.๐๐ น. หยุดวันอาทิตย์ ค่าเข้าชม ๕๐ บาท เด็กเยาวชนเข้าชมฟรี

“พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อยู่ที่ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้การเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ ๕๐ ปีในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ ได้มีพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) เพื่อบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ด้านการเกษตร และความสำคัญของการเกษตรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิบัติใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯยังมีกิจกรรมทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ตลอดทั้งเดือน โดยทุกสัปดาห์แรกของเดือน จัดให้มี "ตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง" วันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๒, ๓ และ ๔ ของเดือน จัด “กิจกรรมท่องเที่ยวสุขสันต์” สร้างประสบการณ์ด้านการเกษตรในรูปแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปประยุกต์สู่วิถีของตนเอง

ส่วนภายในอาคารยังมี พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม เรียนรู้พระอัจฉริยภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สะท้อนความหลากหลายของพันธุกรรมพืชนับพันชนิด พิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร เรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์วิถีน้ำ พิพิธภัณฑ์ดินดล เรียนรู้ดินเป็นฐานกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ พิพิธภัณฑ์เกษตรคือชีวิต เรียนรู้คุณค่าของการเกษตรที่เป็นคลังอาหารของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศ พิพิธภัณฑ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง แสดงถึงทุกพื้นที่สามารถสร้างคลังอาหารได้ รวมทั้งบ้านพึ่งตนเองและวิถีเกษตรไทย ๔ ภาค พิพิธภัณฑ์เกษตรตามรอยพ่อ ได้แก่ ผักคือชีวิต ต้นไม้แห่งการเรียนรู้ เกษตรทฤษฎีใหม่ ทำนา ๑ ไร่ มั่งคั่งยั่งยืน

ค่าเข้าชมในอาคารเฉลิมพระเกียรติ ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๓๐ บาท ต่างชาติ ๑๐๐ บาท เด็กต่างชาติ ๕๐ บาท

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ที่น่าไปชม และยังมีที่น่าสนใจแบบนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า ๑,๕๐๐ แห่ง

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ ปทุมธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น