ผู้ประกอบการเหมืองแร่กลับมามีชีวิตชีวาและเกิดความหวังอีกครั้งเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาเห็นชอบในหลักการต่อนโยบายด้านอุตสาหกรรมแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
โดยระยะแรกสมควรปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน พร้อมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสม แบ่งกิจการที่ต้องส่งเสริมเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มกิจการสำรวจแร่ กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่ และ/หรือแต่งแร่ และ กลุ่มกิจการถลุงแร่ หรือประกอบโลหะกรรม
มติคณะรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือBOI ประสานความร่วมมือหรือปรึกษาหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป
การที่รัฐบาลกลับลำมาสนับสนุนกิจการเหมืองแร่อีกครั้งขอปรบมือดังๆให้กับ “กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)” หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นต้นเรื่องผลักดันกระทั่งนำไปสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
กพร.ในยุคที่ลูกหม้อ “นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ “ ขึ้นรับตำแหน่งอธิบดีตั้งแต่ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ตระหนักดีถึงปัญหาของประเทศไทยที่ตกอยู่ในสภาพเผชิญความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าแร่และวัตถุดิบจากตลาดโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ใช้เงินลงทุนสูง ใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน
ดังนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านวัตถุดิบที่เป็นต้นน้ำในการจัดหาแหล่งแร่ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ผ่านการลงทุนใหม่ หรือลงทุนเพิ่มเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเหมืองให้มีความทันสมัย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน สอดคล้องกับบริบทของโลกและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงกำหนดนโยบายนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
อธิบดีกพร.กล่าวในหลายโอกาสว่า “เหมืองแร่เพื่อชุมชน”เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องทำให้ได้และทำให้สำเร็จ โดยกพร. มีภารกิจในการสนับสนุนและผลักดันให้สถานประกอบการแร่ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด
กพร.กำหนดนโยบายขับเคลื่อนในปีงบประมาณ 2566 ได้แก่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการที่ดี ดูแลชุมชน ประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าร่วมโครงการ CSR-DPIM/โครงการเหมืองแร่สีเขียว
โครงการเหมืองแร่สีเขียวคือ การประกวดบริษัทเหมืองแร่ดีเด่นเพื่อรับรางวัล “เหมืองแร่สีเขียว”ให้กับเหมืองแร่ประเภทต่างๆ เป็นนโยบายของกพร.มาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 13 ปี
แบ่งเป็น รางวัลเหมืองแร่สีเขียว, รางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวต่อเนื่องดีเด่น และรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว ในปี 2565 ได้มอบรางวัลไปทั้งสิ้น 158 องค์กร
“เหมืองแร่ 95 % เป็นเหมืองแร่ที่ดี มีเพียง 5% เท่านั้นที่มีปัญหา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ต่อสิ่งแวดล้อม แต่เหมืองแร่ที่ทำดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีน้ำใจช่วยเหลือชุมชนยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้และเข้าใจ สิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันคือ การทำให้การพัฒนากับสิ่งแวดล้อมอยู่ในภาวะสมดุลกัน ” นายนิรันดร์กล่าว
รางวัลเหมืองแร่สีเขียวจึงไม่เพียงแต่สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการเหมืองแร่ หากยังเป็นการประกาศรับรองให้สังคมได้รับรู้ว่า เหมืองแร่หาใช่ “ตัวปัญหา” ดังที่ถูกวาดภาพให้คนหวาดกลัวและตั้งข้อรังเกียจแต่อย่างใดไม่
การส่งเสริมการลงทุนใน 3 กลุ่มกิจการที่กล่าวมาข้างต้นในระยะเริ่มแรกตามมติคณะรัฐมนตรีที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์อันจะนำไปสู่ได้การแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศไทยนั้น จึงขึ้นอยู่กับการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี คือ กระทรวงอุตสาหกรรม BOI กระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยมี กพร.เป็นกลจักรสำคัญในการประสานงาน
“เหมืองแร่เพื่อชุมชน คือต้องการให้ประชาชนในทุกพื้นที่ที่มีเหมืองแร่ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงาน สร้างอาชีพ การศึกษาของลูกหลาน และการเสริมสร้างสุขภาพอนามัย ภายใต้นโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เหมืองแร่สามารถพัฒนาเติบโตและอยู่คู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง”
นี่คือสารจากอธิบดีกพร. นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ ที่ส่งถึงบุคลากรของกรมและสังคม