มีบันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๓๖๒ อังกฤษได้นำรถถังออกใช้เป็นครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ให้ชื่อว่า Mark IV tank ที่ใช้คำว่า “แท้งค์” ก็เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นรถลำเลียงน้ำโดยซ่อนปืนไว้ ยื่นออกมาตอนใช้เท่านั้น ปิดบังวัตถุประสงค์อันแท้จริงว่าเป็นอาวุธแบบใหม่ที่สามารถทำลายแนวลวดหนาม ข้ามสนามเพลาะ และป้องกันปืนได้ดี ฝ่ายเยอรมันเจอฤทธิ์เดชรถถังอังกฤษเข้าก็สร้างขึ้นมาบ้าง ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่พัฒนารถถังติดป้อมปืนด้านบนที่หมุนได้ ๓๖๐ องศา จากนั้นก็มีการพัฒนากันเรื่อยมา
เมื่อรถถังมีบทบาทโด่งดังในสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงส่งทหารไทยไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป ทั้งทรงจบการศึกษาวิชาทหารจากอังกฤษ จึงทรงรวบรวมแคตตาล็อกรถถังแบบต่างๆมาศึกษา ด้วยพระราชดำริว่าไทยเราก็น่าจะนำรถถังมาใช้บ้างโดยซื้อหรือทำขึ้นเอง เพราะสงครามยุคนี้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว ไม่ใช่สงครามป้อมค่ายอย่างแต่ก่อน แต่เป็นสงครามประจัญบานในสนามรบ
เมื่อนำเรื่องสู่การพิจารณาร่วมกับเสนาบดีทั้งหลาย ก็เห็นกันว่าการซื้อคงยาก เพราะรถถังมีราคาแพง และเศรษฐกิจของเราก็กำลังขัดสน จึงทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างเอง ซึ่งคงจะไม่เกินความสามารถของคนไทย และได้ตัว เสือป่าเภา วสุวัต แห่งกองเรือยนต์หลวง ซึ่งเป็นคนหนุ่มที่มีฝีมือทางงานช่างหลายประเภท ทั้งช่างเครื่องยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างวิทยุ และช่างภาพนิ่ง ตากล้องภาพยนตร์ เคยต่อเรือเร็วใช้ในราชนาวีเสือป่ามาแล้วหลายลำ จึงเรียกมาปรึกษา เสือป่าเภาเห็นแคตตาล็อกแล้วก็ว่า “ไม่ยาก”
การสร้างรถถังของไทยเริ่มขึ้นโดยปลดระวางรถพระที่นั่ง ๔ คัน รื้อตัวถังออกทั้งหมดเหลือแต่ชัชซีและเครื่องยนต์ จากนั้นก็ต่อตัวถังขึ้นใหม่ แบ่งภายในออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหน้าเป็นของคนขับกับผู้ช่วย ส่วนหลังเป็นของพลปืน มีโดมกลมอยู่ด้านบน ติดปืนและหมุนได้ ๓๖๐ องศาเหมือนกัน ส่วนปืนประจำรถเป็นปืนขนาดเพียง ๑ ปอนด์ ขอยืมมาจากกองทัพเรือ และยังสร้างรถโคมฉายอีก ๑ คัน ติดไฟฉายขนาดใหญ่ สำหรับใช้ประลองยุทธในเวลากลางคืน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงพอพระทัยอย่างมาก เมื่อรถถังไทยเสร็จเพียง ๒ คันพร้อมรถโคมฉาย ก็นำออกใช้ในการประลองยุทธเสือป่าครั้งใหญ่ในปี ๒๔๖๒ โดยเชิญนายพลจัตวา สติมเวลส์สัน ทูตทหารบกอังกฤษประจำประเทศไทยไปดูการประลองยุทธด้วย
ท่านนายพลอังกฤษเห็นรถถังไทยก็แปลกใจ ชักม้าเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วลงจากหลังม้าดูอย่างใกล้ชิด เปิดประตูรถดูถึงข้างใน แล้วหันมาถามเจ้าพระยารามราฆพผู้นำไปชมเว่า
“สร้างที่บริษัทไหนนะรถคันนี้?”
เจ้าพระยารามฯก็ตอบว่าสร้างเอง และนำเสือป่าเภา วสุวัตมาพบ ท่านนายพลจับมือแสดงความชื่นชม และหลังจากพินิจพิเคราะห์ขนาดของปืนเพียง ๑ ปอนด์ที่ใช้ ท่านนายพลเห็นว่าระยะยิงไม่ได้ไกล จึงหันมาถามคนสร้างว่า
“ขนาดปืนของท่านมิต้องเข้าใกล้แนวทหารราบไปหน่อยหรือ ฉันว่าน่าจะให้อยู่หลังแนวทหารราบมากกว่านี้”
เสือป่าเภาก็ตอบทันทีว่า
“ระยะของกระสุนปืน ๑ ปอนด์ กระสุนจะตกไม่ไกลกับระยะของปืนเล็กยาวมากนัก เวลาเข้าประจัญบานทหารราบที่ตามหลังรถเกราะไป จะได้มีอำนาจยิงในระยะเท่ากัน”
ท่านนายพลชอบใจในความคิดรอบคอบ ขอจับมืออีกครั้ง และบอกด้วยอารมณ์ขันว่า
“ฉันโง่ไปหน่อย”
น่าเสียดายที่รถถังไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖ หยุดอยู่เพียงแค่นั้น จนมาเกิดขึ้นใหม่ในสมัยนี้อย่างน่าทึ่ง แทบเหลือเชื่อว่าขณะนี้ไทยเป็นผู้ผลิตรถถังออกนำหน่ายไปแล้วถึง ๔๗ ประเทศ ทั้งมีคุณภาพล้ำหน้าได้รับรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลคุณภาพดีเด่น การออกแบบดีเด่น จากหลายประเทศ และที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ ผู้ผลิตรถถังของไทยเป็นผู้หญิง ได้รับฉายาว่า “มาดามรถถัง” แต่มีวุฒิการศึกษาด้านคุรุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นครูมาก่อน
“มาดามรถถัง” มีชื่อว่า นพรัตน์ กุลหิรัญ เติบโตมาในย่านเซียงกง แหล่งค้าอะไหล่รถยนต์ของกรุงเทพฯ จากครอบครัวที่ค้าเศษเหล็ก เนื่องจากพ่อเป็นคนพูดเสียงเบาและยังพูดติดอ่าง แต่มีธุรกิจซ่อมรถซึ่งต้องการเศษเหล็ก โซ่ และอะไหล่ต่างๆเพื่อใช้ในงานซ่อม ทำให้ยากต่อการเข้าประมูลแข่งกับคนอื่น เธอจึงเข้าช่วยพ่อตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ หลังโรงเรียนเลิกในเวลาบ่ายเธอไปที่ลานประมูลเป็นประจำ ทั้งยังช่วยวิ่งซื้อของให้คนอื่นด้วย จนเป็นที่เอ็นดูของนักประมูลทั้งหลาย เธอจึงนำคุณสมบัตินี้มาช่วยพ่อ เมื่อพ่อหมายตาชิ้นส่วนไหน เธอก็ไปขอให้นักประมูลทั้งหลายหยุดแข่งกับพ่อ นี่ก็เป็นประสบการณ์ในการเจรจาธุรกิจในวัยเด็กของเธอ
ปัจจุบันนพรัตน์ กุลหิรัญ มีตำแหน่งเป็นรองประธานและผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ซึ่งมี หิรัญ กุลหิรัญ สามีเป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้คิดค้นพัฒนาออกแบบรถถัง บริษัทนี้จึงเป็นธุรกิจของครอบครัวซึ่งเริ่มต้นมาจากการผลิตลูกหมากและยางแท่นเครื่องรถสิบล้อ ต่อมาเข้ารับงานซ่อมยานพาหนะของกองทัพ เมื่อมีปัญหาที่รถถังของกองทัพขาดแคลนอุปกรณ์ จึงผลิตข้อต่อสายพานให้เป็นอันดับแรก โดยความรู้นี้เธอได้มาเมื่อครั้งที่ไปเยี่ยมโรงงานของบริษัทสแตนดาร์ด โปรดักส์ ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ที่เธอซื้ออะไหล่เป็นประจำ ขณะที่ผู้อำนวยการบริษัทพาเดินชมเธอก็ซักถามไม่ยั้งด้วยความอยากรู้ และเมื่อปลีกตัวไปเข้าห้องน้ำก็จดไว้ในสมุด หลายปีต่อมาผู้อำนวยการคนนี้ได้มาเยี่ยมโรงงานของเธอ เขารู้สึกทึ่งที่เห็นบริษัทชัยเสรีใช้กระบวนการผลิตแบบเดียวกับบริษัทสแตนดาร์ด โปรดักส์ทุกอย่าง ทำให้เขาประทับใจในความปราดเปรื่องของเธอมาก
จากการเริ่มต้นด้วยการผลิตข้อต่อสายพานตีนตะขาบให้รถถัง ต่อมาก็ผลิตล้อล็อคสายพาน และอุปกรณ์ต่างๆที่กองทัพต้องสั่งมาจากต่างประเทศ จนผลิตรถถังทั้งคันขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ลอกแบบ แต่ยังพัฒนาให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ คล่องตัวกว่า เลี้ยวได้ง่ายกว่า และคงทนกว่าถึง ๓ เท่า
เมื่อสงครามเวียดนามยุติลง อเมริกันได้ถอนฐานทัพและทิ้งอาวุธต่างๆไว้มากมายในลาวและเขมร หิรัญ กุลหิรัญ สามีของ “มาดามรถถัง” จึงขออนุญาตกองทัพซื้ออาวุธชำรุดเหล่านี้เข้ามาในฐานะเศษเหล็ก ทำให้บริษัทชัยเสรีมีอะไหล่รถถังมากมาย ต่อมาเธอก็รับซื้อโรงงานของบริษัทสแตนดาร์ด โปรดักส์ที่เลิกกิจการ ได้เครื่องจักรการผลิตมา ทำให้เพิ่มกำลังผลิตได้มากขึ้นอีกหลายเท่า
บริษัทชัยเสรีเริ่มออกงานแสดงอาวุธนานาชาติมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ จากนั้นก็เข้าร่วมมาทุกปีไม่ว่าจะจัดที่ยุโรปหรือเอเซีย จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาวุธสงครามของไทย และเริ่มได้รับรางวัลมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ในด้านคุณภาพและการออกแบบที่ล้ำหน้า เช่น ขับเคลื่อนได้คล่องตัว ทั้งยังไม่ทิ้งร่องรอย ผู้โดยสารในรถมีความสะดวกสบายไม่อึดอัด มีระบบป้องกันตัวอย่างดี แม้ถูกยิงยางแล้วก็ยังสามารวิ่งต่อไปได้อีกถึง ๑๕๐ กม. เป็นที่รู้จักและเชื่อถือจากทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย ปัจจุบันบริษัทชัยเสรีมีลูกค้าอยู่ถึง ๔๗ ประเทศ ในจำนวนนี้นอกจากจะเป็นประเทศในเอเชียและตะวันออกกลางแล้ว ยังมี นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก รัสเซีย เบลเยียม ออสเตรเลีย สเปน โปรตุเกส สหรัฐอเมริกา แคนาคา ฮอลแลนด์ อิตาลี และอาร์เจนตินา ที่เป็นลูกค้าของบริษัทชัยเสรี
สำหรับในประเทศไทย ปี ๒๔๖๒ บริษัทไทยเสรีได้เปิดตัวรถพยาบาลคุ้มเกราะคันแรก ในชื่อ First Win Ambulance โดยนำรถ First Win ที่บริษัทกำลังปรับปรุง มาปรับห้องโดยสารให้เป็นรถพยาบาลสำหรับใช้ในเขตอันตราย สามารถบรรทุกเปลผู้ป่วยได้ ๔ คน แพทย์ ๑ คน พยายาล ๑ คน โดยมีอุปกรณ์การแพทย์สำหรับฉุกเฉินครบครัน
หลังจากเปิดตัว พระราชาจิกมี แห่งภูฏาน ทรงสนพระทัย และเมื่อสอบรถเกราะทั่วโลกแล้ว ก็ทรงพบว่ารถเกราะรุ่นนี้ของไทยมีคุณภาพดี ราคาไม่สูง จึงทรงสั่งซื้อเป็นรายแรก ๑๕ คัน ส่งทหารมาฝึกขับรวมทั้งการซ่อมบำรุง เพื่อนำไปใช้ในประเทศและประจำการที่สหประชาชาติ โดยรับรถไปแล้วในปี ๒๕๖๔
ต่อมาในงานมอเตอร์โชว์ ๒๐๒๑ บริษัทชัยเสรีได้เปิดตัว First Win รถถังคันแรกของไทยเป็นที่สะดุดตาที่สุดในงาน เป็นรถยานเกราะขับเคลื่อนสี่ล้อ ความเร็วสูงสุด ๑๑๐ กม./ชม. มีน้ำหนักถึง ๑๒ ตัน เพราะป้องกันกระสุนและระเบิดรอบคันแม้แต่ใต้ท้องก็กันทุ่นระเบิดได้ สามารถข้ามเครื่องกีดขวางได้สูง ๕๐ ซม. และลุยน้ำได้ ๑ เมตร ติดตั้งปืนกลขนาด ๕๐ มม.บนหลังตา ตัวรถยังมีช่องใช้อาวุธเล็กยิงได้รอบคัน และสามารถติดตั้งอาวุธยิงไกลได้ตามต้องการ ทั้งยังดัดแปลงเป็นรถประเภทอื่นได้อีก เช่น รถลำเลียงพล ยานรบทหารราบ รถสอดแนม และรถพยาบาลหุ้มเกราะ
กองทัพบกได้สั่งซื้อเฟิร์สวินชุดแรกจำนวน ๑๑ คัน และยังสั่งเพิ่มอีกเป็นระยะ แม้กระทรวงยุติธรรมก็ยังสั่งซื้อเฟิร์สวิน ๑๘ คัน เพื่อใช้ในกรมสอบสวนตดีพิเศษในงานปราบปรามยาเสพติด
นี่ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่ออีกเรื่องหนึ่งของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรเลี้ยงชาวโลกเท่านั้น แต่ยังสามารถผลิตอาวุธสงครามที่ต้องซื้อเขามาตลอด หวังว่าการผลิตรถถังของไทยจะเป็นงานที่ยั่งยืนและพัฒนาไปตลอด ไม่เหมือนในอดีตที่เราผลิตเครื่องบินรบเข้าประจำการในกองทัพมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๐ และผลิตถึง ๒๐๐ ลำ เป็นประเทศที่มีเครื่องบินรบมากที่สุดในเอเชีย แต่วันนี้เหลือเพียงตำนาน