xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ขอโทษน้ำท่วม กทม. โอดทำทุกมิติแล้ว แต่ก็ยังผิดพลาดล่าช้าในบางพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอโทษเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชี้ปีนี้ฝนมาเกินคาดแต่ทาง กทม.ก็พยายามอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีความผิดพลาดล่าช้าในบางพื้นที่ ยันจะพยายามทำงานให้รอบคอบกว่านี้ และประสานสรรพกำลังล่วงหน้าให้มาก

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Tavida Kamolvej" อธิบายเรื่องสาธารณภัย ชี้ฝนมาเกินคาด รับ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทำงานในทุกมิติแล้ว ขออภัยในความผิดพลาด โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า

"เรามาเข้าใจกระบวนการของการบริหารจัดการในภาวะเร่งด่วนของสาธารณภัยสักนิดหนึ่งนะคะ จะได้ทราบว่าหน่วยงานมีการทำงานร่วมกันอย่างไรบ้างข้ามกระทรวงและข้ามพื้นที่

คำถาม "ทำไมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย ทั้งที่มีอำนาจในฐานะผู้อำนวยการสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร"

ตอบ "การประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงเป็นการประกาศเพียงขอบเขตพื้นที่ที่มีภัยเกิดขึ้น แต่หากการจะใช้งบประมาณตาม พ.ร.บ.เงินทดรองราชการ จำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลภัย ขอบเขตพื้นที่ ลักษณะการเกิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นในรายแขวง ตำบล เขต อำเภอ และต้องอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการประกาศ "เขตการให้ความช่วยเหลือ" เพื่ออนุมัติการใช้งบประมาณให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นควรประกาศไปโดยพร้อมกันจะได้ประโยชน์และเร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งทีมมาประกบทำงานร่วมกันเพื่อเร่งรัดเต็มที่

คำถาม "แล้ว กทม.ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรประชาชนได้ด้วยตัวเองเลยหรืออย่างไร"

ตอบ "นอกจากความพยายามในการระบายน้ำให้ได้เร็วที่สุด โดยประสานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ในการกำกับเครื่องสูบน้ำในจุดต่างๆ โดยเฉพาะในจุดวิกฤต ที่อาจจะมีเครื่องมือบางอย่างที่ทำงานมาตลอด 24 ชั่วโมงแล้วมีหยุดไปบ้าง ก็ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกรมป้องกันฯ กรมชลประทาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้พยายามร่วมกันทำแผนการระบายน้ำที่กรุงเทพมหานครเองต้องไม่ให้เกิดผลกระทบไปยังพื้นที่ปริมณฑลที่มีปริมาณฝนหนักหน้าไม่แพ้กันด้วย ดังนั้นจึงต้องทำงานกับกรมชลประทานมาอย่างใกล้ชิด ในการวางแผนการปล่อยน้ำในระดับที่ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ที่ กทม. จะสามารถช่วยทำคันกั้นบางส่วนให้ได้ทันหากจะมีการเอ่อล้นมา และพยายามลดระดับน้ำต้นทางที่สูงตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างตามจังหวะที่ทำได้ตลอด 24 ชม."

ตอบเพิ่ม "ส่วนการให้ความช่วยเหลือนั้น ระหว่างรอการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการทำเรื่องไปที่กรมป้องกันฯ กทม.ได้เร่งนำงบประมาณเหลือจ่ายที่มีอยู่ออกมาจัดความช่วยเหลือเต็มกำลัง ทั้งในการจัดกระสอบทราย ถุงยังชีพ การจัดสรรยาที่จำเป็น และสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างที่ระเบียบเอื้ออำนวย และสั่งการให้สำนักงานเขตจัดตั้งศูนย์พักพิง ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ จุดให้บริการ (มีน้องๆ จากอาชีวะมาร่วมกับกองเครื่องกล กทม.ด้วย ขอบคุณมากนะคะ) การต่อสะพานไม้ให้ชุมชน และการให้นำหาบหามไปช่วยดูดน้ำในบางชุมชน"

คำถาม "กรุงเทพมหานครมีการพร่องน้ำในคลองไว้ก่อนแค่ไหน และมีการกั้นน้ำมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่เริ่มต้น"

ตอบ "ตั้งแต่เดือนมิถุนายน กทม.ได้รับคำเตือนจาก สทนช. และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่น้ำเหนือและฝนจะชุกกว่าปกติตั้งแต่เดือนกันยายน ไม่ใช่ตุลาคม กทม. จึงเร่งการลอกคูคลองและระบบท่อของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถรองรับได้เต็มศักยภาพของท่อ คือ 60 มม. (แต่ในช่วงที่ผ่านมา แต่ละวันมีฝนที่ตกลงมาเกินกว่า 100 มม. ติดต่อกันจนมีระดับน้ำฝนสะสมเกินกว่าค่าเฉลี่ยฝน 30 ปีไปมาก) ไปได้ถึงกว่าสามพันกิโลเมตร แนวคันกั้นน้ำเหลือฟันหลออีกประมาณ 3 กิโลเมตรที่ กทม.กำลังดำเนินการต่อเนื่องในอีก 1.5 กม. ส่วนอีก 1.5 กิโลเมตรได้เตรียมกระสอบทรายไว้เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้น้ำเหนือที่ลงมาในช่วงนี้ กทม.ยังสามารถที่จะรับได้ แต่ปริมาณน้ำฝนที่มาก ที่ตกเหนือคลองใน กทม.ด้วย ทำให้การระบายน้ำทำได้ช้ามาก ตลอดจนปริมณฑลที่ต่อเนื่อง เช่น รังสิต สมุทรปราการ ก็มีสถานการณ์อุทกภัยอยู่เช่นกัน การระบายน้ำที่ต่อเนื่องกันจึงต้องทำร่วมกัน ค่อยแบ่งเบาซึ่งกันและกันด้วย"

ส่วนข้อความต่อไป ไม่ได้มีคนถาม แต่อยากขออนุญาตสื่อสารว่า "สองอาทิตย์ที่ผ่านมาทาง กทม.พยายามที่จะทำในทุกส่วนในทุกมิติให้เร็ว แต่ก็ยังมีความผิดพลาดล่าช้าในบางพื้นที่ แม้ติดตามแก้ไขให้ในภายหลังแต่ความเสียหายและความไม่สะดวกได้เกิดขึ้น ขออภัยทุกคนจริงๆ ค่ะ พวกเราจะพยายามทำงานให้รอบคอบกว่านี้ และประสานสรรพกำลังล่วงหน้าให้มากขึ้นอีก จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นให้เร็วที่สุดค่ะ""
กำลังโหลดความคิดเห็น