xs
xsm
sm
md
lg

วัยรุ่นพิเรนทร์! ใช้ "กาวตราช้าง" ลอกสิวเสี้ยน "หมอแล็บฯ" เตือนอันตรายกระทบระบบทางเดินหายใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอแล็บแพนด้า" พบคลิปวิดีโอวัยรุ่นสุดพิเรนทร์ ใช้กาวตราช้างมาลอกสิวเสี้ยนบริเวณจมูก ชี้ อันตรายเพราะเป็นสารเคมีที่ใช้ในระบบอุตสาหกรรม หวั่นมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและระบบทางเดินหายใจ

วันนี้ (13 ก.ย.) เพจ "หมอแล็บแพนด้า" นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ออกมาโพสต์เรื่องราวเตือนภัยหลังพบคลิปที่มีกลุ่มวัยรุ่นนำกาวตราช้างมาทาลงบนแผ่นกระดาษแล้วไปแปะที่จมูกเพื่อทำการลอกสิวเสี้ยน หวั่นเป็นอันตรายเพราะกาวตราช้างเป็นสารเคมีที่ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม โดย "หมอแล็บฯ" ได้ระบุข้อความว่า

"มีคลิปเอากาวตราช้างมาลอกสิวเสี้ยนอีกแล้วครับ โอยยย ข่อยย่านเด๊ กลัวจะพลาดทำผิวหน้าเป็นรอย หรือแพ้สารเคมีน่ะสิครับ

กาวตราช้างเป็นสารเคมีในกลุ่มไซยาโนอะคริเลต เหมาะสำหรับใช้เชิงอุตสาหกรรม และต้องระมัดระวังไม่ให้สัมผัสที่ผิวหนังโดยตรง เพราะเกิดปฏิกิริยารวดเร็วมาก แถมมีการคายความร้อนที่ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังได้ จมูกเราไม่ใช่วัสดุอุปกรณ์เด้อ 55555

นอกจากนี้ การสลายตัวของสารจะมีการปล่อยสารฟอร์มัลดีไฮด์ และอัลคิลไซยาโนอะคริเลต ถึงจะปริมาณน้อยแต่การเอามาแปะแถวๆ จมูก มันก็อาจเกิดพิษต่อเนื้อเยื่อและระบบทางเดินหายใจได้

ใครอยากกำจัดสิวเสี้ยนอาจจะใช้ไข่ขาว หรือใช้แผ่นลอกสิวเสี้ยนดีกว่าครับ เพราะมีปริมาณกาวพอเหมาะและออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานกับผิวหนังโดยเฉพาะ ง่ายและปลอดภัยกว่านะครับ"

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ระบุถึงอันตรายของกาวตราช้างเมื่อถูกสูดดมและถูกผิวหนัง ดังนี้

คุณสมบัติกาวตราช้าง

กาวตราช้าง หรือที่รู้จักกันในชื่อซูเปอร์กลูหรือเพาเวอร์กลู เป็นสารเคมีในกลุ่มไซยาโนอะคริเลต (cyanoacrylate) มีคุณสมบัติเป็นสารยึดติดที่แห้งเร็ว ทำให้วัสดุติดทนนาน และนิยมใช้ในเชิงอุตสาหกรรม โดยกาวชนิดนี้มีโครงสร้างทางเคมีที่เหมาะสำหรับใช้เฉพาะเชิงอุตสาหกรรม (Industrial grade) การใช้กาวชนิดนี้จึงต้องระมัดระวังไม่ให้สัมผัสโดยตรงที่ผิวหนัง เพราะเกิดปฏิกิริยารวดเร็ว ทำให้มีการคายความร้อนที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังได้มากกว่ากาวที่ใช้เฉพาะทางการแพทย์ (Medical grade)

อันตรายเมื่อสัมผัสผิว

การสลายตัวของสารจะมีการปล่อยสารฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) และอัลคิลไซยาโนอะคริเลต (Alkyl cyanoacrylate) ซึ่งแม้จะมีปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็อาจเกิดพิษต่อเนื้อเยื่อและระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดอาการผิวอักเสบในผู้ที่แพ้กาวหรือส่วนประกอบของกาว หากใช้ปริมาณกาวมากเกินไป ทำให้มีผลข้างเคียงเพิ่มมากขึ้น และหรือหากไปสัมผัสบริเวณผิวหนัง/อวัยวะส่วนอื่น เช่น รอบดวงตา หรือริมฝีปาก ที่ผิวหนังบอบบาง เกิดอาการระคายเคืองง่าย อาจทำให้เกิดผิวไหม้พอง เป็นแผลเป็นถาวรได้
กำลังโหลดความคิดเห็น