xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ เดินเครื่องสูบน้ำออกทะเลต่อเนื่อง พบจุดตัดรังสิต-คลองประปาน่าห่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบแม่น้ำเจ้าพระยา นครสวรรค์ และบางไทร น้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กรมชลฯ ติดตามการระบายน้ำคลองชายทะเล บรรเทาน้ำท่วม กทม.-ปริมณฑล ด้านเลขาฯ สทนช.ถกสถานการณ์น้ำคลองรังสิต พบจุดที่น่าห่วงคือจุดตัดคลองประปา น้ำผ่านไม่สะดวกแถมมีฝนตกซ้ำ

วันนี้ (12 ก.ย.) กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า แม่น้ำปิง อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 432 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ระดับน้ำ 35.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ต่ำกว่าตลิ่ง 4.02 เมตร, แม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,039 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำ 26.07 ม.รทก. ต่ำกว่าตลิ่ง 2.23 เมตร, แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,783 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,690 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำ 22.39 ม.รทก. ต่ำกว่าตลิ่ง 3.81 เมตร, เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,698 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน 16.53 ม.รทก. ระดับน้ำท้ายเขื่อน 13.53 ม.รทก., แม่น้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำ 320.42 ลบ.ม./วินาที ท้ายเขื่อนพระรามหก ปริมาณน้ำไหลผ่าน 510 ลบ.ม./วินาที, แม่น้ำเจ้าพระยา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,107 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,006 ลบ.ม./วินาที

เมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และคณะลงพื้นที่ติดตามการระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกตอนล่าง บริเวณสถานีสูบน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำและการทำงานของสถานีสูบน้ำต่างๆ ที่มีจุดเชื่อมต่อกับระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมในช่วงที่ผ่านมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตรได้เดินเครื่องสูบน้ำบริเวณแนวคลองชายทะเล 9 แห่ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว ปัจจุบันมีการระบายน้ำรวมกันประมาณ 22.18 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน

ก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้วางแผนเร่งระบายน้ำ เพื่อช่วยพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมระดมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ได้กำชับให้สำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานที่ 11 ตรวจสอบระบบชลประทาน สถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำต่างๆ ที่มีจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มีความพร้อมในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ ให้พร้อมใช้งานและเข้าไปสนับสนุนการระบายน้ำได้ตลอดเวลา รวมทั้งได้เน้นย้ำให้เร่งรัดการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจตกลงมาเพิ่มได้อีกในระยะต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน

อีกด้านหนึ่ง กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ได้แก่ 1. เครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 1 เครื่อง บริเวณหมู่บ้านเพชรอนันต์ (ซอยกาญจนาภิเษก 7/1) แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 2. เครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 10 นิ้ว (0.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 1 เครื่อง บริเวณข้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 3. เครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 12 นิ้ว (0.3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) จำนวน 1 เครื่อง บริเวณข้างคริสตจักรสายธารพระพร ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ จ.ปทุมธานี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หารือกับ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน โดยพบว่าจุดน่าห่วงคือจุดตัดระหว่างคลองรังสิต และคลองประปา เพราะน้ำผ่านไม่สะดวก เมื่อไหลมาแล้วมีไซฟอนข้าม เมื่อน้ำมามากจึงไหลไม่ทัน น้ำก็เท้อหรือเอ่อกลับไปด้านหน้า ขณะนี้ประสานเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำแล้ว อีกทั้งห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ฝนตกมากกว่าเกณฑ์ปกติ และจะตกซ้ำในพื้นที่เดิม ทำให้มีน้ำสะสมมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงทำให้มีน้ำท่วมขัง ขณะที่กรมชลประทาน ได้ใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 6 ลบ.ม./วินาที จำนวน 20เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม./วินาที ที่ติดเพิ่มเติมอีก 4 เครื่อง เสริมการระบายน้ำในคลองรังสิตฯ ปัจจุบันทำการระบายน้ำในอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที หรือคิดเป็นวันละประมาณ 8.64 ล้าน ลบ.ม. โดยจะเร่งระบายอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น