1.เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 5 คดี "ธาริต" ปฏิบัติหน้าที่มิชอบแจ้งข้อหา "มาร์ค-สุเทพ" สั่งฆ่า ปชช. เหตุเจ้าตัวอ้างป่วยโควิดรอบสอง!
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 5 คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง
คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างเดือน ก.ค. 2554-13 ธ.ค. 2555 จำเลยทั้งสี่ในฐานะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้สอบสวน ตั้งข้อหากับโจทก์ทั้งสองข้อหาสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ต้องรับโทษ จากการที่ ศอฉ.ออกคำสั่งให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมขับไล่นายอภิสิทธิ์ ให้ออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี
ต่อมา ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่ หลังจากนั้นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ คนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา หลังจากนั้น จำเลยยื่นฎีกา
เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีนี้ ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 แต่เมื่อถึงกำหนด นายประกันของนายธาริต อ้างว่า ไม่สามารถนำตัวนายธาริตมาส่งศาลเพื่อฟังคำพิพากษาได้ เพราะเพิ่งได้รับแจ้งว่า นายธาริตย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จึงขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษา
ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ก.พ.2565 แต่เมื่อถึงกำหนด นายธาริตได้ให้ทนายความยื่นศาลขอเลื่อนอ่านคำพิพากษาอีก โดยอ้างว่า ป่วย เกิดอาการชักเกร็ง หมดสติ 5 นาที พอรู้สึกตัว ก็แขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง อยู่ระหว่างรักษาตัวที่ รพ.พญาไท 2
ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 21 เม.ย.2565 แต่เมื่อถึงกำหนด นายธาริตก็ให้ทนายขอศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาอีก โดยอ้างว่า ป่วยโควิด ขอพักรักษาตัว 3 เดือน พร้อมกันนั้นทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ในคดี และพร้อมวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายแก่โจทก์คนละ 3 แสนบาท แต่ทนายโจทก์ชี้ว่า จำเลยส่อประวิงคดี และยืนยันไม่ขอรับเงินคนละ 3 แสนบาทดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิทธิฟ้องร้องทางแพ่ง และเป็นคดีอาญา ไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้
ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 22 มิ.ย.2565 แต่เมื่อถึงกำหนด นายธาริตไม่เดินทางมาศาล โดยศาลได้รับแจ้งว่า ไม่สามารถส่งหมายแจ้งวันนัดให้นายธาริตได้ เนื่องจากมีการย้าย ไม่ทราบที่อยู่ใหม่ ขณะที่ทนายความนายธาริต ยืนยันว่า นายธาริตมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ศาลจึงให้ส่งหมายแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 ใหม่ และนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 7 ก.ย.
เมื่อถึงกำหนด (7 ก.ย.) ปรากฏว่า นายธาริตไม่เดินทางมาศาล โดยอ้างว่า ป่วยโควิด-19 รอบใหม่ ทั้งที่เคยอ้างป่วยโควิดมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อเดือน เม.ย. โดยครั้งนี้ได้ยื่นใบรับรองแพทย์ ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษา อ้างว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 โดยเป็นผู้ป่วยในกลุ่มบุคคลผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ และว่า การที่นายธาริต เคยเป็นโควิด-19 เมื่อเดือน เม.ย. ทำให้มีการอาการเหนื่อยจากโรคดังกล่าว แพทย์ที่ทำการรักษาเห็นควรต้องดูแลรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน
นอกจากนี้ทนายความนายธาริต ได้ยื่นคำร้องขอส่งสำนวนคืนศาลฎีกา โดยอ้างเหตุว่า มีผู้ร้องยื่นขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม อย่างไรก็ตาม ทนายความโจทก์ที่ 1, 2 แถลงคัดค้านว่า คำร้องขอส่งสำนวนคืนศาลฎีกา นายธาริต นักกฎหมายย่อมทราบดีว่า เมื่อคดีนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องขอส่งสำนวนคืนศาลฎีกา โดยอ้างเอาเหตุของคดีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
ด้านศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่นายธาริต อ้างเหตุติดเชื้อโควิด-19 ครั้งใหม่ กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 อยู่ในห้องปลอดเชื้อและมีใบรับรองแพทย์ จึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ป่วย ประกอบกับคดีนี้มีนางพะเยาว์ อัคฮาด ญาติผู้ตาย ได้ยื่นคำร้องเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และทนายความจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอส่งสำนวนคืนศาลฎีกา ศาลจึงไม่อาจอ่านคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ จึงให้ส่งคำร้องขอส่งสำนวนคืนศาลฎีกาและคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ไปให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว โดยให้เลื่อนไปฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 9 ธ.ค. 2565
ขณะที่นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมล อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาล ที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามฯ กล่าวว่า ที่ตนมายื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 วันนี้ไม่ได้มาเป็นโจทก์ร่วมฟ้องนายธาริต เเต่มาเพื่อขอให้ศาลฎีกามีการพิจารณาคดีใหม่ให้ความเป็นธรรมให้กับนายธาริต ซึ่งทำตามหน้าที่เเล้วจะต้องมีความผิดด้วยหรือไม่ โดยการรับฟังข้อเท็จจริงจากญาติผู้เสียชีวิตด้วย ตนเห็นว่า การสั่งดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์เเละนายสุเทพของนายธาริตถูกต้องเเล้ว
2.ทั่วโลกอาลัย "ควีนเอลิซาเบธที่ 2" สวรรคต ในหลวง-สมเด็จพระพันปีหลวง ส่งพระราชสาส์น-ลายพระราชหัตถ์ แสดงความเสียพระราชหฤทัย!
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น หรือช่วงดึกตามเวลาประเทศไทย สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ได้ออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตอย่างสงบ ณ ปราสาทบัลเมอรัล สิริพระชนมพรรษา 96 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 70 ปี
ภายหลังการสวรรคต เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระราชโอรสพระองค์โตเสด็จขึ้นครองราชย์ภายใต้พระปรมาภิไธย "พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3" โดยทรงมีพระราชดำรัสเป็นครั้งแรกว่า “การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ พระราชมารดาผู้เป็นที่รักยิ่ง นับเป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและสมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์ เราเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักและพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง และข้าพเจ้าทราบว่าชาวสหราชอาณาจักร ตลอดจนเครือจักรภพ และผู้คนทั่วโลก รู้สึกเสียใจอย่างมากต่อความสูญเสียครั้งนี้ ในช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ถวายความอาลัยและความเปลี่ยนแปลง ข้าพเจ้าและพระบรมวงศานุวงศ์จะได้รับการปลอบประโลม ด้วยความรักและความเคารพที่ทั่วโลกมีต่อสมเด็จพระราชินีนาถ”
อนึ่ง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาขณะทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 25 พรรษา ตั้งแต่นั้นมาทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจในฐานะพระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพมาโดยตลอด ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติจวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ
หลังการสวรรคต ผู้นำทั่วโลกต่างถวายความอาลัย โดยอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ระบุว่า "ในฐานะประมุขแห่งรัฐที่ครองราชย์นานที่สุดและพระชนมายุยืนที่สุดของสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นที่ชื่นชมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ต่อความกรุณา อุทิศตัวและความสง่างามของพระองค์ พระองค์สร้างความอุ่นใจตลอดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หลายทศวรรษ ในนั้นรวมถึงการปลดปล่อยอาณานิคมในแอฟริกาและเอเชีย และวิวัฒนาการของเครือจักรภพ...."
ในส่วนของประเทศไทย วันนี้ (10 ก.ย.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ ในการที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ความว่า
"หม่อมฉันและพระราชินี รวมทั้งพระราชวงศ์ทุกพระองค์ รู้สึกเศร้าสลดใจอย่างยิ่งต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ประชาชนชาวไทยขอร่วมอาลัยกับประชาชนแห่งสหราชอาณาจักรต่อการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของพระประมุขซึ่งเป็นที่รัก รวมทั้งร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจที่มีมาอย่างยาวนานของพระองค์ ในฐานะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพสกนิกรอย่างแท้จริง
"หม่อมฉันและประชาชนชาวไทยยังคงระลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการถึงสองครั้งในปี ๒๕๑๕ และ ๒๕๓๙ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยความซาบซึ้งและภาคภูมิใจยิ่ง เราทั้งหลายขอแสดงความอาลัยแด่ฝ่าพระบาท พระราชวงศ์ และประชาชนแห่งสหราชอาณาจักร ในการสูญเสียอันนำมาซึ่งความโศกเศร้าในครั้งนี้"
วันเดียวกันนี้ (10 ก.ย.) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความลายพระราชหัตถ์แสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ ในการที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต ความว่า
"หม่อมฉันรู้สึกเศร้าสลดใจอย่างยิ่งต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หม่อมฉันเองได้มีโอกาสเฝ้าและได้เห็นการทรงงานของพระองค์ในหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในปี 2503 ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชสวามีของหม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนด้วย
"รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2515 และ 2539 ซึ่งหม่อมฉันรู้สึกประทับใจในพระปรีชาสามารถและพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ อีกทั้งรู้สึกซาบซึ้งที่พระองค์ทรงมีความห่วงใยเอื้ออาทรต่อผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ การได้เฝ้าพระองค์ในแต่ละครั้งจึงนับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งของหม่อมฉัน หม่อมฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังฝ่าพระบาทและพระราชวงศ์ สำหรับการสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้"
3. เอกสารหลุดโลกออนไลน์ เผย "บิ๊กตู่" แจงศาล รธน. เป็นนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี เหตุการดำรงตำแหน่งขาดตอน จะนับปี 57 รวมปี 60 ไม่ได้!
ความคืบหน้ากรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องที่ประธานสภาฯ ส่งคำร้องของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรีว่า ความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 2 ประกอบมาตรา 158 วรรค 4 หรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย หลังกระแสสังคมเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว โดยนับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 57 ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า ยังไม่ครบ 8 ปี เพราะต้องนับการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ใช่ย้อนหลังไปถึงรัฐธรรมนูญปี 57 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษา
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. มีเอกสารถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยระบุว่าเป็นเอกสารการชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงการนับระยะเวลาตาม รธน.2560 การดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยสรุปคำชี้แจงของนายมีชัยได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
ดังนั้นคณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560
วันต่อมา (7 ก.ย.) นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีมีหนังสือคำชี้แจงของนายมีชัย หลุดในโลกโซเชียล โดยไม่ยืนยันว่า เป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ระบุว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ และกังวลใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหากระทบผู้ให้ความเห็นและพาดพิงไปถึงคู่ความ จึงให้สำนักงานฯ ติดตามว่าเอกสารมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ส่วนจะเอาผิดใครได้หรือไม่ ต้องรอดูผลการตรวจสอบก่อน
ทั้งนี้ วันเดียวกัน (7 ก.ย.) ได้มีเอกสารหลุดในโลกออนไลน์อีก โดยอ้างว่า เป็นเอกสารชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี โดยยืนยันว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรกดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนับระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้
และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง “ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ (6 เม.ย.2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้
ส่วนการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว...
ทั้งนี้ มีบางฝ่ายเปิดประเด็นว่า บันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 มีการระบุถึงคำกล่าวของนายมีชัยที่ว่า ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ซึ่งนายมีชัย ชี้แจงว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ได้มีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 วันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งนายมีชัย เป็นประธานการประชุม ในระเบียบวาระที่ 2 รับรองบันทึกการประชุม ได้ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2561 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไข จึงมีการมองว่า คำชี้แจงของนายมีชัยต่อศาลรัฐธรรรมนูญขัดแย้งกับข้อความในบันทึกการประชุมดังกล่าว
ซึ่งล่าสุด (8 ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 501 ให้ศาลฯ ภายในวันที่ 13 ก.ย.นี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 14 ก.ย.
4. ศาลพิพากษาจำคุก 17 นศ.อุเทนถวาย-16 นศ.ช่างกลปทุมวันคนละ 1 เดือน รอลงอาญา ปรับ 1 หมื่น คดียกพวกตีกัน!
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ศาลเเขวงปทุมวันได้อ่านคำพิพากษา คดีที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวง 5 ปทุมวัน ยื่นฟ้องนายชุมนุมโชค เอี่ยมปาน กับพวกรวม 16 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นจําเลย ฐานความผิด ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ทำร้ายร่างกายผู้อื่น และทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ
คำฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา จำเลยทั้ง 16 คน กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ส่งเสียงทะเลาะอื้ออึง กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย รวม 2 กลุ่ม ประมาณ 110 คน โดยต่างฝ่ายต่างเข้าทำร้ายซึ่งกันและกัน ที่บริเวณลานกีฬานิมิบุตร แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จนก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และทำให้เสียความสงบเรียบร้อย และเป็นเหตุให้นายณัฐชานนท์ บุญสา ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายได้รับอันตรายแก่กาย มีแผลที่ศีรษะ ซึ่งจำเลยทั้ง 16 คน ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยทั้ง16 คน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง, 295, 372 ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 อายุ 19 ปี ยังไม่เกิน 20 ปี แต่มีความรู้สึกผิดชอบแล้ว จึงไม่ลดโทษให้ตามประมวลอาญา มาตรา 76 การกระทำของจำเลยทั้ง 16 คน เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 2 หมื่นบาท แต่จำเลยทั้ง 16 คนให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 1 หมื่นบาท
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี จำเลยทั้ง 16 คนเป็นนักศึกษา ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลย โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติจำเลย ทั้ง 16 คนโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติรวม 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ศาลเเขวงปทุมวันได้พิพากษาจำคุกนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกับกลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันในเหตุการณ์เดียวกัน จำนวน 17 คน คนละ 1 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปีเช่นกัน
5. อัยการส่งฟ้อง "ชัยวัฒน์" กับพวก คดีฆ่า "บิลลี่" แกนนำกะเหรี่ยง ด้านศาลให้ประกันตัว ขณะที่เจ้าตัวยันไม่ได้ฆ่า ดีใจจะได้พิสูจน์ความจริง!
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พนักงานอัยการฝ่ายยคดีพิเศษ 4 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี, นายบุญแทน บุษราคำ, นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิด ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ฯลฯ จากกรณีการเสียชีวิตของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ กล่าวหลังเดินทางไปรายงานตัวกับพนักงานอัยการก่อนถูกคุมตัวมาส่งฟ้องต่อศาลว่า ไม่ได้มีความกังวลใจ และได้เตรียมเอกสารเพื่อนำมาประกันตัว ที่ผ่านมาได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองว่าไม่ได้ทำอะไร เมื่อทุกอย่างมาถึงขั้นตอนของศาลแล้ว ตนรู้สึกโล่งใจมากกว่า และไม่ได้รู้สึกน้อยใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย กลับรู้สึกขอบคุณเสียมากกว่า เพราะถึงเวลาแล้วที่ต้องทำแบบนี้ จะได้พิสูจน์ความจริงสักที
รวมถึงประเด็นที่ว่า ตนเป็นผู้ลงมือสั่งการและเผาบ้านของปู่คออี้ และมอแอะ ชาวบ้านบางกลอย จำนวน 2 หลัง แต่ท้ายที่สุดหลักฐานได้ชี้ชัดว่า ปู่คออี้ และมอแอะนั้นอยู่บ้านหลังเดียวกัน ตนมองว่า ที่ผ่านมาเป็นการสร้างหลักฐานเท็จ ให้การเท็จ และแจ้งเท็จ ซึ่งตนก็พิสูจน์แล้ว และอยากให้สังคมคอยติดตามดูว่าความจริงคืออะไร และตนเองก็ยังไม่ฟ้องกลับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ดินชาวบ้านบางกลอยที่ยังพิพาทกันอยู่ตอนนี้
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า “ทางผู้ใหญ่และน้องๆ ทุกคนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ยืนยันไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และตนก็ทำงานในการปกป้องป่าตามปกติ รู้สึกเห็นใจลูกน้องที่ต้องมาพัวพันในคดี ซึ่งลูกน้องทุกคนรู้สึกท้อใจ เพราะพวกเขาไม่ได้ทำอะไร แต่กลับมาโดนคดี และมองว่า ไม่ว่าใครที่อยู่ใกล้ชิดตน ก็มักจะซวยตามไปด้วย”
ด้านนายพรชัย พฤกษ์พิชัยเลิศ ทนายความของนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนการต่อสู้คดีนั้น ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะต้องดูฝั่งของทางอัยการในขั้นตอนการตรวจหลักฐานสืบพยานก่อน ว่ามีพยานหลักฐาน พยานบุคล หรือวัตถุพยานอย่างไรบ้าง โดยได้เตรียมหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวผู้ต้องหาเป็นเงินสด คนละ 1 ล้านบาท
หลังศาลมีคำสั่งรับฟ้อง ได้อนุญาตให้จำเลยประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์วงเงินคนละ 8 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศและห้ามยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานทางคดี โดยไม่ได้มีคำสั่งให้นายชัยวัฒน์ออกจากราชการ ทั้งนี้ ศาลได้นัดสอบคำให้การในวันที่ 26 ก.ย.นี้ เวลา 09.30 น.
ด้านนายชัยวัฒน์ได้กล่าวอีกครั้งหลังได้ประกันตัว โดยขอบคุณกลุ่มทนายที่ช่วยเหลือเรื่องเงินประกันของทุกคน จากเงินกองทุนที่ตั้งขึ้นมาสำหรับคดีนี้ และว่า เงินทั้งหมดนั้นไม่ใช่เงินของตนและเงินของกระทรวง
ส่วนกรณีที่ชาวบ้านกังวลว่า หากนายชัยวัฒน์ได้ประกันตัว จะมีการคุกคามนั้น นายชัยวัฒน์ ได้ชี้แจงด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ตนต่างหากที่เป็นฝ่ายถูกคุกคาม ทั้งจากสังคมและชาวบ้าน เพราะตนทำงานอยู่ในป่า ไม่ได้รับรู้ข่าวสารอะไร แต่กลับถูกสื่อและสังคมกล่าวหาว่าหนีคดี ว่าไปคุกคามชาวบ้าน อีกทั้งชาวบ้านยังใช้โอกาสที่เป็นชนกลุ่มน้อย อ้างเรื่องสิทธิขึ้นมาต่อว่าตนอีก ทั้งที่ผ่านมาตนไม่เคยจับกุมกลุ่มชาติพันธุ์เลยสักคดีเดียว และจนถึงนาทีนี้ ตนยังขอยืนยันถึงความบริสุทธิ์ ว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำในคดีการเสียชีวิตของบิลลี่
ส่วนการกลับเข้ารับราชการของนายชัยวัฒน์ที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีเอกสารชี้แจงให้กลับไปทำงานนั้น นายชัยวัฒน์ชี้แจงว่า เป็นไปตามมติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ตนทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจราชการ หากจะมีการโยกย้ายไปจุดไหน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารกระทรวงฯ ส่วนหนังสือให้กลับเข้ารับราชการ ได้นำมายื่นต่อศาลแล้ว