sacit ผนึก 2 งานใหญ่แห่งปี “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13” และ “Crafts Bangkok 2022” หวังกระตุ้นตลาดงานศิลปหัตถกรรมไทย ยกระดับฝีมือคนไทยสู่สากล คาดระหว่างการจัดงาน 8-11 กันยายนนี้ สร้างเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 140 ล้านบาท
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” เปิดเผยว่า หนึ่งภารกิจสำคัญของ sacit คือการส่งเสริมสนับสนุนการจำหน่าย รวมไปถึงเพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยจากสมาชิก และผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยในปีนี้ sacit จึงได้จัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ซึ่งถือเป็นงานที่รวบรวมสินค้าหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สุดยิ่งใหญ่แห่งปีรวมไว้ในงานเดียวกัน
สำหรับงานครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ณ ฮอลล์ 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดย sacit ถ่ายทอดผ่านแนวคิด “The power of Traditional and Modern Cultural Blend : ผสานภูมิปัญญาอย่างร่วมสมัย ส่งต่อฝีมือคนไทยสู่สากล” เพื่อเป็นการประกาศความพร้อมของผู้ประกอบการไทยที่จะก้าวสู่เวทีสากล หลังจากผ่านการบ่มเพาะฝีมือและยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ
ขณะที่กิจกรรมภายในงาน แบ่งออกเป็นโซนกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย ตำนานศิลปาชีพ (The Legend of Silpacheep) จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 รวมไปถึงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และส่วนสาธิตการทำงานโดยสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อนำเสนอความประณีตวิจิตรบรรจงในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพอันทรงคุณค่า
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2565 ส่วนจัดแสดง Live Exhibition หรือการสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2565 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่เข้าชมได้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญและหันมาร่วมอนุรักษ์และสืบสานงานช่างฝีมือเหล่านี้ไว้ไม่ให้สูญหาย
รวมทั้งนิทรรศการส่งเสริมชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว จำนวน 3 ชุมชน ส่วนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการในพระราชดำริต่างๆ ส่วนจัดแสดง About sacit และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ sacit และพื้นที่จัดจำหน่ายหัตถศิลป์ทั่วถิ่นไทย ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสินค้างานคราฟต์ฝีมือคนไทย ที่สร้างสรรค์อย่างร่วมสมัยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ นับหมื่นรายการ กว่า 650 ร้านค้า
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการขายและกิจกรรมพิเศษภายในงาน โดยเวทีกลางในการจัดกิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจสำหรับคนรักงานศิลปหัตถกรรม เช่น การแสดงดนตรีร่วมสมัย มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินดารามาสร้างสีสันภายในงาน เช่น แว่นใหญ่-มน, เบล วริศรา, ป๊อป ปองกูล, เอิ๊ต ภัทรวี รวมถึงกิจกรรม Work shop Share Your Crafts ให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้ DIY และแชร์ความสุขในทุกๆ วันอีกด้วย
ทั้งนี้ คาดหวังว่าการจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 งานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สุดยิ่งใหญ่แห่งปี ที่มีการรวม 2 งานใหญ่ไว้ในงานเดียว ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตลอดการจัดงานจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย สามารถสร้างเงินสะพัดกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศกว่า 140 ล้านบาท