xs
xsm
sm
md
lg

MEA จับมือจุฬาฯ ร่วมลงนามสัญญาต่างตอบแทนโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ SAMYAN SMART CITY

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)  ร่วมพิธีลงนามสัญญาต่างตอบแทนโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของมหาวิทยาลัย (Sandbox) ระหว่างการไฟฟ้านครหลวง กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา การออกแบบระบบบริหารจัดการพลังงานและระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ SAMYAN SMART CITY ณ ห้องสัมมนา 1 ชั้น 12A อาคารวัฒนวิภาส (อาคาร B) การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย


รองผู้ว่าการกล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมขับเคลื่อนการสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ตามนโยบายพลังงานหมุนเวียนของแผนพลังงานชาติ สู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย MEA เป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารในพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสิ้น 6 อาคาร ขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 678.78 kWp และบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าตลอดอายุโครงการทั้งสิ้น 20 ปี สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) โดยเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐานของ MEA จากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมดูแลบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตลอดจนแนวทางการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการขยายผลต่อที่เป็นประโยชน์แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโอกาสต่อไป

ด้าน รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กล่าวว่า ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง จัดทำโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของมหาวิทยาลัย (Sandbox)” เป็นส่วนหนึ่งของ SAMYAN SMART CTIY


จากแนวโน้มทางด้านการพัฒนาพลังงานของโลกและของประเทศไทย พบว่าในปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา นอกจากนี้ จากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเริ่มเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (Consumer) มาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า (Producer) ในบางช่วงเวลาด้วย หรือที่เรียกว่า Prosumer ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างการจัดหาไฟฟ้าและโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต การทดลองการซื้อขายไฟฟ้าของ Prosumer ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer (P2P) ควบคู่ไปกับการทดสอบการบริหารจัดการการใช้พลังงานในระบบจำหน่ายไฟฟ้าจริงที่จะดำเนินในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เห็นประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปเป็นบทเรียนที่เติมเต็มกับทั้งภาควิชาการ และหน่วยงานการไฟฟ้า ซึ่งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงนโยบายและกำกับดูแลทางด้านพลังงานของประเทศไทยได้


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ SAMYAN SMART CITY ให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ “SMART 7” คือ(1) SMART ENERGY (2) SMART ENVIRONMENT (3) SMART MOBILITY (4) SMART ECONOMY (5) SMART PEOPLE (6) SMART LIVING และ (7) SMART GOVERNANCE โดยความร่วมมือครั้งนี้ ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเน้นที่การพัฒนาเสาหลัก “Chula Smart Campus” ทางด้าน SMART ENERGY ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะที่ประกอบด้วยการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-peer และอาคารอัจฉริยะ พร้อมทั้งจะทำการทดลองการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระบบผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายแบบ P2P เพื่อศึกษาผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าในประเด็นต่างๆ ทั้งการวิเคราะห์กลไกตลาด (Market Mechanisms) การออกแบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้า และการออกแบบอัตราค่าผ่านทาง (Wheeling charge) ที่เหมาะสมกับการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P โดยคาดหวังว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะช่วยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาประเทศในมิติทางด้านพลังงานและเพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างหนึ่งของต้นแบบเมืองอัจฉริยะทางด้านพลังงานต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น