xs
xsm
sm
md
lg

ตึกเด่นของกรุงเทพฯที่หายไป! เคยเป็นห้างไฮโซสมัย ร.๕-ที่ตั้ง ม.ธ.แห่งแรก-ถูกรื้อเมื่อเป็น”กรมกร๊วก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนรค



เมื่อก่อนนี้ที่หัวมุมถนนราชดำเนินด้านสะพานผ่านพิภพลีลา มีตึกงามเด่นสะดุดตาหลังหนึ่งตั้งตระหง่าน ตึกนี้สร้างมาแต่ พ.ศ.๒๔๒๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นห้างสรรพสินค้าของกรุงเทพฯ มีชื่อว่า “ห้างแบดแมน แอนด์ กำปะนี” นำสินค้าหรูจากยุโรป อเมริกามาจำหน่าย เป็นที่รวมแฟชั่นแบบตะวันตก และยังรับตัดเครื่องแบบทหารด้วย
 
ผู้ที่สร้างตึกหลังนี้ก็คือ นายแฮร์รี เอ. แบดแมน ชาวอังกฤษ หุ้นส่วนของ “ห้างแรมเซย์ แบดแมน” ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๕ ที่สี่แยกถนนบำรุงเมืองตัดกับถนนตะนาว เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๒๗ นายแบดแมนได้แยกทางมาตั้งห้างใหม่ที่ถนนราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปทรงทำพิธีเปิดห้างของนายแบดแมนในวันที่ ๙ ธันวาคม ห้างนี้เป็นที่นิยมของไฮโซยุคนั้นอย่างมาก

ใน พ.ศ.๒๔๓๕ นายแบดแมนเข้าวัยเกษียณ จึงเลิกกิจการในเมืองไทย กลับไปบ้านเกิดที่กรุงลอนดอน แต่ยังทำธุรกิจรับจัดหาสินค้าส่งมาจากอังกฤษ ส่วนห้างเก่าก็มีชาวต่างประเทศด้วยกันรับช่วงดำเนินกิจการต่อ
ใน พ.ศ.๒๔๔๐ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายส่วนพระองค์ขึ้น โดยใช้ห้องที่ติดกับห้องเสวยในกระทรวงเป็นที่สอน เมื่อเสวยกลางวันแล้วก็ทรงสอนด้วยพระองค์เอง มีผู้สนใจเรียนกันมากจนต้องย้ายไปยังตึกที่มีห้องใหญ่ขึ้น

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๓ กรมหลวงราชบุรีฯทรงพ้นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม โรงเรียนกฎหมายเลยทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สังกัดในกระทรวงยุติธรรม และย้ายสถานที่เรียนมาที่ตึกของห้างแบดแมนซึ่งเลิกกิจการไป

ใน พ.ศ.๒๔๗๖ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้ตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และให้โอนโรงเรียนสอนกฎหมายไปสมทบด้วยเป็นแผนกวิชาหนึ่งของคณะ แต่การเรียนการสอนยังอยู่ที่ตึกห้างแบดแมนตามเดิม การโอนไปสังกัดจุฬาลงกรณ์นี้ สร้างความไม่พอใจให้นักเรียนกฎหมาย และเรียกร้องให้ยกฐานะโรงเรียนของตนเป็นมหาวิทยาลัย
 
ใน ๒๔๗๖ นั้น จึงมีการตรา “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งที่ ๒ ขึ้น มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ และวิชาอื่นๆอันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างโครงการ หาที่ตั้ง วางหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย

ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิด “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ณ ที่ตั้งเดิมของโรงเรียนกฎหมาย ที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งก็คือตึกของห้าแบดแมน จนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ ม.ธ.ก.จึงได้ย้ายไปสถานที่ใหม่โดยขอซื้อที่ดินจากทหารที่ท่าพระจันทร์
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการจัดตั้ง “กองโฆษณาการ” ขึ้น ต่อมาพัฒนาเป็น “สำนักงานโฆษณาการ” และใน พ.ศ.๒๔๘๓ ได้พัฒนาเป็น “กรมโฆษณาการ” โดยใช้ตึกของห้างแบดแมนเป็นที่ทำการ ตอนนั้นมีการประกาศใช้รัฐนิยมปรับปรุงภาษาไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๒ ชื่อกรมนี้เมื่อแรกตั้งจึงต้องเขียนว่า “กรมโคสนาการ” ใน พ.ศ.๒๔๙๕ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “กรมประชาสัมพันธ์”

ในยุคหนึ่งกรมประชาสัมพันธ์เคยได้ฉายาว่า “กรมกร๊วก” ทั้งนี้เพราะมีหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล แต่หลายข่าวคนฟังรู้สึกว่าบิดเบนไม่ตรงกับความเป็นจริง เชื่อถือไม่ได้ จึงเกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ประณามว่าเป็น “กรมกร๊วก” ซึ่งคำนี้ตามศัพท์หมายถึง ไร้แก่นสาร ไม่มีส่วนดี ที่ให้ฉายานี้จึงแสดงถึงความไม่พอใจในการเสนอข่าว

ใน พ.ศ.๒๕๐๔ ตึกห้างแบดแมนซึ่งสร้างมาราว ๘๐ ปีเทรุดโทรมลงมาก จึงถูกรื้อสร้างใหม่ในแบบที่แปลกตาไปกว่าเก่า ออกแบบโดย พิชัย วาสนาส่ง และใช้เป็นที่ทำการของกรมประชาสัมพันธ์ต่อ แต่กรมนี้ก็เคราะห์ร้ายอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อเกิดรัฐประหารครั้งใดก็จะถูกรถถังยึดเป็นแห่งแรกเพื่อคุมการเสนอข่าว และมักเป็นข่าวที่สร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายตรงข้าม ในที่สุดตึกสวยหลังใหม่ก็ถูกฝูงชนที่โกรธแค้นบุกเข้าเผาจนวอดในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี ๒๕๓๕ แถมยังพ่วงเอากรมสรรพากรและกองสลากกินแบ่งที่ขนาบซ้ายขวาพลอยวอดไปด้วย

นี่ก็คือความเป็นมาของตึกเด่นหลังหนึ่งของกรุงเทพฯในอดีต ซึ่งหายไปในปัจจุบัน






กำลังโหลดความคิดเห็น