xs
xsm
sm
md
lg

"หมอโอ๋" ห่วงความหวังดีของผู้ปกครอง อาจกลายเป็นการตีตรา แนะเปลี่ยนมุมมองทำความเข้าใจมนุษย์เราเกิดมาไม่เหมือนกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอโอ๋" กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดี ห่วงความหวังดีของผู้ปกครองในปัจจุบันจะกลายเป็นการตีตราให้กับลูกหลาน ยัดเยียดค่านิยมผิดๆ เช่น ดื่มนมแล้วจะสูง หรือกินผักผิวจะสวย แนะเปลี่ยนมุมมองทำความเข้าใจเพราะมนุษย์เราเกิดมาไม่เหมือนกัน

วันนี้ (6 ก.ย.) เพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ของหมอโอ๋ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดี ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในประเด็น ความหวังดีของผู้ปกครอง ที่กลายเป็นปมฝังใจของลูก หลาน ซึ่ง "หมอโอ๋" ได้แนะให้ผู้ปกครองได้ลองมองในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้ค่านิยมผิดๆ เปลี่ยนไป ทั้งนี้ "หมอโอ๋" ได้ระบุข้อความว่า

"ความหวังดีที่มาพร้อมการตีตรา
“กินนมเยอะๆ จะได้สูงๆ”
“กินผักมากๆ ผิวจะได้สวยๆ”
“ทากันแดดไว้ จะได้ไม่ตัวดำ”
“อย่ากินข้าวเหนียวเยอะ เดี๋ยวจมูกไม่มีดั้ง” (ไม่น่าเชื่อว่ายังได้ยินอันนี้อยู่)
“กินปลาเยอะๆ จะได้ฉลาดๆ”
ฯลฯ
ความหวังดีหลายครั้งของพ่อแม่ นำไปสู่การตีตรา ว่ามีบางอย่างที่เรา “ไม่ควรเป็น”

คลินิกวัยรุ่น มีเด็กจำนวนมากที่มาด้วยความกังวลเรื่องกลัวไม่สูง โดยเด็กและพ่อแม่ที่กังวล มากกว่าร้อยละ 90 คือเด็กที่สูง “เป็นปกติ” มีวัยรุ่นจำนวนมากที่ซื้อวิตามินเสริม กลูตา ยาตามเพื่อนบอก แบบหมดเงินต่อเดือนจำนวนมหาศาล ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น เพียงเพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งผิวขาวสวย วัยรุ่นไทยร้อยละกว่า 60 มีค่า “วิตามินดี” ที่มีผลต่อกระดูกต่ำกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยแดดจ้า แต่เป็นเพราะไม่กล้าจะออกแดด งานวิจัยพบว่าการดื่มนมมากๆ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีผลต่อเรื่องของความสูง แต่มีผลแน่ๆ ต่อเรื่องความหนาแน่นของกระดูก ความสูง สีผิว มีปัจจัยสำคัญคือ เรื่องกรรมพันธุ์ในครอบครัว

การให้คุณค่ากับเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของวัยรุ่น ส่วนหนึ่งเป็นจากการให้คุณค่าของสิ่งนี้ผ่านสื่อที่มีอยู่ตลอดเวลา และส่วนหนึ่งมันก็เกิดขึ้นกับบทสนทนาของเราและลูก

“ในชีวิตประจำวัน”
"กินนี่นะจะได้สวยๆ"
ประโยคที่เราพูดไปด้วยความหวังดี แต่เผลอให้คุณค่ากับเรื่องที่เป็นเปลือกนอกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว พูดทุกวัน ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เด็กที่ควรจะเติบโตแบบเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ยอมรับตัวเองได้ในแบบที่เป็น กลับตั้งคำถามและกลายเป็นความกลุ้มใจ ว่าทำไม “ผมไม่สูง” "ฉันไม่ขาว" อย่างที่เขาบอกให้เป็น 

รักลูก ลองเปลี่ยนประโยคเป็น

"กินนมนะลูก กระดูกจะได้แข็งแรง"

"กินผักเยอะๆ ลูก แม่อยากให้หนูสุขภาพดี"

การให้คุณค่ากับเรื่องภายใน มีความสำคัญต่อการพัฒนาตัวตนภายใน เพราะมนุษย์เรา ไม่ต้องเกิดมามีรูปลักษณ์ที่สวยงามในแบบเดียวกัน และเด็กๆ บ้านเราก็เติบโตด้วยความเจ็บปวดกับ

"การเป็นปกติในแบบตัวเอง" มากมายจนเกินไปแล้ว ช่วยๆ กันนะคะ เริ่มในบ้านเราก่อนเลยค่ะ หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้านผู้เชื่อว่าเด็กๆ เรียนรู้เรื่องคุณค่าจากสิ่งที่สังคมให้คุณค่า"
กำลังโหลดความคิดเห็น