xs
xsm
sm
md
lg

ด้วยรักและศรัทธา…ท่องประวัติศาสตร์ศิลป์ กับ ‘ภากร มังกรพันธุ์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อาจารย์ภากร มังกรพันธุ์” นักประวัติศาสตร์ศิลป์ กับภาพ Belshazzars Feast
ภาพ Belshazzar's Feast ผลงานของศิลปินเรืองนามยุคบาโรก (Baroque) อย่าง Rembrandt
คือหนึ่งในภาพแห่งแรงดลใจอันสำคัญของชายผู้นี้ ที่บอกเล่าถึงความหมายของภาพได้อย่างทรงพลัง ไม่เพียงความ Contrast กัน การใช้แสงในภาพที่มหัศจรรย์ detail ต่างๆ เช่นเสื้อของพระราชายิ่งมีรายละเอียดที่สวยงาม
ทั้งอธิบายได้อย่างแตกฉานว่า ภาพนี้เขียนจากตอนนึงในไบเบิลและบอกเล่าได้อย่างถึงแก่น
ว่า Rembrandt ถ่ายทอดออกมาได้สมจริงอย่างมหัศจรรย์ ทั้งยังรับว่า เมื่อเริ่มรู้จักงานของ Rembrandt มากขึ้น แล้วได้ไปเรียนไบเบิลด้วยก็ยิ่งรู้สึกว่า ศิลปินเอกผู้นี้ ทำให้คนอ่านไบเบิลได้ โดยที่ไม่ต้องอ่าน เพียงแค่ดูรูปเท่านั้นก็เข้าใจ เนื่องจาก Rembrandt เป็นศิลปินที่วาดเรื่องราวเกี่ยวกับในไบเบิลเยอะที่สุดในยุโรป

เมื่อครั้งที่เขาได้ทุนไปเรียนปริญญาตรี ศาสนศาสตร์ London Bible College ( อังกฤษ )
ปริญญาโท เฉพาะด้านภาษาศาสตร์ London Bible College ( อังกฤษ )
National Gallery of London เป็นหนึ่งในสถานที่อันเปรียบเสมือนที่พักกายและใจ และเปิดโลกกว้างของชายผู้นี้ ให้ได้สัมผัสกับผลงานของศิลปินระดับโลกจำนวนมาก
เมื่อกลับมาเมืองไทย เขายังคงหาเวลาเรียนภาคค่ำ ปริญญาโท Cultural management จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมเขาได้ขอพื้นที่จากโบสถ์ที่เขาทำงานให้ เปิดเป็นห้องสำหรับเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์แก่ผู้ที่สนใจ เสียงตอบรับได้มาอย่างล้นหลาม ผู้คนสนใจเรียนอย่างต่อเนื่อง วันเวลาผ่านไปอีกยาวนาน เขาจึงทำทริปทัวร์ประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งในไทยและต่างประเทศ

ผลงานอีกมากมายของ Rembrandt ที่ล้วนอิงกับเนื้อหาของไบเบิล เขาผู้นี้อธิบายได้อย่างหมดจด
ไม่เพียงเท่านั้น Mona Lisa และ Salvator Mundi ผลงานของ Leonardo Da Vinci
หรือภาพ Romantic landscape ผลงานของ Joseph Mallord William Turner ( J. M. W. Turner ) ผลงานประติมากรรม Commodus as Hercules เขาผู้นี้ล้วนบอกเล่า ถ่ายทอดได้อย่างน่าฟัง ไม่น้อยไปกว่าความประทับใจที่มีต่อบ้านขนมปังขิงอันเก่าแก่ในจังหวัดทางภาคเหนือของไทย ที่เขาก็นำพาผู้ร่วมทัวร์ให้ได้พบกับความสวยงามของอาณาสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในเมืองไทย

เขาคือ “อาจารย์ภากร มังกรพันธุ์” เจ้าของเรื่องราวที่เกริ่นมาข้างต้น นักประวัติศาสตร์ศิลป์ผู้แตกฉานแม่นยำในไบเบิล อธิบายปูมหลัง อ่านความหมาย ตีความในภาพและผลงานศิลปะรวมทั้งชีวิตของศิลปินต่างๆ ได้อย่างน่ารับฟัง ไม่ว่าผลงานเหล่านั้นจะเกี่ยวกับไบเบิลหรือไม่ แต่สำหรับภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในไบเบิล นักประวัติศาสตร์ศิลป์ท่านนี้ ย่อมบอกเล่าได้อย่างเข้มข้นในเนื้อหาสาระ และไม่เพียงผลงานในต่างประเทศ หรือการนำทัวร์ชมงานศิลป์ในทริปต่างแดน

ทว่า ในเมืองไทย อาจารย์ภากรก็ให้ความสนใจและให้ความสำคัญแก่การนำชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมล้นความหมาย ทั้งยังให้แนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ดูแลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ
ดังถ้อยความนับจากนี้



‘London’ จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งสำคัญ

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงที่มา แรงบันดาลใจ ว่าเหตุใดคุณจึงสนใจประวัติศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ศิลป์
อาจารย์ภากรตอบว่า หากจะเล่าถึงแรงดลใจจริงๆ แล้ว ต้องขอเล่า Background ก่อน โดยเริ่มจากเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาตรี จากนั้นก็ได้ทุนจากคริสตจักร เนื่องจากในช่วงนั้น ทำงานให้โบสถ์ ช่วยงานที่โบสถ์ จึงได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษ ซึ่งที่อังกฤษ ได้เรียนทั้งประวัติศาสตร์และกึ่ง Philosophy เรียงลำดับได้ดังนี้

จบมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
จบปริญญาตรี Microbiology จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ปริญญาตรี ศาสนศาสตร์ London Bible College ( อังกฤษ )
ปริญญาโท เฉพาะด้านภาษาศาสตร์ London Bible College ( อังกฤษ )
ปริญญาใบที่ 4 เป็นปริญญาโท Cultural management จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ที่อังกฤษผมเรียนศาสนศาสตร์ 1 ใบ และเรียนภาษาศาสตร์และการตีความ
ซึ่งการตีความ ช่วยได้เยอะเมื่อเราดูภาพเขียน

หลังจากนั้น เมื่อกลับมา ก็ทำงานให้ที่โบสถ์สักพักหนึ่ง ก็ไปเรียนภาคค่ำ Cultural management
ที่เล่ามาเชื่อไหมว่า ตอนเรียน ต้องทำงานไป เรียนภาคค่ำไปด้วย เหนื่อยมาก แต่รู้ไหมครับ ว่าผมได้เกรด 3.9 เพราะเราชอบ ปริญญาใบที่ 4 จึงเป็น Cultural management
เป็นเรื่องของการจัดการทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นปริญญาโท” อาจารย์ภากรระบุถึงหนทางของการเริ่มต้นสั่งสมความรู้

ถามว่า การที่คุณไปเรียนศาสนศาสตร์ ที่ลอนดอน ถือเป็นแก่นที่ทำให้คุณมีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ ด้วยไหม เพราะศิลปินในยุคบาโรค อย่าง Rembrandt ในยุคนั้นศาสนจักรเข้ามามีบทบาท ศิลปินหลายท่านทำงานให้ศาสนจักร

อาจารย์ภากรตอบว่า “หลังศตวรรษที่ 15 เมื่อยุค Renaissance มาถึง ศิลปินก็จะทำงานให้ตระกูลใหญ่ๆ
แต่ Renaissance แม้จะเอาฟอร์มของกรีกมา แต่เนื้อหาก็ยังเป็นศาสนาอยู่ ดังนั้น หากถามเป็นการส่วนตัว ผมก็ยอมรับว่าผมได้เปรียบแน่นอน เพราะภาพงานศิลปะ สร้างจากไบเบิลทั้งนั้นเลย”

แหล่งรวมงานศิลป์ ที่พักกายและใจยามไกลบ้าน

อาจารย์ภากรกล่าวว่า ที่อังกฤษ ต่างจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป ตรงที่มิวเซียม (Museum) ขนาดใหญ่ เข้าชมฟรีทั้งหมด

“โดยส่วนตัว ผมเป็นคนชอบศิลปะอยู่แล้ว วันหนึ่ง ไปที่ National Gallery of London
โอโฮ! ห้องน้ำไฮโซมาก ( หัวเราะ ) แต่เมื่อไปเข้าแล้วเราก็คิดว่า ถ้าเราไปเข้าห้องน้ำเขาแล้ว ไม่เดินดูภาพศิลปะเลย ก็รู้สึกเกรงใจ ผมจึงไปดูภาพแวนโก๊ะ ( Vincent Willem van Gogh ) ซะหน่อย ( หัวเราะอารมณ์ดี ) อันนี้เล่าขำๆ นะครับ
แต่จริงๆ แล้ว ตอนที่เราเป็นนักเรียนทุน เราก็เป็นนักเรียนทุนจนๆ น่ะนะครับ

เรียนทางไบเบิล ทางศาสนา ทุนไม่เยอะ ดังนั้น ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เราว่างๆ เบื่อๆ เราก็เข้าไปกลางกรุง แล้วจะไปที่ไหนล่ะที่ไม่เสียเงิน เราก็ไป National Gallery of London เป็นหลัก ซึ่งผมไปที่นั่นเป็นร้อยครั้ง”อาจารย์ภากรถ่ายทอดได้อย่างเห็นภาพ ณ จุดเริ่มต้นแห่งความรักในประวัติศาสตร์ศิลป์

ก่อนจะบอกเล่าเพิ่มเติมว่าในส่วนของแรงดลใจ อาจเริ่มต้นจากการเป็นคนที่ชอบดนตรี ชอบฟังเพลงต่างประเทศเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ส่วนภาพเขียนนั้น มีความชื่นชอบตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนมัธยมปลาย ซึ่งมีครั้งหนึ่ง โรงเรียนเคยให้ศิลปินแห่งชาติ คือท่านอาจารย์ สวัสดิ์ ตันติสุข ( *หมายเหตุ สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2534 ) มาสอน เราก็รู้สึกว่าดลใจเหลือเกิน แล้วก็ชอบ ตามดูงานศิลปะของคนไทย แล้วก็ปรากฏว่ามีอยู่ภาพหนึ่ง เป็นของศิลปินต่างชาติที่สร้างความประทับใจอย่างมาก

“ภาพนี้ เรามีโอกาสได้เห็นช่วงเรียนมัธยมปลาย ต่อเนื่องปริญญาตรี แล้วก็ โอ้โฮ! มันสวยเหลือเกิน
จากนั้น ตอนไปเรียนอังกฤษ สามเดือนแรก ก็มีปัญหา Culture shock ภาษาเราไม่ดี แล้วก็มาป่วยอีก แล้วยังได้ F ตั้งสองตัว Depress สุดๆ แล้วอากาศอังกฤษทั้งมืด ฝนตก หนาว เหงา ไม่มีคนไทยเลย ใน College เรา เป็นคนไทยคนที่สองที่มาเรี่ยนที่นี่ ตั้งแต่สร้าง College มาหลายสิบปี

เมื่อรู้สึกเหงา ผมก็ไปเดินแกลเลอรี่ แล้วผมเป็นคริสต์นะครับ
ผมก็อธิษฐานในใจ ว่า ‘โอย ทำไม พระเจ้านำเรามาที่นี่’ แล้วผมก็เดินใน National Gallery of London
ก็เดินดูภาพแต่ละภาพ
ทั้งของแวนโก๊ะ (Vincent Willem van Gogh) โมเน่ต์ (Claude Monet) ภาพเหล่านี้มูลค่าเป็นพันล้านบาทน่ะนะครับ เราก็ตื่นเต้น คิดอธิษฐานในใจต่อพระเจ้าว่า ขอบคุณพระเจ้าที่นำเรามาพบกับสิ่งเหล่านี้ แต่ความตื่นเต้นนี้ก็ยังไม่ช่วยให้เราหายเหงา ผมก็เดินไปเดินมา” อาจารย์ภากรระบุ

ห้วงขณะแห่งแรงดลใจ

อาจารย์ภากรเล่าว่า “อยากให้คุณลองนึกภาพ นึกถึงห้องที่มีประตูซ้อนกันไปเรื่อยๆๆๆ นึกออกไหมครับ ปรากฏว่าผมเห็นภาพนี้แต่ไกลเลย ซึ่งเป็นภาพที่ผมเคยอยากเห็น เคยบอกตัวเองในใจว่า วันหนึ่ง ขอให้เราได้เห็น ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมไม่รู้หรอกว่าภาพนี้ อยู่ที่ไหน แต่ตอนนั้นรู้สึกเหมือน scene ในหนังฮอลลีวู้ดเลยครับ ที่ค่อยๆ ก้าวเดินไปแล้วไปเจอภาพ แล้วเมื่อผมไปถึงด้านหน้า มันเหมือนมีเสียงในใจ บอกกับเราว่า ‘ อ้าว ก็อยากมาดรูปนี้ ไม่ใช่เหรอ ก็ให้มาดู’ โอ้โห! เล่าแล้วจะน้ำตาไหล ผมขนลุกเลย เพราะภาพนี้ช่วยเปิดประเด็นเลยว่า ‘นี่แหละ นี่คือแหล่งของงานศิลปะ’ เพราะลอนดอนก็ไม่ต่างจากปารีส นิวยอร์ค คือ เป็นเมืองหลวงที่ใหญ่ แล้วการที่เราจะได้เห็นมาสเตอร์พีซใหญ่ๆ ก็มีไม่กี่เมืองในโลกที่เราจะได้เห็น

ตอนนั้น ในใจผมก็คุกเข่าอธิษฐานเลยครับ ขอบคุณพระเจ้า และสัญญาว่าจากนี้ จะใช้เวลาที่เหลือ นอกเหนือจากเรียนไบเบิล เรียนประวัติศาสตร์ เรียนภาษาศาสตร์แล้ว ผมก็จะอยากค้นคว้าประวัติศาสตร์ศิลป์ ใช้เวลาให้เต็มที่ ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ลอนดอน ผมใช้เวลาทุกอาทิตย์ มาที่ National Gallery of London และแกลเลอรี่อื่นใหญ่ๆ ที่ให้เข้าฟรี ทั้งหมดก็เพราะมีรูปนี้เป็นแรงดลใจครับ”

พลานุภาพแห่ง Belshazzar's Feast โดย Rembrandt

ถามว่าภาพที่เป็นแรงดลใจนี้ คือภาพอะไร ประทับใจเพราะเหตุใด
ภาพนั้นคือ Belshazzar's Feast โดย Rembrandt

อาจารย์ภากรตอบว่า ครั้งแรกที่เห็นตั้งแต่เมื่อยังเด็กๆ รู้สึกถึงความ Contrast กัน การใช้แสงในภาพมหัศจรรย์มาก แล้วเมื่อดู detail ต่างๆ เช่นเสื้อของพระราชายิ่งมีรายละเอียดที่สวยงาม

“ภาพนี้เขียนจากตอนนึงในไบเบิล เล่าย่อๆ คือมีกษัตริย์บาบิโลน ที่ไปตีเมืองอิสราเอล แล้วไปขโมยของในวิหารที่เขานมัสการพระเจ้า แล้วเอาถ้วยชามที่เขาต้องห้าม คือให้ใช้สำหรับพระวิหารเท่านั้น ใช้กับพระเจ้าของยิวเท่านั้น
คนที่ขโมยและเอามา เป็นกษัตริย์รุ่นพ่อ คือ ‘เนบูคัดเนสซาร์’ แล้วรุ่นลูกไม่รู้ ก็เอาถ้วยชามต้องห้ามพวกนี้มาปาร์ตี้
คราวนี้ เมื่อเป็นของต้องห้าม ก็มีมือปรากฏขึ้นที่กำแพงด้านขวา นั่นเป็นภาษาฮิบรู เขียนว่าคำพิพากษาจะมา แล้วมเหสีของกษัตริย์องค์นี้ที่เป็นรุ่นลูกของเนบูคัดเนสซาร์ Rembrandt ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างตกใจ สมจริงอย่างมหัศจรรย์

จริงๆ แล้วรูปภาพผลงานของ Rembrandt จะดูไม่ยาก ดูบริเวณที่มีแสงมากที่สุดคือด้านขวา แล้วสะท้อนไปบนหัวของกษัตรย์ แล้วก็สะท้อนไปบนเสื้อ เสื้อสวยมาก เห็นดีเทล เราก็รู้ได้ว่าคนนี้เป็นกษัตรย์แน่นอน แม้เราอาจจะไม่รู้ Background แต่รู้ได้ว่าถ่ายทอดถึงคนที่เย่อหยิ่ง ก้าวร้าว และไม่ให้เกียรติพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
หากถามผมว่าชอบภาพนี้เพราะอะไร ชอบเพราะความ Contrast และ detail มหัศจรรย์มาก
ประการต่อมา เมื่อเริ่มรู้จักงานของ Rembrandt มากขึ้น แล้วได้ไปเรียนไบเบิลด้วยก็ยิ่งรู้สึกว่า โอ้โฮ! เขาทำให้คนอ่านไบเบิลได้ โดยที่ไม่ต้องอ่านไบเบิล เพราะแค่ดูรูป แล้วเมื่อรู้เรื่องราวแล้วก็เหมือนกับเราเล่าเรื่องราวในไบเบิลให้คนฟัง เพราะ Rembrandt เป็นศิลปินที่วาดเรื่องราวเกี่ยวกับในไบเบิลเยอะที่สุดในยุโรป” อาจารย์ภากรระบุพร้อมแบ่งปันความรู้ในไบเบิลที่ศิลปินผู้เรืองนามนำมาเป็นแรงดลใจในการสร้างงานที่ทรงพลัง

“อาจารย์ภากร มังกรพันธุ์” นักประวัติศาสตร์ศิลป์

“อาจารย์ภากร มังกรพันธุ์” นักประวัติศาสตร์ศิลป์




ถามว่าคุณใช้เวลาสั่งสมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ศิลป์นานแค่ไหน

อาจารย์ภากรตอบว่า หลังจากศึกษาอยู่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1995 และกลับจากลอนดอน ในปี ค.ศ. 1999 เมื่อกลับมาไทยก็ทำงานให้คริสตจักร เป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปี
จากนั้นก็ทำงานบรรยายด้านศิลปะ ตลอดช่วงเวลาประมาณ 10 ที่ผ่านมา
โดยเริ่มต้นด้วยการทำทริปชมวังต่างๆ รวมทั้งเปิดคอร์สสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยขอเช่าห้องที่โบสถ์หนึ่งห้อง
ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีผู้สนใจมาเรียนเต็มห้อง จากนั้นก็จัดต่อเนื่อง 3-4 ปี โดยมีอาจารย์ท่านหนึ่งมาร่วมสอนด้วย


“ดังนั้น ตั้งแต่ผมกลับมาจากลอนดอนก็ใช้เวลานับ 20 ปีเลยครับ ผมจึงจะเริ่มบรรยาย เพราะผมคิดว่า เรื่องของประวัติศาสตร์จะต้องใช้เวลาตกผลึกอย่างมากเลย การทำคอร์สสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ก็เป็นการสั่งสมความรู้ให้เราด้วย ต่อมา อาจารย์ที่มาร่วมสอนด้วย ก็ชวนทำทริปยุโรปกัน”อาจารย์ภากรระบุ














สารานุกรมเดินได้ บอกเล่าประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

ถามว่ามีคำเปรยบเปรย ทำนองว่าคุณเปรียบเหมือนสารานุกรมเดินได้ ประวัติศาสตร์ศิลป์ที่คุณถ่ายทอด ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเรื่องราวเหล่านั้นมีชีวิต และจิตวิญญาณ พ้นกาลเวลา คุณมีเคล็ดลับอะไร

อาจารย์ภากรตอบว่า ผมคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือคำว่า “มีชีวิต” เป็นคีย์เวิร์ดที่ดีมากครับ สมมติว่าคุณเชื่อเรื่องการเล่ากันปากต่อปาก เช่น หากคุณจะขายสินค้าอะไรสักอย่าง คุณใช้เอง คุณชอบเอง มันจะ Powerful เพราะเราชอบเอง ผมเองก็เหมือนกัน เพราะเมื่อครั้งไปเรียนที่อังกฤษ ผมไปเรียนศาสนศาสตร์ แต่ก็มีเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับ Philosophy บ้าง
แล้วผมก็ลงเรียนคอร์สประวัติศาสตร์ศิลป์ด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ความชอบ’ เมื่อเราชอบอะไร เราได้แชร์ให้คนอื่นรับรู้ เราก็ยิ่งมีความสุข

ผมรู้สึกว่าผมเริ่มจากความชอบ เริ่มจากเห็นว่ามันสวย แล้วเราอยากให้คนอื่นชอบ และได้เห็นความสวยงามนี้ด้วย เพราะฉะนั้น การบรรยายของผม หลายคนก็มาพูดให้ฟัง รวมถึงศาสนาจารย์ด้านอิสลาม ท่านก็ชื่นชมว่าสิ่งที่เราเล่า มี Passion นั่นเพราะเราเลือกคอร์สที่เราสอน เราเลือกเอง ว่าเราอยากสอนเรื่องอะไร เราก็สอนเรื่องนั้น เราอยากจัดทริปนำชมที่ไหน เราก็จัดพาไปที่นั่น เมื่อเปิดรับถึงจำนวนคนครบเท่าที่ต้องการแล้วก็ไปกัน
เพราะฉะนั้น การเล่าจาก Passion จากสิ่งที่เราชอบ น่าจะเป็นเคล็ดลับสำคัญในความเห็นส่วนตัวของผมครับ” อาจารย์ภากรระบุ




Mona Lisa และ Salvator Mundi

ถามว่า คุณให้ภาพ Mona Lisa และ Salvator Mundi ผลงานของ Leonardo Da Vinci มาด้วย มีประเด็นใดที่อยากเอ่ยถึง

อาจารย์ภากรตอบว่า “อย่างรูปโมนาลิซ่านี้ คุณเคยทราบไหมครับ ว่าเป็นรูปที่มีการประเมินว่าแพงที่สุด ทราบไหมครับ ว่าเขาประเมินกันแพงเท่าไหร่ คือประมาณแสนล้านบาท
และมีอีกรูปหนึ่งคือ Salvator Mundi ที่ Leonardo Da Vinci วาด คือรูปนี้ ล่าสุด ทะลุทะลวงทุก Record เลย
คือราคาพุ่งไปถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ มหัศจรรย์มาก
ซึ่งคนทั่วไปก็ไม่คิดว่าจะแพงได้ขนาดนี้

ประเด็นก็คือ ก่อนหน้านี้ รูปนี้มีราคาแค่พันล้านบาท เชื่อว่าเศรษฐีดูไบประมูลไป แล้วก็ผ่านมือกษัตริย์อีกสองคน แล้วตกไปอยู่กับคนนั้น คนนี้ แล้วไปค้นพบกันที่ไหนไม่รู้ ก็เอามาซ่อมไป แล้วนักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับว่าจริง
จึงมีการนำไปประมูลได้ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่น่าเชื่อ คือประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท หรือ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงมาก


ผมตั้งใจจะเล่าว่า หากภาพนี้ราคาสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท แล้วภาพโมนาลิซ่า ไม่ปาเข้าไปแสนล้านบาทหรือ
เพราะฉะนั้น คำถามคือ คนมากมายที่ไปเพื่อถ่ายรูปคู่กับโมนาลิซ่า แต่เขาไม่ได้รู้ว่ามันเจ๋งยังไง
เพราะฉะนั้น การที่เราทำให้เขาเห็นคุณค่า เราก็เพิ่มคุณค่าการเดินทางให้เขาได้มหาศาล

แล้วก็มีอีกรูป ก็เป็นรูปที่ดังมาก
คือรูปที่ผมบรรยาย เป็นภาพโมเนต์ ที่ติดกำแพงยาวๆ สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่เมื่อเราไปเจอแล้ว เราจะรู้สึกมหัศจรรย์มากเลย ที่ได้มาดูของจริง

ในที่สุด มันเหมือนเป็นความฝัน คือตอนเราเรียนอยู่ที่อังกฤษ เราก็เคยข้ามไปดูที่ฝรั่งเศส อีก 20 ปี ต่อมา เราได้พาคนไปดูจริงๆ เราก็ตื่นเต้นมาก และเราสามารถทำให้คนเขาตื่นเต้นไปกับเราด้วย” อาจารย์ภากรระบุ






ประสบการณ์นำทัวร์ประวัติศาสตร์ศิลป์

ถามว่าเริ่มทำทัวร์จริงจังเมื่อไหร่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
อาจารย์ภากรตอบว่า “ไม่เกิน 7 ปี ครับ เริ่มจากการที่เราชอบพูดชอบคุย เรื่องประวัติศาสตร์ แล้วเราก็ทำเป็นหอศิลป์ให้ที่โบสถ์ด้วย เป็นแกลเลอรี่ แล้วที่โบสถ์ก็มีคณะสตรีผู้ใหญ่ในโบสถ์ ก็ขอให้ช่วยพาชมวังปารุสก์ (วังปารุสกวัน) ตอนนั้น จำได้แม่นเลยว่าเป็นทริปแรกเลยที่เราพาไปทริปชมวัง ไปวังปารุสก์กับวังบางขุนพรหม จากนั้น ผมก็นำไปชมอีกเป็นสิบรอบ นี่ก็เพิ่งพาไป หลังจากเว้นช่วงโควิด-19 ไปช่วงหนึ่ง

10 ปี ที่ผ่านมา ผมก็ทำทัวร์เรื่อยๆ เลยครับ ก่อนโควิด-19 เราก็มีคอร์สประวัติศาสตร์ศิลป์ อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเวลาเราเปิดคอร์ส ปรากฏว่ามีคนมาลงเรียนเต็มเลย แล้วครึ่งหนึ่งของผู้ที่มาเรียนเป็น Tour Leader ที่เขาต้องพาคนไปทัวร์อยู่แล้ว
ปัจจุบันนี้ ก็ทำทัวร์เกือบทุกเดือนครับ เดือนละครั้ง-สองครั้ง ล่าสุดเราก็เจอน้องที่เป็นรุ่นน้องกรุงเทพคริสเตียน เป็นนัก Drawing เป็นอิสลาม ก็ดีเลย เพราะสามารถพาเราเข้ามัสยิดได้ และเร็วๆ นี้ เราก็จะจัดทริปทัวร์ที่บางรัก ช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 เราก็เดินชมอาคารเก่าในย่านนั้นๆ ด้วย” อาจารย์ภากรระบุ




ทัวร์ครั้งที่ประทับใจ

ถามต่อเนื่องว่า คุณประทับใจการนำทัวร์ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ไหนมากที่สุด ทั้งในไทย และในต่างประเทศ

อาจารย์ภากรตอบว่า “เป็นทริปที่มีรูปผม ยืนคู่กับ 5 รูปที่เป็นซีรี่ยส์พระเยซู
คือ มีสามรูปแรกที่เป็นซีรี่ยส์พระเยซู และมีรูปผมใส่เสื้อสีฟ้า ยืนกับอีกสองรูปที่เป็นพระเยซูด้วย
ความประทับใจคือในครั้งนั้น เราจัดทริปไปยุโรปกับเพื่อนร่วมงานหลายครั้ง แล้วมีครั้งหนึ่ง การไปยุโรป ปกติแล้ว ต้องมีจำนวนคนถึงที่กำหนดไว้จึงจะไปได้ แต่ทริปเยอรมันครั้งนี้ มีคนสมัครแค่ 10 กว่าคน แล้ว ผู้จัดก็คำนวณกันแล้ว ได้เงินนิดเดียว คือเกือบขาดทุนน่ะครับ มีค่าขนมแค่นิดหน่อย
แต่พวกเราก็อยากไปมาก เราจึงจัดไป แล้ววันสุดท้าย เราก็ปล่อยให้คนช้อปปิ้ง 

แต่ส่วนตัวผม ในวันนั้น ผมไม่ไปช้อปปิ้งหรอก ผมจะเดินหา Museum ที่เหลือ ปรากฏว่าผมก็ไปมิวเซียมเก่าแห่งหนึ่ง
ซึ่งความมหัศจรรย์ก็คือรูปที่ผมยืนคู่ด้วยนั้น เป็นรูปที่ผมเคย Print ไว้ที่โบสถ์แล้วใช้บรรยาย
ดังนั้น ความรู้สึกของผมคือ ‘ฝันเป็นจริง โอ้! รูปจริงอยู่นี่เอง’ ดีใจแล้วก็ตื่นเต้นมากครับ


ในใจก็รู้สึกขอบคุณพระเจ้ามาก พระเจ้านำเรามาเจอรูปจริง เหมือนความฝันเป็นจริงเลย ภาพพระเยซูทั้ง 5 ภาพเป็นของ Rembrandt หมดเลยครับ

เขาวาดซีรี่ย์สนี้ให้ เจ้าชายแห่งออเรนจ์ (Prins van Oranje) ของเนเธอแลนด์ แล้วในที่สุด ก็ตกมาอยู่ที่เยอรมัน เขาวาดครบทุกซีรี่ย์สเลยและดีที่มาอยู่ที่นี่หมดเลย
เป็นอะไรที่สุดยอด แล้วเราไม่คาดคิดว่าจะเจอ
เพราะฉะนั้น ก็กลายเป็นว่า ทุกทริป เราได้ค้นคว้าค้นพบอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา”
อาจารย์ภากรบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ





ทริป ลำปาง-แพร่ ความประทับใจในบ้านขนมปังขิง

ส่วนความประทับใจที่มีต่อการนำทัวร์ประวัติศาสตร์ศิลป์ในเมืองไทย อาจารย์ภากรเล่าว่า ประทับใจทริปลำปาง-แพร่
ซึ่งในอดีตเป็นเมืองที่ทำสัมปทานไม้สักให้กับบริษัทต่างชาติ

ด้วยเหตุนั้น ลำปางและแพร่ จึงมีไม้สัก มีบ้านขนมปังขิง ที่เป็นลายฉลุเยอะมาก
ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชการที่ 6 ต้องสร้างด้วยไม้สักเท่านั้น เพราะไม้สักมีความอ่อนพอที่จะสลักลายฉลุได้ และมีความทนทานทนทาน ภาพอาคารที่เห็นนี้ เป็นอาคารของคนพม่า ซึ่งคนพม่าสมัยนั้น เป็นคนร่ำรวย เป็นคนที่มาทำธุรกิจที่ลำปาง-แพร่

“หากถามว่าทำไมผมถึงประทับใจ เพราะเป็นทริปที่ผมออกแบบเอง ประทับใจ เป็นความฝันที่ผมอยากจะไปดู เพราะถ้าจะดูบ้านขนมปังขิง ต้องไปที่ลำปางและแพร่ มีเยอะมาก โดยเฉพาะที่แพร่ ที่สำคัญคือ รูปแบบของมันไม่เหมือนที่ใดในโลก เพราะเราเป็นเมืองไม้สัก เราก็ฉลุกันสวยเลย

มีรูปนึง ที่มีคนยืนบรรยาย นั่นเป็นเจ้าของบ้านเลย ชื่อพี่นพรัตน์ ท่านก็แฮปปี้มาก เพราะวันนั้น เราไปเจอท่านโดยบังเอิญ เราแฮปปี้มาก ที่นี่ดังมากครับ ต้นตระกูลท่านเป็นเศรษฐีพม่า เป็นชนชั้นสูงที่นั่นเลยครับ
คือ ‘อาคารหม่องโงยซิ่น’ ( *หมายเหตุ เรือนขนมปังขิงอายุกว่าร้อยปี) เป็นอาคารเก่า ที่มีการรณรงค์ ช่วยกันบูรณะบ้านของตนเอง บนถนนสายที่เรียกว่า กาดกองต้า แล้วเขาก็เปิดบ้านให้ดู ที่นั่งฟังอยู่ก็เป็นคณะเรา ผมรู้สึก Fulfill มาก เพราะเวลาที่ผมเขียนทริปผมจะเขียนทริปที่ผมอยากไป แล้วใครอยากไปด้วย ก็สมัครมา

ประการต่อมา ผมมองว่าเราได้มีส่วนช่วยอนุรักษ์ เช่น หากทีคนมากับเราได้ 20-30 คน มากกว่าการทัวร์ชมประวัติศาสตร์ นั่นคือการที่เราได้มีส่วนทำให้คนรู้จักที่นั้นๆ มากขึ้น เพราะเมื่อทุกคนที่มากับเราโพสต์ลงโซเชียล หรือแชร์ต่อๆ กันไป คนจำนวนมากก็ได้เห็นด้วย

ผมจึงภูมิใจในทริปของเรามาก การนำชมตึกเก่า อาคารโบราณ มีส่วนสนับสนุนวัฒนธรรมและการทำนุบำรุง 100 % เลยครับ” อาจารย์ภากรบอกเล่าถึงความประทับใจในการนำทัวร์ที่ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ชมเรือนขนมปังขิงที่สวยงามและมีรูปแบบเฉพาะตัว และกล่าวเพิ่มเติมว่า

เรือนขนมปังขิงสีชมพูที่แพร่ ชื่อคุ้มวงศ์บุรี ก็นับว่าสวยอย่างยิ่ง อ่อนช้อย และสวยงามมาก เป็นความภูมิใจที่ได้พาคนไปชม ผู้คนก็ตื่นเต้น เรือนคุ้มวงศ์บุรีแห่งนี้เป็นอาคารที่อาจารย์ภากรชอบมาก และนำคนไปชมทุกปี

“ส่วนเรือนขนมปังขิงที่มีตัวเรือนสีเขียว ก็อยู่ที่แพร่เช่นกัน อยู่ในซอยแห่งหนึ่ง เจ้าของน่ารักมาก นับเป็นรุ่นที่สอง,รุ่นที่สามแล้ว ที่แพร่ก็จะเป็นแบบนี้ครับ คล้ายๆ กัน ฉลุหมดเลย”อาจารย์ภากรระบุ






ประวัติศาสตร์ศิลป์กับความหมายของชีวิต

ถามว่าประวัติศาสตร์ศิลป์ มีความหมายกับคุณมากน้อยแค่ไหน

อาจารย์ภากรตอบว่า เมื่อเราพูดถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ จะมี Object เพิ่มขึ้นมา อีกทั้ง Fotographic และ Memories ล้วน Powerful

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ศิลป์ ช่วยเราได้มาก เช่น รูปประติมากรรม Commodus as Hercules ที่อาจารย์ภากรยืนบรรยายอยู่

อาจารย์เล่าว่า ประติมากรรมนี้ จริงๆ แล้ว คือรูป Emperor ของ โรมัน อยู่ที่โรม สลักขึ้นจากหินอ่อนสีขาว เป็นประติมากรรมจักรพรรดิ แต่ช่างแกะสลักออกมาในรูปลักษณ์ของ ‘ฮีโร่ในตำนาน’ คือ Hercules มีไม้กระบองที่เขาถือ รวมทั้งมีส้ม ทองคำ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของ ‘ชัยชนะ’

คำถามคือ ทำไมจักรพรรดิโรมัน ต้องแกะสลักรูปออกมา ให้เหมือนกรีก
นั่นเพราะเป็นการทำให้ตัวเองยิ่งใหญ่ ซึ่งมีประติมากรรมแกะสลักของจักรพรรดิโรมันอีกไม่น้อย ที่ให้ช่างแกะสลักออกมาเหมือนเทพเจ้าของกรีก

“ดังนั้น ประวัติศาสตร์ศิลป์หรือแม้แต่สไตล์ของบ้านโบราณ ที่เราไปดู สมมติว่าคุณไปเห็นอยู่ที่ไหน คุณก็จะรู้ว่าเป็นสไตล์ของแพร่ หรือหากมีบ้านแบบนี้มาสร้างที่กรุงเทพฯ คุณดูเยอะๆ คุณก็จะรู้ว่า มีต้นแบบมาจากที่ไหน

ประวัติศาสตร์ศิลป์จึงช่วยได้เยอะเลยครับในหลายๆ ครั้ง ไม่ได้เพียงแค่ช่วยบ่งบอกแค่อายุ ช่วงเวลา
เพราะแต่ละช่วงเวลามีค่านิยมของแต่ละยุคไม่เหมือนกัน
แต่จะช่วยให้คุณได้รู้ว่าความเก่านั้น เก่าขนาดไหน ประวัติศาสตร์ศิลป์คือการที่เราดู แล้วเราวิเคราะห์ แล้วเราก็จะรู้ว่าค่านิยมของความสวยงามในแต่ละยุคแต่ละสมัยเป็นอย่างไร
เมื่อรู้ว่าเป็นอย่างไรแล้ว ก็สนุกมาก ไปต่อได้ ว่าศิลปินทำแบบนี้ทำไม เขาคิดอะไร” อาจารย์ภากรระบุ


ประทับไว้ในดวงใจ

ในช่วงท้ายของการสนทนา อาจารย์ภากรยังยินดีบอกเล่าถึงความประทับใจต่อเนื่อง ที่มีต่องานศิลป์ชิ้นเอกของศิลปินบรมครู
รูปนี้เป็นผลงานของ Rembrandt อีกเช่นกัน

“รูปที่เป็นสีแดงนี้ เป็นอีกภาพนึงที่ผมขนลุกมาก
คุณจะเห็นรูปที่ผมยืนอยู่แล้วมีภาพนี้ปรินท์อยู่ข้างๆ ภาพที่ผมยืนบรรยายรูปนี้ คือที่โบสถ์เลยครับ คือ ผมปรินท์รูป และใช้เรื่องราวของรูปเขียน เผยแพร่ เนื่องจากคริสเตียนเราก็มีหน้าที่ต่อพระเจ้า คือเผยแพร่ความเชื่อเรา แล้วผมก็ใช้รูปเหล่านี้ในการบรรยาย
ปรากฏว่าในที่สุด มีบริษัททัวร์เขามาฟังบรรยาย หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งปี
ผมได้ไปบรรยายรูปจริงเลย เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ผมขนลุกมากครับ น้ำตาจะไหลเลย





"คืองานชิ้นนี้เรียกว่าเป็นสุดยอดงานก่อนตายของ Rembrandt และการที่เราได้มีความรู้เรื่องไบเบิลก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจ ซึ่งถ้าเราไม่รู้เรื่องไบเบิล เราจะไม่อินเลย เราต้องรู้เรื่องไบเบิล เพราะ Rembrandt วาดถึงเหตุการณ์ที่ถูกระบุไว้ในไบเบิล

เหตุการณ์นั้น เป็นเรื่องที่พ่อมีลูกอยู่สองคน มีคนหนึ่งเกเร ขอแบ่งสมบัติพ่อ ทั้งที่พ่อยังไม่ตาย การขอก็เหมือนแช่งพ่อให้ตายซะที แต่พ่อก็แบ่งสมบัติให้ ปรากฏว่าลูกไปคบกับหญิงชั่วก็ผลาญสมบัติพ่อหมด แล้วก็ลำบากยากเย็น ต้องไปเลี้ยงหมูสกปรก ท้อใจมาก จึงคิดในใจว่า ขอกลับไปหาพ่อ พ่อไม่รับก็ไม่เป็นไร จะขอเป็นคนรับใช้พ่อ ปรากฏว่า เมื่อตัวเขากลับไป ตามที่เห็นในรูป คนที่นั่งที่พื้นนั่นแหละ ตัวสกปรก เลอะเทอะ ก็มาหาพ่อ ปรากฏว่าแทนที่พ่อจะด่า พ่อกลับเข้ามากอด แล้ว Rembrandt ก็วาดออกมาได้สกปรกมาก เหมือนคนเป็นโรคผิวหนัง รองเท้าเละเทะ

แล้วขวามือสุด คือพี่ชายก็อยู่ด้วย พ่อกอดลูกคนนี้ยังไม่พอ ยังให้คนใช้ไปฆ่าวัวมาฉลองเพราะลูกกลับมาแล้ว พี่ชายก็อิจฉา บอกว่าอยู่กับพ่อมาตั้งนานพ่อไม่เคยเลี้ยงฉลอง แล้วไอ้ลูกเลวกลับมา ไปฉลองให้มันทำไม
พ่อก็บอกว่า เจ้าอยู่กับพ่อ เจ้าจะเอาอะไรก็ได้อยู่แล้ว
แต่ลูกคนนี้ เปรียบเสมือนเขาตายจากไปแล้วฟื้นคืนกลับมา เป็นอะไรที่ซึ้งมากครับ

หมายถึงความรักที่พระเจ้าให้อภัยต่อมนุษย์ และเป็นเรื่องราวความรักของพ่อที่มีต่อลูก
และเรื่องการให้อภัย ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์


ที่สำคัญก็คือ Rembrandt เขาวาดภาพนี้ หกปีก่อนเสียชีวิต ซึ่งเขาได้เคยเป็นศิลปินยิ่งใหญ่ แล้วต้องตกอับด้วยการใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย เป็นหนี้เป็นสิน แล้วก็ต้องขายบ้านที่กรุงอัมสเตอร์ดัม มาอยู่ชานเมือง ในช่วง 5 ปี หลัง ลูกและเมียเขาก็ตาย
ผู้ที่ให้การสนับสนุนเขาก็ตาย


การที่เขาวาดเรื่องนี้ เป็นไปได้ไหมว่า เป็นตัวเขาเองที่หมดเนื้อหมดตัวแล้วกลับมาหาพระเจ้า เหล่านี้คือการตีความครับ
ผมเชื่อว่าเขาน่าจะอ่านพระคำภีร์ตอนนั้น และตัวเขานั่นแหละ คือบุตรน้อยที่หลงหาย” อาจารย์ภากรวิเคราะห์และตีความได้อย่างน่าสนใจ

ก่อนจะบอกเล่าถึงภาพศิลปะในแนวที่ชื่นชอบเป็นพิเศษว่า ชอบ Romantic landscape ที่สุด โดยเฉพาะผลงานของ Joseph Mallord William Turner หรือ J. M. W. Turner




“ J. M. W. Turner เขาจะมีสไตล์วาดรูปเบลอๆ วาดเป็นบรรยากาศ เขาล้ำกว่าศิลปินยุคนั้น เขาเกิดมาในยุคที่เทรนด์ขณะนั้นคือการวาดเกี่ยวกับตำนานกรีก เทพเจ้า เรื่องราวคลาสสิค ไบเบิล เรียกว่านีโอคลาสสิค ซึ่ง Romantic landscape ไม่เป็นที่นิยมเลย แต่เขาสู้จนได้รับการยอมรับ และได้เป็นกรรมการใหญ่ของศิลปะในลอนดอน
เมื่อ Turner มีชื่อเสียง ขายรูปได้ เขาก็ไปตามซื้อตามเก็บรูปที่เขาเคยขายไป
ที่เจ๋งที่สุดคือเมื่อตายแล้ว เขายกรูปให้รัฐบาลทั้งหมด
J. M. W. Turner เขามักวาดพายุถล่ม ทะเลปั่นป่วน เรือล่ม เพราะการเดินทางในยุคนั้นลำบากมาก เขาต้องผ่านช่องแคบที่อันตราย ภาพของเขาจึงมักสื่อถึงวิบัติภัย ดังนั้น Romantic จึงเป็น Emotional impact ไม่ใช่หมายความว่าหวานแหววเสมอไป" อาจารย์ภากรระบุ


การสนทนาเดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย
จากที่คุณได้เห็นการทำนุบำรุง ดูแลหลักฐานทางประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งในไทยและอีกหลายแห่งในต่างประเทศ เมื่อเทียบกันแล้วการทำนุบำรุงหลักฐานทางประวัติศาสต์ในไทยควรทำอย่างไรบ้าง

อาจารย์ภากรตอบอย่างชัดเจนและหนักแน่นว่า “สำคัญที่สุดคือทัศนคติ และค่านิยม
ผมให้ความสำคัญกับค่านิยม เช่น ถ้าเราบอกให้กรมศิลป์ดูแล แล้วกรมศิลป์ดูแลทั้งประเทศ เขาก็ไหมไหวหรอก
แต่ถ้าหากบ้านทุกหลังช่วยกันดูแลหน้าบ้าน ดูแลของเก่าของตัวเองให้ดี ช่วยกันทั้งประเทศก็นับเป็นสิ่งที่ดี
เพราะฉะนั้น ค่านิยม จิตสาธารณะก็สำคัญมากในประเทศนี้
เราต้องยอมรับว่าจิตสาธารณะของบางประเทศเขาสูงมาก เขาใส่ใจ ดูแล การรณรงค์ให้เห็นถึงคุณค่าก็สำคัญ

การปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนมีส่วนร่วม จำเป็นที่สุดเลยครับ” อาจารย์ภากรระบุทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจ จากสายตาของผู้ที่ผ่านพบ และมีช่วงชีวิตเกี่ยวข้องผูกพันกับประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งในไทยและทั่วโลกมายาวนานไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษ

………..
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by ภากร มังกรพันธุ์