ในบางตำราที่ยังไม่ได้รวมถึงรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าประเทศไทยมีมหาราช ๑๐ พระองค์ มหาราชพระองค์แรกก็คือ พระเจ้าพรหมมหาราช แห่งอาณาจักรโยนกนคร ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๕๗๒-๑๖๓๒ และทรงสร้างเวียงปราการขึ้นเป็นนครหลวง ปัจจุบันก็คืออำเภอไชยปราการในจังหวัดเชียงใหม่
ส่วนมหาราชองค์ที่ ๒ ก่อนพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งสุโขทัย ก็คือ พญามังรายมหาราช แห่งล้านนา ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๘๐๕-๑๘๕๔ เป็นราชโอรสของพญาลาวเม็ง ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง และเป็นพระสหายร่วมสำนักศึกษา ๒ สำนักกับพ่อขุนรามคำแหงและพญางำเมืองแห่งพะเยา โดยทรงไปศึกษากับเทพอิสิฤาษี ที่ดอยง้วน ซึ่งปัจจุบันก็คือดอยหัวง้ม หรือดอยงาม ในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จากนั้นได้ไปต่อยังสำนักสุกทันตฤาษีร่วมกับอีก ๒ สหายเช่นกัน เมื่อเรียนสำเร็จก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้านกลับเมือง เจ้าชายทั้ง ๓ ได้สาบานจะเป็นเพื่อนกันตลอดไป นั่นก็คือที่มาของอนุสาวรีย์ ๓ กษัตริย์ที่หน้าศาลากลางเชียงใหม่ในปัจจุบัน ใน พ.ศ.๑๘๓๔ เมื่อพญามังรายมหาราชจะสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เชิงดอนสุเทพ ยังได้เชิญพระสหายทั้ง ๒ มาร่วมปรึกษาหารือด้วย และช่วยกันขนานนามเมืองใหม่ว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
พญามังรายได้ขึ้นครองราชย์เมืองหิรัญนครเงินยางต่อจากพระราชบิดาขณะมีพระชนม์ ๒๐ ชันษา ทรงเห็นว่าเมืองต่างๆที่อยู่โดยรอบนั้น มีเรื่องวิวาทแย่งชิงบ้านเมืองและส่วยอากรจากราษฎรเป็นประจำ จึงส่งสารไปถึงเมืองเหล่านั้นให้มาขึ้นกับพระองค์ มิฉะนั้นจะยกกำลังไปปราบ มีบางเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมก็ทรงยกไปปราบจนราบคาบ และติดตามราษฎรที่แตกกระสานซ่านเซ็นไปให้กลับเข้ามาอยู่ในเมือง บ้านเมืองจึงได้สงบสุขร่มเย็น
ต่อมาช้างพระที่นั่งซึ่งปล่อยไว้ในป่าได้หายไป ทรงออกติดตามพร้อมข้าราชบริพาร จนไปถึงดอยจอมทอง ริมแม่น้ำกก ทรงเห็นว่าภูมิประเทศแถบนั้นสมควรจะสร้างเป็นเมืองได้ ในปี พ.ศ.๑๘๐๕ จึงทรงสร้างนครหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่นั่น ขนานนามว่า เมืองเชียงราย
พญามังรายทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการรบ อาณาจักรของพระองค์จึงกว้างใหญ่ ทิศเหนือจรดสิบสองปันนา ทิศใต้จรดอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันออกจรดแคว้นลาว ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำสาละวิน ทั้งยังทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ทอดพระเนตรเห็นบริเวณใดมีความอุดมสมบูรณ์ ก็ทรงสร้างเมืองขึ้นที่นั้น เช่น นครเชียงราย นครเชียงใหม่ และเมื่อยกทัพไปตีได้เมืองเชียงตุงแล้วก็ทรงสร้างเมืองเชียงตุงขึ้นใหม่ด้วย หรือเมื่อตีได้เมืองหริภุญชัยหรือนครลำพูน ก็ให้สร้างเวียงกุมกาม หรืออำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน
พญามังรายมหาราชยังได้ชื่อว่าเป็นยอดนักตุลาการ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “อนุสรณ์การสมโภชเมืองเชียงราย ๗๒๕ ปี” จากเอกสารใบลานเก่าที่เรียกว่า “กฎหมายมังรายศาสตร์” เขียนเป็นภาษาไทเหนือ ซึ่งได้ดัดแปลงเรียบเรียงมาจากหนังสือธรรมศาสตร์ คัมภีร์กฎหมายเก่าของอินเดีย และมอญได้ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพการของตนมาก่อนแล้ว ได้กล่าวถึงตัวบทกฎหมาย และมีคำอธิบายพร้อมเหตุผลประกอบ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ไว้ดังนี้
๑.กฎหมายหมวดหนีศึก
๒.คนตายกลางสนามรบ
๓.รบศึกกรณีได้หัวและไม่ได้หัวข้าศึก
๔.เสนาอำมาตย์ตาย
๕.ให้ไพร่มีเวรผลัดเปลี่ยนกัน
๖.ไพร่กู้เงินทุน
๗.ไพร่สร้างไร่นา
๘.โทษสามสถาน
๙.โทษประหารชีวิต
๑๐.ลักษณะหมั้น
๑๑.ลักษณะหย่า
๑๒.การแบ่งสินสมรส
๑๓.ขอรับมรดก
๑๔.อายุความ ๒๐ ปี
๑๕.สาเหตุวิวาทกัน ๑๖ ประการ
ส่วนบทกำหนดโทษของแต่ละหมวดนั้น เช่น
โทษประหารชีวิต ผู้กระทำความผิดคือ
๑.ฆ่าผู้ไม่มีความผิด
๒. เกาะกุมลูกท่าน หรือข้าท่าน ไปฆ่าเอาทรัพย์
๓.ทำลายกุฏิ วิหาร พระพุทธรูป
๔.รุกล้ำที่
๕.ชิงทรัพย์ท่าน
๖.รับผู้คนของท้าวพระยามาพักในบ้าน
๗.ลักของพระสงฆ์
๘.ลูกฆ่าพ่อ
๙.ลูกฆ่าแม่
๑๐.น้องฆ่าพี่
๑๑.ฆ่าเจ้า
๑๒.เมียฆ่าผัว
ส่วนความผิดร้ายแรง แต่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ คือ
๑.ฆ่าชู้และเมียด้วยกันในที่รโหฐาน
๒.ฆ่าขโมยซึ่งไล่จับได้พร้อมของกลางในมือ
๓.เจ้าบ้านฆ่าผู้ถือหอกดาบเข้ามาถึงที่อยู่
๔.เจ้าบ้านฆ่าผู้ที่ลอบเข้ามาในบ้านผิดกาละ คือกลางคืน
๕.เจ้าบ้านฆ่าผู้ร้ายในขณะเข้ามาทุบซัดเรือนตอนกลางคืน
ทั้งยังระบุไว้ว่า
ผู้ใดมีความผิดมากหรือน้อยก็ตามเมื่อเจ้าขุนไปเอาตัว หากมันใช้หอกดาบต่อสู้ หรือถือหอกดาบวิ่งหนีไปก็ดี ผู้ใดฆ่าตายไม่มีความผิด ถ้าหากมันยอม หรือวิ่งหนีด้วยมือเปล่า ห้ามมิให้ผู้จับฆ่ามัน ผู้ใดฆ่าก็มีความผิด
อนึ่ง ถ้าจับผู้กระทำความผิดมัดได้แล้ว ฆ่าเสียไม่นำมาให้เจ้าขุนพิจารณาดูก่อน ผู้ฆ่าก็มีความผิด ต้องเสียค่าสินไหม
กฎหมายเหล่านี้ตราเมื่อ ๗๐๐ กว่าปีมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าพญามังรายทรงเป็นนักปกครองที่ล้ำยุคของสมัยนั้น ซึ่งกฎหมายมังรายศาสตร์นี้ได้เป็นพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
พญามังรายยังทรงห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎร วันหนึ่งในปี พ.ศ.๑๘๕๑ ขณะมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ได้ทรงช้างพระที่นั่งไปทอดพระเนตรตลาดกลางเมืองเชียงใหม่ ตอนนั้นเป็นเวลากลางวันท้องฟ้าสว่างปราศจากเมฆหมอกใดๆ แต่แล้วก็เกิดเมฆฝนตั้งเค้า ลมพัดแรง และฝนตกลงมา ทันใดนั้นก็มีอสุนีบาตพุ่งมายังพระองค์ ทำให้พญามังรายมหาราชสิ้นพระชนม์บนหลังช้างกลางตลาดนั้น
ในสมัยนี้ก็ต้องว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่สมัยนั้นเชื่อกันว่าเป็นเหตุจากที่พระองค์ผิดคำสาบาณกับพระนางอั้วมิ่งเวียงชัย ว่าจะมีมเหสีเพียงองค์เดียว
ทั้งนี้เมื่อตอนที่เจ้าชายมังรายมีพระชนมายุ ๑๖ ชันษา พระบิดาได้แต่งตั้งให้เป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนครเชียงรุ้ง นครเชียงคำ นครเชียงเรือง ทำให้ได้พบรักกับพระนางอั้วมิ่งเวียงไชย พระธิดาของพญาเจืองฟ้า เจ้านครเชียงเรือง จนได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกันที่เมืองหิรัญนครเงินยาง และทรงสาบานกับพระนางอั้วมิ่งเวียงไชยว่าจะมีมเหสีเพียงองค์เดียว
เมื่อพญามังรายขึ้นครองราชย์ ได้แผ่พระบารมีออกไปอย่างกว้างขวางด้วยการยกทัพไปตีหลายเมืองมาอยู่ในพระราชอำนาจ ในปี พ.ศ.๑๘๓๑ ทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี พระเจ้ากรุงหงสาวดีสุทธโสมเกรงพระบารมี จึงแต่งเครื่องราชบรรณาการออกมาถวายขอเป็นไมตรี และยกนางปายโค พระธิดาให้เป็นบาทบริจาริกา พร้อมกับช่างฝีมือชาวมอญอีก ๕๐๐ คน ซึ่งพญามังราย นักสร้างเมืองพอพระราชหฤทัยอย่างมาก เพราะช่างฝีมือมอญโดดเด่นที่สุดในยุคนั้น จึงยกนางปายโคขึ้นเป็นมเหสีอีกองค์
ตอนนั้นพญามังรายมีโอรสกับพระนางอั้วมิ่งเวียงไชย ๓ พระองค์แล้ว ทรงส่งโอรสทั้ง ๓ องค์ไปครองเมืองต่างๆ ขุนเครือ โอรสองค์แรกไปครองเมืองเชียงราย แต่ถูกคนสอพลอที่ยกลูกสาวให้แล้วยุยงให้ปลงพระชนม์พระบิดา พญามังรายทราบเรื่องจึงส่งนายขมังธนูนักแม่นหน้าไม้ไปสังหารด้วยธนูอาบยาพิษ
การที่พ่อฆ่าลูกของตัวเองนี้ไม่มีแม่คนไหนรับได้ พระนางอั้วมิ่งเวียงไชยจึงตรอมพระทัยอย่างหนัก จนเมื่อพญามังรายนำนางปายโคมาเชิดหน้าชูตาเป็นมเหสีอีกองค์ ผิดกับคำที่เคยสาบาณกันไว้ พระนางอั้วมิ่งเวียงไชยจึงออกจากวังไปบวชเป็นชีที่เวียงกุมกาม จนตรอมใจตายในสภาพแม่ชี พญามังรายได้สร้าง “กู่คำ” ขึ้นที่เวียงกุมกาม เพื่อบรรจุอัฐิของพระนางอั้วมิ่งเวียงไชย
“กู่คำ” ก็คือเจดีย์ทรงเหลี่ยมที่วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือวัดกู่คำ ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม มีพระพุทธรูปยืนด้านละ ๑๕ องค์ แต่ละด้านมีซุ้มพระด้านละ ๓ องค์ มี ๕ ชั้น รวม ๖๐ องค์ ประดับทองคำลงมาแต่ยอด ซึ่งหนุ่มสาวมักจะไปสาบานรักต่อกันที่เจดีย์นี้
โคลงนิราศหริภุญชัยซึ่งแต่งไว้ตั้งแต่สมัยโบราณ ได้กล่าวถึงเจดียกู่คำว่า
อารามรมเยศเมิ้นมังราย
นามกู่คำหลวงหลายเช่นท้าว
หกสิบสยมภูยายยังรอด งามเอ่
แปลงคู่นุชน้องน้าวนาฏโอ้โรทา